วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

พฤษภาต่างยุค ภาคประชาชน ก้าวพ้น การเมือง-ทุนสามานย์??วิเคราะห์การเมือง 19 May 2556




พฤษภาต่างยุค ภาคประชาชน ก้าวพ้น การเมือง-ทุนสามานย์??


พฤษภาคม เดือนแห่งความเจ็บปวดในแง่ความทรงจำทางประวัติศาสตร์การเมือง ในรอบ 2 ทศวรรษ เกิดความสูญเสียอย่างที่ไม่ควรเกิดขึ้น พฤษภา 2535 กับพฤษภา 2553 วงรอบประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์แรกสู่อีกเหตุการณ์ 18 ปี ประวัติศาสตร์ตามมาหลอกหลอนซ้ำซ้อน เหตุการณ์เลือดเช่นนี้จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาปีใดปีหนึ่งอีกหรือไม่ ภาวนาอย่าให้เป็นเช่นนั้นเลย
    ประวัติศาสตร์เลือดฉบับเดิมยังไม่ทันถูกชำระประวัติศาสตร์เลือดหน้าใหม่แซงคิวเข้ามาให้บันทึก ทำให้คนแทบลืมเลือนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35 ผู้เคยร่วมชุมนุมหลายแสนคนในยุคนั้น ที่วันนี้ไม่รู้ว่าล้มหายตายจากไปมากแค่ไหน ในจำนวนนี้อีกร้อยอีกพันคนที่จุดยืนผันแปร ฉากหน้ายกความจำเป็นต่อสู้เพื่อประชาชน พิทักษ์ประชาธิปไตย แต่เป็นการต่อสู้ให้ประชาชนบางกลุ่มในระบบทุนนิยมสามานย์ไปพร้อมกับพิทักษ์ประชาธิปไตยเผด็จการ
    จุดเริ่มจาก 23 ก.พ.2534 ทหารบางกลุ่มปฏิบัติการไฮแจ็ก จี้จับตัว พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี เข้ามายึดครองอำนาจ พล.อ.สุจินดา คราประยูร, พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ให้คำมั่นจะไม่สืบทอดอำนาจ จากนั้น 1 ใน 2 ก็ตระบัดสัตย์ รวมกับ 5 พรรคการเมืองมารในสมัยนั้น สนับสนุนสุจินดาขึ้นเป็นนายกฯ กระแสความไม่พอใจเริ่มขยายวงกว้าง จากประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นการสืบทอดอำนาจ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ชัดเจน แนวทางการขอแก้รัฐธรรมนูญก็ถูกดึงเกม ยื้อเวลา สื่อมวลชนก็ถูกบีบไม่ให้เสนอข่าวตามความเป็นจริง กลายเป็นอีกกระแสผลักดันให้คนเริ่มออกมาชุมนุมเพิ่มมากขึ้น โดยมาจากหลายแนวร่วม ทั้งสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) พรรคการเมือง ภาคีองค์ภาคประชาชน รวมถึงประชาชนอีกจำนวนมาก
    เหตุการณ์เลวร้าย 17-20 พ.ค.2535 เกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ล้มตาย สูญหาย เป็นจำนวนมาก และด้วยพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้เหตุการณ์คลี่คลายกลับคืนเป็นปกติ  
    เหตุการณ์ 19 พ.ค.2553 บริบทตั้งแต่ก่อนเกิดถึงวันเกิด ไม่ใช่การต่อสู้ระหว่างประชาชนผู้บริสุทธิ์ในจุดยืนกับฝ่ายเผด็จการ แต่แฝงด้วยจุดประสงค์แอบแฝงทางการเมือง เมื่อนักการเมืองหมดอำนาจอยากกลับมาเป็นใหญ่ ใช้แกนนำขับเคลื่อนชักชวน ป่าวประกาศให้ประชาชนมาเป็นโล่กำบัง หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ตัวเองต้องการ โดยก่อนหน้าก็มีเหตุปัจจัยอะไรหลายอย่างที่ทำให้เป็นแรงกระตุ้นให้คนมีอำนาจสั่งการ เร่งปฏิกิริยาอยากให้แตกหัก ทว่าเหตุการณ์เปลี่ยน เวลาเปลี่ยน สิ่งที่คาดกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นคนละม้วน เลยทำให้ผลลงเอยเป็นอีกแบบ
    แต่ไม่ว่าอย่างไรทั้ง 2 เหตุการณ์ก็เกิดความสูญเสียทั้งที่ไม่ควรจะเกิด บทสรุปแห่งความรุนแรง ความสูญเสีย บางครั้งก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไปในทางที่ดีขึ้นเลย
    ประชาธิปไตยถูกยกมาเป็นฉากหน้าสำคัญในข้อเรียกร้อง แต่เบื้องหลัง เป้าประสงค์ เจตนาแฝงของทั้ง 2 เรื่องแตกต่างกันในจุดยืนในจุดมุ่งหมาย ‘สุริยะใส กตะศิลา’ ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน อดีตนักเคลื่อนไหวเคยเข้าร่วมชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภา 35 และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แสดงความเห็น “ความต่างระหว่างเหตุการณ์พฤษภา 35 กับพฤษภา 53 วันนี้ (17 พ.ค.) ถือเป็นวันครบรอบ 21 ปี เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี พ.ศ.2535 หรือที่เรียกกันว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ต่อมาคณะกรรมการจัดงานรำลึกรณรงค์ให้ใช้คำว่า เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ผมขอสดุดีวีรกรรมวีรชนผู้ที่สูญเสียในเหตุการณ์ทุกท่าน ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปในเหตุการณ์ครั้งนั้น ถัดไปอีกไม่กี่วัน คือวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ ก็จะครบรอบ 3 ปี เหตุการณ์ความรุนแรงและจลาจลทางการเมืองที่สี่แยกราชประสงค์ หรือที่เรียกกันว่า เหตุการณ์พฤษภา 53 ซึ่งคนเสื้อแดงก็กำลังจะจัดงานรำลึกเช่นกัน
    ทั้ง 2 เหตุการณ์ ชูธงต่อสู้ด้วยวาทกรรม ประชาธิปไตยเช่นกัน แต่ความขลังของทั้ง 2 เหตุการณ์ ดูจะต่างกันอย่างสิ้นเชิง งานรำลึกเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม มีคนทุกกลุ่มทุกสีเข้าร่วม แต่งานรำลึกที่ราชประสงค์ เป็นกิจกรรมที่จัดกันเอง รำลึกกันเองในหมู่คนเสื้อแดง เหตุเพราะว่าวาทกรรมประชาธิปไตยในเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม หมายถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ที่อยากเห็นการปฏิรูปสังคมการเมือง ไม่ได้ต่อสู้เพื่อ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกฯ ที่ถูกคณะทหาร รสช.ยึดอำนาจไป
    แต่เหตุการณ์พฤษภา 53 วาทกรรมประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงกลับถูกย่อส่วนและบดบังด้วย ผลประโยชน์และชะตากรรมของคนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร แม้จะยกสารพัดเหตุผลมาอ้าง ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรมไพร่หรืออำมาตย์
    แต่ก็เป็นเพียงสีสันทางวาทกรรม เพราะแกนนำหลายคนกลายเป็นอำมาตย์ใหม่ ลืมความเป็นไพร่ ไปโดยสิ้นเชิง ถ้าจะหาจุดเหมือนกันของทั้ง 2 เหตุการณ์ที่พอจะหาได้ก็คือ ความรุนแรงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาหรือคำตอบสุดท้ายของความขัดแย้งแต่อย่างใด...”
    บทสรุปแห่งความรุนแรง แม้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบนข้อเรียกร้องประชาชน หลังพฤษภา 35 ทำให้มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 เกิดทีวีเสรี หลังพฤษภา 2553 เกิดการเลือกตั้ง เปลี่ยนขั้วใหม่ทางการเมือง แต่ประชาชน คนตายที่ออกมาเรียกร้อง เหมือนเป็นเบี้ย ที่จนถึงทุกวันนี้ ประวัติศาสตร์เลือดยังไม่ถูกชำระอยู่ดี
    ประชาชนเรียกร้อง แต่นักการเมืองแปรเปลี่ยนเจตนา หลังได้รัฐธรรมนูญ 2540 เกิดพรรคเสียงข้างมากครองอำนาจ อาศัยช่องทางรัฐธรรมนูญรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ขยายวงไปถึงองค์กรอิสระ ซ้ำเรื่องราวคอรัปชั่นก็ไม่ได้ย่อหย่อนไปกว่ายุคก่อนๆ เช่นเดียวกับทีวีเสรีก็ถูกแปรเปลี่ยนเจตนา
    เพราะนักการเมืองและทุนสามานย์ไม่เคยตระหนักถึงความสูญเสียอยู่แล้ว รู้เพียงอย่างเดียวจะหาทางกอบโกยได้อย่างไร  
    ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ด้วยอารมณ์ต่อผู้ที่จะมาชุมนุมประท้วง การจัดการประชุมผู้นำด้านน้ำเอเชีย-แปซิฟิก วันที่ 14-20 พ.ค. "หากมีการชุมนุมประท้วงก็จะสั่งให้ตำรวจจับกุมผู้ประท้วงทั้งหมดไปดำเนินคดี ดังนั้น ขอเตือนอย่ามาชุมนุมประท้วงเด็ดขาด เพราะสถานที่จัดการประชุมครั้งนี้ไม่ใช่สถานที่จัดการประท้วง จะไม่จัดสถานที่ไว้ให้ มีแต่จัดคุกไว้ให้เท่านั้น และจะไม่มีการเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่จับอย่างเดียว และคนเชียงใหม่ก็ไม่ควรปล่อยให้คนพวกนี้ที่เหมือนขยะ มาเกะกะด้วย"
    ขณะที่ ทักษิณ ชินวัตร นายใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทย ช่วงหนึ่งที่การเจรจาเบื้องลึกว่าด้วยการปรองดองเป็นไปได้ด้วยดี ก็เคยหลุดวาทกรรม ถีบส่งเสื้อแดง ว่าด้วย ลงเรือ ขับรถขึ้นเขา หลังจากเสื้อแดงพาตัวเองมาถึงฝั่งฝันเรียบร้อยแล้ว
    ไม่นานมานี้ เฉลิม อยู่บำรุง ก็เพิ่งคลอด พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ 6 มาตรา มุ่งเน้นล้างผิดให้ทุกองค์กร ทุกฝ่าย แบบเหมายกเข่ง โดยทอดทิ้งครอบครัวคนเสียชีวิต ทำให้เสื้อแดงอีกปีกต้องออกมากระตุกขาว่า อย่าลืมคนที่เคยออกมาต่อสู้แล้วบาดเจ็บล้มตาย
    ไม่ว่าอย่างไร หากมองในบริบทประชาชน องค์กรภาคประชาชน ระยะหลังได้เกิดความตื่นตัวทางการเมืองมามากแล้ว จนเข้มแข็ง เติบโต กล้าแข็งกว่าเมื่อก่อน ไม่ต้องรอพวกแกนนำ ผู้นำคอยมาชักจูงสั่งการ ถือเป็นก้าวย่างประชาธิปไตยที่สำคัญ แต่ก็ยังมีความกังวลตามมา ท่ามกลางการเติบโตมาพร้อมกับการใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขตจนทำให้ประชาชนอีกส่วนต้องเดือดร้อนไปด้วย
    ท่ามกลางก้าวย่าง ภาคประชาชนเติบโตไปไกลด้านแนวคิดจนยากที่จะถูกควบคุมสั่งการ แต่บทเรียนในอดีตก็มักลงเอยด้วยที่ฝ่ายประชาชนไม่ได้อะไร หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 35 ได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 ได้ทีวีเสรี แต่สุดท้ายกลายเป็นนักการเมืองร่วมกับทุนสามานย์ฉวย บิดเบือนเจตนารมณ์ประชาชนเข้ามาครอบงำ
    เช่นเดียวกับพวกเสื้อแดง หลังการเรียกร้องพฤษภา 53 มีการเลือกตั้งได้รัฐบาลอย่างที่ใจปรารถนา แต่ทว่าสัญญาประชาคม โดยเฉพาะนโยบายเยียวยา การสืบค้นความจริงจากเหตุการณ์ ยังถูกรัฐบาลด้วยกันเองตัดตอน และก็นักการเมืองด้วยกันเองฉกฉวยบทเรียนความเจ็บปวดไปเพื่อเป้าประสงค์ทางการเมือง
    เมื่อหลักการแลกมาด้วยความสูญเสีย แต่สุดท้ายก็ถูกนักการเมือง ทุนสามานย์ชุบมือเปิบ ไม่ว่าความสูญเสียใด ไม่ควรที่ครบวงรอบแล้วจัดงานรำลึก โดยที่เหลือทิ้งไว้เพียงอนุสรณ์แห่งความหลัง แต่ความเป็นจริงบนข้อเรียกร้องของประชาชน ยังกลายเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้เหมือนเดิม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น