วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

พิสูจน์รอยฟ้าผ่า!สาเหตุไฟดับ14จว.ใต้ เมือ 26 พ.ค.56

พิสูจน์รอยฟ้าผ่า!สาเหตุไฟดับ14จว.ใต้


พิสูจน์รอยฟ้าผ่า!สาเหตุไฟดับ14จว.ใต้

รองผู้ว่า กฟผ. นำสื่อพิสูจน์รอยฟ้าผ่า สาเหตุไฟฟ้า 14 จังหวัดภาคใต้ดับ พร้อมยืนยันการเตรียมความพร้อมเพิ่มความมั่นคงป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น


                           26 พ.ค. 56  ที่ห้องประชุมท่าอากาศยานหัวหิน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายธนา พุฒรังษี รองผู้ว่าการระบบส่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่ประเทศไทย พร้อมด้วยนายสุธน บุญประสงค์ ผู้ช่วยผู้ว่าการปฎิบัติระบบส่ง กฟผ. ได้ทำการเปิดแถลงข่าว พร้อมนำคณะสื่อมวลชน เดินทางพิสูจน์ ข้อเท็จจริงของสาเหตุปัญหาที่ทำให้ไฟฟ้าดับในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เมื่อเวลา 18.52 น. วันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่าน ว่าเกิดจากฟ้าฝ่าเสาและสายไฟฟ้าแรงสูง ที่บริเวณ ต.บ้านทาน อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีไฟฟ้าจอมบึง ประมาณ 74 กม. ที่เสาต้นที่ 200/3 โดยมีรอยที่ลูกถ้วยอย่างชัดเจน
                           ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุให้เกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องในระบบส่งไฟฟ้าภาคใต้ ต้องใช้เวลาในการแก้ไขหลายชั่วโมง เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้มีแหล่งผลิตไฟฟ้าน้อยกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชน จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการจ่ายกระแสไฟฟ้าจากภาคกลางไปสู่ภาคใต้ รวมทั้งจำเป็นต้องเพิ่มการซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียมาเสริมระบบในคืนเกิดเหตุคิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 12 ล้านบาท นอกจากนี้ยังต้องทำการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากที่มีทั้งหมดในภาคใต้อย่างเต็มกำลัง เพื่อให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้โดยเร็ว จนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตสามารถจ่ายไฟให้ได้เกือบทั้งหมดในเวลา 23.37 น.วันเดียวกัน
                           นายธนา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้เพิ่มขึ้นรวมร้อยละ 6 ต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดชายฝั่งอันดามัน อย่าง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวก็ใช้ไฟฟ้ามากถึง 15 เปอเซ็นต์ ของกำลังไฟฟ้าทั้งหมดในภาคใต้ ในขณะที่ระบบผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ต้องพึ่งการส่งกระแสไฟฟ้าไปจากภาคกลางบางส่วน แต่ระบบส่งที่ส่งไฟฟ้าไปจากภาคกลางลงสู่ภาคใต้นั้นมีลักษณะเป็นคอขวดตามภูมิประเทศตั้งแต่ในช่วงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อระบบส่งไฟฟ้าข้อนข้างสูง ดังนั้นทาง กฟผ.จึงมีแนวทางในการพัฒนาโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ภาคใต้ และขยายระบบส่งเพิ่มขึ้น ได้แก่การทำการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่จะนะ ชุดที่ 2 ขึ้น หนึ่งเท่าตัว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการและจะเสร็จภายในปี 2557 นี้ นอกจากนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการหาแหล่งผลิตโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ซึ่งตรงนี้จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม นอกจากนี้แล้วทาง กฟผ.ยังมีการดำเนินการปรับปรุงและขยายระบบส่งให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ลดความเสี่ยงต่อระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ในระยะยาวอีกด้วย
                           นายธนา กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวนั้นทาง กฟผ.มีความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่งและไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหานับแต่นาทีที่เกิดเหตุโดยผู้ปฎิบัติงานของ กฟผ.ที่เกี่ยวข้องทุกคนทุกฝ่ายได้พยายามเร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนทันที และได้ตั้งศูนย์สื่อสารภาวะวิกฤติ เพื่อประสานงานในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าแห่งชาติ สำนักงานกลาง กฟผ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี และศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าภาคใต้ ต.ลำภูรา อ.เมือง จ.ตรัง ในทันที โดยมีนายวรพจน์ อินทร์ทอง ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ เป็น ผอ.ศูนย์ในการแก้ปัญหา จนสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ทั้งหมด
                           อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เน้นย้ำกับทาง กฟผ.ถึงการรับมือต่อสถานการณ์ไฟฟ้าดับที่อาจจะเกิดขึ้นอีกว่า จะต้องดูแลระบบให้มีความมั่นคง การทำงานจะต้องไม่ซ้ำซ้อน ส่วนในแผนระยะกลางและระยะยาว จะต้องมีการสำรวจ ปรับปรุงสายส่งที่ส่งไปยังภาคต่างๆทั่วประเทศให้มีความมั่นคง เพื่อรองรับการให้ไฟฟ้า รวมทั้งรองรับแหล่งผลิตจากใน และนอกประเทศ อีกทั้งในแผนการดำเนินงานที่มีอยู่แล้วอย่างสายส่งภาคไต้ให้เร่งรัดให้เร็วกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม กฟผ.มีแผนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้นเช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ขนาด 710 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขนม จังหวัดนครศรีธรรมราช และโรงไฟฟ้ากระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ ที่กำลังอยู่ในช่วงทำประชาพิจารณ์ ซึ่งจะทำให้การผลิตและการใช้ไฟฟ้ามีความสอดคล้องกันมากขึ้น
                           นางสาวสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล ฝ่ายวิชาการกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ แกนนำในการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) เปิดเผยกรณีไฟฟ้าดับทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ว่า ที่ผ่านมาข้อมูลของ กฟผ.ได้ระบุอย่างชัดเจนในวันที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือพีค ของภาคใต้ เมื่อปี 2555 กฟผ.ได้สั่งลดกำลังผลิตโรงไฟฟ้าก๊าซจะนะ จ.สงขลา เหลือเพียง 65% โดยมีการผลิตไฟฟ้าป้อนระบบเพียง 247 เมกะวัตต์จาก 710เมกะวัตต์ เนื่องจากต้องการให้ผู้ใช้พลังงานในภาคใต้ ใช้ไฟฟ้าที่เหลือจากภาคกลาง หลังจากมีปริมาณไฟฟ้าสำรองในภาคกลางเหลือใช้จำนวนมาก และ กฟผ.ต้องเปิดให้โรงไฟฟ้า ไอพีพี ของเอกชนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบก่อน เพราะตามสัญญา หากไม่ใช้ไฟฟ้า กฟผ.ก็ต้องจ่ายค่าไฟ ดังนั้นจึงต้องสั่งหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าของ กฟผ.
                           นางสาวสุรีรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้หลายฝ่ายมีความพยายามในการการปั่นกระแสเพื่อเร่งให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินของเอกชนรอบใหม่ พราะเป็นผลประโยชน์ในการถอนทุนของฝ่ายการเมืองและกลุ่มทุนธุรกิจค้าพลังงาน 
                           "ดังนั้นบทบาทของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในฐานนะประธานคณะกรรมการพลังงานชาติ  ควรสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีปฏิบัติการระดับประเทศเพื่อเป้าหมายที่วัดผลได้ในการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยรวม เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้และผลิตพลังงาน ที่มีศักยภาพ 17,000 เมกกะวัตต์ ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งสามารถทำได้ทุกภาค ที่สำคัญคือใช้งบประมาณต่ำกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ทุกประเภท ค่าไฟฟ้าก็จะลดลง หากเริ่มดำเนินการก็จะได้กระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทันที ไม่ต้องใช้เวลานานเท่าการพลังงานเพื่อผลิตไฟฟ้าจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและไม่มีความขัดแย้งกับชุมชนในพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้า ปฏิบัติการลดความต้องการใช้ไฟฟ้า การบริหารระบบไฟฟ้าช่วงพีค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน เป็นทางเลือกแรกในการจัดหาพลังงานของประเทศตามแผนพีดีพีในประเทศในแถบทวีปยุโรป ดังนั้นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ผู้บริหารกฟผ. ควรนำคณะสื่อมวลชนและชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมาย ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไปดูงาน เพื่อเพิ่มวิสัยทัศน์ในการวางแผนพลังงานของประเทศให้มีความก้าวทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น