24 มิถุนาประชาธิปไตย
เวียนมาบรรจบครบรอบ 83 ปี การสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทย นับตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 ผ่านเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงและแรงกดดันทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ วันนี้จึงมีความเหมาะสมที่จะมานั่งทบทวนกันว่าประชาธิปไตยไทย 83 ปี บรรลุเป้าหมายตามหลักการประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด และประชาชนชาวไทยได้ประโยชน์จากระบอบการปกครองนี้
การปกครองระบอบประชาธิปไตยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่า เป็นกลไกสำคัญในการสร้างหลักประกันของการมีเสรีภาพ อันเป็นคุณลักษณะของมนุษย์ตามธรรมชาติที่ต้องการอิสระในการคิดและตัดสินใจทำอย่างที่ตนต้องการ แต่เสรีภาพที่หมายถึงทำอะไรก็ได้ตามใจฉันก็เป็นอุดมคติ เกินกว่าที่จะเกิดขึ้นได้จริง เพราะข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งก็คือ มนุษย์ต้องอาศัยอยู่ร่วมกัน การทำอะไรตามใจฉันย่อมมีโอกาสไปแย้งกับสิ่งที่ผู้อื่นต้องการ การยอมให้แต่ละคนมีเสรีภาพไม่จำกัดจึงก่อให้เกิดปัญหา
ประชาธิปไตยถูกออกแบบให้คำนึงถึงความจริงพื้นฐาน 2 ประการนี้ เพื่อให้มนุษย์ที่ต้องการเสรีภาพ สามารถอยู่ร่วมกันได้ เริ่มจากการวางกติการ่วมกันว่าอำนาจสูงสุดในรัฐนั้นเป็นของประชาชนทุกคน เพื่อเป็นหลักประกันว่าทั้งเริ่มต้นและปลายทางเสรีภาพยังเป็นของทุกคน ยอมรับธรรมชาติของมนุษย์ว่ามีพฤติกรรมหรือความคิดเห็นไม่ตรงกัน หากจะต้องอยู่ด้วยกันย่อมต้องเคารพกติกา แม้อาจถูกลิดรอนเสรีภาพไปบ้างแต่ก็ถือว่าเสียน้อยแต่ได้การคุ้มครองมาก ประชาธิปไตยจึงต้องใช้กฎหมายและเสียงข้างมากเป็นแกนกลางในการกำกับพฤติกรรมและยุติข้อขัดแย้ง
อย่างไรก็ตาม หากประชาธิปไตยมองเพียง เสรีภาพ กฎหมาย และเสียงข้างมาก ประชาธิปไตยก็จะเป็นเหมือนเวทีของการต่อรองผลประโยชน์ ด้วยการอ้างกฎหมายและเสียงข้างมาก สิ่งที่มักถูกมองข้ามไปในระบอบประชาธิปไตยก็คือ คุณธรรมในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นส่วนที่หล่อเลี้ยงให้สังคมอยู่กันอย่างมีความสุข ข้อเท็จจริงอีกประการคือ คุณธรรมที่สร้างความสงบสุขของแต่ละสังคมอาจให้น้ำหนักความสำคัญไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ยอมรับกันว่า คุณธรรมเรื่องความเสมอภาค เป็นส่วนที่ขาดไม่ได้
หากลองพิจารณา จะพบว่าสังคมหนึ่งย่อมประกอบด้วยคนที่มีความสามารถและโอกาสที่แตกต่างกัน ผู้ที่มีความสามารถและควบคุมทรัพยากร ย่อมได้เปรียบกว่าผู้ที่มีทรัพยากรและความสามารถน้อย สังคมที่วาดฝันว่าปลายทางประชาชนทุกคนจะมีเสรีภาพและอยู่อย่างมีความสุข แต่ไม่ให้ความสำคัญกับความเสมอภาค ก็จะกลายเป็นสังคมที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา และสุดท้ายคนที่สาวไม่ได้ย่อมขาดเสรีภาพในที่สุด เพราะถูกลดทอนอำนาจในการเลือกไปแล้ว
ก่อนปี 2540 เราพูดถึงเสรีภาพของประชาชนประหนึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด ต่อสู้และยืนหยัดด้วยกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหลากหลาย ทั้งนักศึกษา เกษตรกร องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชน เรียกร้องเสรีภาพจากรัฐบาลที่เป็นตัวแทนมาตลอดจนหลายสิบปี ผ่านเหตุการณ์นองเลือดมาหลายครั้ง รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงเป็นเหมือนพิมพ์เขียวที่ภาคประชาชนเฝ้ารอมานาน นับว่าหลังจากนี้ประชาธิปไตยคงเบ่งบาน
83 ปีของระบอบประชาธิปไตย ได้บอกกับเราทุกคนว่า ประชาธิปไตยเป็นการเดินทางที่ยังไม่สิ้นสุด มีโจทย์ที่ยังไม่บรรลุอีกหลายประการตามสภาพสังคมและวิถีชีวิตคนที่เปลี่ยนไป 83 ปีที่ประชาธิปไตยของไทยเต็มไปด้วยการสร้างรูปแบบให้เป็นประชาธิปไตย มีทั้งรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรรับรองอำนาจอธิปไตยของประชาชน รับรองเสรีภาพขั้นพื้นฐาน มีกฎหมายรองรับเป็นพันฉบับ มีตัวแทนของประชาชนทำหน้าที่บริหารประเทศซึ่งก็มาจากเสียงข้างมาก มองในแง่ดีเราได้พัฒนากฎหมาย สถาบันทางการเมือง องค์กรตรวจสอบถ่วงดุลให้เกิดขึ้นจำนวนมาก น่าจะเป็นฐานของการพัฒนาต่อในอนาคต
แต่หากมองกันอย่างเป็นจริงในเชิงคุณธรรม มองกันในเชิงคุณภาพ ความเสมอภาค ความเป็นธรรม ตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ดูเหมือนยังวนอยู่ที่เดิมเหมือนเมื่อ 83 ปีก่อน การเลือกตั้งก็ยังคงมีการซื้อเสียง เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบ และมีคนยังพร้อมจะขายเสียงทั้งที่เราสร้างกลไกคณะกรรมการเลือกตั้งและรณรงค์มาหลายสิบปี บรรยากาศทางการเมืองแบบสาดโคลน ทำลายความน่าเชื่อถือระหว่างกันมีมากกว่าร่วมมือ กลายเป็นภาพที่เห็นจนชินตาเพราะผลประโยชน์ของกลุ่มและพรรคพวกยังคงมาก่อน
การทุจริตในวงการเมืองก็ยังคงมีอยู่และแนบเนียนขึ้นแม้มีองค์กรตรวจสอบ ประชาชนในพื้นที่รับรู้อย่างกว้างขวางว่าใครทำอะไร แต่ระบบก็ไม่สามารถดำเนินการเอาผิดได้ ที่น่าเศร้าสังคมก็ขาดพลังที่จะใช้มาตรการเอาผิดทางสังคมแก่กลุ่มที่มีการทุจริต ซ้ำร้ายส่วนหนึ่งของสังคมกลับยอมรับได้ว่าการทุจริตเป็นสิ่งปกติหากมีผลงานดี ทัศนคตินี้สะท้อนถึงการยอมรับที่จะถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แน่นอนว่าใครอ้างว่าตนเป็นนักประชาธิปไตยแต่รับเงื่อนไขทุจริตได้ ย่อมฟังดูแปลก
การกระจายอำนาจเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะส่งเสริมประชาธิปไตยให้ใกล้ชิดประชาชนมากยิ่งขึ้น มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ทั่วโลกว่า การกระจายอำนาจจากรัฐบาลส่วนกลางไปสู่ส่วนภูมิภาค นำไปสู่การพัฒนาและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของประชาชน แต่การกระจายอำนาจของไทยมักถูกใช้กล่าวอ้างถึงว่าได้กระจายลงไปสู่องค์กรปกครองท้องถิ่นแล้ว ซึ่งก็เป็นจริง แต่การกระจายภาระงานโดยยังไม่สามารถกระจายงบประมาณให้สอดคล้องกับภารกิจของท้องถิ่น จึงเป็นเหมือนการไม่ขับเคลื่อนนโยบายกระจายอำนาจ รัฐบาลยังรักษาบทบาทสำคัญในการกำหนดและใช้จ่ายงบประมาณเป็นส่วนใหญ่
83 ปีประชาธิปไตย แม้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการเมืองแบบตัวแทน สังคมเรียนรู้วิถีประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ในเชิงคุณภาพประชาธิปไตยไทยยังไม่สามารถก่อให้เกิดเสรีภาพอย่างที่ควรจะเป็น ประชาธิปไตยไทยยังถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมเสรีภาพและประโยชน์สุขของส่วนรวม
ทั้งที่ทุกฝ่ายก็อ้างว่าทำเพื่อประชาธิปไตยเช่นกัน 83 ปี เราได้พัฒนาโครงสร้างทางการเมืองมาอย่างเพียงพอ ถึงเวลาที่เราควรอุดจุดอ่อนด้วยการร่วมกันสร้างวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตยของนักการเมือง และประชาชน ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เราไปไม่ถึงไหนเสียที
ดร.สืบวงศ์ กาฬวง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น