วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

วันศุกร์ ที่ 14 มิถุนายน 2556 โปรดระวัง! มันกลับมาแล้ว แฟชั่น 'อุ้มฆ่า' ขัดใจข้า เอ็งเจอดี...ตอนที่2


วันศุกร์ ที่ 14 มิถุนายน 2556


นอกจากนั้น จำนวนของผู้สูญหายในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2547 2548 และ 2550 ซึ่งเป็นช่วงของการปรับเปลี่ยนนโยบาย (ปี 2548 เป็นปีที่ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนปี 2550 เป็นช่วงหลังการรัฐประหาร)
      
        ส่วนอีกเรื่องคือ นโยบายสงครามปราบปรามยาเสพติดในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อปี 2546 ซึ่งนโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องยาวนานต่อการบังคับบุคคลให้สญหายและการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม แม้การประกาศใช้นโยบายจะยุติลงแล้วก็ตาม แต่นโยบายดังกล่าวได้ก่ออคติให้เกิดกับกลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการค้าหรือเสพยาเสพติด
      
        อย่างไรก็ดี มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นด้วยว่าผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการบังคับให้สูญหายมักเผชิญการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ด้วย เช่น การควบคุมตัวโดยพลการ การทรมาน และการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย ขณะเดียวกันก็ไม่มีประวัติการลงโทษผู้กระทำผิดที่บังคับให้บุคคลสูญหายอย่างชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้นผู้ที่กระทำส่วนใหญ่ยังเป็นเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น หรือเกี่ยวพันกับอิทธิพลในท้องถิ่น ทำให้เหยื่อหรือญาติของเหยื่อยังคงต้องดำรงชีวิตอยู่ในสังคมเดียวกับผู้กระทำความผิด จึงมักไม่กล้าให้ข้อมูลหรือฟ้องร้องดำเนินคดี
      
        นี่คือภาพของปัญหาที่ อังคณา นีละไพจิตร สะท้อนให้เห็น และยังคงฉายซ้ำ ๆ ซาก ๆ ในสังคมไทย
      
        เปิดประเด็น "อุ้มฆ่า" ภาคทฤษฎี
      
        กรณีอุ้มฆ่า อาจกล่าวได้ว่า มีสิทธิที่จะเกิดขึ้นกับคนทุกคน ทว่าคนที่อ่อนแอจะตกเป็นเหยื่อได้มากกว่า แต่กรณีที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ใช่กับคนที่อ่อนแอ หากแต่เป็นบุคคลที่มีหน้าตาในสังคม ทั้งยังวางตัวเองอย่างรัดกุมอีกต่างหาก ดังนั้นจึงเป็นกรณีที่มีความไม่ชอบมาพากลอยู่มากทีเดียว
      
        พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานบริหารหลักสูตรอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นถึงกรณีอุ้มฆ่าที่เกิดขึ้นในสังคมไทยว่า มีไม่มากที่เป็นข่าว แต่หลักอาชญาวิทยาแล้ว โดยมากจะเป็นเด็ก สตรี หรือคนชรา
      
        "อันนี้ถูกในแง่หลักโดยทั่วไปซึ่งทุกคนมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของอาชญากรได้ แต่เด็ก สตรี หรือคนชราจะมีโอกาสสูงกว่าชายฉกรรจ์ ซึ่งถ้าเกิดกับคนทั่วไปมันก็อาจจะไม่เป็นข่าว ต้องยอมรับความจริงว่า ความสนใจมันจะต่างกัน มันจะกลายเป็นกรณีคนหายซึ่งจะมีมูลนิธิกระจกเงาที่ทำงานตามหาคนเหล่านี้แทนที่จะเป็นตำรวจ"
      
        ในส่วนของบุคคลสาธารณะ ผู้มีชื่อเสียงในสังคมแล้วเจอกรณีอุ้มฆ่านั้น เขาเห็นว่า ต้องพิจารณาไปตามกรณี ว่าผิดตกเป็นเหยื่อนั้นมีประเด็นเกี่ยวข้องอะไรบ้าง อาจเป็นประเด็นทางธุรกิจมีความเกี่ยวข้องกับการประมูลโครงการต่างๆ หรือความขัดแย้งส่วนตัวเรื่องชู้สาว ต้องดูเป็นประเด็นๆ ไป
      
        "ลักษณะคดีแบบนี้คนร้ายต้องมีการวางแผนมาดีพอควร บางครั้งที่ไม่ปรากฏเป็นข่าว จะมีการจ้างมือปืนไปยิงนักการเมืองท้องถิ่น ก็พบว่ามีขั้นตอน มาตามที่เกิดเหตุ มีคนชี้ตัวก่อน ถึงจะจัดการตามแผนการ" เขาว่า
      
        แต่เมื่อถามถึงกลุ่มอิทธิพลในการลงมือก่ออาชญากรรมอุ้มฆ่า เขาเผยว่า ขึ้นอยู่กับบุคคลที่เป็นเหยื่อ ถ้าเป็นผู้มีชื่อเสียง มีอิทธิพล คนที่กล้ากระทำก็ต้องมีอิทธิพลพอควร
      
        "ถ้าทำกับคนมีชื่อเสียง ส.ส. ส.ว. สมมติมีการหายตัวไปจากบ้าน เป็นบุคคลสาธารณะที่คนให้ความสนใจ ตำรวจก็ต้องเร่งหาตัวสืบสวนอย่างเข้มข้น แต่ถ้าเหยื่อเป็นเด็กหายตัวไป เขาจะมีมูลนิธิกระจกเงา การติดตามก็แตกต่าง ต้องยอมรับความจริง สังคมไทยก็แบบนี้ เพียงแต่เราจะทำยังไงให้มีความเสมอภาคในการดูแลทุกคดีเหมือนกันหมด"
      
        ส่วนของการป้องกันกรณีแบบนี้ไม่ให้เกิดขึ้นนั้น เขาอธิบายถึงหลักการทางอาชญาวิทยาที่อธิบายการลงมือของอาชญากรว่า จะมีเจตจำนงอิสระอยู่ หากแต่คนร้ายก็มักจะพิจารณาจากความเสี่ยงของการถูกจับกุมด้วย
      
        "ทฤษฎีเจตจำนงอิสระอธิบายว่า ทำไมคนหนึ่งถึงเลือกจะลงมือ แต่อีกคนไม่ลงมือทั้งที่เจอสถานการณ์แบบเดียวกัน นั่นเพราะมีเจตจำนงอิสระ แต่ทีนี้ถ้าทำแล้วคุ้ม โอกาสถูกจับกุมเป็นไปได้ยาก เขาก็จะลงมือ"
      
        ทั้งนี้ เมื่อพบว่าคดีอุ้มฆ่ามีคดีเกิดในต่างจังหวัด ตามหลัก คนร้ายจะเลือกลงมือหากความเสี่ยงว่าจะถูกจับมีน้อย ประเทศไทยมีการรวมศูนย์อำนาจ ทำให้ในกรุงเทพฯมีความปลอดภัย ทั้งการติดกล้องวงจรปิด หรือแม้แต่งบประมาณก็มีมากกว่า ทำให้มีความปลอดภัย คนร้ายจึงเลือกก่อคดีที่ต่างจังหวัดมากกว่า
      
        ย้อนกลับมาที่กรณี "เอกยุทธ" เขาไม่แปลกใจที่สังคมจะตั้งคำถามกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะตัวเหยื่อมีประเด็นด้านการเมืองด้วย
      
        "มันมีการเปิดโปงหลายเรื่อง สิ่งน่าแปลกใจคือ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกลับเป็นคนขับรถ สังคมก็แปลกใจ ทำไมเป็นลูกน้องตัวเอง แล้วบอกว่าเพราะไล่ภรรยาออก ประชาชนก็คงไม่เชื่อเพราะน้ำหนักมันคงไม่ถึงฆ่ากันได้ และตัวนายเอกยุทธเองก็คงดูแลลูกน้องเหมือนกัน มันก็ต้องมาดูว่าสาเหตุจริงๆ คืออะไร"
      
        อีกอย่าง การลงมือกับเหยื่อที่เป็นบุคคลซึ่งมีประเด็นขัดแย้งติดตัวที่มักจะระมัดระวังตัวอยู่แล้ว คนใกล้ตัวน่าจะมีส่วนอย่างมาก
      
        "คนใกล้ตัวมีส่วนสำคัญ เพราะบุคคลสาธารณะเหล่านี้เขาก็รู้ตัวว่ามีคู่แข่งทางธุรกิจ การเมือง เขาก็ต้องมีคนติดตาม คนใกล้ชิดก็ย้อมรู้ความเคลื่อนไหวมากกว่าคนทั่วไป กิจวัตรประจำวันของคนเราจะไม่ต่างกันมาก อย่างไปฟิตเนสก็คงไปที่เดียว หรือไม่ก็ 2 ที่ คงไม่เปลี่ยนมาก ดังนั้นคนใกล้ตัวมักจะมีส่วนรู้เห็น โอกาสในการสืบสวนก็จะยากขึ้น อย่างไรก็ตาม การกระทำความผิดก็จะทิ้งร่องรอยไว้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นร่องรอยธรรมชาติ หรือทางนิติวิทยาศาสตร์"
      
        สำหรับการแก้ปัญหา เขาบอกว่า ต้องทำให้การสืบสวนออกมาอย่างโปร่งใสที่สุด และต้องอธิบายให้ได้ว่า ที่เป็นแบบนี้เพราะมีหลักฐานคืออะไร มีการตรวจสอบอย่างไร
      
        "เพราะกรณีนี้เป็นที่สนใจของประชาชน ดังนั้นตำรวจต้องทำงานอย่างโปรงใส การสืบสวนต้องมีการชี้แจงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้" พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ระบุ
      
        ใครบ้าง? เสี่ยง "ถูกอุ้ม-ฆ่า"
      
        จากอดีตจนถึงวันนี้ "การอุ้มฆ่า" ถือเป็นอาชญากรรมท้าทายกฎหมาย หลายคดี หากสาวให้ลึกลงไป เชื่อว่ามีอิทธิพลการเมืองเถื่อน และนายตำรวจโหดเส้นดีเป็นตัวสั่งการ ยิ่งเป็นคู่แค้นกับบุคคลคับแผ่นดินผู้เสียผลประโยชน์ในธุรกิจนอกกฎหมายหลายมูลค่าด้วยแล้ว ยิ่งน่าสุ่มเสี่ยงต่อการถูกอุ้มไปฆ่า
      
        สอดรับกับรายงานผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทยในรอบทศวรรษ ของมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (เจพีเอฟ) มีกลุ่มบุคคลอย่างน้อย 4 กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการถูกบังคับสูญหายในประเทศไทย คือ
      
        1. กลุ่มที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง หรือมีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่เหล่านี้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกิจกรรมนอกกฎหมาย เช่น ค้าหรือเสพยาเสพติด ค้าหวยเถื่อน หรือเป็นสายข่าวให้กับเจ้าหน้าที่เอง โดยจากการศึกษาพบว่าในบรรดาผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายมีร้อยละ 25 ที่ผู้เสียหายมักมีความสัมพันธ์รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งกับเจ้าหน้าที่ก่อนหายตัวไป
      
        2. นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน การเมือง หรือต่อต้านการทุจริต รวมไปถึงนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม
      
        3. ประจักษ์พยานในคดีอาชญากรรมหรือคดีละเมิดสิทธิมนุษยชน
      
        4. คนต่างด้าวที่ไม่มีสถานภาพทางกฎหมาย
      
        ห่างไกลภัย "ถูกอุ้ม" ทางนี้อาจช่วยได้
      
        "..เรื่องพวกนี้ต้องระวังคนใกล้ชิด เพราะไปไหนมาไหนคนใกล้ชิดจะรู้ดีที่สุด รถต้องเปลี่ยนสลับไปสลับมา อย่าใช้ซ้ำ รวมทั้งเส้นทางก็อย่าไปไหนซ้ำๆ ต้องมีหลายบ้าน จับสลาก ปั่นหัวก้อยเองว่าจะไปนอนที่ไหนคืนนี้.."ข้อความตอนหนึ่งจากเฟซบุ๊ก "ชูวิทย์ I'm No.5" ของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประเทศไทย ในฐานะคนเคยหวิดโดนอุ้มไปหลายที แต่ก็แคล้วคลาดมาได้หลายหน
      
        ด้วยความห่วงใย เขาจึงเขียน "บัญญัติ 12 ประการ ที่ทำให้ไม่ถูกอุ้ม" จากประสบการณ์ตรง ซึ่งทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ขอหยิบยกนำมาเสนอต่อ
      
        1. อย่าเดินทางโดยใช้เส้นทางเดิมๆ เป็นประจำ ต้องเปลี่ยนเส้นทาง ขึ้นทางด่วนบ้าง วิ่งทางธรรมดาบ้าง อ้อมนิดอ้อมหน่อย สลับไปสลับมา
      
        2. อย่าบอกกำหนดการเดินทางล่วงหน้า เช่น เย็นนี้จะไปกินข้าว หรือมีนัดกินเลี้ยงที่ไหน ถึงเวลาไปแล้วไปเลย
      
        3. อย่าพูดธุระสำคัญภายในรถ หัดใช้ Whatsapp Line หรือ sms ส่งข้อความแทน เพราะถ้าพูดในรถ คนขับรถ คนติดตาม มันได้ยินหมด
      
        4. อย่าใช้รถคันเดียว หากคุณซื้อรถเบนซ์ได้ ย่อมต้องซื้อรถญี่ปุ่นได้สัก 4-5 คัน หัดเปลี่ยนรถสลับไปสลับมา อย่าใช้รถแค่เพียงคันเดียวเท่านั้น
      
        5. อย่านั่งอยู่ตำแหน่งเดิมตลอด สลับตำแหน่ง นั่งหลังบ้าง นั่งหน้าบ้าง นั่งซ้ายบ้าง นั่งขวาบ้าง หรือในช่วงคับขัน ลองให้คนขับมาลองนั่งข้างหลัง แล้วเราไปขับแทน
      
        6. อย่ามีบ้านหลังเดียว นอนที่เดิมตลอด มีเมียเดียวก็จริง แต่ต้องมีหลายบ้าน คอนโดบ้าง โดยเฉพาะตอนเปิดประตูรถเป็นช่วงสำคัญที่สุด
      
        7. อย่าคิดว่าพกปืนแล้วจะรอด พวกที่ถูกอุ้มหรือตายไป มีปืนกันทั้งนั้น
      
        8. อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน คนขับรถ คนติดตาม หรือคนใกล้ชิด อาจถูกบังคับขู่เข็ญเพื่อสอบถามว่าเราอยู่ที่ไหน กำลังไปไหน หรือขู่เข็ญครอบครัวของบุคคลเหล่านี้ เพื่อเค้นคำตอบ ดังนั้นจึงต้องปฏิบัติดังนี้
      
        - ต้องรู้ประวัติของทุกคน เมียอยู่ที่ไหน ทำงานอะไร ครอบครัวพ่อแม่อยู่ที่ไหน หากไปที่บ้านเดิมได้ ต้องไป อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเสียเวลา
      
        - ต้องสอบประวัติอาชญากรรม พิมพ์นิ้วมือ ดูว่าเคยมีประวัติอะไรมาก่อน
      
        - ต้องตรวจสอบสารเสพติด เพราะพฤติกรรมเสพยาเป็นจุดเริ่มต้นของความผิดพลาด
      
        - ต้องอบรมบุคคลเหล่านี้ไม่ให้ไปบอกใคร ว่าเจ้านายอยู่ที่ไหน เพราะโดยมากคนจะไม่สอบถามเราโดยตรง แต่จะไปถามคนขับรถ คนติดตาม หรือคนใกล้ชิด ดังนั้น ต้องอบรมสั่งสอนให้พูดอยู่แค่ 3 คำเท่านั้น "ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบ" ต้องท่องให้ขึ้นใจ
      
        9. อย่าคุยโม้โอ้อวดเรื่องเงินเรื่องทอง หรือไปโชว์ให้เห็นว่ามีเงินอยู่กับตัวครั้งละมากๆ มันล่อตาล่อใจ แล้วทำให้คิดมาก คนไม่เคยคิดก็จะคิด หรืออาจจะนำไปพูดให้คนอื่นเกิดความคิด
      
        10. อย่าอยู่ที่ไหนนานเกินไป เช่น ไปนั่งทานอาหารอยู่ที่ไหนนานๆ หรืออยู่ในงานเลี้ยงนานเกินไป เวลานั่งให้หันหน้าเข้าหาประตู เพื่อจะได้เห็นคนที่เดินเข้าออก
      
        11. อย่ายอมขึ้นรถคนอื่นเป็นอันขาด วิ่งได้ต้องวิ่ง ยิงได้ต้องยิงกันตรงนั้น สู้ตรงนี้ดีกว่า เพราะถ้ายอมไปกับเขาแล้ว อย่าหวังว่าจะได้กลับมา
      
        12. อย่าใช้โทรศัพท์เบอร์เดียวซ้ำๆ ควรจะมีซิมประเภทเติมเงินหลาย ๆ อัน ใช้แล้วหักทิ้ง เพราะเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันทันสมัย แล้วมันไม่ได้เป็น "โจรนอกเครื่องแบบ"
      
        นี่คือ บัญญัติ 12 ประการ ที่ช่วยให้ห่างไกลจากการถูกอุ้ม-ฆ่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างน้อย ๆ ก็เหมือนกับ "กฎหมายเบื้องต้น" ที่คนเคยถูกอุ้มฆ่าแล้วรอดมาได้ท่านนี้ ย้ำให้อ่านและพิจารณากันให้ดี เพราะอาจช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้บ้าง เพราะท้ายที่สุดแล้วขึ้นอยู่กับ "เวรทำ กรรมแต่ง" ของแต่ละคน


สมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ทนายผู้ทำหน้าที่เป็นทนายว่าความแก้ต่างให้กับ 5 ผู้ต้องหาคดีเจไอ ถูกอุ้มหายในยุครัฐบาลคุณทักษิณ เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2547 จนป่านนี้ยังไม่พบร่างเลย

   
        ท้ายนี้กับปัญหาเดิม ๆ "อุ้ม-ฆ่า" การหวังพึ่งกระบวนการยุติธรรมหรือกระบวนการอื่นนอกเหนือจากนั้นดูท่าว่าจะยาก เพราะรัฐบาลเองยังล้มเหลวเลย มิหนำซ้ำคนในรัฐบาลเองอาจมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่ไม่อาจคาดเดาได้ ดังนั้น คงไม่เกินไปนัก ถ้าจะบอกว่า นี่เป็นยุคมืดที่ประชาชนคนไทยไม่มีที่พึ่ง นอกจากต้องพึ่งตนเอง..ยิ่งต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจด้วยแล้ว ยิ่งต้องระวัง!
      
       ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น