วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ตัวเลขเจ๊งมัดคอ กขช.ลดราคา-ปริมาณจำนำขาดทุน1.36ล.ไม่รวม55/56 เมื่อ 18 มิ.ย.56

ตัวเลขเจ๊งมัดคอ กขช.ลดราคา-ปริมาณจำนำขาดทุน1.36ล.ไม่รวม55/56


"บุญทรง" ยังสำลักข้าว เผยผลประชุม กขช.ปรับลดราคาและปริมาณการรับจำนำข้าว อ้างหรูเพื่อเป็นการรักษาวินัยทางการเงิน-การคลัง เผลอสารภาพไม่ให้ซ้ำรอยเดิม ขาดทุนไม่เกิน 7 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาท "วราเทพ" รับหมดปี 54/55 ขาดทุนแค่ 1.36 แสนล้าน ไม่รวม 55/56  "หมอวรงค์" แฉรัฐบาลเก็บข้าวปนเปื้อนสารเคมีป้องกันแมลง  เสี่ยงเป็นอันตรายต่อประชาชน
    นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับปรุงโครงการรับจำนำข้าวที่จะนำมาใช้ในปี 2556/57 และนาปรัง 2557 โดยมี 3 ทางเลือกให้ฝ่ายเลขานุการ กขช.ไปพิจารณา คือ ใช้ราคาปัจจุบันที่ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน ลดลงในอัตรา 15-20% ใช้ราคาต้นทุนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คำนวณได้ แล้วบวกกำไรให้ 25% และใช้ราคาชี้นำตลาด โดยบวกราคาเพิ่มให้จากราคาตลาดอีก 10% ซึ่งราคาทั้งหมดจะอยู่ในกรอบ 1.2-1.35 หมื่นบาท/ตัน
          ส่วนปริมาณที่รับจำนำ คาดว่าจะมีการปรับลดปริมาณลงเช่นเดียวกัน โดยจะรับจำนำไม่เกิน 14-15 ล้านตัน จากคาดการณ์ผลผลิตปี 2556/57 ที่คาดว่าจะมีปริมาณ 26-27 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนนาปรัง 2557 ยังไม่ได้มีการคาดการณ์  โดย กขช.ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการไปรวบรวมรายละเอียดแต่ละแนวทาง ก่อนนำเสนอให้ กขช.พิจารณาและนำเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป
        "การพิจารณาปรับลดราคาและปริมาณการรับจำนำข้าวในครั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาวินัยทางการเงิน การคลัง และไม่ให้เป็นภาระต่อการจัดทำงบประมาณที่จะต้องมาชดเชยในแต่ละปี ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและตระหนักมาโดยตลอด  โดยกรอบการใช้เงินในโครงการรับจำนำตามวินัยทางการคลัง  จะต้องขาดทุนไม่เกิน 7 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาท"
    เขากล่าวว่า กขช.ยังได้มีมติให้มีการเร่งรัดการระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลให้เร็วขึ้น โดยใช้แนวทางใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น การเปิดช่องให้ต่างประเทศเสนอซื้อข้าวได้โดยตรง, การประมูลในรูปแบบใหม่ๆ หรือใช้วิธีการเดิมที่ไม่เคยใช้ คือ การขายในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (เอเฟต) โดยให้กรมการค้าต่างประเทศไปศึกษารายละเอียดและเสนอกลับมาให้ กขช.พิจารณาอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังได้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบสต็อกข้าวของรัฐบาล โดยให้ตรวจสอบโรงสี, โกดังกลางทุกแห่ง เพื่อตรวจสอบปริมาณข้าวที่คงเหลือทั้งหมด  โดยให้เวลาดำเนินการภายใน 30 วัน
    นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบแนวทางการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ตามวิธีคิดของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี ซึ่งตัวเลขการรับจำนำข้าวปี 2554/2555 และข้าวเปลือกนาปรังปี 2555 ขาดทุนอยู่ที่ 1.36 แสนล้านบาท ซึ่งมีการคำนวณดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายดำเนินการทั้งหมดแล้ว ในขณะที่ตัวเลขโครงการรับจำนำข้าวปี 2555/2556 ยังไม่สามารถสรุปตัวเลขได้ เพราะยังมีสต็อกข้าวของรัฐบาลที่ไม่ตรงกัน เนื่องจากมีการปิดบัญชีตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2556 ซึ่งขณะนั้นยังไม่สิ้นสุดโครงการรับจำนำ
'สุภา' ยอมรับมีข้อสงสัย
    น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร แถลงข่าวว่า ภายหลังจากที่นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีการสั่งการให้คณะทำงานดังกล่าวเร่งตรวจสอบรายละเอียด การจัดทำบัญชีสรุปตัวเลขความคืบหน้าของโครงการรับจำนำข้าว
      เธอยืนยันว่า ข้อมูลที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ได้มาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ประมาณ 9-10 หน่วยงาน เช่น องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.), องค์การคลังสินค้า (อคส.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นต้น ที่ส่งข้อมูลมาเพื่อใช้คำนวณผลการดำเนินงานของโครงการรับจำนำข้าวแต่ละโครงการนั้น เป็นข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานมีการกลั่นกรองมาอย่างดีแล้ว ก่อนที่จะส่งต่อมาให้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ พิจารณา ดังนั้น ขอยืนยันว่าคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ จึงไม่มีความสามารถที่จะตกแต่งตัวเลขบัญชีต่างๆ ได้อย่างแน่นอน
    นอกจากนี้ ในส่วนประเด็นที่กำลังเป็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับปริมาณข้าวนาปี ปีการผลิต 2555/56 ที่ระบุว่ามีการขาดทุนสูงถึง 8.4 หมื่นล้านบาทนั้น ยืนยันว่าเป็นการคำนวณมาจากตัวเลขที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งมาให้ โดยข้อมูล ณ วันที่ใช้คำนวณการปิดบัญชี วันที่ 31 ม.ค.56 พบว่ามีข้าวเหลือเข้าสู่โครงการทั้งสิ้น 9.9 ล้านตัน มีการสั่งสีแปรสภาพเป็นข้าวสาร 1.7 ล้านตัน ทำให้มีข้อสงสัยว่า มีการประเมินการขาดทุนมากเกินไป เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระบุว่า ยังมีข้าวที่รอส่งมอบให้คลังกลางอีก 2.5 ล้านตัน ซึ่งอาจต้องนำไปคำนวณรวมกับปริมาณข้าวที่เหลืออยู่ด้วย รวมทั้งเรื่องนี้ต้องไปตรวจสอบที่หน่วยงานดังกล่าว ถึงตัวเลขที่หายไปมากกว่า เพราะทางคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ทำทุกอย่างตามที่ส่งมา
     น.ส.สุภากล่าวอีกว่า ส่วนตัวมองว่าการสรุปตัวเลขโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรที่ผ่านมา 2 ครั้ง ตั้งแต่สมัยรัฐบาลชุดที่ผ่านมาและรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่ได้มีปัญหาเรื่องความผิดพลาดด้านตัวเลขเหมือนครั้งนี้แต่อย่างใด แต่ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ จะพยายามนำข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่มาศึกษาทบทวนใหม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากที่สุด จากนั้นจะเร่งสรุปข้อมูลส่งไปให้นายวราเทพรับทราบอีกครั้ง ก่อนที่จะนำข้อมูลทั้หมดที่ได้ รวมกับข้อมูลของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) สรุป และนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา
    นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ภายหลังการประชุม ครม.วันที่ 18 มิ.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ 4 รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับโครงการจำนำข้าว ประกอบด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์, นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.การคลัง และนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวผลการประเมินตัวเลขโครงการรับจำนำข้าว หลังนำผลสรุปตัวเลขโครงการรับจำนำข้าวจากการประชุม กขช.มารายงานที่ประชุม ครม.
แฉข้าวปนเปื้อนสารพิษ
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลยังไม่มีการทบทวนนโยบายโครงการรับจำนำข้าวว่า โครงการดังกล่าวมีปัญหาการขาดทุนเฉลี่ยปีละ 2 แสนล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นตัวเลข 2.6 ล้านบาท หรือ 2.4 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลควรดูว่าการจัดสรรงบประมาณเฉพาะในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2557 รัฐบาลต้องจัดสรรดอกเบี้ยเฉพาะโครงการปี 54/55 เพียงฤดูกาลเดียวถึง 1.5 หมื่นล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องทบทวนว่า หากสามารถนำเงินที่ขาดทุนแสนกว่าล้านบาทไปช่วยเกษตรกรหรือนำไปพัฒนา จะมีประโยชน์มากกว่าที่ทำอยู่มากแค่ไหน และไม่อยากให้นายกฯ เอาเรื่องการเมืองอยู่เหนือความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองในการบริหารประเทศ 
    "นายกฯ จะโยนความรับผิดชอบให้กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ เพราะนโยบายนี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน กระทรวงเกษตรฯ ก็ได้รับผลกระทบ เพราะต้องไปดูผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการปลูกข้าว ปริมาณข้าว ความเป็นอยู่ของเกษตรกร ในขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็มีปัญหาเรื่องการหมุนเงิน จนกระทบกับภารกิจอื่นที่เคยช่วยเหลือเกษตรกร อีกทั้งกระทรวงการคลังก็มีปัญหาเรื่องการจัดงบประมาณให้โครงการนี้" นายอภิสิทธิ์กล่าว
    นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่สังคมออนไลน์มีการเผยแพร่เรื่องปัญหาข้าวบรรจุถุงของกระทรวงพาณิชย์ มีการปนเปื้อนสารเคมีที่ใช้ในการป้องกันแมลงและมอดในอัตราที่สูง จนเป็นอันตรายต่อประชาชนผู้บริโภค ว่าได้รับข้อมูลเรื่องนี้จากประชาชนในไลน์เช่นกัน และเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง เนื่องจาก ตนเคยร่วมกับคณะกรรมาธิการฯ ไปตรวจสอบโกดังที่เก็บข้าวหลายแห่ง ซึ่งก็สังเกตเห็นว่ามีนกและหนูนอนตายอยู่ในโกดังข้าว รวมทั้งพบเชื้อราจำนวนมาก เพราะต้องมีการรักษาสภาพข้าวไม่ให้มีมอดแมลงมากิน จึงต้องมีการรมสารเคมีเพื่อจำกัดแมลงต่างๆ ซึ่งการที่รัฐบาลระบายข้าวพวกนี้ออกมา โดยการนำไปบรรจุถุงขายนั้น ถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนอย่างยิ่ง
    "ผมขอเรียกร้องรัฐบาล ถ้าคำนึงถึงชีวิตคนไทยจริงต้องเอาข้าวเหล่านี้ไปตรวจ อย่างน้อยเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน แต่ผมเชื่อว่าถ้าเอาเข้าจริง มีโอกาสสารปนเปื้อนที่ไม่ผ่านคุณภาพสูงมาก เพราะจะเป็นผลเสียกับรัฐบาล ชี้แจงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเอาผลจากห้องแล็บมาพิสูจน์ ถ้าผลปกติก็โอเค ถ้าผิดปกติก็ต้องยอมรับและเอาข้าวพวกนี้ออกไป ดีกว่าให้ประชาชนตื่นตระหนกอย่างนี้ เพราะไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล" นพ.วรงค์กล่าว
    ก่อนหน้านี้ นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล ผอ.ศูนย์ธรรมชาติบำบัดบัลวี และอดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ ได้เคยเรียกร้องให้รัฐบาลล้มเลิกโครงการรับจำนำข้าว เพราะหากเดินหน้าต่อไปอีก 1-2 ปี คนไทยจะเสี่ยงเป็นมะเร็งจำนวนมาก โดยเฉพาะมะเร็งตับ เนื่องจากการเก็บรักษาข้าวของรัฐบาลไม่ได้มาตรฐาน ทำให้คุณภาพเสื่อมจนเกิดเชื้อราชนิดที่สามารถทนความร้อนได้ แม้จะมีการปรุงให้สุกก็ตาม  โดยรัฐบาลแก้ปัญหาขายข้าวไม่ได้ ด้วยการบังคับให้คนไทยซื้อข้าวบรรจุถุงขายของรัฐบาล ที่เต็มไปด้วยเชื้อและสารพิษตกค้างจากการใช้สารเคมีรมและรักษาคุณภาพข้าว และยังเรียกร้องให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  ทำการสุ่มตรวจหาเชื้อราปนเปื้อนในข้าวถุง เพื่อปกป้องสุขภาพของคนไทยไม่ให้ได้รับพิษจากเชื้อราในข้าว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น