วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ประเพณีโบราณแห่นาคโหดแห่งเดียวในโลก เมื่อ 21 พ.ค.56



ประเพณีโบราณแห่นาคโหดแห่งเดียวในโลก
 
นอภ.ภูเขียว นายก อบต.หนองตูม ร่วมกับประชาชน ตำบลหนองตูม จ.ชัยภูมิ จัดงานสืบสานประเพณีโบราณงานบุญเดือนหก ทำพิธีอุปสมบท (บวช) หมู่ เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดประเพณีที่มีการปฏิบัติในการแห่นาคแบบสุดโหด 
เมื่อเวลา  14.00  น.วันที่  20  พ.ค.   นายทวีพล  ปัญญาวัฒนานนท์  นอภ.ภูเขียว จ.ชัยภูมินายไสว  จรรย์โกมล  นายก อบต.หนองตูม
ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ตำบลหนองตูม อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ จัดงานสืบสานประเพณีโบราณงานบุญเดือนหก ทำพิธีอุปสมบท (บวช) หมู่ ให้กับคนหนุ่มที่มีอายุครบ 20 ปี บริบูรณ์ของหมู่บ้านโนนเสลา-โนนทัน จำนวน 15 รูป เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดประเพณีที่มีการปฏิบัติในการแห่นาคแบบสุดโหด ไปรอบหมู่บ้านโนนเสลา ระยะทางยาวกว่า 3กิโลเมตร ก่อนที่จะเข้าร่วมพิธีบวชที่วัดตาแหก บ้านโนนเสลา หมู่ 11 ต.หนองตูม  อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ซึ่งถือเป็นหมู่บ้านเดียวที่ใหญ่ที่สุดของอ.ภูเขียว มีประชาชนกรหนาแน่นกว่า 1,250 หลังคาเรือน โดยมีนายเจริญ  จรรย์โกมล  รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธี  นายพรศักดิ์  เจียรณัย  ผวจ.ชัยภูมิ กล่าวรายงาน  มีประชาชนเข้าร่วมชมพิธีดังกล่าวกว่า  5,000  คน
            
โดยประเพณีแห่นาคโหด ที่บ้านโนนเสลาถือเป็นประเพณีโบราณและปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาหลายร้อยปีหลายชั่วคนที่มีแห่งเดียวในโลก 
เพื่อที่ชาวบ้านจะได้มาร่วมกันจัดงานอุปสมบทหมู่ให้กับคนหนุ่มบุตรหลานในหมู่บ้านที่มีอายุครบ 20 ปี เพื่อให้ลูกหลานได้บวชแทนคุณบิดามารดา ด้วยความตั้งใจของจะบวชเอง ซึ่งจะมีการเตรียมตัวมาตั้งแต่เดือนสี่ ผู้เป็นบิดาจะพาบุตรชายไปฝากไว้กับเจ้าอาวาส ใน 2 วัดของหมู่บ้านโนนเสลา คือวัดบุญถนอมพัฒนาราม(วัดนอก) และวัดตาแขก(วัดใน) เพื่อถือขัน 5 ประกอบด้วยเทียน 5 คู่ ดอกไม้ 5 คู่ ไปฝากตัวเป็นนาคปฏิบัติธรรมถือศีล 8 อยู่ที่วัด เรียนรู้บทสวดที่จะบวช และเรียนรู้พระธรรมวินัยเบื้องต้น ก่อนถึงกำหนดวันบวชของประเพณีงานบุญเดือนหก
             
ซึ่งถือว่าวันแห่นาคโหด จะเป็นวันสำคัญในการที่ประชาชนทุกคนในหมู่บ้านจะต้องออกมามีส่วนร่วมแห่นาคเข้าวัด 
ที่เป็นตำนานของประเพณีแห่นาคแบบแปลกประหลาดและโหดที่สุด ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน โดยจะใช้คนหนุ่มที่ยังไม่ได้บวชของแต่ละหมู่บ้าน มาช่วยกันหามแข้ไม้ไผ่ แห่นาคไปรอบหมู่บ้าน และเขย่า โยนนาค อย่างรุนแรง เพื่อความสนุกสนาน และถือเป็นการทดสอบความตั้งใจว่าผู้บวชจะมีความมุ่งมั่นอดทนจริงจังที่จะบวชแทนคุณบิดามารดาหรือไม่ ที่จะต้องประคองตัวเองคือผู้ที่จะบวชไม่ให้ตกลงมาจากแข้ไม้ไผ่หามให้ได้ เพราะถ้าใครตกลงมาถูกพื้นดินจะถือว่าขาดคุณสมบัติไม่ให้บวช  ในตลอดระยะเส้นทางแห่รอบหมู่บ้านก่อนเข้าวัดทำพิธีบวช ระยะทางกว่า 3 กิโลเมตรให้ได้ ซึ่งตั้งแต่ที่มีการปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2514 มาจนวันนี้ ถือว่ายังไม่มีผู้ใดที่ตกลงมาถูกดินและสามารถเข้าพิธีบวชได้ทุกราย ถึงแม้จะมีการได้รับบาดเจ็บถึงขั้นศรีษะแตกและแขนหลุดบ้างก็มี
             
ด้านนายทวีพล  ปัญญาวัฒนานนท์  นอภ.ภูเขียว เปิดเผยว่า การส่งเสริมอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามแห่นาคโหด
โดยทางอำเภอ และ อบต.ตั้งงบประมาณไว้ส่งเสริมอย่างต่อเนื่องอย่างเต็มที่ทุกปี ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีเก่าแก่แต่โบราณของคนที่นี่ และถือว่าจะเป็นจุดส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดชัยภูมิ ที่มีแห่งเดียวในโลกก็ว่าได้  ซึ่งเรามีหน้าที่บำรุงพระพุทธศาสนา และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ทั้งหมดช่วยกันเตรียมงานมาต่อเนื่องนับเดือนเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ลูกหลานคนในชุมชนได้ปฏิบัติตนในสิ่งที่ดีงามก่อนเข้าวัด และการแห่นาคโหดที่ชาวบ้านจะพากันเขย่าหามนาคอย่างแรงนั้น เพื่อที่จะทำให้นาคนึกถึงความอดทน เข้มแข็ง ก่อนจะเข้าอุปสมบทเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาต่อไป..

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น