วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

มติ’กลาโหม’ไม่รับ5ข้อเสนอหลุมพรางบีอาร์เอ็นยกระดับ เมื่อ 2 พ.ค.56




มติ’กลาโหม’ไม่รับ5ข้อเสนอหลุมพรางบีอาร์เอ็นยกระดับ

“บิ๊กโอ๋” ถกเครียดร่วม ผบ.เหล่าทัพ ประกาศไม่รับ 5 ข้อเสนอลักไก่ของบีอาร์เอ็น หวั่นตกหลุมพลางยกระดับโจรใต้ แถมเปิดทางมาเลย์-โอไอซีแทรกแซง ยันรับไม่ได้ปล่อยนักโทษพ้นผิด ขณะที่ “ภราดร” ยืนยันไม่มีสัญญาณขอแบ่งแยกดินแดน ด้าน “มาร์ค” อัดยับ สมช. อ่อนหัด ยอมให้โจรใต้บีอาร์เอ็นขี่คอคุยสันติภาพ จี้ สมช. ถกโจรใต้ครั้งต่อไปต้องมีความเป็นเอกภาพ
ครม.ถกลับปมบีอาร์เอ็นแสบยื่น 5 ข้อ
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา มีรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. คณะรัฐมนตรี โดยใช้เวลาในการประชุมประมาณ 1.30 ชั่วโมง จากนั้นนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็ได้เชิญข้าราชการที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องประชุม รวมทั้งทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีทั้ง 4 คน ด้วย เพื่อปิดห้องประชุมในวาระที่เกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการประชุมลับสุดยอดปมแกนนำโจรใต้บีอาร์เอ็นแสบ ยื่น 5 ข้อเสนอ โดยที่ประชุมเหลือเพียง ครม. และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง คือ นายอำพน กิตติอำพน นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาสภาพัฒน์ฯ นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ผอ.สำนักงบประมาณ และ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อยู่ร่วมประชุมเท่านั้น โดยการประชุมลับนี้ ใช้เวลาในการพูดคุยกันนานถึง 1.40 ชั่วโมง โดยช่วงหนึ่ง พล.ท.ภราดร ได้รายงานถึงการเดินทางไปหารือกับกลุ่มบีอาร์เอ็นรอบสองให้กับ ครม.รับทราบ ด้วย
“สุกำพล” เรียก ผบ.ถกแก้เกมบีอาร์เอ็น
ต่อมา เมื่อเวลา 14.00 น. วันเดียวกันนี้ ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ได้เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และผู้แทนของแต่ละเหล่าทัพเข้าร่วมประชุมพิจารณากำหนดนโยบายแนวทางการประสานงาน และการปฏิบัติร่วมกันในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังจากที่ตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นได้มีการยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ ในการพูดคุยร่วมกัน โดยใช้เวลาในการประชุม 1 ชั่วโมง ซึ่ง พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวภายหลังการประชุมว่า มีการหารือในเรื่องความมั่นคงหลายด้าน เช่น เรื่องประสาทพระวิหาร เรื่อง 3 เกาะ จ.ระนอง ที่มีปัญหากันอยู่ และปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งเรื่องภาคใต้ได้ข้อสรุปว่า ในเรื่องการเจรจาก็ว่ากันไป แต่การปฏิบัติงานเพื่อให้ภาคใต้มีความสันติสุขต้องทำต่อไป และต้องดำเนินการให้เป็นเส้นขนานกันไป ไม่ตัดออกจากกัน นอกจากนี้ ยังมีการประสานไปยังตำรวจเกี่ยวกับการนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจลงไปในพื้นที่ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในภาคใต้มีความสามัคคี และมีความเข้าขากันดี แต่งานมีความซับซ้อนทั้งในส่วนความมั่นคง งานพัฒนา การอำนวยความยุติธรรมจึงอาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันบ้าง และทำให้เกิดความไม่สอดคล้องกัน ซึ่งต้องแก้ไขกันต่อไป ขอย้ำว่า เรื่องงานในภาคใต้เราจะทำอย่างเต็มที่และต้องดีขึ้น เมื่อถามถึงกรณีที่ตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นได้ยื่นข้อเสนอในการเจรจาสันติภาพ 5 ข้อ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เขาเสนอผ่านทางเว็บไซต์ ถือเป็นเรื่องการพูดคุย ก็พูดคุยกันไป ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลว่า ส่วนไหนรับได้ และส่วนไหนรับไม่ได้ ตนคงไม่แสดงความคิดเห็นส่วนนี้ อย่างไรก็ตามฝ่ายเราได้แสดงออกในหลายเรื่อง ทั้งในเรื่องความจริงใจว่า เรามีกฎหมายมาตรา 21 อยู่ หากจะมอบตัวก็พร้อมจะให้ประกันตัวได้ ซึ่งตรงกับข้อหนึ่งที่เขาเรียกร้องมา แต่จะให้ปล่อยตัวคิดว่าเกินไป คงทำไม่ได้ เพราะบ้านเมืองเรามีขื่อมีแป ขอให้สู้กันตามกติกาที่ว่าไว้ ในส่วนข้ออื่นๆ นั้น ขอให้หน่วยงานอื่นไปพิจารณากัน ส่วนของทหารต้องติดตามและรับทราบข้อมูลว่า ผลการพูดคุยเป็นอย่างไร
เตรียมเสนอผลคุยเหล่าทัพให้นายกฯ “ปู”
เมื่อถามว่า สุดท้ายแล้วทางรัฐบาล และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ต้องถามความเห็นของทางกองทัพใช่หรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า ตนจะบอกนายกรัฐมนตรีเอง แต่จะไม่บอกสื่อมวลชน ตนบอกสื่อตรงนี้ไม่ได้ เพราะการพูดคุยไม่ควรนำมาเปิดเผยทุกข้อ การพูดคุยต้องมีความลับกันบ้าง ทั้งนี้คงบอกไม่ได้ ว่ากองทัพยอมรับ หรือไม่ยอมรับข้อเสนอของบีอาร์เอ็นเพราะ เป็นเรื่องของรัฐบาลไม่ใช่เรื่องของตนคนเดียว คงบอกไม่ได้ว่า ข้อนี้รับหรือไม่ไม่รับ พูดเองไม่ได้ เป็นเรื่องของหลายหน่วยงานที่ต้องมาพูดคุยกัน แต่สุดท้ายรัฐบาลต้องฟังความเห็นของกระทรวงกลาโหม ซึ่งตนจะรอบอกนายกรัฐมนตรี
ด่าโจรใต้มั่วเคยยิงรถพยาบาล
เมื่อถามว่า จะเป็นการล้มการเจรจาหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าจะรับข้อเสนอทั้ง 5 ข้อไม่ได้ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า สื่อเป็นคนพูดเองว่า ไม่รับ ตนไม่ได้บอก แต่ถือเป็นเรื่องที่เขาเสนอมา เรามาวิเคราะห์กัน ไม่ได้ให้น้ำหนักมากมายอะไร ทั้งนี้ตนไม่มีสิทธิ์ไปล้มโต๊ะเจรจา แต่การมีการพูดคุยดีกว่าไม่พูดคุย ส่วนกรณีที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ยิงรถพยาบาลที่ อ.รามัน จ.ยะลา นั้นอยากให้ประณามคนที่ดำเนินการว่า เป็นการกระทำที่สะเปะสะปะ ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งมั่นใจว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อการให้รักษาผู้ป่วย อย่าคิดว่า ยิงไปครั้งเดียวแล้วเขาจะหมดกำลังใจ เพราะขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานยังดีอยู่ เพราะเขาลงไปปฏิบัติหลายปีแล้ว คงไม่มีความกลัว ทั้งนี้ในวันที่ 3 พ.ค.นี้ ตนจะเดินทางลงไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
มติเหล่าทัพไม่รับข้อเสนอบีอาร์เอ็นทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้ได้มีการหารือเกี่ยวกับข้อเสนอ 5 ข้อของบีอาร์เอ็น อย่างเคร่งเครียดเป็นพิเศษ โดยในที่ประชุมไม่ยอมรับข้อเสนอทั้ง 5 ข้อของกลุ่มบีอาร์เอ็น เพราะมองว่า การยอมรับข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นการยกระดับการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความสงบ ส่วนกรณีที่บีอาร์เอ็นต้องการให้ประเทศมาเลเซียเป็นตัวกลางในการเจรจานั้น ทางกองทัพมองว่า ข้อเสนอดังกล่าวจะส่งผลให้ประเทศมาเลเซียเข้ามาแทรกแซง เพราะนโยบายของรัฐบาลไม่ต้องการให้ประเทศที่สามเข้ามาแทรกแซงในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากทางกองทัพยังต้องการให้การแก้ไขปัญหาภาคใต้ซึงเป็นเรื่องภายในประเทศ สำหรับข้อเสนอที่ต้องการให้องค์การการประชุมอิสลาม (โอไอซี) เข้ามาเป็นผู้สังเกตุการณ์ในการเจรจานั้น ทางกองทัพมองว่า ถือเป็นการให้องค์กรนานาชาติเข้ามาแทรกแซง ซึ่งขัดกับนโยบายในการแก้ไขปัญหา ส่วนข้อเสนอที่ให้ทางการไทยปล่อยนักโทษทั้งหมดนั้น ก็ไม่สามารถกระทำตามข้อเสนอได้ เพราะบางคดีมีคำพิพากษาตัดสินโทษไปแล้ว หากมีการปล่อยอย่างไร้เงื่อนไข ถือว่าขัดต่อกฎหมายของไทย อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีที่แนวร่วมกระทำผิดกฎหมายแต่ไม่ได้เข้าข่ายผิดกฎหมายอาญาอาจพิจารณาลดโทษให้ได้ ซึ่งจะมีการพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ทั้งนี้ในที่ประชุมมีความเห็นว่า ต้องการให้ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปพิจารณาแนวทางที่จะพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นต่อไปได้ ทั้งนี้ รมว.กลาโหมจะนำผลการพูดคุย ข้อเสนอของทางกองทัพนำเสนอให้กับนายกรัฐมนตรีรับทราบต่อไป
มทภ.4 รับรู้แล้วบีอาร์เอ็นบงการบึ้ม
ทางด้าน พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 ได้กล่าว ถึงสถานการณ์ในพื้นที่หลังการพูดคุยกับแกนนำบีอาร์เอ็น ว่า ประชาชนยังใช้ชีวิตตามปกติด้วยความสงบสุข ซึ่งสถานการณ์ในขณะนี้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่มีบีอาร์เอ็นอยู่เบื้องหลัง ได้มีการก่อเหตุอย่างประปราย ในส่วนข้อเสนอ 5 ข้อนั้น รู้สึกผ่อนคลายหลังจากความลับของผู้ก่อเหตุได้เปิดเผย และมีคำถามว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ รวมทั้งมีการใส่ร้ายป้ายสีทหาร หรือเจ้าหน้าที่ว่าเป็นผู้ปฏิบัติการ แต่เมื่อมีการเปิดเผยออกมาว่า ขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นผู้อยู่เบื้องหลังทั้งหมด จึงเป็นเรื่องของคณะทำงานพูดคุยที่จะคิดและตัดสินใจ ซึ่งในส่วนของรัฐบาลก็ให้ดูแลและรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนโดยกำหนดยุทธศาสตร์ให้กับสภาความมั่นคงแห่งชาติ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ยังได้ลงมาสั่งการทุกเดือน
“อภิสิทธิ์” อัด สมช. อ่อนหัด
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องการเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็นว่า โดยตามหลักไม่ใช่เรื่องที่จะให้บีอาร์เอ็นมากำหนดกรอบ ส่วนเรื่องที่จะถามความคิดเห็นของประชาชนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ไม่ใช่ไปยอมรับว่าเป็นกรอบหารือใดๆทั้งสิ้น เพราะว่าที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามที่ได้เคยตกลงกันเอาไว้ ทั้งนี้ฝ่ายค้านเตือนมาตลอดว่า การพูดคุยต้องระมัดระวังด้วย ต้องช่วยกันหาทางแก้ ที่ผ่านมาถ้าอะไรที่พวกเราพอช่วยแนะนำได้ก็จะแนะนำตลอด ทั้งนี้ในการพูดคุยเจรจาในครั้งต่อไปในเดือนมิถุนายน รัฐบาลต้องระวัง ต้องเป็นเอกภาพให้มาก ทั้งนี้ ถ้า นายกฯ รับผิดชอบแล้ว ก็ต้องดูแลให้ทุกหน่วยงานมีเอกภาพ ต้องรัดกุม รักษาผลประโยชน์ เพราะขณะนี้แนวทางของฝ่ายตรงข้ามใช้เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่มากดดัน ทางรัฐบาลก็ต้องไม่ยอมให้ใช้วิธีนี้
“ภราดร” ยันคุย BRN ไม่มีสัญญาณแบ่งดินแดน
ขณะที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า ในการพูดคุยกับกลุ่มกลุ่มบีอาร์เอ็นครั้งหลังสุด เป็นไปอย่างมิตรภาพ เนื้อหาเป็นไปอย่างเข้มข้น อาทิ ยกเลิกหมายจับ ความยุติธรรม ลดความรุนแรง แต่ไม่ถึงกับเครียด ส่วน 5 ข้อ เสนอของ BRN นั้นยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง ซึ่งทางรัฐบาลรับฟังไว้เท่านั้น เนื่องจากบีอาร์เอ็นอ้างเป็นเสียงของประชาชนในพื้นที่ แต่จะยังไม่ตกผลึก ว่าจะรับหรือไม่รับ ส่วนกลุ่ม BRN จะให้ OIC และ NGO มาร่วมชี้แจงนั้น ยืนยันต้องเป็นไปตามการลงนามในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ต้องให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก พร้อมทั้งจะต้องจับตาว่า ทาง BRN จะรับข้อเสนอของไทยไปปฏิบัติต่อหรือไม่ นอกจากนี้ เลขาฯ สมช. ยังกล่าวว่า สาเหตุที่นัดพูดคุยในวันที่ 13 มิถุนายนนี้อีกครั้ง เป็นเพราะทั้ง 2 ฝ่ายติดภารกิจ และไม่น่ากังวล หากผลการเลือกตั้งที่มาเลเซียมีการเปลี่ยนขั้ว รวมถึงยังไม่มีสัญญาณในการแบ่งแยกดินแดนใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าการพูดคุยยังอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญไทย และเป็นเพียงการแปลความหมายผิดไปเท่านั้น ว่ามีการแบ่งแยกดินแดนเกิดขึ้น
ส.ว.เชื่อคุยสันติไม่เหลว แต่ยังรุนแรง
ทางด้าน ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู สมาชิกวุฒิสภาสายเลือกตั้ง จ.ปัตตานี กล่าวถึงการพูดคุยสันติภาพครั้งล่าสุดว่า การพูดคุยครั้งนี้ไม่ได้ล้มเหลว มีความคืบหน้าไปอีกขั้น เพราะจะได้รู้กลุ่มขบวนการนั้น รู้สึกกับปัญหาในภาคใต้อย่างไร และทางคณะฝั่งไทยทำถูกแล้ว ที่รับข้อเสนอมาพิจารณา ส่วนในเรื่องจะปฏิบัติตามหรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับการพูดคุยสันติภาพนั้น หลังจากนี้ เชื่อว่าสถานการณ์ยังคงดำรงอยู่ แต่ต้องหาวีธีป้องกันไม่ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจากการพูดคุยกับแหล่งข่าวระดับวงในระบุว่าความรุนแรงในพื้นที่นั้น แยกออกเป็นต้องการสร้างสถานการณ์ 40% เรื่องส่วนตัว 30% ส่วนอีก 30% เป็นพวกผสมโรง ได้แก่ การหักหลังในพวกค้าของเถื่อน น้ำมันเถื่อน หรือธุรกิจสีเทาต่างๆ ฉะนั้นแล้ว ทางรัฐต้องหามาตรการให้การปิดจุดอ่อนอีก 60% ที่เหลือให้ได้ แล้วสถานการณ์น่าจะดีขึ้นและอยากติงคนในระดับบิ๊กของรัฐบาลที่ออกมาให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ ว่า คณะที่ไปพูดคุยไม่มีอำนาจในการตัดสินใจนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ควรพูด เพราะการพูดเช่นนั้น เป็นการดิสเครดิตกันเอง ซึ่งเรื่องบางเรื่อง ไม่จำเป็นต้องพูด
พุ่งเป้ากลุ่ม “อุสตาซรอฮิง” นำยิงทหาร
กรณีเกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามซุ่มยิงใส่ฐานปฏิบัติการทหาร ร้อย ร.15334 ฉก.ยะลา 12 ที่บ้านพอเม็ง ต.กายูบอเกาะ หมู่ 4 อ.รามัน จ.ยะลา เป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บ 7 นาย เหตุเกิดเมื่อเวลา 18.50 น. ของวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมานั้น ความคืบหน้าคดีนี้ เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารของหน่วยเฉพาะกิจยะลา 12 ได้เดินทางมาตรวจสอบที่เกิดเหตุ โดยเปิดเผยถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ ว่า ขณะที่ ร.ท.ไพทูรย์ สุขภาพุทธ ขับรถยนต์กระบะวีโก้แค็ปสีขาว หมายเลขทะเบียน บน.3737 ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมกำลังพลอีก 10 นาย เพื่อจะเดินทางเข้าไปในฐานปฏิบัติการฯ เมื่อมาถึงบริเวณหน้าฐานฯ ได้มีคนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงใส่จากด้านหน้ารถ เพื่อหวังจะให้รถจอด จากนั้นคนร้ายอีกกลุ่มซึ่งอยู่ในป่าสวนยางริมทาง ได้ระดมยิงใส่ เข้ามาอีกระลอก จนท.จึงได้ยิงตอบโต้นานกว่า 10 นาที คนร้ายจึงล่าถอยไป ซึ่งการปะทะครั้งนี้ทำให้มี จนท.ทหารได้รับบาดเจ็บ จำนวน 7 นาย รวมทั้ง รถยนต์ได้รับความเสียหาย นอกจากนั้นยังพบร่องรอยกระสุนปืนที่บริเวณหน้าฐานอีกหลายจุด การก่อเหตุครั้งนี้เชื่อว่าเป็นการกระทำของกลุ่มนายอับดุลรอฮิง ดาอีซอ (อุสตาซรอฮิง) นายอุสมาน เด็งสาแม นายซอฟวัน สามะ นายไซฟุลเลาะ ซาฟุ ที่ต้องการตอบโต้ จนท.หลังจากมีการวิสามัญคนร้าย ที่ ต.ปะแต อ.ยะหา จำนวน 3 ราย โดยก่อนหน้านี้ งานการข่าวพบความเคลื่อนไหวของกลุ่มอุสตาซรอฮิง พร้อมพวก ในพื้นที่ อ.รามัน
วันที่ 2/05/2556 เวลา 6:02 น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น