วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

‘ครม.’เห็นชอบ กม.ควบคุมรปภ. จบสูงกว่า‘ม.3’ เมื่อ 8 พ.ค.56



‘ครม.’เห็นชอบ กม.ควบคุมรปภ. จบสูงกว่า‘ม.3’


คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ระบุผู้ประกอบธุรกิจจะต้องขอรับใบอนุญาต-ต้องจัดตั้งในรูปบริษัทจำกัด ส่วน รปภ.ต้องมีสัญชาติไทย และจบการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 3 
นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันอังคารหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ..... ที่เสนอโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว โดยมีสาระสำคัญคือการกำหนดนิยามคำว่า “ธุรกิจรักษาความปลอดภัย” เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าธุรกิจใดที่อยู่ภายใต้บังคับของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ รวมทั้งให้ผู้ซึ่งประสงค์จะประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย จะต้องขอรับใบอนุญาต และจะต้องจัดตั้งในรูปบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด โดยให้ใช้คำนำหน้าชื่อว่า “บริษัทรักษาความปลอดภัย” 
นายภักดีหาญส์กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังกำหนดให้พนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) รับอนุญาต ต้องสวมเครื่องแบบและติดเครื่องหมาย รปภ.รับอนุญาตในขณะปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งกำหนดหน้าที่ของ รปภ.รับอนุญาตในการช่วยเหลือพนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจ และหน้าที่อื่นๆ
     “อีกสาระสำคัญคือ หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตทำงานเป็น รปภ. จะต้องมีสัญชาติไทย และจบการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 ส่วนผู้ที่ทำงานเป็น รปภ.ก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ และจบการศึกษาต่ำกว่าระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จะต้องเข้ารับการอบรมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง” นายภักดีหาญส์ระบุ
แหล่งข่าวเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะครอบคลุมเฉพาะพนักงานรักษาความปลอดภัยที่อยู่ภายใต้บริษัทรักษาความปลอดภัย ในกรณีที่โรงงาน ห้างร้าน หมู่บ้าน บริษัทต่างๆ ทำการจ้างบริษัทเหล่านี้ไปรักษาความปลอดภัยเท่านั้น แต่จะไม่รวมถึงพนักงานรักษาความปลอดภัยที่โรงงาน ห้างร้าน หมู่บ้าน บริษัทต่างๆ ทำการจ้างเองเป็นรายบุคคล  
สำหรับเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุว่า ผู้ใดประสงค์จะเป็น รปภ.รับอนุญาต ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อนายทะเบียน ซึ่งได้แก่ ผบช.น. ในฐานะนายทะเบียนกลาง และ ผบช.ภ.จว. ในฐานะนายทะเบียนจังหวัด โดยในหมวด 3 ได้ระบุคุณสมบัติไว้ 4 ข้อ ดังนี้ มีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ สำเร็จการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ และได้รับหนังสือรับรองว่าได้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัย จากสถานฝึกอบรมที่นายทะเบียนกลางรับรองตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง 
นอกจากนี้ ต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม อาทิ เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังหรือติดยาเสพติดให้โทษหรือเป็นโรคติดต่อที่คณะกรรมการกำหนด เป็นผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดสำหรับความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สิน ความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับการพนัน หรือความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ฯลฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนที่มาของร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ..… สืบเนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.รักษาความปลอดภัยเอกชน พ.ศ.…. ต่อ ครม.เมื่อปี 2550 โดยมีเหตุผลว่า เนื่องจากได้มีการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยบุคคลและทรัพย์สินต่างๆ โดยได้รับสินจ้าง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป แต่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมการประกอบธุรกิจการ กำหนดมาตรฐานผ้ประกอบอาชีพและพนักงานรักษาความปลอดภัย ประกอบกับ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 บัญญัติให้ สตช.ส่งเสริมให้ท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดอาญา รักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยของประชาชนตามความเหมาะสมและความต้องการของแต่ละพื้นที่ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับเพื่อควบคุมการประกอบธุรกิจการรักษาความปลอดภัยให้มีมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งให้ความคุ้มครองผู้บริโภคในธุรกิจรักษาความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ต่อมาที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 16 ต.ค.50 ได้มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.การรักษาความปลอดภัยเอกชน พ.ศ.… ตามที่ สตช.เสนอ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยรับข้อสังเกตของครม.ที่เห็นว่า การกำหนดให้การประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยต้องขอรับใบอนุญาต รวมทั้งต่ออายุใบอนุญาตทุก 3 ปี อาจไม่คล่องตัว และเป็นการสร้างภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจ จึงสมควรพิจารณาแนวทางกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ เช่น การขึ้นทะเบียนและกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจสอบที่เหมาะสมแทนการขอรับใบอนุญาต โดย สคก.ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวแล้ว จึงได้แก้ไขชื่อร่าง พ.ร.บ.การรักษาความปลอดภัยเอกชน พ.ศ.… มาเป็น “ร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. …” เพื่อให้เกิดความชัดเจน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น