วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ศาลอนุมัติหมายจับ 'โรส' หมิ่นเบื้องสูง เมื่อ 17 มิ.ย.57



ศาลอนุมัติหมายจับ 'โรส' หมิ่นเบื้องสูง
 

ศาลอนุมัติหมายจับ 'โรส' หมิ่นเบื้องสูง ตร.ตั้งชุดติดตามผู้ต้องหา ม.112 สั่งเร่งรัดสืบสวนดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด คาดโทษทุกระดับชั้นหากปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง


 16 มิ.ย. 57  เมื่อเวลา 14.30 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)  พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผบ.ตร. รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง

เป็นประธานการประชุมเร่งรัดติดตามความคืบหน้ากรณีบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ที่กระทำความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยมี พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.ศ.ช่วยราชการ บช.น. พล.ต.ต.ศิริพงษ์ ติมุลา ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) ตัวแทนกองปราบปราม กองต่างประเทศ กองบัญชาการตำรวจสันติบาล และกองบัญชาการตำรวจนครบาล เข้าร่วมประชุม
พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า วันนี้ได้เรียกผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมาลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาประชุมหารือ

เพื่อวางแนวทางการปฏิบัติ เพื่อให้สอดคล้องกันทุกหน่วย โดยเฉพาะ บช.ที่ต้องรับผิดชอบ หรือมีการรับแจ้งความให้ดำเนินการกับผู้กระทำผิดในคดีหมิ่นฯ ซึ่งตนได้กำหนดแนวทางที่ชัดเจน โดยให้ทุกหน่วยติดตามคดีหมิ่นฯ ที่เป็นคดีค้างเก่า ว่าได้ดำเนินไปถึงขั้นตอนใด ติดขัดตรงจุดไหน อย่างไร ส่วนคดีที่เกิดขึ้นแต่ยังไม่มีการดำเนินการ หรือยังไม่มีผู้แจ้งความ หรือเป็นคดีที่เข้าข่ายเป็นคดีหมิ่นฯ แต่ยังไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ ก็ให้ดำเนินตรวจสอบจากหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นเอกสาร ภาพถ่ายจากหนังสือพิมพ์ ทีวี หรือวิดีโอต่างๆ ที่ปรากฏ ให้ตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดหรือไม่ หากเข้าข่ายก็ให้ดำเนินการร้องทุกข์ตามระเบียบ ส่วนคดีที่ยังไม่เกิด ก็ให้เฝ้าติดตามว่ามีการกระทำใดๆ ที่เข้าข่ายความผิดคดีหมิ่นฯ หรือไม่ โดยกำชับให้ดำเนินอย่างรอบคอบ และผู้ปฏิบัติต้องเอาใจใส่ติดตาม
พล.ต.อ.สมยศ กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกันตนได้สั่งการให้ กองการต่างประเทศ 
ตั้งเรื่องผ่านตนเองเพื่อขออนุมัติจาก พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รรท.ผบ.ตร. ในการตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามผู้ต้องหาที่ทำความผิดเกี่ยวกับคดีหมิ่นฯ โดยแบ่ง 2 กรณี ได้แก่ ผู้ที่กระทำผิดในประเทศ และหลบหนีไปต่างประเทศ ขณะที่อีกกรณี คือ ผู้ที่กระทำผิดในต่างประเทศ และหลบหนีอยู่ในต่างประเทศ ทั้งที่เป็นคนไทย และเป็นคนไทยแต่ไปที่ถือสัญชาติอื่น ในส่วนนี้ยังแยกเป็น 2 กรณี คือ ผู้กระทำผิดอยู่นอกประเทศ แต่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย และมีหมายจับ อีกกรณี คือ ผู้ที่กระทำผิดอยู่นอกประเทศ ถือสัญชาติไทย และกระทำผิดในต่างประเทศ
จากการติดตามเร่งรัดคดีหมิ่นฯ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา 
ตำรวจสามารถขออนุมัติศาลออกหมายจับ น.ส.ฉัตรวดี หรือ โรส อายุ 34 ปี ที่มีการเผยแพร่คลิปที่เข้าข่ายความผิดคดีหมิ่นฯ คณะทำงานที่ตั้งขึ้นจะดำเนินการติดตามตัวบุคคลเหล่านี้ที่กระทำผิดมาดำเนินคดี โดยจะใช้ช่องทางตั้งแต่กองการต่างประเทศ ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด และกระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นทางกระทรวงการต่างประเทศของไทยก็จะประสานไปยังกระทรวงต่างประเทศที่บุคคลเหล่านี้พำนัก
"คดีนี้เป็นคดีที่คนไทยให้ความสำคัญ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ให้ความสำคัญกับคดีหมิ่นฯ เป็นอันดับต้นๆ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้สนองนโยบาย คสช. ผมขับเคลื่อนในฐานะที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา อาจจะไม่มีความเคลื่อนไหวด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ แต่วันนี้ผมบอกกับผู้ปฏิบัติทุกคนแล้วว่า ผมสตาร์ทเครื่องยนต์แล้ว และผมจะไม่ให้ดับด้วย นอกจากนี้ไม่อยากให้มองว่าการดำเนินการกับผู้กระทำผิดเหล่านี้เป็นการไปไล่ล่า แต่ให้มองว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ และต้องทำให้ครบ"
พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า นอกจากนี้กำชับให้ พล.ต.ต.เรวัช กลิ่นเกษร รรท.ผบช.ส.เรียกประชุมคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นฯ

หลังไม่ได้มีการประชุมกว่า 2 ปี แล้ว ซึ่งการจัดให้มีการประชุมพิจารณาคดีหมิ่นฯ ก็เพื่อความรอบคอบ ซึ่งตนได้กำชับ ว่าหากตำรวจสันติบาลจะร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือดำเนินคดีหมิ่นฯ กับใครต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ และต้องพิจารณาในรูปคณะกรรมการ เพื่อที่จะได้มีความหลากหลายทางความคิด รอบคอบและจะได้ไม่ถูกมองว่าไปกลั่นแกล้งใคร ทั้งนี้ ในวันที่ 20 มิ.ย. เวลา 10.00 น. จะเรียกคณะทำงานเข้าร่วมประชุมอีกครั้งเพื่อนำข้อมูลต่างๆ ในทางคดีมาติดตามความคืบหน้า รวมทั้งข้อมูลคดีค้างเก่ามาพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป
ด้าน พล.ต.ต.อำนวย กล่าวว่า การดำเนินการกับบุคคลที่ถูกออกหมายจับในคดีหมิ่นฯ แต่หลบหนีไปต่างประเทศ

ตำรวจจะดำเนินการในรูปแบบเดียวกับการดำเนินการกับนายราเกซ สักเสนา จำเลยในคดีบีบีซี ซึ่งยอมรับว่าขั้นตอนอาจจะต้องใช้เวลา แต่ก็ต้องทำ ซึ่งการดำเนินการตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นผู้ที่รับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และกระทรวงการต่างประเทศ แต่หากประเทศนั้นไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ก็จะใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยความร่วมมือทางอาญาหว่างประเทศ พ.ศ. 2535 ส่วนจะส่งตัวให้หรือไม่ หรือเป็นคดีการเมือง เป็นเรื่องที่ประเทศที่เราร้องขอไปจะเป็นผู้พิจารณา
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น