วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เปลี่ยน รมว.-เพิ่ม รมช. จับตา 2 เด้งที่กลาโหมวันอาทิตย์ ที่ 30 มิถุนายน 2556

วันอาทิตย์ ที่ 30 มิถุนายน 2556

ตำแหน่งที่เรียกเสียงฮือฮามากที่สุดในโผคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำลังปรับใหม่ของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ใช่การยกเครื่องทีมเศรษฐกิจ แต่กลับกลายเป็นข่าวนายกฯหญิงจะไปนั่งควบรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงกลาโหม
          จะว่าไปครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีข่าวลักษณะนี้ เพราะในการปรับใหญ่ ครม.เที่ยวก่อนหน้านี้ก็เคยมีข่าวมาครั้งหนึ่งแล้วว่า นายกฯยิ่งลักษณ์จะเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม ของประเทศไทย
          แน่นอนว่าบรรดากองเชียร์ต้องพากันชอบใจ และบางส่วนน่าจะสะใจ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ชอบทหาร มองกองทัพในแง่ลบจากเรื่องการปฏิวัติรัฐประหารและใช้กำลังปราบปรามประชาชนในวิกฤติการเมืองช่วงที่ผ่านมา โดยมิพักต้องเสียเวลาพิจารณาเรื่องความเหมาะสม ภูมิรู้ และความเข้าใจในประเพณีปฏิบัติ ตลอดจนธรรมเนียมทหารแต่อย่างใด
          ที่น่าสนใจไปกว่านั้น มีข่าวว่าปรับ ครม.เที่ยวนี้จะเพิ่มเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการ (รมช.) กระทรวงกลาโหมด้วย!
          ข่าวล่าสุด ณ เวลา 18.00 น.ของวันที่ 27 มิ.ย. (ต้องบันทึกเวลาเอาไว้เนื่องจากข่าวโผเปลี่ยนเกือบทุกนาที) มีชื่อ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ติดโผเป็น รมช.กลาโหม ซึ่งก็เรียกเสียงฮือฮาไม่น้อยเหมือนกัน เนื่องจากในห้วงอายุรัฐบาลชุดเดียวกัน คือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พล.อ.ยุทธศักดิ์ เคยดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม มาแล้ว คราวนี้ยอมลดชั้นมาเป็นรัฐมนตรีช่วยเลยหรือ
          อีกชื่อหนึ่งที่มีการเอ่ยถึง คือ พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ (ตท.5) ส.ส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย อดีตบิ๊ก ศรภ. (ศูนย์รักษาความปลอดภัย) นอกจากนั้นยังมีชื่อ พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต (ตท.10) รมช.คมนาคม ที่มีข่าวหนาหูช่วงก่อนหน้านี้แต่กลับแผ่วปลาย
          การเปลี่ยนตัว รมว.กลาโหม ทั้งๆ ที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัตเพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้มีอิทธิพลเหนือรัฐบาลตัวจริง ไม่ได้มีความบกพร่องผิดพลาดชัดเจนอะไร ทั้งยังส่ง "นายกฯหญิง" มานั่งว่าการเอง แถมด้วยรัฐมนตรีช่วยอีก 1 ตำแหน่ง อ่านเกมได้ว่าฝ่ายการเมืองกำลังเล็งประโยชน์ "2 เด้ง" กล่าวคือ
          1.การปรับย้ายนายทหารชั้นนายพลวาระปลายปี ที่ผ่านมามีกูรูบางสำนักวิเคราะห์ว่า การส่ง "นายกฯหญิง" มานั่งว่าการกลาโหม น่าจะเพื่อให้การประสานงานระหว่างกองทัพกับรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น
          แต่กูรูอีกบางสำนักกลับเห็นแย้ง โดยบอกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะ 1 ปีหลังมานี้ไม่มีปัญหาขัดแย้งใดๆ ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพเลย มีแต่ความสดใสชื่นมื่น มีงานเลี้ยงระหว่างนายกหญิงฯกับผู้นำเหล่าทัพ และงบประมาณปี 57 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา ทุกเหล่าทัพก็ได้งบเพิ่มโดยถ้วนหน้า แฮปปี้กันทุกฝ่าย
          ฉะนั้นการส่ง "นายกฯหญิง" ซึ่งเป็นถึง "น้องสาวสุดที่รัก" ของผู้มีบารมีนอกรัฐบาลตัวจริงอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ มานั่งว่าการกลาโหมเอง ย่อมน่าจะเป็นการส่งสัญญาณ "ปรับใหญ่" ในการแต่งตั้งโยกย้ายปลายปีมากกว่า โดยเฉพาะเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่น่าจะมีการขยับ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งมาจะครบ 3 ปีแล้ว ถ้านั่งต่อไปยันเกษียณก็จะเป็น ผบ.ทบ.ยาวถึง 4 ปี ตำแหน่งล่างๆ ลงไปไม่มีการขยับ
          การเพิ่มเก้าอี้ รมช.กลาโหม ทำให้ดุลใน "บอร์ดปรับย้าย" หรือคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ขยับมาทางฝ่ายการเมืองมากขึ้น เพราะฝ่ายข้าราชการที่เป็นบอร์ดปรับย้าย "โดยตำแหน่ง" ประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ 3 เหล่าทัพ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) และปลัดกระทรวงกลาโหม รวมเป็น 5 เสียง ขณะที่ฝ่ายการเมืองเดิมมีเพียง 1 เสียง คือ รมว.กลาโหม เมื่อเพิ่ม รมช.เข้าไปก็จะมี 2 เสียง
          เป็นที่ทราบกันดีว่า ปลัดกระทรวงกลาโหมคนปัจจุบัน พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน มีความใกล้ชิดสนิทแนบกับฝ่ายการเมือง จึงน่าจะเพิ่มเสียงให้ฝ่ายการเมืองได้อีก 1 เป็น 3 เสียง แต่ก็ยังไม่พอ
          มีข่าวกระเซ็นกระสายว่า บิ๊กกลาโหมรายหนึ่งซึ่งเป็นดองกับกลุ่มทุนยักษ์ที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับคนที่ดูไบ กำลังออกแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน ทบ. โดยหาก พล.อ.ประยุทธ์ ข้ามไปนั่งเก้าอี้ ผบ.สส. ก็จะถือโอกาสดันนายทหาร ตท.13 ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.แทน
          ที่น่าจับตาคือ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) คนปัจจุบันก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.13 ฉะนั้นหากมีการผลักดันนายทหาร ตท.13 ใน 5 เสือ ทบ.ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. โอกาสที่ฝ่ายการเมืองจะได้เสียงข้างมากในการปรับย้ายก็มีความเป็นไปได้สูงยิ่ง
          และ นายทหาร ตท.13 ใน 5 เสือ ทบ.ที่แนบชิดกับขั้วพรรคเพื่อไทย คือ พล.อ.จิระเดช โมกขะสมิต รองผบ.ทบ. ซึ่งหากเขาผงาดขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ได้จริง ยังเท่ากับเป็นการหยุดความต่อเนื่องของสายบูรพาพยัคฆ์บนเก้าอี้เบอร์ 1 ของกองทัพบกด้วย เพราะ พล.อ.จิระเดช คือสายวงศ์เทวัญ
          2.การปิดเกมปัญหาภาคใต้ เป็นที่ทราบกันดีกว่าการเปิดโต๊ะเจรจากับขบวนการบีอาร์เอ็นเกิดจากการผลักดันของ พ.ต.ท.ทักษิณ เอง แต่การเดินเกมของคณะเจรจาที่นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร(ตท.14) เลขาธิการ สมช. กับกลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ กลับไม่มีความคืบหน้า ล่าสุดถึงกับมีข่าวกระเซ็นกระสายจาก สมช.ว่า คนที่ดูไบสั่งเปลี่ยนกลุ่มเจรจาเรียบร้อยแล้ว
          การปรากฏชื่อ พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ขึ้นมา ไม่ว่าเขาจะได้เข้ามาดำรงตำแหน่ง รมช.กลาโหม หรือไม่ มีประเด็นน่าสนใจคือ พล.อ.สมชาย เป็นคนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยใช้ให้ไปเจรจากับกลุ่มพูโลและบีไอพีพีสมัยเป็นรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2548
          ขณะที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพ เคยเรียกร้องให้คณะเจรจาชุด พล.ท.ภราดร บูรณาการข้อมูลกับกองทัพ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจาก พล.ท.ภราดร และสไตล์การทำงานของ พล.ท.ภราดร ดูจะก่อความตึงเครียดกับกองทัพและฝ่ายการเมืองที่คุมงานความมั่นคงโดยไม่จำเป็น
          ทั้งนี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าการส่ง พล.อ.ยุทธศักดิ์ กลับมา คือการปรับสมดุลเรื่องการเจรจากับการปฏิบัติการทางทหารเพื่อดับไฟใต้ให้ได้เด็ดขาดในเร็ววันนี้ตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ วาดหวังไว้
          นี่คือแนวโน้ม 2 เรื่องใหญ่ๆ ที่พออ่านสัญญาณได้จากการปรับใหญ่ที่กระทรวงกลาโหม!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น