นักวิชาการ-นักกม. ผนวกความคิดลั่นชัดเหตุไฟภาคดับใต้ไม่บังเอิญ ชี้รบ.โกหกไม่เนียน-ฟังไม่ขึ้น ต้องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม พร้อมยืนยันพลังงานเพียงพอ ย้ำเรียกร้องให้รบ.ออกมาชี้แจงให้ชัดเจน
อ.วรินทร์ เทียมจรัส อดีตสมาชิกวุฒิสภาและนักกฎหมาย ร่วมด้วยอ.ศักดิ์ณรงค์ มงคล นักวิชาการอิสระจากกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ออกมาแถลงร่วมกันในรายการคมคนคิด ประจำวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด ชี้รัฐบาลตระบัตสัตย์ ใช้คำว่าเหตุสุดวิสัยฟังไม่ขึ้น ย้ำประชาชนพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ต้องเรียกร้องให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลเรื่องพลังงานให้ประชาชนได้เห็นข้อเท็จจริง
ทีนิวส์ : จากเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด วันนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกระทรวงพลังงานมีการแถลงออกมา ยังยืนยันสาเหตุเดิมคือระบบสายส่งมีปัญหาชำรุดเพียงเท่านี้เอง จึงทำให้ไฟฟ้าดับทั้งภาคใต้ ในขณะเดียวกันก็มีกระแสออกมาเหมือนกันว่ารัฐบาลเองกำลังวางแผนเพื่อสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน ถ้าไล่เรียงก่อนหน้านี้วิกฤติพลังงานไฟฟ้าที่พม่าหยุดส่งก็าซมายังประเทศไทย ต่อเนื่องมาจนถึงเหตุการณ์นี้ ดูเหมือนว่ารัฐบาลพยายามจะสร้างเรื่อง เพื่อนำไปสู่การค้นหาพลังงานแห่งใหม่ซึ่งก็คือโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตรงนี้อ.ศักดิ์ณรงค์มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง
ศักดิ์ณรงค์ : ผมก็เป็นคนที่มีอารมณ์ร่วมกับพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ถึงผมจะไม่ใช่คนใต้ที่อยู่ในสถานการณ์ไฟดับ 5 ชม. แต่ว่ามันก็เป็นเรื่องแปลกที่เราอยู่ตรงนี้ เราเองก็มีความรู้สึกว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร และศักยภาพในการแก้ปัญหาเรื่องไฟฟ้าของเรา ผมเชื่อว่าระดับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระดับหน่วยงานผู้ผลิตไฟ การบริหารการจัดไฟฟ้าทั้งหมด ไฟดับทั้งภาคทั้ง 14 จังหวัด 5 ชม. มันไม่ใช่เรื่องปกติ ประกอบกับที่คุณยุคลเรียนประชาชนให้ทราบถึงความเป็นมาทางภาคเอกชนที่มีโครงการที่จะทำไฟฟ้าหลายพื้นที่ในภาคใต้ ก็มีความพยายามมาอย่างยาวนาน แต่ก็พบกับการคัดค้านสกัดกั้นของพี่น้องประชาชนคนที่อยู่ในชุมชนที่อยู่ในกระบวนการสีเขียว คนที่เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม เขาก็คัดค้านโครงการ ซึ่งทำให้การทำโครงการตรงนี้ค่อนข้างลำบาก อาการอย่างนี้ก็เลยกลายเป็นว่าเอกชนพยายามทำโครงการให้ผ่าน รัฐบาลมีแผนการใช้ไฟฟ้า แต่ว่ามันมีอุปสรรคมีปัญหา และประกอบกับเรื่องเมื่อวานคำอธิบายเรื่องไฟฟ้า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่จ่ายไฟฟ้าจากภาคกลางไปยังภาคใต้ขัดข้อง ผมมีความรู้สึกว่ามันแปลก ๆ อะไรจะบังเอิญขนาดนั้น เขาบอกว่าไม่มีสายไฟส่งจากภาคกลางเข้าไป ภาคกลางที่จะส่งไปยังภาคใต้มี 4 สายไฟฟ้าแรงสูง มี 500 เควี 2 สาย 230 เควี 2 สาย ปรากฏว่า 500 เควี 2 สายตัวที่ 1 ถอดซ่อม อันที่ 2 ฟ้าผ่าชำรุดใช้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นกำลังการส่งไฟฟ้า 2 สายต้องส่งผ่าน 2 ตัว สายเล็กก็เลยทำงานไม่ได้ ทำไมมันประจวบเหมาะเจาะกันขนาดนั้น
ผมวิเคราะห์อย่างนี้ ด้วยความเคารพฝ่ายที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตัวผมเองยอมรับว่าผมไม่ค่อยเชื่อว่ามันเป็นเหตุสุดวิสัย มันปราศจากการวางแผน การเตรียมการ ผมค่อนข้างจะเชื่อว่ามันเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดสถานการณ์ของการขาดไฟ มีความจำเป็นบางอย่างที่จะต้องเพิ่มไฟ เพิ่มพื้นที่ก่อสร้าง สร้างโรงงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ให้พื้นที่พึ่งพาไฟในพื้นที่เอง
ทีนิวส์ : วิธีการแบบนี้มันจะสำเร็จหรือเปล่า
ศักดิ์ณรงค์ : มันเป็นกระบวนการสร้างความจำเป็นบนพื้นฐาน อาศัยความจำเป็นของพี่น้องประชาชนที่เขาใช้ไฟ โดยเฉพาะทางภาคธุรกิจในภาคใต้เขามีความอ่อนไหว ไฟดับทั้ง 5 ชม. ทำให้มีปัญหามากในการทำธุรกิจต่าง ๆ
ทีนิวส์ : ถ้าทำแบบนี้ก็จะเกิดความเสียหายในภาคธุรกิจเหล่านี้
ศักดิ์ณรงค์ : มันเป็นการบีบรัดเอาสังคมล้อมชุมชนซึ่งต่อต้านไฟ
ทีนิวส์ : แต่สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เป็นวิธีการที่ดูว่ามีความสกปรกหรือเปล่า
ศักดิ์ณรงค์ : คือถ้ามันเป็นจริง มันก็เป็นวิธีการที่ฝ่ายรัฐไม่ควรทำ ผมไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้น ผมค่อนข้างจะมีเหตุผลที่จะทำให้เชื่อว่าวิธีการอย่างนี้มันจะนำไปสู่เป้าหมายอย่างนั้น ถึงแม้ทางสหรัฐอเมริกาเขามีแผนในการที่จะแก้ปัญหาระยะยาว ในการทำสายส่งไฟฟ้าให้ยิงยาวไปที่ภาคใต้ลึก ๆ ข้างล่างเลย แต่นั่นก็เป็นโครงการที่ต้องใช้ระยะเวลาถึง 5-10 ปี คือมันเป็นอย่างนี้บ้านเราปัญหาใหญ่ ๆ เรื่องไฟดับอย่างนี้ในเกาหลีใต้ก็มีเหมือนกันรัฐมนตรีต้องลาออกนะ ถ้าไฟดับอย่างนี้ ในทางกลับกันรัฐมนตรีของไทยเกิดความสูญเสียขนาดไหน รัฐมนตรีก็ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก เพราะฉะนั้นถ้าจะเล่นเกมอย่างนี้ ก็เล่นได้โดยที่ไม่มีผลเสียอะไร
ทีนิวส์ : คืออ.ศักดิ์ณรงค์ฟันธงว่าไม่น่าจะเป็นไปตามที่กระทรวงพลังงาน หรือตามที่กฟผ.แถลงเลย
ศักดิ์ณรงค์ : ผมค่อนข้างเชื่ออย่างนั้น และก็คิดว่าน่าจะเป็นแผนการเพื่อนำไปสู่การหาทางออกสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ทีนิวส์ : มาทางด้านอ.วรินทร์บ้าง อาจารย์มีมุมมองเรื่องนี้อย่างไร
วรินทร์ : ผมมีสถานะในการเกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องพลังงานหลายสถานะ เอาในฐานะนักกฎหมายก่อน ในฐานะนักกฎหมายผมยืนยันว่ารัฐบาลโกหก ตระบัตสัตย์ ท่านใช้คำว่าเหตุสุดวิสัย ตามกฎหมายเขียนว่าเหตุสุดวิสัย เหตุใด ๆ แม้จะเกิดขึ้นก็ไม่สามารถจะแก้ไขได้ แล้วก็มาบอกต่อมาว่าระบบชำรุด ถามว่าระบบชำรุดรู้แล้วทำไมถึงไม่แก้
ทีนิวส์ : เขาบอกว่าบังเอิญเสียหลายสายพอดี
วรินทร์ : มันบังเอิญไม่ได้หรอกครับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตทุก ๆ ฝ่ายทั้งหมดเขามีความเป็นมืออาชีพ มันเป็นอาชีพมันเป็นองค์กรที่ใช้งบประมาณทั้งหมด คุณพยายามจะแปรรูป พยายามจะทำให้สถานะของความเป็นองค์กรที่คอยดูแลเรื่องความขาดแคลนกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ผมยืนยันตรงนี้เลยนะครับว่าไม่ใช่เหตุสุดวิสัย และข้ออ้างที่บอกว่าระบบชำรุดฟังไม่ขึ้น ในฐานะที่เป็นทนายความขับรถไปทุกคดีอ้างว่าเบรกแตก และเป็นเหตุสุดวิสัยศาลเอาติดคุกทั้งหมด อธิบายกันชัดเจนในฐานะนักกฎหมาย และมีหลักกฎหมาย มีข้อกฎหมายยืนยัน มีคำพิพากษาฎีกายืนยันในเรื่องระบบตัวนี้มาตลอด แล้วเราก็ต้องมาดูต่อว่ามันมีเจตนาอะไรซ่อนเร้น เจตนาซ่อนเร้นผมจะอธิบายในฐานะที่เป็นเอ็นจีโอ ผมบอกว่ามันมีแนวคิดที่พยายามจะส่งเสริมให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินมาโดยตลอด
ทีนิวส์ : บ้านเราขาดแคลนไฟฟ้าตามที่รัฐบาลพูดจริงหรือเปล่า
วรินทร์ : จริง ๆ แล้วก็คือรัฐบาลหลอกลวง พอวันนี้เกิดเรื่องขึ้นก็เอาโรงไฟฟ้าตั้งเยอะแยะเดินเครื่อง โรงไฟฟ้าที่อยู่ในฝายการผลิตทั้งหมดมันหยุดเครื่อง โรงงานเอกชนมันประกันเชื้อเพลิง 80% ประกันราคาซื้อ และในส่วนต่างของราคาซื้อ โรงงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเองมันถูกกว่าที่ซื้อมา แต่ไม่มีส่วนต่าง ตรงนี้ต้องมีการคุยกัน ผมเชื่อว่าในกระบวนการที่ทำประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน ถามว่าวันนี้ต้องทำอะไร วันนี้ประชาชนต้องลุกขึ้นมาเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง ข้อที่ 1. ต้องฟ้องคดี ใครเสียหายทั้งหมด ถ้าเป็นในส่วนของราชการต้องฟ้องศาลปกครอง ไฟดับ 5 ชม.ใครเสียหายต้องออกมาฟ้องให้หมด ฟ้องพร้อม ๆ กัน ฟ้องเป็นกลุ่มเป็นก้อน ฟ้องเหมือนคดีน้ำท่วม เพราะว่านี่คือสิทธิของเรา เป็นผลโดยตรงจากการที่ไฟดับ มีการกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหาย และเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิด ปัญหาก็คือว่าจะฟ้องศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองก็ไปฟ้องกันอีกเรื่องหนึ่ง ข้อที่ 2. สิ่งที่ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองก็คือว่า ประชาชนต้องออกมากดดัน และให้ผู้รับผิดชอบทั้งหมดลาออกรวมไปถึงรัฐบาลด้วย ข้อที่ 3. ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลพลังงาน ทั้งพลังงานไฟฟ้า พลังงานตัวเลขอื่น ๆ ด้วย ปัจจุบันมีพลังงานตัวเลขเยอะแยะ
ทีนิวส์ : อ.วรินทร์กำลังบอกประชาชนว่าพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส
วรินทร์ : ใช่ครับ ผมรอมานานแล้ววันนี้ คือวันนี้ผมเองคิดว่ายื่นคำร้องขอให้ศาลยกเว้นค่าธรรมเนียมเลย และเรื่องแบบนี้ศาลเองก็ต้องลงมาดูเรื่องความทุกข์ยาก 5 ชม.ที่ผ่านมามันเป็นอย่างไร ประชาชนเขาเสียหายเท่าไหร่ ผมยังไม่รวมถึงของที่อยู่ในตู้เย็น ที่อยู่ในสุญญากาศ ในอากาศเย็น ที่มันมีความเสียหายเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ตรงนี้ยังไม่มีใครพูดถึงนะ
ทีนิวส์ : พี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดความโกลาหล จนกระทั่งหวาดกลัว เพราะทันทีที่ไฟดับมันไม่เหมือนกับจังหวัดอื่น ๆ
วรินทร์ : ความหวาดกลังตรงนี้มันพิสูจน์ยาก แต่ในขณะเดียวกันด้วยความหวาดกลัวตรงนี้คุณต้องเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยการไปกดดันทางราชการ กดดันเพื่อรับผิดชอบ แต่ตรงนี้ถ้ามันประเมินเป็นจำนวนเงินของความเสียหายได้คุณต้องฟ้องคดี และสื่อวันนี้คุณอย่าไปรับ ท่านต้องถือเป็นวาระที่ท่านต้องรับผิดชอบร่วมกับประชาชน ผมขอยืนยันอีกครั้งนะครับว่าไม่ใช่เหตุสุดวิสัย และอ้างเหตุชำรุดบกพร่องโดยระบบมันไม่ได้ คุณบอกว่าฟ้าผ่าทำไมถึงไม่ผ่าทั้ง 4 เส้น ก่อนหน้านี้ทำไมคุณถึงไม่ซ่อม ถ้าคุณจะต้องซ่อมทำไมไม่สั่งให้ทำระบบไฟสำรองไว้ ระบบไฟสำรองสามารถสั่งระบบสำรองให้ทำงานได้ แต่คุณกลับไม่สั่ง คุณจงใจ คุณประมาทเลินเล่อ คุณไม่รับผิดชอบต่อประชาชน
ทีนิวส์ : มีการตั้งคำถามขึ้นมาว่าฝ่ายโจมตีรัฐบาลก็โจมตีเอา
วรินทร์ : คือไม่ใช่ว่าผมโจมตีนะครับ ผมรับผิดชอบเรื่องนี้มาตลอดผมดูมาตั้งแต่ต้น โรงไฟฟ้าจะนะผมก็ทำ
ทีนิวส์ : ทีนี้ผมขอถามเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น พลังงานในบ้านเราเพียงพอต่อการใช้หรือเปล่า
วรินทร์ : เพียงพอครับ ไม่ต้องไปสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม เพราะเอาโรงไฟฟ้าที่คุณมีอยู่ทั้งหมดมาเดินเครื่องให้หมด ที่เหลือขาดเหลือเท่าไหร่ ผมถึงได้บอกว่าให้มีการเปิดเผยข้อมูลเรื่องพลังงานเอาเบื้องต้นตรงนี้ก่อน
ทีนิวส์ : แล้วถ้ามันจะเหลือมันจะขาดอย่างไรมันจะเห็นกันจะ ๆ เลย ถ้ามันขาดมันต้องเป็นถ่านหินอย่างเดียว แต่มีวิธีการอย่างอื่นก็ได้
วรินทร์ : วันนี้ผมจะบอกเลยนะพอเกิดเรื่องขึ้น เขาก็ซื้อของมาเลเซียทันทีเลยเพราะมีสัญญาอยู่แล้ว แต่คุณพูดเหมือนกับว่าประชาชนคนไทยโง่เง่าเต่าตุน กินแกลบ กินหญ้า กินฟาง และคุณพูดเองว่ามันเป็นเหตุสุดวิสัย พอพูด ๆ ไปก็บอกว่าผมซื้อไฟมาเลเซียมาชดเชย ผมสั่งให้โรงงานเดินเครื่อง ผมใช้น้ำมันเตา มาเรียกร้องความสนใจกันอีก
ทีนิวส์ : เพราะฉะนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจน ประชาชนต้องพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส โอเคเราเกิดความสงสัยกันว่าพลังงานในประเทศไทยว่าพอต่อการใช้หรือไม่ เพราะฉะนั้นด้านหนึ่งถ้าท่านจะฟ้องก็อย่างที่ท่านอ.วรินทร์ว่าเลย แต่สิ่งหนึ่งที่ประชาชนต้องพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสก็คือ ต้องเรียกร้องให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลเรื่องพลังงานให้ประชาชนได้เห็นข้อเท็จจริง เพราะเราเป็นเจ้าของประเทศไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาล เราต้องพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น