“ปฏิวัติ-รัฐประหาร”
เรื่อง “ไร้สาระ” ที่มี “นัยสำคัญ”
“ไม่รู้ว่านำเรื่องอะไรมาพูด เพราะไร้สาระ ใครจะปฏิวัติ ใครจะรัฐประหาร
ใครสัญญาหรือไม่สัญญา จะเขียนและให้ความสำคัญกันทำไม
ถ้าไม่ไปให้ความสำคัญ ทุกเรื่องก็คงจะจบแล้ว เขียนกันไปมา จนกระทั่งเขียนเสือ และกลัวเสือที่ตนเองเขียน”
ข้างต้นนี้ เป็นคำพูดของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบก
ที่ตอบคำถามต่อสื่อมวลชน อันว่าด้วยเรื่องการ “ปฏิวัติ-รัฐประหาร”
ในสถานการณ์ที่การเมืองไทย อยู่ในภาวะหวั่นไหว ไม่ไว้วางใจ และหวาดระแวงต่ออะไรก็ตาม ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ในวิถีที่ไม่ปกติธรรมดา
ชัดเจนว่า นี่เป็นเรื่อง “ไร้สาระ” อย่างยิ่ง
โดยเฉพาะเมื่อมองผ่านมุมมองของ “ผู้บัญชาการทหารบก”
และต้องยอมรับว่า “ไร้สาระ” อย่างยิ่ง เมื่อปรากฏการณ์ของคำถามในลักษณะที่ว่านี้ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
โดยผู้ที่ต้องตอบคำถามเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า
คือ “ผู้บัญชาการทหารบก”
ทว่า! ในความ “ไร้สาระ” ผ่านมุมมองของ “ผู้บัญชาการทหารบก” กลับสะท้อนให้เห็นถึง “สาระ” บางประการ ที่ไม่อาจมองข้ามได้โดยสิ้นเชิง
โดยเฉพาะกับสถานการณ์ที่การเมืองไทย
อยู่ในภาวะหวั่นไหว ไม่ไว้วางใจ
และหวาดระแวงต่ออะไรก็ตาม ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ในวิถีที่ไม่ปกติธรรมดา
อย่าลืมว่า คำถามอันว่าด้วย “ปฏิวัติ-รัฐประหาร” มีขึ้นไม่ขาดระยะ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
และอย่าลืมว่า ทุกๆ ครั้งที่มีคำถามในลักษณะนี้
ก็มักสะท้อนถึงสภาวะความเป็นไปของสังคมการเมืองในห้วงเวลานั้นๆ อย่างไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้
ความจริงก็คือ คำถามเรื่อง “ปฏิวัติ-รัฐประหาร” ในยุคสมัยปัจจุบัน
ต้องถือว่า “ไร้สาระ” และ “ล้าสมัย” อย่างยิ่ง
ทว่า! ความ “ไร้สาระ” และ “ล้าสมัย” ที่ว่านี้
กลับยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา
โดยเฉพาะเมื่อเคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ ในห้วงเวลาที่ไม่มีใครคาดคิดว่า จะเกิดเหตุ “ปฏิวัติ-รัฐประหาร” แบบ “ย้อนยุค” ได้อีกครั้ง
หลังจากที่ทิ้งช่วงปรากฏการณ์เช่นว่านี้มานับสิบปี นับจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 2540
นี่ทำให้เรื่อง “ไร้สาระ” ในมุมมองของ “ผู้บัญชาการทหารบก”
ไม่ใช่เรื่อง “ไร้สาระ” ที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้อีกเลย
โดยเฉพาะเมื่อมองผ่านมุมมองของฝ่ายซึ่งกุมกลไก “อำนาจรัฐ”
และฝ่ายที่ยืนอยู่ในมุมตรงกันข้ามกับ “อำนาจรัฐ” ตลอดจนฝ่ายต่างๆ ที่แวดล้อมในบริบทของ “โครงสร้างอำนาจ” ในปัจจุบัน
อย่าลืมว่า นี่เป็นคำถามที่เกิดขึ้น
ในภาวะที่สังคมอยู่ท่ามกลางความอ่อนไหว ไม่ไว้วางใจ และหวาดระแวงต่ออะไรบางอย่าง ที่อาจเกิดมีขึ้น
ในวิถีทางที่ไม่ปกติธรรมดา
ไม่น่าแปลกใจนัก ที่จะมีการพบปะหารือระหว่าง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกฯ กับ “ผบ.เหล่าทัพ” ที่ตบเท้าเข้าร่วมอย่างครบถ้วน
จะอยู่ในความสนใจอย่างยิ่ง ของทุกๆ ฝ่ายในสังคมไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการพบปะหารือที่ว่านี้
เกิดขึ้นหลัง “ข่าวลือ” อันว่าด้วยการ “ปลด ผบ.ทบ.”
พร้อมๆ กับคำถามที่สะพัดอย่างยิ่ง อันว่าด้วย “ปฏิวัติ-รัฐประหาร”
และการเร่งรีบ รวบรัด เพื่อยุติ “ข่าวลือ” ทั้งหลายทั้งปวง
“บรรยากาศดี คุยกันสนุกสนาน มีการหยอกเย้ากันบ้าง ทาง ผบ.ทบ. ก็รับปากในที่ประชุมว่า จะไม่มีการทำรัฐประหาร
เพราะทหารทำตามหน้าที่ ในระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว
ท่านนายกฯ ได้ยินแบบนี้ ก็ชื่นใจ”
นี่เป็น “วาทกรรม” ที่จำเป็นต้องมีขึ้น สำหรับ “ข่าวลือ” ที่เกิดขึ้น
โดยผ่านจากปากของ “พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา” อดีตปลัด ก.กลาโหม และอดีต รมว.กลาโหม ซึ่งอยู่ในสถานะที่ปรึกษานายกฯ ในห้วงเวลาปัจจุบัน
และ “วาทกรรม” ที่ว่านี้ ก็เพื่อตอบคำถาม
สำหรับประเด็น “ไร้สาระ” อันเกี่ยวเนื่องกับการ “ปฏิวัติ-รัฐประหาร”
ที่แม้ว่าจะ “ไร้สาระ” และ “ล้าสมัย” ในมุมมองของ “ผบ.ทบ.”
แต่กลับมี “สาระ” และมี “นัยสำคัญ” อย่างยิ่ง
ในภาวะที่สังคมอยู่ท่ามกลางความอ่อนไหว ไม่ไว้วางใจ และหวาดระแวงต่ออะไรบางอย่าง ที่อาจเกิดมีขึ้น
ในวิถีทางที่ไม่ปกติธรรมดา
และนี่ก็จะเป็น “ปรากฏการณ์” ที่จะยังดำรงคงอยู่ต่อไป คู่กับสังคมไทยเสมอๆ
จนกว่าเรื่องที่ว่านี้ จะไม่มีเกิดขึ้น ไม่ว่าจะห้วงเวลาใดๆ นับจากนี้
หรือจนกว่าเรื่องที่ว่านี้ จะเกิดขึ้นจริงๆ ในห้วงเวลาปัจจุบัน!!!
โต๊ะข่าวการเมือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น