วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

มติชนวิเคราะห์...รัฐบาลแลกหมัด เร่งโชว์"ผลงาน" "การเมือง"ไม่ปรองดอง วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เวลา 20:53:21 น.

มติชนวิเคราะห์...รัฐบาลแลกหมัด เร่งโชว์"ผลงาน" "การเมือง"ไม่ปรองดอง

วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เวลา 20:53:21 น.

(วิเคราะห์ มติชนรายวัน 26 พ.ค.2556)


ท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สไกป์เข้าไปปราศรัยต่อคนเสื้อแดงระหว่างรำลึก 3 ปี วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ที่แยกราชประสงค์ นั้นฟังดูเผ็ดร้อน

จากการปราศรัยยืดยาว มีประเด็นที่ถูกจับขึ้นมาชู 2 เรื่อง

หนึ่ง กรณี "แอ้ด 600 ล้าน" ที่พาดพิงไปถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. และยังพาดพิงไปถึงคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. อีกด้วย

สอง พ.ต.ท.ทักษิณสนับสนุนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ที่เสนอให้นิรโทษชาวบ้านเพียงอย่างเดียว ส่วนแกนนำ หรือผู้สั่งการ หรือแม้กระทั่ง พ.ต.ท.ทักษิณยังต้องรอไปก่อน

คำปราศรัยสนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย และคณะ สอดรับกับความต้องการของคนเสื้อแดง สอดรับกับมติพรรคเพื่อไทย และสอดรับกับรัฐบาล

เป็นการสอดรับในช่วงจังหวะที่มวลชนคนเสื้อแดงเริ่มแคลงใจ ... รัฐบาลอยู่มาเกือบ 2 ปีทำอะไรให้คนเสื้อแดงที่ต้องคดีบ้าง ?

และหลังจากคำถามนี้ดังขึ้นเรื่อยๆ พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลจึงต้องขับเคลื่อนให้ปรากฏ ผลงานŽ

ผลงานให้มวลชน !

เช่นเดียวกับท่าทีของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่กังวลกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าเกินไป

นายกิตติรัตน์พยายามส่งสัญญาณให้ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อบรรเทาปัญหา แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เห็นด้วย เพราะเกรงจะกระทบเงินเฟ้อ

สุดท้าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อแก้ไขปัญหาค่าเงิน เพราะเงินบาทแข็งค่ามากเกินไปทำให้ภาคการส่งออกเดือดร้อน และเมื่อเงินนอกไหลเข้าประเทศมาก ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดฟองสบู่ในอนาคต

หากเศรษฐกิจมีปัญหา รัฐบาลก็ต้องมีปัญหา !

นี่จึงเป็นอีกความเคลื่อนไหวที่มีการปะทะกันระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายประจำ ซึ่งวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ กนง.จะประชุมกันอีกครั้ง แต่ไม่ทราบว่าจะพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างไร ?

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังต้องผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ในวันที่ 29-30 พฤษภาคมนี้ โดยฝ่ายค้านมีพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำ จัดเตรียม ส.ส.ไว้อภิปรายวาระ 2-3 ประมาณ 70 คน โฟกัสเรื่อง ปกปิดหนี้Ž และติดตามนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลอีกรอบ

สำหรับการติดตามนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลรอบนี้ไม่เหมือนครั้งก่อน

การอภิปรายนโยบายจำนำข้าวในรอบก่อน เป็นการโจมตีขณะที่รัฐบาลยังไม่เริ่มปฏิบัติ หรือเพิ่งปฏิบัติ แต่การอภิปรายรอบนี้ ถือว่ากระทรวงพาณิชย์ปฏิบัติไปแล้ว

จึงพอจะมองเห็น "ผลงาน" ว่าสำเร็จ หรือล้มเหลว ของนโยบายจำนำข้าวนี้

ขณะที่เรื่องการกู้หนี้นั้น ย่อมพัวพันไปถึงการกู้ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำ และการกู้ 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อจัดระบบรางของไทยแบบยกเครื่อง

ขณะที่การกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท ที่มี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นเจ้าโครงการ ดูจะมีภาษีกว่า เพราะทุกอย่างเปิดเผยแบบให้เห็นและตรวจสอบได้ แต่การบริหารจัดการน้ำ ด้วยงบ 3.5 แสนล้านบาท ที่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดูแล กำลังถูกตั้งคำถาม


3.5 แสนล้านบาท ทำไปถึงไหนกันแล้ว ?

เวลาที่ผ่านมาเกือบ 2 ปี รัฐบาลต้องตอบคำถามว่า นโยบายจำนำข้าวสำเร็จหรือล้มเหลว

ต้องตอบว่า การจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทไปถึงไหนแล้ว ?

ผลงานของรัฐบาลในเรื่องใหญ่ๆ นั้นสำเร็จหรือล้มเหลว ?

จากความเคลื่อนไหวใหญ่ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ทั้งการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การแก้ปัญหาค่าเงิน การจัดการน้ำ ผลการปฏิบัติในนโยบายจำนำข้าว หรือการเปลี่ยนระบบโลจิสติกส์ของประเทศ

ทุกอย่างล้วนคือผลงาน

ผลงานทางการเมืองที่พรรคเพื่อไทยต้องการให้มวลชนคนเสื้อแดงประจักษ์ ผลงานสำเร็จในนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการทำให้คนที่เลือกพรรคเพื่อไทยสัมผัสได้

อย่าลืมว่า พรรคเพื่อไทยนั้นมีจุดแข็งที่ "ผลงาน" ความนิยมของพรรคเพื่อไทยอยู่ที่ความสำเร็จของผลงาน

ดังนั้น รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจึงเดินหน้าเต็มตัว

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ยังคงมองเห็นทุกอย่างตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ก็มองเห็นว่า หากพรรคเพื่อไทยไม่มีผลงาน...ก็บ้อจี๊

ดังนั้น สถานการณ์การเมืองในวันนี้จึงเป็นสถานการณ์ที่บีบบังคับให้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลต้องเดินหน้า เพื่อให้เกิดผลงาน

ทั้งนี้ เพราะสถานการณ์ขณะนี้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นต่อ แม้กลุ่มฮาร์ดคอร์ปล่อยข่าวยั่วยุหวังให้ทหารทำรัฐประหาร แต่สุดท้ายฝ่ายทหารก็ไม่สน

แม้มีการคาดเดาว่าจะยุบสภาช่วงปลายปีนี้ แต่ฟังเสียงจากนายกรัฐมนตรี และคำให้สัมภาษณ์ของ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ล่าสุด...การยุบสภาคงต้องรอไปก่อน

แม้จะมีปัจจัยจากองค์กรอิสระ โดยเฉพาะวันที่ 29 พฤษภาคม

ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังการพิจารณาคำร้องกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่? แต่ทุกอย่างต้องตัดสินอยู่ในกรอบกติกา

เพราะพรรคเพื่อไทยเองก็เตรียมชำแหละผลการพิจารณา หากพบว่ามีการพิจารณานอกกรอบนิติรัฐ-นิติธรรม

เหลือแต่ "ผลงาน" นี่แหละที่มีผลต่ออนาคตของรัฐบาล และความเชื่อมั่นในพรรคเพื่อไทย

จึงไม่แปลกหากเห็นท่าทีของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลในช่วงนี้เปลี่ยนไป

จากเดิมที่เคยชะลอ ยอมถอย และเฝ้ารอ กลับกลายเป็นใส่เกียร์เดินหน้าเพื่อผลงาน

หากมีการขัดขวางมิให้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลสร้างผลงานตามที่ได้แถลงนโยบายหรือสัญญากับมวลชนไว้...ทั้งเพื่อไทยและรัฐบาลคงไม่ยอมถอย

การเมืองในระยะนี้จึงเห็นพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลยอมแลกหมัด ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ยอมเลิกรา

ทั้งสองฝ่ายยังเผชิญหน้า....การเมืองยังไร้วี่แววปรองดอง !

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น