วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

"ทักษิณ" กดปุ่มกลับไทย ปฏิกิริยาต้าน พ.ร.บ.ขี้ข้า เมื่อ 25 พ.ค.56



"ทักษิณ" กดปุ่มกลับไทย ปฏิกิริยาต้าน พ.ร.บ.ขี้ข้า


สไกป์สร้างภาพของ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดี กับกลุ่มเสื้อแดง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เนื่องในวาระครบรอบ 3 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ที่หวังชูสำนึกสาธารณะ อ้างความชอบธรรมในการช่วยเหลือประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นลำดับแรก โดยการผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมือง ฉบับที่ นายวรชัย เหมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ เหล่าบรรดาผู้ชุมนุม ไพร่ ทาส น่าจะตื้นตันในความใจกว้างของพันตำรวจโททักษิณ ที่นึกถึงคนรากหญ้า ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง 
    กระนั้นเมื่อหันไปดูร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ของนายวรชัย เหมะ ที่ถูกชูให้เป็นกฎหมาย "สุภาพบุรุษ" ที่ "ทักษิณ" เชิดไว้หลอกคนเสื้อแดงนั้น ก็ใช่ว่าจะมีผลเฉพาะผู้ชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น เพราะเอาเข้าจริงเนื้อหาในร่างกฎหมายได้ระบุถึงการไม่นิรโทษผู้สั่งการ ซึ่งตีความไว้เฉพาะกลุ่มของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เท่านั้น ซึ่งไม่ได้หมายรวมถึงแกนนำเสื้อแดงอย่างที่ระดับบิ๊กๆ ในเสื้อแดงและเพื่อไทยกล่าวอ้างแต่อย่างใด
    มิพักต้องพูดถึงร่างพระราชบัญญัติปรองดองฯ ของร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง ขณะนี้เดินหน้ายื่นให้สภาฯ ไปแล้ว!!
     โดยนายพีรพันธุ์ พาลุสุข, นายสุรจิตร ยนต์ตระกูล และพลตรีอาณันย์ วัชโรทัย พร้อมด้วย ส.ส.เพื่อไทยอีก 13 คน ได้เป็นตัวแทนยื่นผ่านนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมี ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย จำนวน 163 คน ร่วมลงนามสนับสนุน 
    ฟังดูเหตุผลของนายพีรพันธุ์ที่บอกว่า วัตถุประสงค์ของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ต้องการนิรโทษกรรมให้กับความผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดความปรองดองและความสามัคคีในประเทศ โดยบอกว่าได้ตัดมาตรา 5 ที่จะไปเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองออกไป เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการเงิน เพราะผู้ได้รับผลกระทบได้รับการเยียวยาไปแล้ว ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีก็ไม่จำเป็นต้องลงนามแต่อย่างใด 
    ขณะที่มาตรา 4 ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่าทำเพื่อคืนเงินจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท แก่พันตำรวจทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ยืนยันว่าเงินจำนวนดังกล่าวศาลได้ตัดสินให้ตกเป็นของแผ่นดินไปแล้ว หากจะคืนเงินแนวทางที่ทำได้คือ ไปออกกฎหมายเรียกคืนเท่านั้น
    นั่นดูเป็นเหตุผลและหลักการที่ผู้เสนอร่างกฎหมายใช้เป็นข้ออ้าง และเป็นฉากหน้าในการลากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายเข้ามาเป็นตัวประกัน เพียงเพื่อเป้าหมายเดียวคือการ "ปูพรมแดง" ให้ "นายใหญ่" ได้กลับประเทศเท่านั้น!!
    จะมีก็แต่ "แม่น้องเกด" อาสาสมัครพยาบาลที่ถูกยิงหน้าวัดปทุมวนาราม ที่ต้องการให้พิสูจน์และเอาผิดกับผู้กระทำการและผู้สั่งการในการสังหารบุตรสาว
    กระนั้นสาขา "ขี้ข้า" ทักษิณ เปิดปฏิบัติการเดินสายหนุนร่างพระราชบัญญัติปรองดองฯ นำร่องไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เมื่อ นายขวัญชัย สาราคำ หรือ ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร และประธานชมรมคนรักภาคอีสาน 20 จังหวัด พร้อมด้วยนายศราวุธ เพชรพนมพร ส.ส.อุดรธานี เขต 1 พรรคเพื่อไทย ได้ปราศรัยเปิดเวที "ทวงคนดีคืนถิ่น เอาทักษิณกลับบ้าน" พร้อมเปิดวิดีโอบนจอแอลซีดีขนาดใหญ่บนเวที ที่เป็นเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ถูกปฏิวัติและแจ้งข้อหาจนต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ
        โดยร้อยตำรวจเอกเฉลิมปราศรัยตอนหนึ่งว่า ร่างกฎหมายปรองดองฯ มี 6 มาตรา แต่ตอนนี้เหลือ 5 มาตรา เพราะรัฐบาลให้เงินเยียวยาช่วยเหลือพี่น้องไว้แล้ว ก็เลยยกเลิก จะเหลือก็คือ มาตรา 4 ที่หลายฝ่ายเห็นว่าพันตำรวจโททักษิณจะได้ประโยชน์
        "ผมออกกฎหมายให้กับคนทุกคน มาเริ่มกันใหม่ แต่เรื่องสร้างโรงพักยังไม่ให้จบ ผมไม่ได้ชอบอภิสิทธิ์ สุเทพ แต่เป้าหมายคือให้ทักษิณกลับบ้าน เกิดถ้าไม่สำเร็จผมรับผิดชอบคนเดียว ไม่เป็นไร จะเอาไปตัดหัวคั่วที่ไหนผมไม่กลัว เพราะผมตัดสินใจแล้ว และจะเดินสายทั่วประเทศอีกหลายที่ ภาคใต้ก็ไป แต่มาอีสานก่อน ถ้าเห็นด้วยร่วมด้วยช่วยกันก็ปรบมือ"
    ยังไม่นับรวม ส.ส. นักการเมือง ในสังกัดเพื่อไทย ที่ประกาศบนเวทีแสดงตัวเป็นขี้ข้าทักษิณ และ จะพานักโทษหนีคดีกลับบ้านในช่วงปีใหม่ให้ได้ 
    สำทับด้วยการแสดงตัวของพันตำรวจโททักษิณ ที่โทรศัพท์มาแสดงความขอบคุณคนเสื้อแดงที่มาร่วมชุมนุม แสดงให้เห็นเจตจำนงที่พร้อมจะใช้ทุกเครื่องมือในการนำตัวเองกลับบ้านในที่สุด
    ไม่ว่าจะ "เสื้อแดง" หรือ "ขี้ข้า" สาขาใดก็ตาม!!!
    ร่างกฎหมาย 2 ฉบับที่เสนอเข้ามา ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเป้าหมายเพื่อ "ทักษิณ" โดยลากเอาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง ยกเว้นคู่แข่งทางการเมือง ร่วมเป็นตัวประกันเพื่อรับอานิสงส์จากผลแห่งกฎหมาย โดยที่ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าเกมต่อไป "นายใหญ่" จะกดปุ่มให้ "ขี้ข้า" เดิมเกมอย่างไรต่อไป 
    แม้ ร้อยโทหญิงสุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะออกมาตอบโต้พรรคประชาธิปัตย์ให้หยุดบิดเบือนว่าพรรคเพื่อไทยจะสอดไส้พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ฉบับนายวรชัย และพระราชบัญญัติปรองดองแห่งชาติฯ ของร้อยตำรวจเอกเฉลิมเข้าด้วยกัน เพราะกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้มีหลักการที่แตกต่างกัน และนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า จนถึงขณะนี้พรรคเพื่อไทยยังมีมติเพียงข้อเดียวคือ สนับสนุนให้เลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับ ส.ส.วรชัย เหมะ ขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน ในการประชุมสภาฯ สมัยสามัญวันที่ 1 ส.ค.เท่านั้น 
    พร้อมบอกว่า พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติยังไม่ได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมพรรค จึงถือว่ายังไม่มีมติใดๆ ของพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ปรองดองฯ ของ ร.ต.อ.เฉลิม อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.เฉลิมมีสิทธิ์ที่จะมีมุมมองที่แตกต่างจากพรรคในเรื่องของการสร้างความปรองดอง 
    สำทับด้วยการตอบโต้ของ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ที่บอกว่า พรรคประชาธิปัตย์หลับหูหลับตาขัดขวางการออกกฎหมายปรองดองฯ นิรโทษกรรมฯ โดยไม่มีความคิดที่จะช่วยเหลือประชาชน เอาแต่อ้างเรื่องพันตำรวจโททักษิณมาบังหน้า ขัดขวางการปรองดองของคนในชาติอยู่เรื่อยไป 
    ซึ่งนั่นไม่ได้ทำให้ฝ่ายต่างๆ ในสังคมมั่นใจได้ว่า สิ่งที่ "โทรโข่ง" ของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะเป็นจริง เพราะต่างก็เป็น "ขี้ข้า" ทักษิณด้วยกัน!!
    และแน่นอนว่า กลุ่มปฏิกิริยาที่ไม่เห็นด้วยและต่อต้านการเดินเกมเพื่อ "ทักษิณ" ย่อมเกาะติดและไม่ยอมให้ "แผนการ" ดังกล่าวบรรลุผลได้ง่ายๆ 
    ไล่ตั้งแต่ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาสรรหา ที่มองว่า สิ่งที่แน่นอนแล้วในขณะนี้ก็คือจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ฉบับของนายวรชัยก่อนเมื่อเปิดประชุมสภาฯ แต่ร่างพระราชบัญญัติปรองดองฯ ของร้อยตำรวจเอกเฉลิมนั้น ยังเป็นการบรรจุเข้าเป็นระเบียบวาระต่อจากเรื่องอื่นๆ ซึ่งอาจจะมีการเลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนตามมติของที่ประชุมส่วนใหญ่ก็เป็นได้ 
    พร้อมระบุว่า ร่างพระราชบัญญัติปรองดองฯ ของร้อยตำรวจเอกเฉลิมมีเนื้อหาที่ขัดเงื่อนไข 3 ข้อ ของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ก็คือ ลดอำนาจสถาบัน-ล้างผิดทักษิณ-ปฏิรูปประเทศ ในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติปรองดองฯ ของนายวรชัยยังมีเนื้อหาที่ก้ำกึ่งอยู่ 
    "ผมเชื่อว่าความชัดเจนจะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ที่สภาฯ จะมีการเปิดประชุมสมัยวิสามัญทั่วไป เราคงจะต้องรอดูการทำงานในสภาฯ อีกครั้งหนึ่ง เพราะการพิจารณากฎหมายในแต่ละฉบับก็มีขั้นตอนที่ใช้เวลานาน" นายคำนูณระบุ 
    รวมถึง นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำรุ่น 2 และโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ระบุว่า ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองที่เลวร้ายลง ในที่สุดแกนนำพันธมิตรฯ ได้มีมติเห็นชอบให้มีการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ และอาจมีการกำหนดมาตรการหรือการเคลื่อนไหวต่อไป โดยกำหนดให้นัดประชุมและแถลงข่าวในวันจันทร์ที่ 27 พ.ค.56 ณ บ้านพระอาทิตย์ เวลา 12.00 น. 
    โดยที่ "สนธิ ลิ้มทองกุล" ยังเดินสายร่วมกับพันธมิตรฯ แอลเออยู่ที่สหรัฐ ซึ่งหลายฝ่ายก็จับตาดูว่า หากพันธมิตรฯ กลับมารวมตัวและถือธงเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ "ทักษิณ" จะพ้นผิดและกลับประเทศได้อย่างสบาย 
    ยังไม่นับรวมปฏิกิริยา "ไทยสปริง" จากปาฐกถา "อูลานบาตอร์" ที่ "ทักษิณ" เกริ่นขึ้นหัวไว้ระหว่างการสไกป์กับคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ ในช่วงรำลึก 3 ปีสลายการชุมนุมด้วย 
    สถานการณ์การเมืองช่วงเดือนสิงหาคมอาจประเมินได้ยากว่า การ "สู้สุดซอย" ไปสู่เป้าหมายเพื่อ "ทักษิณ ชินวัตร" จะใช้เกมและเครื่องมือใดเพื่อบรรลุเป้าหมาย
    แต่แน่นอนว่า "ปฏิกิริยา" โต้กลับ จากกลุ่มคนที่ต่อต้านนั้นไม่ได้น้อยอย่างที่หลายคนคิด อยู่ที่ว่า "ขี้ข้า" จะ "ใจถึง" ลุยตาม "ใบสั่ง" ของ "นายใหญ่" หรือไม่!!. 
                                                          ทีมข่าวการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น