วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

‘312’ค้านศาลรธน.ขู่ยุบทิ้ง เมื่อ 2 พ.ค.56


‘312’ค้านศาลรธน.ขู่ยุบทิ้ง



“312 ทั่นผู้ทรงเกียรติ” ออกจดหมายเปิดผนึกไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญแล้ว อ้างเฉยชำเรา  รธน.ได้โดยไม่ต้องยี่หระใคร เพราะเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย! ลำเลิกจะยุบทิ้งศาลเมื่อใดยังได้ ซัดหากปล่อยไว้จะทำให้ขยายอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นเองไม่จบ “มาร์ค” ลั่นแน่จริงประกาศชื่อรายตัว เตือนบ้านเมืองจะอยู่ไม่ได้ นิด้าโพลตบหน้า ชี้ตุลาการน่าเชื่อถือกว่า “ฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ” แนะเพิ่มกฎหมายละเมิดอำนาจศาล
เมื่อวันพฤหัสบดี สมาชิกรัฐสภาประมาณ 20 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของ ส.ส. และ ส.ว. จำนวน 312 คน ที่ได้ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้แถลงถึงจดหมายเปิดผนึกที่คัดค้านและไม่ยอมรับการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการรับคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ของสมาชิกรัฐสภา 312 คน 
โดยนายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะที่ปรึกษาวิปรัฐบาล กล่าวว่า สมาชิกรัฐสภา 312 คน ได้ทำจดหมายเปิดผนึก 10 หน้า เพื่อมอบให้องค์กรอิสระต่างๆ ยกเว้นศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งส่งให้คณะผู้พิพากษาศาลทั่วประเทศ และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อให้รับทราบการวินิจฉัยรัฐธรรมนูญที่ผิดกฎหมาย และยืนยันว่าในฐานะสมาชิกรัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 3 วรรค 2 ที่บัญญัติว่าการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ทำให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามหน้าที่
นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พท. กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญยังยืนยันและตัดสินให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ต้องผ่านศาลเท่านั้น จะถือว่าไม่มีฐานรองรับทางกฎหมาย และจะไม่ผูกพันรัฐสภา  
    ต่อมานายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พท. ในฐานะประธานวิปรัฐบาลได้อ่านจดหมายเปิดผนึก โดยมีเนื้อหาอ้างถึงมติศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. และ 11 เม.ย.2556 ที่รับคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาไว้พิจารณาว่า สมาชิกรัฐสภาทั้ง 312 คน เห็นว่าการรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณานั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างชัดแจ้ง เป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ ด้วยเหตุผลคือ 1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้อง เนื่องจากเรื่องใดที่รัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้ง ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณาวินิจฉัยได้ 
นอกจากนั้นรัฐสภามีความชอบที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้อย่างกว้างขวาง หรือแม้แต่ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญแล้วจัดตั้งเป็นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ย่อมทำได้ การที่สมาชิกรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงเป็นการกระทำในนามประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย องค์กรอื่นใดตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบได้ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ได้ยึดหลักแบ่งแยกอำนาจหรือแบ่งแยกภารกิจออกจากกัน แต่ก็มีกระบวนการถ่วงดุลหรือกำหนดความสัมพันธ์ของการใช้อำนาจระหว่างองค์กรไว้ องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะใช้อำนาจหน้าที่ของตนไปกระทบหรือแทรกแซงการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรอื่นมิได้ ดังนั้นเมื่อรัฐสภาใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจรับคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาได้ไม่ว่ากรณีใด
อ้างทำลายหลักแบ่งแยกอำนาจ
    “กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเป็นกระบวนการปกติ ที่ผ่านมาก็เคยแก้ไขเป็นรายมาตรา และยกร่างทั้งฉบับ ซึ่งไม่เคยบัญญัติให้อำนาจแก่องค์ใดเข้าไปตรวจสอบเลยไม่ว่ากรณีใด ซึ่งการที่ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบตามมาตรา 68 วรรคหนึ่งนั้น ผลจะกลายเป็นว่าศาลมีอำนาจเหนือทุกองค์กรในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และองค์กรอื่นๆ เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้บัญญัติรัฐธรรมนูญเสียเอง อันจะทำให้หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญและหลักการแบ่งแยกอำนาจถูกทำลายลงสิ้นเชิง” จดหมายเปิดผนึกระบุ
    2.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา 68 ไว้พิจารณาโดยตรง โดยมิได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากอัยการสูงสุดก่อน ซึ่งได้บัญญัติไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 และปี 2550 ก็เช่นกัน โดยมีเพียงกรณีเดียวที่ประชาชนอาจใช้สิทธิโดยตรงต่อศาลได้คือ มาตรา 212 ในการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 แต่ก็ไม่ใช่สิทธิส่วนบุคคลของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยลำพัง โดยไม่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะได้
    “การตีความของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่าบุคคลผู้ทราบการกระทำว่ามีการล้มล้างการปกครอง สามารถใช้สิทธิได้ 2 ทางคือ เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุด และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการตีความที่ขัดต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญชัดแจ้ง จะทำให้การทำหน้าที่ของอัยการสูงสุดไม่มีที่ใช้อีกต่อไป และอาจทำให้เข้าใจได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเสียเอง เพราะทำให้รัฐสภาไม่สามารถทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ได้”
    3.มาตรฐานรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจยอมรับได้ มีการเร่งรัดพิจารณารับคำร้องอย่างผิดปกติวิสัยและขาดหลักความเสมอภาคในการพิจารณารับคำร้อง นอกจากนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน ที่รับคำร้อง ประกอบด้วย นายจรัญ ภักดีธนากุล และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ก็มีส่วนได้เสียในรัฐธรรมนูญ  เพราะเคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นในด้านจรรยาบรรณและตามหลักวิชาชีพย่อมไม่สมควรจะร่วมพิจารณาคำร้องนี้ตั้งแต่แรก 
ยอมศาลจะไม่มีวันจบ
“การตีความขยายเขตอำนาจตนเองของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้นับเป็นอันตรายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะตีความเพิ่มเติมอำนาจให้ตัวเองเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้บัญญัติรัฐธรรมนูญเสียเอง และไม่ต้องผูกพันตนต่อรัฐธรรมนูญ อีกทั้งไม่มีองค์กรใดตรวจสอบถ่วงดุลได้ หากยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญก็เท่ากับส่งเสริมให้ศาลขยายอำนาจตนเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจโดยสิ้นเชิง” (อ่านรายละเอียดหน้า 3-4) 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเรื่องนี้ว่า อยากให้แสดงตัวให้ชัดเลยว่าใครที่ไม่ยอมรับอำนาจศาล จะได้ไปดำเนินการได้ถูกตัว เพราะว่า ส.ส และ ส.ว. ไม่ได้แถลงการณ์ทุกคน และขอถามรัฐบาลว่า กรณี ส.ส. และ ส.ว. ไม่ยอมรับอำนาจศาลจะให้บ้านเมืองเดินกันอย่างไร ถ้าต่อไปมีคนออกมาต่อต้านไม่ยอมรับอำนาจของสภาฯ บ้าง และไม่ยอมรับอำนาจรัฐบาลบ้าง บ้านเมืองจะอยู่อย่างไร ทุกคนควรเคารพการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละฝ่าย 
“ขอถามย้ำว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องการให้บ้านเมืองเดินไปอย่างนี้หรือ เพราะคนที่สร้างปัญหาอยู่ตอนนี้ทั้งหมดก็เป็นคนที่สนับสนุนรัฐบาลทั้งสิ้น จะให้บ้านเมืองเดินไปอย่างนี้เพื่ออะไร” นายอภิสิทธิ์กล่าว
วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน จำนวน 1,254 หน่วยทั่วประเทศ เรื่อง ความคิดเห็นของคนไทยต่อศาลรัฐธรรมนูญ พบว่า ในเรื่องความไว้วางใจในการใช้อำนาจของอธิปไตยทั้ง 3 ฝ่าย ประชาชน 44.26% ระบุว่า ไว้วางใจฝ่ายตุลาการ (ศาลยุติธรรม, ศาลปกครอง, ศาลรัฐธรรมนูญ) มากที่สุด เพราะน่าเชื่อถือมากที่สุด เป็นที่พึ่งของประชาชนได้ 20.89% ระบุว่า เป็นฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) เพราะเข้าถึงประชาชนได้มากกว่า 10.77% ระบุว่า เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ (ส.ส., ส.ว.) เพราะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน 10.61% ระบุว่า ไม่มีฝ่ายใดเลย และ 13.48% ไม่แน่ใจ 
โพลพอใจผลงานศาล รธน.
เมื่อถามถึงความพอใจการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 61.8% พึงพอใจปานกลาง 15.63% พอใจมาก 14.75% พอใจน้อย และ 7.81% ไม่แน่ใจ ผลสำรวจยังถามถึงกรณีคนเสื้อแดงกดดันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ลาออก และการไม่ยอมรับอำนาจศาลของสมาชิกรัฐสภาพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 61.64% ระบุว่า เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เป็นการละเมิดตุลาการ 13.4% เห็นว่าเหมาะสม และ 24.96% ไม่แน่ใจ
“เมื่อถามว่าควรออกกฎหมายห้ามมิให้ละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับศาลยุติธรรมหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 61.88% ระบุว่า ควรมี เพราะเป็นการปกป้องศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การตัดสินของศาลให้ถือเป็นที่สุด 18.5% ระบุว่า ไม่ควร และ 19.62% ไม่แน่ใจ” ผลโพลระบุ
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ม.นิด้า กล่าวถึงผลโพลว่าสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไว้วางใจฝ่ายตุลาการ แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ผ่านมาตรงไปตรงมา ไม่มีอคติ ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติก็ควรพึงสังวรในพฤติกรรมที่ประชาชนยังไม่ไว้วางใจ ในขณะที่ฝ่ายบริหารก็มักจะทำอะไรเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก
“การกดดันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ในสายตาประชาชนมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ฝ่ายที่กดดันก็ควรจะระงับพฤติกรรมเสีย ขณะเดียวกันก็ควรมีกฎหมายห้ามละเมิดศาลรัฐธรรมนูญด้วย เพราะที่ผ่านมาศาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายเรื่อง โดยฝ่ายนิติบัญญัติควรฟังเจตนารมณ์ของประชาชนด้วย” รศ.ดร.พิชายระบุ
ขณะเดียวกัน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ได้ร่วมกับนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และนายคมสันต์ โพธิ์คง จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการกระทำที่ต้องห้ามตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นผู้ถูกร้องที่ 1 พรรคเพื่อไทย กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย และ ส.ส. รวม 238 คน เป็นผู้ถูกร้องที่ 2 เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณได้สไกป์หลายครั้งในที่ประชุมพรรคให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายปรองดอง และกฎหมายอื่นๆ โดยมีหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอ 12 คลิป บทสัมภาษณ์ 2 บทความ ข่าวหนังสือพิมพ์ 17 ชุด 
“ส่วน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ถือว่าผิดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ว่าด้วยการทำหน้าที่ของ ส.ส. ส.ว. ต้องเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อาณัติอะไร นอกจากนั้นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ เป็นการเสนอโดยขัดต่อหลักการสำคัญและเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” นายไพบูลย์กล่าว
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวเรื่องนี้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้สไกป์มาสั่ง ส.ส.พรรค เป็นการกระทำของสมาชิกรัฐสภาเอง ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีใครชี้นำ ครอบงำได้ ซึ่งทุกคนทราบดีว่านายเจิมศักดิ์อยู่ข้างไหน เป็นคนหน้าเดิมที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล และ พ.ต.ท.ทักษิณมาโดยตลอด นายเจิมศักดิ์ตัดแปะข่าวมาร้อง ไม่มีข้อเท็จจริง 
สำหรับกรณีกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายคนเสื้อแดงที่ชุมนุมหน้าศาลรัฐธรรมนูญจะยกระดับการชุมนุมในวันที่ 8 พ.ค.นั้น นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. กล่าวว่า การชุมนุมเป็นสิทธิ แต่ต้องไม่ใช่การข่มขู่คุกคาม ใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้ตามจุดประสงค์ของผู้ชุมนุม แต่การชุมนุมของคนเสื้อแดงมีแนวโน้มใช้ความรุนแรง ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายประการ คือ 1.นายกฯ ให้ท้ายที่ไม่ส่งสัญญาณหรือระงับยับยั้ง 2.เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการกำจัด และดิสเครดิตศาล และ 3.คนเสื้อแดงที่ชุมนุมได้ใจมากขึ้นเมื่อได้ฟังคำกล่าวสุนทรพจน์ที่มองโกเลีย ที่นายกฯ โจมตีองค์กรอิสระ 
“อยากเรียกร้องไปยังนายกฯ ว่าก่อนถึงวันที่ 8 พ.ค. นายกฯ ควรออกมาทำทุกวิถีทางที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยไม่ปล่อยให้กลุ่มบุคคลใดก็ตาม โดยเฉพาะคนเสื้อแดงดำเนินการในลักษณะเป็นภัยกระทบต่อการใช้ชีวิตและความปลอดภัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” 
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. ในฐานะโฆษกพรรค กล่าวเช่นกันว่า นายกฯ ต้องรับผิดชอบหากมีความรุนแรงตามมา เพราะสุนทรพจน์ของนายกฯ เหมือนเป็นการส่งเสริมการชุมนุม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น