มรสุมศึกใน-อันตรายศึกนอก เขย่า “รัฐบาลยิ่งลักษณ์”
ฉลองครบรอบวันคล้ายวันเกิดอายุ 46 ปีคราวนี้ ตามภาพที่ออกมาในเบื้องหน้าอาจจะดูเริงร่า อิ่มเอมใจ แต่ข้างในลึกๆ ย่อมสวนทางเป็นแน่ เพราะสถานการณ์ในปัจจุบันไม่ได้เอื้อให้รัฐบาลอยู่ในอาการสุขได้เต็มที่ สำหรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เปิดทำเนียบรัฐบาลให้บรรดาข้าราชการ เจ้าหน้าที่ นักการเมือง ตบเท้าเข้าอวยพรกันแบบหัวบันไดตึกไทยคู่ฟ้าไม่แห้ง พร้อมทั้งจัดซุ้มอาหารเลี้ยงดูปูเสื่อกันยิ่งใหญ่กว่าที่ผ่านๆ มาตามสถานการณ์ที่ยังแกว่งไปแกว่งมาในหลายๆ เรื่อง ทั้ง “ศึกนอก” และ “ศึกใน” ที่กำลังประดังประเดเข้ามาถาโถมแบบอุตลุด ชนิดทำเอายุ่งเหยิงเป็นลิงแก้แหกันทั่วทั้งองคาพยพ โดยเฉพาะหนักๆ ที่ “ยิ่งลักษณ์” ต้องกรำศึกเป็นด่านหน้าแบบหลีกเลี่ยงเหมือนแต่ก่อน ในฐานะหัวหน้าทีม
ทุกจุดทุกเรื่องที่มีปัญหาอันทั้งเกิดจากรัฐบาล หรือฝ่ายต่อต้านรัฐบาล นาทีนี้ล้วนต้องสะกิดเอาคำตอบจากปาก “ยิ่งลักษณ์” เท่านั้น เพื่อจะดูทิศทางของรัฐบาลว่า จะเดินไปทางไหน
เริ่มตั้งแต่ “ศึกใน” อันเป็นปมร้อนๆ ที่ยังกรุ่นๆ อยู่ในขณะนี้ อย่างอภิมหาโปรเจ็กต์รับจำนำข้าวตันละ 1.5 หมื่นบาทของรัฐบาล ที่ก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ออกมาเปิดเผยตัวเลขขาดทุนว่า มีมูลค่ามหาศาลถึง 2.6 แสนล้านบาท จนทำเอารัฐบาลปั่นป่วนกันทั้งแผง เพราะถูกกดดันอย่างหนักให้ชี้แจงตัวเลขดังกล่าว
ทว่าผู้รับผิดชอบในโครงการนี้อย่าง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ “ยิ่งลักษณ์” หวังพึ่งให้ชี้แจงกลับยิ่งกระชากให้สถานการณ์ของรัฐบาลเลวร้ายลงยิ่งกว่าเก่า เพราะไม่สามารถอธิบายตัวเลข หรือตอบข้อซักถามได้เลย
จนสุดท้าย “ยิ่งลักษณ์” ต้องตัดสินใจมอบหมายให้ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้เป็นแม้แต่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) หรือมีหน้าที่เกี่ยวข้องใดๆ มาเป็นผู้ชี้แจงแทน ในฐานะที่เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
และแม้จะมีการมอบหมายให้ “วราเทพ” ขี่ม้าขาวมาช่วยในฐานะที่มีชั่วโมงบินเหนือกว่าคนอื่นๆ แต่ตัวเลขขาดทุนที่ถูกรวบรวมมาใหม่ จำนวน 1.36 แสนล้านบาท ใน 2 โครงการ ได้แก่ นาปี 2554/55 และนาปรังปี 55 ก็ยังไม่สามารถสร้างความกระจ่างจากสังคมได้จากวิธีการคำนวณที่ยังค้านสายตาใครหลายๆ คน
จนที่สุดรัฐบาลต้านทานปัจจัยที่เร่งเร้าเข้ามาไม่ไหว จึงตัดสินใจลดอุณหภูมิด้วยการยอมปรับลดราคารับจำนำข้าว จากตันละ 1.5 หมื่นบาท เหลือเพียงตันละ 1.2 หมื่นบาท พร้อมกับจำกัดวงเงินจำนำไม่เกินครัวเรือนละ 5 แสนบาท
นับเป็นการถอยร่นในนโยบายที่ถือเป็น “ท่าไม้ตาย” ของ “พ.ต.ท.ทักษิณ” ครั้งสำคัญ!!
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลยอมปรับลดราคารับจำนำข้าวเพื่อลดโทนสังคมที่ระยะหลังเกิดปฏิกิริยาต่อต้านมากขึ้น กลับไม่ได้ทำให้ทุกอย่างเบาบางลง เพราะกระแสตอบกลับจากชาวนาที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปรับลดครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปในทิศทางบวก
ขณะเดียวกันยังเริ่มมีการเคลื่อนไหวกดดันของชาวนาในหลายจังหวัดให้รัฐบาลทบทวนมาตรการดังกล่าว ไม่เช่นนั้นจะมีการรุกคืบมาประท้วงกันถึงทำเนียบรัฐบาล
นั่นเป็นการบ้านชิ้นใหญ่ที่รัฐบาลต้องเตรียมตัวรับศึกหนัก!!
นอกจากโครงการรับจำนำข้าวที่ถอยรูดไม่เป็นท่า อีกหลายๆ โครงการที่อาจจะต้องเตรียมรับชะตากรรมในลักษณะเดียวกัน อย่างการออกร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง พ.ศ.…หรือที่รู้จักกันในชื่อเรียก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่อยู่ในสภาฯ ก็ยังเป็นอะไรที่ต้องลุ้น เนื่องจากเริ่มมีหลายหน่วยงานออกมาคัดค้านถึงความจำเป็น และเรื่องลักษณะการกู้เงินที่ดูจะไม่สมเหตุสมผล รวมทั้งอาจเอื้อต่อการแสวงหาผลประโยชน์หรือการทุจริตได้ง่าย
เช่นเดียวกับกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติการประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เสนอ ที่ล่าสุดพรรคประชาธิปัตย์กำลังจะดำเนินการถอดถอน ครม.ทั้งคณะ เนื่องจากการประมูลอาจขัดต่อหลักกฎหมาย
ขณะที่เรื่องบุคลากรในองคาพยพของรัฐบาลเอง ขณะนี้ดูเหมือนวิธีการทำงานโดยการคัดสรรบุคคลจากระบบโควตาเริ่มแสดงผลลัพธ์ออกมาให้เห็นแล้ว โดยเฉพาะการนำคนที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญมาทำงานในตำแหน่งที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความสามารถ อย่างในกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นปัญหากันอยู่ ที่อาจส่อแววจะต้องมีการปรับกระบวนพลกันใหม่เพื่อให้สอดคล้องต่องานและเพื่อกอบกู้สถานการณ์ที่อยู่ในช่วงขาลง
อันจะส่งผลกระทบชิ่งไปถึงการต่อรองกันเองระหว่างแกนนำในรัฐบาล ที่มีสิทธิ์ก่อให้เกิดปัญหากันเกลี่ยตำแหน่งไม่ลงตัว โดยเฉพาะบรรดากลุ่มก้อนต่างๆ ในพรรค
ถัดจาก “ศึกใน” ปัญหาเรื่อง “ศึกนอก” ในปัจจุบันก็ยังเป็นอะไรที่สุ่มเสี่ยงชนิดละสายตาไม่ได้เช่นกัน เพราะต้องอย่าลืมว่า ในขณะที่รัฐบาลกำลังเผชิญวิกฤติในช่วง “ขาลง” ตรงกันข้าม เหล่าบรรดาฝ่ายต้านเองกลับอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” โดยเฉพาะกลุ่ม “หน้ากากขาว” ที่ออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล และกำลังโตวันโตคืน
เป็นอะไรที่ท้าทายและจะเป็นการพิสูจน์วิธีการตั้งรับของรัฐบาลอีกครั้ง เพราะกลุ่มดังกล่าวมีลักษณะการเคลื่อนไหวที่แตกต่างจากรูปแบบเดิมๆ ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการก่อตัวที่เริ่มจากโลกโซเชียลมีเดีย การนำหน้ากากขาวมาสวมใส่เป็นสัญลักษณ์ การขับเคลื่อนแบบช้าๆ ค่อยๆ เจริญเติบโต
โดยเริ่มการก่อตัวจากในตัวเมืองและค่อยๆ กระจัดกระจายกันตามต่างจังหวัด โดยมีโซเชียลมีเดียเป็นศูนย์กลางกระจายข่าวสารและกิจกรรม ไม่เอิกเกริกผลีผลามเหมือนกับม็อบองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ของ “เสธ.อ้าย” พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ที่พลาดท่ามาแล้ว
เป็นการเลี้ยงกระแสอารมณ์มวลชน โดยอาศัยข้อผิดพลาดต่างๆ ของรัฐบาลในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกัน เป็นการกวักมือเรียกคนที่ต่อต้านรัฐบาลเป็นทุนเดิมให้ลุกขึ้นมาแสดงพลัง
เห็นได้ชัดตามปฏิกิริยาการขับเคลื่อนของกลุ่ม “หน้ากากขาว” ในปัจจุบันที่ล้อเอาสถานการณ์ของรัฐบาล อย่างโครงการรับจำนำข้าว และคดีอุ้มฆ่านายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง และเจ้าของเว็บไซต์ไทยอินไซด์เดอร์ ที่ถูกตั้งคำถามว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังในการฆาตกรรมครั้งนี้ เนื่องจากนายเอกยุทธถือเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลตัวยง และยังมีเรื่องฟ้องร้องกับ “ยิ่งลักษณ์” ในคดี “ว.5 โฟร์ซีซั่น” ที่จะมีการขึ้นโรงขึ้นศาลในไม่อีกไม่กี่วันข้างหน้า มาเป็นหัวข้อในการเคลื่อนไหว
กลุ่ม “หน้ากากขาว” จึงนับเป็นมวลชนที่จะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อรัฐบาลในภายภาคหน้า
ตามสภาพสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน และนับจากนี้ที่ต้องเผชิญทั้ง “ศึกใน” และ “ศึกนอก” จึงเป็นอะไรที่ท้าทาย “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” อย่างยิ่ง
ขณะเดียวกันจะยังเป็นการตอกย้ำถึง “ฝีมือ” และ “คุณภาพ” ที่หากสถานการณ์ในประเทศยังดิ่งลงเรื่อยๆ ก็เท่ากับการเปลือยเนื้อในที่ไร้คุณภาพให้เห็นด้วยตัวของรัฐบาลเอง!!!.
ทีมข่าวการเมือง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น