วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ม็อบพรึ่บทั่วไทย!ต้านลดราคาจำนำข้าววันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน 2556



การเมือง : ข่าวทั่วไ
วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน 2556

ม็อบพรึ่บทั่วไทย!ต้านลดราคาจำนำข้าว

ม็อบพรึ่บทั่วไทย!ต้านลดราคาจำนำข้าว ขู่พามวลชนบุกทำเนียบฯ ชี้ทางออกรัฐต้องเลือกคือขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการออกไป


              20มิ.ย.2556 ตามที่รัฐบาลประกาศปรับลดราคาจำนำข้าวลงจาก 15,000 บาท เหลือเพียง   12,000  บาท/ตัน ทั้งยังจำกัดให้เกษตรกรนำข้าวเข้าร่วมโครงการได้ ในวงเงินที่ไม่เกิน 500,000 บาท  ที่ จ.ราชบุรี สร้างความไม่พอใจให้กับเกษตรกรได้พากันมารวมตัวที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร  บ้านรางไม้แดง ต.เจดีย์หัก  อ.เมือง  กว่า 200 คน

ราชบุรีม็อบชาวนาพร้อมเข้ากทม.
              นายวลิต เจริญสมบัติ รองประธานคณะกรรมการศูนย์ข้าวชุมชน ต.เจดีย์หัก   อ.เมือง  กล่าวว่า  ขณะนี้เกิดปัญหาในแง่ที่โรงงสีจะรับข้าวจากชาวนาโรงละไม่เกิน 40 ตัน  ปัญหาจากนี้ไปก็คือข้าวที่ตกค้างในมือเกษตรกรที่มีอยู่เป็นจำนวนมากจะไม่มีที่ระบาย  วันนี้เกษตกรที่มารวมตัวกัน และมีมติออกมาชัดเจนแล้วว่า พร้อมที่จัร่วมตัวกันไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล หากมีการประสานมาเพื่อขอรับการสนับนุนมวลชนให้เข้าร่วมกดดันรัฐบาล

              ส่วนที่ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี  มีเกษตรกรกว่า 100 คน มารวมตัวที่หน้าที่ว่าการอำเภอปากท่อ เพื่อเรียกร้องผ่านนายอำเภอปากท่อไปยังรัฐบาลให้ช่วยขยายเวลาโครงการรับจำนำข้าวออกไปอย่างไม่มีกำหนด เพราะราคารับจำนำเดิม 15,000 บาท ก็ไม่เพียงพอกับต้นทุน   ดังนั้นหากถูกปรับลดลง  ก็จะเป็นการสร้างภาระให้กับเกษตรกร
              นายณรงค์ ครองชนม์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี  กล่าวว่า ได้ประสานไปยังโรงสีต่างๆรวมทั้งจุดรับจำนำนอกพื้นที่ให้ดำเนินการเปิดรับจำนำข้าวของชาวนา ไปจนถึงวันที่ 29 มิ.ย.  ตามราคาเดิม 15,000 บาท ส่วนชาวนาที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวข้าวในช่วงหลังจากวันที่ 29  มิ.ย. ทางจังหวัดก็จะได้นำเสนอข้อเรียกร้องที่ต้องการให้ขยายเวลาการรับจำนำออกไปจนกว่าจะหมดฤดูกาลเก็บเกี่ยวเสนอต่อรัฐบาล
 
เพชรบุรีขอให้ยืดระยะเวลาจนสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว

              กลุ่มชาวนาและผู้แทนเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชนในพื้นที่ จ.เพชรบุรี นำโดยนายวีระ รุ่งเรือง    รักษาการประธานเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชน จ.เพชรบุรี และ นายประนม จิตปราณี ประธานกลุ่มเกษตรกร จ.เพชรบุรี นำมวลชนกว่า  200 คน เดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี ขอพบนายมณเฑียรติ ทองนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนเงื่อนไขการรับจำนำข้าวนาปรัง

              นายประนม กล่าวว่า การประกาศนโยบายดังกล่าวเป็นสิ่งที่ชาวนารับไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากการทำนามีต้นทุนที่สูงขึ้น ตกไร่ละ 8,000 บาท หากราคารับจำนำที่ตันละ 12,000 บาท ชาวนาจะได้กำไรแค่ 1,000-2,000 บาท จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตามนโยบายเดิมหรือหากจะปรับเปลี่ยน ควรเริ่มในฤดูกาลหน้าคือ การรับจำนำข้าวนาปีฤดูการผลิตปี 2556/2557เพื่อจะได้มีเวลาหารือและทำความเข้าใจระหว่างกันกับทุกฝ่าย
 ดร.ไกร บุญบันดาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมารับหนังสือแทน กลาาวว่า ข้อเรียกร้องที่จะให้ยืดระยะเวลาของโครงการไปจนสิ้นฤดูการเก็บเกี่ยว จะเสนอผ่านไปยังคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กขช.ให้ปรับระยะเวลาไปจนถึงวันที่ 15 กันยายน 2556  ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวส่งผลให้ชาวนาพึงพอใจและแยกย้ายกันกลับในเวลา 11.00 น.ของวันเดียวกัน


กาญจน์ฯขอให้รับจำนำข้าวเปลือกจนกว่าจะสิ้นสุดโครงการ
  
              นายสมปอง คำเที่ยง นายก อบต.พระแท่น ต.พระแท่น อ.ท่ามะกา  จ.กาญจนบุรี  และนายแรม  เชียงกา แกนนำกลุ่มเกษตรกรทำนาหนองสาหร่าย  จ.กาญจนบุรีร พาพวกกว่า 1,000  คน ไปรวมตัวที่ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐบาล โดยมีนายกาศพล แก้วประพาฬ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี นายบุญญพัฒน์ จัทรอุไร ปลัดจังหวัดกาญจนบุรี นางพรรษวรรณ จันทร์ดี หัวหน้าสำนักงานการค้าภายในจังหวัดกาญจนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางมาเจรจากลับกลุ่มเกษตรกร

              นายแรม เชียงกา แกนนำกลุ่มเกษตรกรทำนาจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้ไม่ใช่มากดดันรัฐบาลแต่มาเรียกร้องขอความเห็นใจจากรัฐบาล โดยยื่นข้อเรียกร้องผ่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ โดยขอให้รัฐบาลขยายโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปรังปีการผลิต 2555/56 ไปจนถึงวันที่ 15  ก.ย. และที่ที่สำคัญขอให้รัฐบาลดำเนินการรับจำนำตามปกติจนกว่าจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 15  ก.ย นี้ เนื่องจากขณะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกร
  


ชัยภูมิกำนัน-ผญบ.ร่วมผสมโรงขอรัฐยืนราคาเดิม
                         
              ที่จ.ชัยภูมิ กำนัน / ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 1,617 หมู่บ้าน ใน 16 อำเภอ ได้ส่งตัวแทนกว่า 2,000 คน มารวมตัวที่ ศาลากลางจังหวัด นายเรืองฤทธิ์ บุญกัน ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านจ.ชัยภูมิ แกนนำผู้ชุมนุม  และได้ยื่นหนังสือผ่าน นายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ  เพื่อเสนอถึงรัฐบาลให้รัฐบาลทบทวนและสนับสนุนการเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวในราคา15,000 บาท ต่อ ตัน ตามเดิมต่อไป


นครสรรค์โรงสีหยุดรับจำนำรอปรับราคาใหม่
  
              นางวันเพ็ญ  หุ่นอินทร์  ชาวนาพื้นที่ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์   กล่าวว่า  ขณะนี้โรงสีบางพื้นที่หยุดการรับจำนำข้าว อ้างถึงการปรับราคาจำนำใหม่  ต้องนำข้าวเปลือกไปขายให้กับโรงสีที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ   ในราคา 8,000  บาท / ตัน   "ตอนนี้ต้องสิ้นเปลืองค่าน้ำมันเพิ่มขึ้นไปอีก  เพราะโรงสีอยู่ไกล และแม้ว่าขาดทุนบ้างแต่ก็ยังดีกว่าปล่อยทิ้ง "นางวันเพ็ญ กล่าว


พะเยาชาวนาขอรัฐทบทวนปรับลดราคาจำนำ
  
              กลุ่มชาวนาจาก อ.ดอกคำใต้ อ.จุน จ.พะเยา นำโดยนายศิริวัฒน์ จุปะมัดถา ผู้ประสานงานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) จ.พะเยา นายวรวิทย์ บุรณศิริ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา และ ส.อบจ.ในเขต อ.ดอกคำใต้ และอ.จุน ได้เปิดเวทีภายในศูนย์ราชการจังหวัดพะเยา  เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการรับจำนำใหม่


สภาเกษตรกรอีสานเสียงเดียวแนะรัฐทบทวนราคาจำนำข้าวใหม่

              นายสนิท คำสิงห์นอก สมาชิกสภาเกษตรกร อ.ประทาย จ.นครราชสีมา กล่าวว่า นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานสภาเกษตรกรจ.นครราชสีมา จะเรียกประชุมสมาชิกสภาเกษตรกรทั้ง 32 อำเภอ เพื่อหารือแนวทางแก้ปัญหาการจำนำข้าวเปลือก และเสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ในระยะสั้นให้แก้ไขปัญหาเรื่อโรงสีเอาเปรียบเกษตรกรและปัญหาการสวมสิทธิ์ ส่วนระยะยาว รัฐบาลส่งเสริมเกษตรกรหันมาขุดสระน้ำในที่นา  เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตข้าวได้

              นายบุญศรี สุขวาปี ประธานสภาเกษตรกร จ.อุดรธานี กล่าวว่า กรณีรัฐบาลจะลดราคารับจำนำข้าวเปลือกทำให้เกษตรกรได้รับความลำบาก   เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนการปลูกข้าวสูง  แม้ราคารับจำนำอยู่ที่ 15,000 บาท ชาวนาก็ไม่ได้รับเงินตามจำนวน

              นายเผด็จ    ลิ้มอุบัติตระกูล ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรจ.บุรีรัมย์ ในนามคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวระดับจังหวัด   กล่าวว่า  นโยบายการปรับลดราคาข้าวส่งผลให้ชาวนาได้รับผลกระทบ และต่างรู้สึกผิดหวัง  เนื่องจากไม่เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ได้ให้สัญญาไว้กับเกษตรกร จึงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลได้ทบทวนมติใหม่  เนื่องจากเกษตรกรต้องแบกรับภาระต้นทุนสูง   พร้อมกันนี้ยังได้ร้องขอให้รัฐบาลคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของเกษตรกรเป็นสำคัญ
 
ชาวนากว่า10จังหวัดนัดรวมตัวค้าน

               นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีชาวนามากกว่า 10 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากการลดราคาในโครงการรับจำนำข้าว ได้นัดกันรวมตัวหาข้อสรุปหลังรัฐบาลตัดสินใจลดราคาจำนำข้าวเพื่อยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละแห่งรับทราบ จากนั้นสมาคมฯจะเป็นผู้รวบรวมข้อเสนอของชาวนาทั้งหมด และนัดรวมตัวชาวนาในเร็วๆนี้ เพื่อยื่นต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้รับฟังความเห็น ความเดือดร้อน และข้อเสนอของชาวนาต่อโครงการรับจำนำข้าวต่อไป

               รายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) สรุปต้นทุนการผลิตข้าวเจ้าของประเทศไทย พบว่าต้นทุนการผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 2556 อยู่ที่ตันละ 9,485 บาท เพิ่มขึ้นจากต้นทุนข้าวนาปี 2555 ซึ่งอยู่ที่ตันละ 9,400 บาท ส่วนข้าวนาปรัง 2556/57 อยู่ที่ตันละ 8,700 บาท เพิ่มขึ้นจากฤดูกาล 2555/56 ซึ่งต้นทุนอยู่ที่ตันละ 8,200 บาท ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวเพิมขึ้น มาจากราคาต้นทุนผันแปร ได้แก่ ค่าปุ๋ย ค่ายาปราบศัตรูพืช ค่าจ้างแรงงาน และค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว ปรับตัวเพิ่มขึ้น                                                  


รัฐไม่กลับจำนำหมื่นห้าตามชาวนาร้องขอ

               นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มชาวนาเรียกร้องให้รัฐบาลรับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 100% ที่ตันละ 15,000 บาทเหมือนเดิมว่า ข้าวเปลือกนาปรังปี 2556 ที่อยู่ระหว่างการรับจำนำจนถึงสิ้นสุดวันที่ 15 ก.ย.นี้นั้น รัฐบาลคงจะกลับไปรับจำนำที่ราคาเดิมตันละ 15,000 บาทไม่ได้ เพราะได้ประกาศจะลดราคาลงเหลือตันละ 12,000 บาทอย่างเป็นทางการไปแล้ว อย่างไรก็ตามปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังในขณะนี้ ยังเหลือเก็บเกี่ยวอีกไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวไปเกือบหมดแล้ว ดังนั้น เกษตรกรที่จะจำนำข้าวที่ตันละ 12,000 บาทคงเหลือเพียงส่วนน้อยเท่านั้น


รัฐเล็งปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำอุ้มชาวนา2แสนราย


               นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ไปพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเงื่อนไขการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล โดยให้เข้าไปช่วยในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิตเป็นการเฉพาะหน้า ซึ่งในส่วนของธ.ก.ส.นั้น จะมีการพิจารณาช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่เกษตรกรกลุ่มนี้ ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่คาดว่า จะไม่สามารถเข้าโครงการได้ทันในฤดูการผลิตข้าวนาปรังรอบนี้ จะอยู่ที่ประมาณ 2 แสนราย หรือ คิดเป็นจำนวน 3 ล้านตันข้าวเปลือก
 
ด่านศุลกากรอรัญฯจับข้าวสารเถื่อนเขมร2คันรถพ่วง

              เมื่อเวลา 15.00 น.ที่สำนักงานด่านศุลกากรอรัญประเทศ บ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว นายนภดล เทศประสิทธิ์ นายด่านศุลกากรอรัญประเทศ และนายบดินทร์ศักดิ์ สุ่นสวัสดิ์ หัวหน้าชุดเฉพาะกิจสำนักสืบสวนและปราบปราม กรมศุลกากร พร้อมด้วย พ.อ.ศรีศักดิ์ พูนประสิทธิ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังบูรพา และ พ.ต.อ.ฉัตรมงคล พ้นภัย ผกก.ตชด.12 อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ได้ร่วมกันนำรถยนต์บรรทุกพ่วง 18 ล้อ ยี่ห้ออีซูซุ สีขาวทะเบียน 82-2645 บุรีรัมย์ลูกพ่วง ทะเบียน 82-2446 บุรีรัมย์ และ รถยนต์บรรทุกพ่วง 18 ล้อ ยี่ห้ออีซูซุ สีขาว-เขียว ทะเบียน 82-2647 บุรีรัมย์ ลูกพ่วงทะเบียน 82-2648 บุรีรัมย์ พร้อมข้าวสารหัก 25 เปอร์เซ็นต์ ที่บรรทุกอยู่ภายในรถพ่วงทั้ง 2 คัน น้ำหนักรวมประมาณ 60 ตัน มาแถลงผลการจับกุมข้าวสารเถื่อนที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศกัมพูชา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น