วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

นอกรีตแตกหักศาล แดงขู่8พ.ค.ขนแสนคนขับไล่มติ5:3ตุลาการไต่สวนแก้68 เมื่อ 2 พ.ค.56


นอกรีตแตกหักศาล แดงขู่8พ.ค.ขนแสนคนขับไล่มติ5:3ตุลาการไต่สวนแก้68



รับเป็นคำร้องที่ 3 ศาล รธน.มีมติ 5 ต่อ 3 รับคำร้องกรณี  312 ส.ส.และ ส.ว. นำโดย "ค้อนปลอม" แก้ ม.68 ของ "พล.อ.สมเจตน์" ไว้พิจารณา แต่ไม่คุ้มครองฉุกเฉิน และขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหาของ 46 ส.ว.ถึง 15 พ.ค. "วสันต์" ลาป่วย! ขณะที่กลุ่มแดงเถื่อนหน้าศาลขู่แตกหัก ยกระดับชุมนุมวันที่ 8 พ.ค. มาเป็นแสนคน แดง นปช.ปากว่าตาขยิบ ไม่ร่วมแต่ไม่ห้ามแดงชุมนุม
    นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันพุธว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 3 มีคำสั่งรับคำร้องกรณีที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 68 ว่านายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กับ ส.ส.และ ส.ว. รวม 312 คน กระทำการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสินของบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือไม่ ภายหลังได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่.. พ.ศ..... ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้วเห็นว่า คำร้องต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาวินิจฉัย พ.ศ.2550 ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งรับไว้เป็นคำร้อง
    ส่วนคำขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉิน ที่ประชุมเห็นว่ายังไม่ปรากฏมูลอันเป็นเหตุฉุกเฉิน จึงมีคำสั่งให้ยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ผู้ร้องทำสำเนาคำร้องส่งต่อศาล จำนวน 312 ชุด เพื่อส่งให้ผู้ถูกร้อง เพื่อให้ผู้ถูกร้องชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากไม่ยื่นภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจ
    เขาบอกว่า ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญยังพิจารณา กรณีที่ ส.ส.และ ส.ว. 312 คน ไม่ได้รับหนังสือของศาลรัฐธรรมนูญที่ขอให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา และคำร้องของนายบวร ยสินทร กับคณะ ไว้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเห็นว่าการที่ศาลได้ส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องตามหลักเกณฑ์ ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 31 และข้อ 6 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 76 จึงถือได้ว่าได้ส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องโดยชอบแล้ว ศาลสามารถดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปได้ 
    นายพิมลกล่าวว่า ในกรณีนี้ ได้มี ส.ว. 46 คน ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาในการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และศาลมีคำสั่งอนุญาต โดยให้ส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้ หากไม่ส่งภายในระยะเวลาที่กำหนด ถือว่าไม่ติดใจ
    หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญแถลงว่า ในการประชุมคณะตุลาการ ไม่ได้มีการพูดคุยถึงการชุมนุมกดดันให้ตุลาการยุติการปฏิบัติหน้าที่ของกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงไม่ได้พูดคุยถึงกรณีที่ ส.ส.และส.ว.จำนวนหนึ่งมีมติไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาตามรัฐธรรมนูญแล้วมีผลผูกพันให้ทุกองค์กรต้องปฏิบัติ ซึ่งการที่ ส.ส.และ ส.ว.จะไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตุลาการ ก็สามารถพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่มีอยู่ ส่วนประโยชน์จะไปตกกับใครนั้น ก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง
"วสันต์" ลาป่วย
    อย่างไรก็ตาม นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้แจ้งขอลาประชุม เนื่องจากป่วยก่อนที่การประชุมจะเริ่มขึ้น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการถูกกดดันจากการชุมนุม หรือเป็นเพราะนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว. ได้ไปยื่นให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบการทำหน้าที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญของนายวสันต์และตุลาการทั้งคณะไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยที่ประชุมได้เลือกนายจรูญ อินทจาร เป็นประธานในที่การประชุมแทน 
    เมื่อถามว่า กรณีที่มีการระบุว่ามติที่รับคำร้องของนายสมชายไว้พิจารณาวินิจฉัยเป็นแค่ 3 ต่อ 2 ถือว่าไม่เหมาะสม นายพิมลกล่าวว่า การพิจารณาเป็นไปตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาวินิจฉัย พ.ศ.2550 ที่ระบุว่า ตุลาการ 5 คน ก็ถือเป็นองค์คณะในการพิจารณาได้
    ที่บริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญ กลุ่ม กวป. โดยนายชาญ ไชยะ หรือหนุ่ม โคราช แกนนำกลุ่ม กวป. อ่านแถลงการณ์ว่า ขณะนี้ครบ 24 ชั่วโมงแล้ว แต่ทางตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนยังนิ่งเฉย ไม่ยอมตอบคำถามที่ผู้ชุมนุมขอให้ตุลาการชี้แจงว่า ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 201 หรือไม่ ดังนั้นเมื่อตุลาการศาลฯ ไม่ตอบคำถาม จึงทำให้เชื่อได้ว่าคณะตุลาการมิได้มีการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระพักตร์จริง และถือเป็นการละเมิดพระราชอำนาจ 
    แถลงการณ์ยังระบุว่า กลุ่มยังเห็นว่าการที่องค์กรอิสระ รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญเป็นผลพวงมาจากรัฐประหาร 19 ก.ย. กระทำการโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 309 แห่งรัฐธรรมนูญ 50 เป็นเกราะป้องกันตัวเอง นิรโทษฯ ให้แก่ตนเอง กระทำการใช้อำนาจโดยมิชอบ ขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรมและหลักธรรมาภิบาล
    นายชาญชัยระบุว่า ทางกลุ่มจึงขอให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องลาออกจากตำแหน่งทันที เนื่องจากได้กระทำการละเมิดพระราชอำนาจ และยกระดับการชุมนุมภายใต้สโลแกน "8 พฤษภา มาเป็นแสน ขับไล่ ตุลาการ ยกเลิก ม.309" โดยวิธีการชุมนุมโดยสงบ สันติ ตามรัฐธรรมนูญ และจะรวบรวมรายชื่อ 20,000 รายชื่อ ทำการถอดถอนคณะตุลาการผ่านรัฐสภา 
    "วันที่ 8 พฤษภาคมนี้ จะประกาศแตกหักกับตุลาการ 9 คน เพราะไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีสามัญสำนึก ไม่มีความเสียสละ จึงประกาศให้ประชาชนมารวมตัวกัน 1 แสนคน และยกระดับอย่างสมบรูณ์แบบของภาคประชาชน" แกนนำแดง กวป.รายนี้กล่าว 
ปากว่าตาขยิบ
     นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ โฆษกแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า นปช.ไม่เกี่ยวข้อง แต่เป็นเพื่อนมิตรที่มีจุดยืนคล้ายกัน ซึ่งไม่ยอมรับในคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนปช.ได้ไปยื่นเรื่องมาครั้งหนึ่งแล้วว่าไม่มีความเป็นกลาง ซึ่งประชาชนเองก็รู้อยู่แล้ว ส่วนผู้ชุมนุมจะมาถึง 1 แสนคน และกดดันถึงขั้นแตกหักนั้น ตนไม่ทราบว่าจะกดดันในรูปแบบใด เพราะไม่ได้คุยกัน แต่ก็เป็นกำลังใจ  และไม่ได้เอาคนหรือขนคนไปร่วม เราเป็นห่วงว่าจะมีมือที่ 3 มาก่อกวน ก่อความวุ่นวาย มีอะไรก็พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความสะดวก ปลอดภัย อย่าทำเรื่องที่ล่วงล้ำศาล เพราะอาจโดนฟ้องได้  
    เมื่อถามว่า นปช.จะไม่ห้ามประชาชนไปร่วมชุมนุมด้วยใช่หรือไม่ เขาตอบว่า คงห้ามไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิในการเข้าร่วม เหมือนหลายกลุ่มที่มีการชุมนุมเรียกร้องที่ผ่านมา เมื่อประชาชนเห็นว่าไม่มีความเป็นธรรม แต่นปช.ก็ไม่ได้ยุยงส่งเสริม ก็ดูแลเป็นพี่เลี้ยง
     ขณะที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงประกาศจับตัว 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ตนไม่ทราบ เรื่องนี้ต้องไปว่ากัน เรื่องมันยาว เล่าไม่จบ ส่วนที่มีการมองว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงอาจจะกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลนั้น คิดว่าหน้าที่ของใครก็หน้าที่ของมัน เรื่องศาลต้องดำเนินการต่อไป แต่ทุกคนก็จับตาดูศาลจะตัดสินอย่างไร
    ถามว่า โดยส่วนตัวยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ รมว.กลาโหมหัวเราะแล้วพูดว่า อย่าให้ตอบเลย หลายคนที่นั่งอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญก็ทราบว่าอะไรคืออะไร ตาชั่งเปรียบเสมือนเป็นเครื่องเตือนใจ มันมีจุดเดียวที่ทำให้คานเท่ากัน ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะคนที่จะเป็นเหมือนตาชั่งมันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ความยุติธรรมต้องเริ่มจากกระบวนการการคัดเลือกคนที่เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งต้องดำเนินการตั้งแต่ต้นเหตุ ไม่ใช่ที่ปลายเหตุ ทุกอย่างต้องมีความพร้อมและความยุติธรรม
    ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการทำจดหมายเปิดผนึกของพรรคเพื่อไทย โดยจะชี้แจงไปยังประชาชนและองค์กรอิสระต่างๆ ยกเว้นศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะไปหารือกับ ส.ว.อีกนิดหน่อยในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนจะเผยแพร่จดหมายดังกล่าวได้ประมาณวันที่ 2-3 พ.ค. ยืนยันว่าจะไม่มีข้อความหรือจดหมายใดๆ ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะอาจเข้าใจผิดคิดว่าเราจะไปชี้แจง วันนี้เราถอยมามากแล้ว ต้องแสดงจุดยืนเป็นหลักให้ประชาชนบ้าง
    พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล และส.ว. น่าจะเห็นไปในแนวทางเดียวกันในการไม่ส่งคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เห็นด้วยกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่างไม่มีเนื้อหาล้มล้างการปกครอง และเป็นการทำตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้แก้ไขเป็นรายมาตรา ศาลรัฐธรรมนูญจึงเข้ามาก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติ เหมือนกับห้ามครูสอนหนังสือ ห้ามพระบิณฑบาต ซึ่งไม่สามารถทำได้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น