|
|
“รัฐบาล-ฝ่ายค้าน” มีคิวฟาดฝีปากกันอีกครั้งในการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ระหว่างวันที่ 29-31 พ.ค.นี้
แน่นอนว่าฝ่ายรัฐบาล นำโดย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ต้องเป็นคนกล่าวสรุปรายละเอียดของ “พ.ร.บ.งบประมาณ” ในช่วงต้น ซึ่งก็พอคาดการณ์ได้ว่างานนี้ “ปูแดง” แค่จั่วหัวเปิดทิ้งไว้ จากนั้นก็ “หนีสภา” ด้วยการอ้างว่า “ติดภารกิจ” อีกตามเคย
ซึ่งเป็นสไตล์ของ “ยิ่งลักษณ์” ที่มีให้เห็นตลอดตั้งแต่ขึ้นมาเป็นนายกฯได้เกือบสองปีมานี้
ทำให้ภาระหนักตกอยู่ที่ “ลูกหาบ” อย่าง “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และบรรดา “สมุนแม้ว” ที่รับบท “รัฐมนตรี” ในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง จะต้องเป็นคนแบกรับแทน “ยิ่งลักษณ์” ในการชี้แจงความไม่ชอบมาพากลทั้งหมด
ส่วน “ฝ่ายค้าน” นำโดย “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พ่วงด้วยเหล่า “ขุนพล” ลูกพรรค ปชป.ที่แพลมๆ กันว่าพร้อมถลกหนังฉีกหน้ากากของรัฐบาล ที่เล่นแร่แปรธาตุซ่อนรูปไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณหลายประเด็น
ยี่ห้อ “ประชาธิปัตย์” ที่ระยะหลังเริ่มหมดมนต์ขลัง เริ่มหมดศรัทธาจากประชาชน จะทำได้ดีแค่ไหน-มีหลักฐานเด็ดอะไรมาทิ่มแทงรัฐบาล หรือจะทำได้เพียงแค่พูดยกโวหารเหนือเมฆอีกเช่นเคย ก็ต้องตามดูกันต่อไป
แต่หากจำแนกรายละเอียด พ.ร.บ.งบประมาณ ที่ผ่านความเห็นชอบของ ครม.เสนอต่อ “รัฐสภา” มีหลายประเด็นที่แอบซ่อนรูปสานต่อนโยบาย “ประชานิยม” เอาไว้ โดยสามารถจำแนกได้ดังนี้
“ภาระเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ” ตามงบประมาณปี 2557 เพิ่มเป็น 1.32 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% เทียบกับงบปี 2556 เงินการเลื่อนขั้นและปรับวุฒิเงินเดือนข้าราชการเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.3% เทียบกับปีงบ 2556 งบประมาณในส่วนนี้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อสนองต่อนโยบายเงินเดือนปริญญาตรีขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน
“งบสวัสดิการ” ที่รัฐบาลจัดสรรตามนโยบาย อาทิ งบ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ครั้งนี้ตัวเลขที่รัฐบาลต้องเข้าไปอุดหนุนอยู่ที่ 1.14 แสนล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินการโครงการในปี 2545 ที่เริ่มโครงการปีแรกมีค่าใช้จ่ายเพียง 2.76 หมื่นล้านบาท เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วเพิ่มขึ้นถึง 45 เท่า เพียงแค่ช่วง 12 ปีเท่านั้น
จะเห็นได้ว่างบประมาณในการอุดหนุนโครงการสวัสดิการจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ตามสภาพสังคมไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ดังนั้นการตั้งงบประมาณของรัฐบาลจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี เพราะรัฐบาลต้องรับมือแบกรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ
“โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร” โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่สูงกว่าราคาตลาด ซึ่งในงบประมาณงบปี 2557 ได้จัดสรรงบให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 8.28 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2556 ที่จัดสรรงบไว้ 6.13 หมื่นล้านบาท เป็น 7.35 หมื่นล้านบาท
หากแยกย่อยลงไปงบประมาณปี 2557 ยังไม่นับรวมวงเงินกู้หมุนเวียนในโครงการรับจำนำข้าวที่ใช้เงินไปแล้วกว่า 5 แสนล้านบาท แล้วจะไม่ “ขาดทุน” ย่อยยับได้อย่างไร หน่ำซ้ำยังสร้างภาระงบประมาณภาครัฐมหาศาลไปอีกหลายช่วงอายุคน
“โครงการรถยนต์คันแรก” ที่งบประมาณปีงบ 2556 จัดสรรงบคืนเงินภาษีแล้ว 7,280 ล้านบาท โดยประมาณปีงบ 2557 จัดสรรงบรองรับไว้ 4 หมื่นล้านบาท และงบประมาณปีงบ 2558 จะต้องจัดสรรอีกกว่า 4 หมื่นล้านบาท
รวบยอดนับรวมแล้ว รัฐบาลต้องเสียเงินภาษีในการ “ซื้อใจ” ประชาชนที่ได้รับผลประโยชน์จาก “โครงการรถยนต์คันแรก” ไปเกือบ 9 หมื่นล้านบาท
ทั้งหมดคือหนึ่งในอีกหลายโครงการที่รัฐบาลตั้งงบประมาณไว้สูง และเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก
แต่จับอาการของ “กิตติรัตน์” ในระยะหลังออกมาให้สัมภาษณ์ย้ำตลอดว่าการจัดทำงบปี 2557 แม้เป็นการจัดทำงบขาดดุลก็จริง แต่การขาดดุลงบลดลงเหลือ 2.5 แสนล้านบาท เทียบกับงบประมาณปี 2556 ที่เป็นการขาดดุลงบ 3 แสนล้านบาท และงบประมาณปี 2555 ที่เป็นการขาดดุลงบ 4 แสนล้านบาท
นับว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลที่ลดการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเข้าสู่งบประมาณสมดุลในปี 2560
แต่ในความเป็นจริงการที่รัฐบาลลดการงบประมาณ “ขาดดุล” เหลือ 2.5 แสนล้านบาทได้รับอานิสงส์การกู้เงินนอกงบประมาณของรัฐบาลต่างหาก ทั้งการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.กู้เงินลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท
จับพิรุธกันจริงๆ จะพบว่า รัฐบาลพยายามอิง “โฆษณาชวนเชื่อ” ทำให้ฝ่ายค้านหลงมุม-หลงเหลี่ยม-หลงทิศ ด้วยการนำเรื่องการตั้งงบประมาณ “ขาดดุล” มาเป็นเกมการเมืองมากกว่า พยายามเบี่ยงเนื้อหาสาระสำคัญไป
โดยเฉพาะการตั้งงบประมาณที่สูงขึ้นในโครงการ “ประชานิยม” ต่างๆ
ซึ่งน่าสนใจกว่าเยอะ หากพรรคประชาธิปัตย์ยังมี “คนเก่ง” อยู่บ้าง ก็คงหลงเดินในเกมที่พลพรรค “เด็กแม้ว” ขุดบ่อล่อไว้ เพราะหากมัวแต่พูดเรื่องเงินกู้ พูดเรื่องงบประมาณขาดดุล “ประชาชน” จะไม่มีทางรู้เลยว่างบประมาณในแต่ละปีใช้จ่ายอย่างไรบ้าง มีส่วนไหนที่ “รัฐบาล” นำ “ภาษีประชาชน” ไปแสวงหาประโยชน์ให้กับพรรคพวกตัวเอง
การอภิปราย “พ.ร.บ.งบประมาณ” ครั้งนี้จึงควรเน้นรายละเอียดในเนื้อหา เพื่อทำให้ประชาชนรู้ถึงผลเสียของโครงการ “ประชานิยม” ที่ออกมาอย่างหน้ามืดตามัว
เพราะฟันธงไว้ได้เลยว่าในงบประมาณปีต่อๆไป หาก “รัฐบาลเพื่อไทย” จะกุมอำนาจอยู่ คงมีโครงการ “ประชานิยม” ออกมาอย่างต่อเยนื่อง เพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งครั้งต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น