วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ถอยหนีตาย “จำนำข้าว” เสียงติดลบ “ไม่แก้ทุจริต” โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 มิถุนายน 2556 05:35 น.


ถอยหนีตาย “จำนำข้าว” เสียงติดลบ “ไม่แก้ทุจริต”
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์24 มิถุนายน 2556 05:35 น.
ผ่าประเด็นร้อน
       
       หลังรัฐบาลเห็นชอบกับข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่ปรับลดราคารับจำนำข้าวลดลงจากเดิม 15,000 บาทต่อตัน เหลือ 12,000 บาทต่อตัน พร้อมกับการจำกัดวงเงินรับจำนำไม่เกิน 500,000 บาทต่อครัวเรือน และให้มีผลตั้งแต่ 30 มิ.ย. - 15 ก.ย. 56 เป็นต้นไป
       
       พบว่ายังคงมีควันหลงเกิดขึ้นตามมาเป็นระลอก โดยเฉพาะที่รัฐบาลคงคาดไม่ถึง คือความคิดเห็น-ความรู้สึกของคนในสังคม ที่ไม่ใช่แค่พวกชาวนา-เกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทันทีกับการปรับลดราคาดังกล่าว
       
       แต่เป็นความเห็นของคนในสังคมระดับวงกว้าง ที่แสดงออกมาว่าไม่ได้เห็นด้วยต่อการถอยร่นของรัฐบาลในครั้งนี้
       
       เลยทำให้จากเดิมที่รัฐบาลอาจคิดว่า การยอมเสียหน้าดังกล่าวเพราะดันทุรังใช้หลักเกณฑ์เดิมในการรับจำนำข้าวทำไปไม่ไหว อาจได้รับเสียงชื่นชมเห็นใจจากคนในสังคมบ้าง แต่กลับไม่เป็นอย่างที่รัฐบาลคิด
       
       เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะข้อมูลข่าวสารเรื่องความล้มเหลว-ความผิดปกติในการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเพื่อไทย ได้ถูกตีแผ่นำเสนออย่างรอบด้าน ทำให้ประชาชนได้ข้อมูลข้อเท็จจริงว่า โครงการดังกล่าวมีข้อผิดพลาดทั้งกระบวนการทั้งหมดอย่างไร
       
       โดยเฉพาะการดันทุรังของรัฐบาลเพื่อไทย ที่พยายามทำโครงการนี้ทั้งที่มีเสียงคัดค้านตั้งแต่แรก แต่ ครม.ยิ่งลักษณ์ ก็ไขสือ-หูทวนลม เพียงเพราะหวังผลเรื่องคะแนนเสียง โดยไม่คำนึงถึงหลักความเป็นจริงของภาระงบประมาณและเป็นโครงการที่ทำลายกลไกตลาดการขายข้าว-ส่งออกข้าวไทยไปต่างประเทศ
       
       แถมตลอดเวลาที่ผ่านมาก็มีแต่เรื่องเน่าๆ กลิ่นไม่ดีในเรื่องโครงการรับจำนำข้าวออกมาตลอด ว่ามีเครือข่ายนักการเมืองในรัฐบาลเพื่อไทยได้รับประโยชน์มากมายสารพัดจากการทำโครงการนี้
       
       ทั้งเงินทอน เงินทุจริต เงินกินเปล่า กินตามน้ำ ไปเข้ากระเป๋าเครือข่ายนักการเมืองมากมายก่ายกอง จนเมื่อดันทุรังไปไม่ไหว
       
       ประชาชนเห็นแผลเน่ามากมายเลยต้องยอมลดราคาลง เพราะพรรคพวกตัวเองกินอิ่มกันแล้ว เลยพักการกินให้น้อยลงก่อน เพื่อรอตั้งหลัก แล้วก็โยนปัญหาไปให้ชาวนารับเคราะห์แทน จากความห่วยแตกของรัฐบาลเอง
       
       จึงไม่แปลกที่ทำไมแทนที่เมื่อรัฐบาลลดราคารับจำนำข้าวแล้ว กลับกลายเป็นว่า ไม่ได้ทำให้สถานการณ์รัฐบาลดีขึ้น เหตุก็เพราะประชาชนจำนวนมากรู้ทัน และเห็นแผลเน่าโครงการนี้กันหมดแล้ว
       
       ผลก็เลยสะท้อนออกมาจากผลโพลหลายสำนักที่เปิดเผยผลสำรวจเรื่องความคิดเห็นประชาชน หลังรัฐบาลลดราคารับจำนำข้าวออกมา ที่ต่างก็บอกว่าไม่เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ อันเป็นผลสำรวจที่เปิดเผยกันออกมาเมื่อ 22 มิ.ย. 56 ทั้งสิ้น
       
       ทั้ง “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “การปรับลดราคารับจำนำข้าว” ที่จากการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.62 ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลลดราคาจำนำข้าว เพราะเห็นใจเกษตรกร ทำให้มีรายได้จากการขายข้าวลดลง อีกทั้งต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น
       
       และเห็นว่า ควรไปแก้ไขการทุจริตคอรัปชันของระบบขั้นตอนจะดีกว่า
       
       ขณะที่ ร้อยละ 36.62 เห็นด้วย เพราะรัฐบาลไม่ต้องแบกค่าใช้จ่ายส่วนต่างราคาข้าว ซึ่งทำให้รัฐขายข้าวขาดทุน
       
       ส่วน “สวนดุสิตโพล”ก็เช่นกัน ผลสำรวจสะท้อนออกมาว่า ประชาชนไม่เห็นด้วย 59.16% เพราะมองว่าจะส่งผลกระทบต่อชาวนา ซึ่งได้รับความเดือดร้อนโดยตรง เนื่องจากมีการลงทุนซื้อปุ๋ย ซื้อยา ค่าน้ำมันไปแล้ว ชาวนาต้องสูญเสียรายได้ ขาดทุน ควรแก้ที่ต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงจะดีกว่า ไม่ใช่มาแก้ที่ปลายเหตุ
       
       และสุดท้าย ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือกรุงเทพโพลล์ ที่เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,234 คน ในหัวข้อ "คะแนนนิยมเป็นอย่างไร หลังเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ดอนเมือง และผลงานรับจำนำข้าวขาดทุน" ผลสำรวจพบว่า คะแนนนิยมในตัว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ที่ร้อยละ 40.4 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ที่อยู่ที่ร้อยละ 51.2 เท่ากับลดลง 10.8
       
       เสียงสะท้อนดังกล่าว ออกมาในทิศทางเดียวกันว่าการถอยร่นของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในครั้งนี้ ประชาชนมองว่าเป็นแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ก็น่าจะทำให้ยิ่งลักษณ์ คิดหนัก
       
       เพราะกับของจริงผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ ชาวนา เห็นได้ชัดว่าเสียงร้องระงมของชาวนา-เกษตรกร ตัวจริงเสียงจริง ทั่วประเทศ ต่างแสดงความไม่พอใจออกมากันจำนวนมาก
       
       บางจังหวัดที่เป็นจังหวัดของ ส.ส.เพื่อไทย ก็เริ่มเคลื่อนไหวกันแล้ว มีการรวมตัวเตรียมส่งตัวแทนไปร่วมประชุมกับกลุ่มผู้นำชาวนาในภาคส่วนต่างๆ
       
       ข่าวก็ว่ากลุ่มตัวแทนชาวนา 22 จังหวัดภาคกลาง ก็เตรียมส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลในสัปดาห์นี้ เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้กันแล้ว
       
       ต้องดูว่าที่ทั้งนายกรัฐมนตรี-จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย และแกนนำพรรคเพื่อไทย มีการสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด-นายอำเภอทั่วประเทศ เร่งลงไปทำความเข้าใจกับประชาชนโดยเร่งด่วน เพื่อชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในเรื่องนี้ ซึ่งก็คือการสั่งอย่างไม่เป็นทางการว่า ให้คอยช่วยรัฐบาลกลบแผลเน่าให้ด้วย
       
       รวมถึงที่สำคัญต้องพยายามสกัดไม่ให้มีม็อบชาวนา-เกษตรกร ออกมาโวยวายหรือเคลื่อนไหวรวมตัวแสดงความไม่พอใจรัฐบาล โดยเฉพาะหากถึงขั้นยกพวกมาประท้วงกันที่กรุงเทพฯ หน้าทำเนียบรัฐบาล ถ้าเกิดจังหวัดไหนทำพลาด ผู้ว่าฯ ในจังหวัดนั้น เชื่อได้เลยโดนขึ้นบัญชีย้ายปลายปีแน่นอน!
       
       เช่นเดียวกับที่มีการสั่งให้ ส.ส.ของเพื่อไทย เร่งลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจกับชาวนาในพื้นที่ตัวเองผ่านหัวคะแนนและชาวนาโดยตรง เพื่อสกัดแรงไม่พอใจดังกล่าวไม่ให้ลุกลามบานปลาย ก็คาดว่าการสั่งการดังกล่าวคงดูด้วยว่าหากจังหวัดไหนมีปฏิกิริยาลุกฮือมาก ส.ส.เพื่อไทย ในจังหวัดนั้น มีปัญหาแน่นอน
       
       ที่ต้องจับตาอีกหนึ่งฉากของเรื่องจำนำข้าวก็คือ การประชุม ส.ส.เพื่อไทย วันอังคารที่ 25 มิ.ย.นี้ ที่ตามข่าวบอกว่าที่ประชุม ส.ส.ขอให้เรียก บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ที่กำลังอยู่ในอาการ “บุญทรุด” รวมถึง วราเทพ รัตนากร รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ที่รับหน้าเสื่อชี้แจงเรื่องรับจำนำข้าวให้รัฐบาล ต้องมาชี้แจงเรื่องเหตุผลความจำเป็นในการลดราคารับจำนำข้าวต่อที่ประชุม ส.ส.
       
       จะมีข่าวว่ามี ส.ส.เพื่อไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะ ส.ส.อีสาน-และภาคกลาง จองคิวขอลุกขึ้นถาม “บุญทรง-วราเทพ” แต่ตัวหลักที่จะโดนเล่นงานหนักคงเป็นบุญทรงแน่นอน
       
       หากไม่มีสัญญาณสั่งอุ้มบุญทรงกลางที่ประชุม ส.ส.เพื่อไทย ปล่อยให้ส.ส.รุมสับซักถามกันเต็มที่
       
       นั่นหมายถึงบุญทรงโดนลอยแพ เจ๊ไม่อุ้มแล้ว รอเก็บของออกจาก ก.พาณิชย์ ได้เลย ในการปรับ ครม.เร็วๆ นี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น