วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ช่วงเวลาชี้เป็นชี้ตาย ตัดสินอนาคต “บิ๊กตู่” โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 มิถุนายน 2557 06:22 น.

ช่วงเวลาชี้เป็นชี้ตาย ตัดสินอนาคต “บิ๊กตู่”

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์17 มิถุนายน 2557 06:22 น.

รายงานการเมือง
       
       อีกไม่กี่วันก็จะครบหนึ่งเดือน ที่ “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผบ.ทบ. โดดลงมาสวมบทหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจจาก “รัฐบาลปูแดง”
       
       บรรยากาศการต่อสู้ของสองขั้วการเมือง เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นเล็กน้อย เพราะด้วยเงื่อนล็อกจากคำสั่งของ คสช.ทำให้ต่างฝ่ายต่างถูกตีกรอบให้เคลื่อนไหวอยู่ในวงจำกัด โดยเฉพาะซีกของ “คนเสื้อแดง” ที่แปลงกายมาใส่เสื้อขาว-เสื้อหลากสี ก็เริ่มอ่อนกำลังลง เพราะมาตรการที่เข้มข้นของ คสช.ที่จับจริง-ขังจริง
       
       ขณะที่ “บิ๊กตู่” ก็ออกมาพูดหลายต่อหลายครั้งว่า ขวบเดือนแรกภายหลังการ “รัฐประหาร” จะคลี่คลายสถานการณ์บ้านเมืองให้เข้าสู่ภาวะปกติ และจะลดความขัดแย้งให้หมดไปโดยเร็ว เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม จะต้องตั้ง “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” (สนช.) ให้ได้ เพื่อนำฝ่ายนิติบัญญัติเข้ามาในระบบตามเดิม รวมไปถึงอาจมีภารกิจสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย หากจะไม่ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมา
       
       ทว่า อุปสรรคของ “บิ๊กตู่” คงหนีไม่พ้น “บุคลากร” ที่จะเข้าทำงานด้านนิติบัญญัติ ตลอดจนไปถึง “สภาปฏิรูป” ที่เป็นไฟต์บังคับ
       
       เพราะหันหลังแลหน้าไปมองทางไหนก็เจอแต่คนหน้าเดิม เอาแค่คนที่จะมารับหน้าเสื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รู้กันทั้งบางว่า ถึงเวลาจริงก็คงเลือกใช้กันอยู่แค่สองเจ้าเท่านั้นที่ผูกสัมปทานด้านนี้อยู่
       
       คนหนึ่ง “วิษณุ เครืองาม” เจ้าของสมญา “เนติบริกร” ที่เข้ามาตีตราจองในตำแหน่งที่ปรึกษา คสช.แล้วในวันนี้
       
       อีกราย “มีชัย ฤชุพันธุ์” ที่อาจจะดูตกยุค แต่ศักยภาพยังการันตีอยู่ เพราะผ่านการร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายต่อหลายฉบับ
       
       คาดว่าไม่คนใดคนหนึ่งต้องเข้ามาคุมเกมใน สนช.แน่
       
       ขณะที่เก้าอี้ใน สนช.-สภาปฏิรูป ที่จนวันนี้ยังไม่เคาะว่ามีกี่ที่นั่ง แต่รวมๆแล้วต้องมีหลักหลายร้อยอย่างแน่นอน ทำให้บรรดาคนที่คิดว่าตัวเองเข้าข่ายสวมบท “นักวิ่ง”กันแต่หัววัน อย่างความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มอาจารย์” ที่ต่อสู้เคียงข้างและคอยให้คำปรึกษา “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการ กปปส.มาโดยตลอด ก็ออกอาการน้อยอกน้อยใจว่า “บิ๊กตู่-คสช.” ยังไม่สะกิดเรียกมาใช้บริการเลย ทั้งที่ต่อสู้เคียงข้าง-เคียงบ่า-เคียงไหล่ กันมาตลอด โจมตี-ต่อต้าน “รัฐบาลปูแดง” ชนิดออกนอกหน้า ยอมเจ็บยอมโดนด่า แต่กลับยังไม่ได้อะไรตอบแทน
       
       หรืออย่างกลุ่ม ส.ว.ที่ตกงานเพราะโดนโละทิ้งจากคำสั่งของ คสช.ก็ขยับเคลื่อนไหวไม่แพ้กัน ความคาดหวังต่อเก้าอี้ สนช.-สภาปฏิรูปจึงค่อนข้างสูง และอาจจะชุลมุนไม่ต่างกับการแย่งที่นั่งดูหนังฟรีเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งยังมีการปล่อยข่าว-บลัฟข่าว ดิสเครดิต “นักวิชาการ” ที่ คสช.เลือกใช้อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน หนักวันเข้าก็ด่าทั้งที่ลับ-ที่แจ้ง หาว่า “พวกอีแอบ” มักได้ดี
       
       ฉะนั้น จึงต้องวัดใจ “บิ๊กตู่” ว่าจะเสี่ยงเลือกใครมาใช้บริการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบริหารประเทศ
       
       เพราะหากสุดท้ายกางชื่อออกมามีแต่คนหน้าช้ำ หรือพวกพ้องตัวเอง ก็เตรียมรับเสียงโห่ฮาได้เลย หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีเสียงเป่าปากไม่เห็นด้วยกับการตั้ง 10 ที่ปรึกษาเมื่อไม่นานมานี้ พอมี สนช.-สภาปฏิรูปแล้ว สิ่งที่จะตามมาในเดือนตุลาคม “บิ๊กตู่” ให้คำมั่นสัญญาอีกว่าจะต้องมี “รัฐบาลชุดใหม่” มี “คณะรัฐมนตรีชุดใหม่” เข้ามาบริหารประเทศ
       
       โจทย์ใหญ่คือ “บิ๊กตู่” จะเลือกใครมาอยู่ใน “ดรีมทีม” ในภาวะที่ต้องเร่งบูรณะฟื้นฟูประเทศ เพราะหากพูดถึงตำแหน่งรัฐมนตรี ก็มีทั้งพวกที่มีฝีมือ แต่ไม่อยากเข้ามานั่งในตำแหน่ง เพราะเกรงว่าจะเสียคนตอนแก่ และมีทั้งพวกไร้ฝีมือ แต่ “กระสัน” เสนอหน้าอยากเข้ามาเป็นจนตัวสั่นก็เยอะ
       
       รวมไปถึงควมมคาดหวังว่า “ครม.ชุดใหม่” จะไม่ซ้ำรอย “ครม.ขิงแก่” ที่ “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” เลือกสรรเข้ามา แต่ไม่สามารถบริหารประเทศให้เดินหน้าไปได้ แถมยังล้าหลังเข้าไปอีก
       
       ยังมีพวกเหลือบไรแอบทุจริตกินงบประมาณของรัฐเสียเอง
       
       ทว่า การคัดเลือก “ครม.ชุดใหม่” ของ “บิ๊กตู่” อาจจะมีจุดต่างจากสมัย คมช.ของ “บิ๊กบัง-พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” อยู่บ้างตรงที่ “พล.อ.สนธิ” แทบที่จะไม่มีอำนาจในการเลือก ครม.ด้วยตัวเองเลย เพราะบรรดา “อำมาตย์” หลากหน้าหลายตาเข้ามาเสนอชื่อคนที่ตัวเองคิดว่าเป็น “คนดี” เข้ามาชิงตำแหน่งกันมากมาย หน้าตาของ “ครม.ขิงแก่” จึงดูอ่อนแอที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา
       
       แต่ครั้งนี้ “บิ๊กตู่” ทุบโต๊ะขึงขังว่า จะจิ้มคัดสรรด้วยตัวเอง โดยไม่ให้มีผู้ใดเข้ามาครอบงำ เพราะถือว่าได้ตัดสินใจเด็ดเดี่บวในการยึดอำนาจด้วยตัวเอง พวกที่กระดิกเท้ารอจึงหมดสิทธิ์มาขอแบ่งเค้กทีหลัง
       
       อำนาจเต็มในการจัดตั้ง “ครม.ชุดใหม่” จึงอยู่ที่ “บิ๊กตู่” คนเดียว หากรักใคร-ชอบใคร-ผลงานใครดี มีหวังเข้าตา “บิ๊กตู่” ลุ้นนั่งใน ครม.ได้ทันที
       
       ส่วนตำแหน่ง “นายกฯ” ยังคลุมเครือ สปอตไลต์ส่องไปที่ตัว “บิ๊กตู่” ว่าจะนั่งบริหารประเทศต่อด้วยตัวเอง บางกระแสบอกว่า “บิ๊กตู่” จะหลีกทางให้ “คนนอก” เข้ามาบริหารประเทศแทน ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป แต่ไทม์มิ่งของประเทศไทยในเดือนตุลาคม นอกจากจะได้ “ฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ” แล้ว บรรดาแผงอำนาจใน “กองทัพ” ยังต้องเปลี่ยนมืออีกครา โดยเฉพาะตำแหน่งหัวแถว ทั้งเก้าอี้ปลัดกลาโหม-ผบ.สส.-ผบ.ทบ.ที่เจ้าของเดิมถึงเกณฑ์ต้องรีไทร์ตามกติกา
       
       อย่างเก้าอี้ ผบ.ทบ.ก็ต้องวัดใจว่า "บิ๊กตู่" ที่จะเกษียณอายุราชการ จะลุกให้รุ่นน้องมารับไม้ต่อหรือไม่ เพราะมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าอาจมีการต่ออายุราชการคุมกองทัพบกต่อไปอีกปี แต่หากเลือกที่จะลุกจากตำแหน่ง เต็งหนึ่งที่จะก้าวขึ้นมาเป็น “ผบ.ทบ.คนใหม่” ก็น่าจะเป็น “บิ๊กโด่ง-พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร” รอง ผบ.ทบ. ซึ่งเบียดมากับ “บิ๊กต๊อก-พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา” ผู้ช่วยเสนาธิการ ทบ. ซึ่งทั้งคู่ถือเป็นมือทำงานคนสำคัญของ “บิ๊กตู่”
       
       ทว่า การที่ “บิ๊กตู่” ใช้ “น้องรัก” หลายคนเข้ามาบริหารประเทศในยามนี้ การจัดสรรตำแหน่งให้ทุกคนพอใจยิ่งเป็นเรื่องยากลำบากใจยิ่งกว่าเดิม
       
       การเกลี่ยตำแหน่งให้ทุกคน “วิน-วิน” จึงสำคัญยิ่ง
       
       มาวันนี้มีกระแสข่าวหลุดลอดออกมาว่า “บิ๊กตู่” อาจจะนั่งควบทั้งตำแหน่งนายกฯและตำแหน่ง ผบ.ทบ. ทางหนึ่งเพื่อไม่ให้ “น้องรัก” ต้องหักหาญกันเอง อีกทางหนึ่งเพื่อรวบอำนาจในการบริหารประเทศไว้กับ “บิ๊กตู่” เพียงคนเดียวไปพลางก่อน
       
       เหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 เดือน ที่ตัดสินชี้เป็นชี้ตายอนาคตของ “บิ๊กตู่” ที่จะสานฝันพาประเทศไทยกลับมาดีกว่าเดิมได้หรือไม่ หรือจะกลับไปมีขั้วการเมืองสองขั้วเหมือนเดิม หรือจะกลับไปแย่กว่าเดิม
       
       คำตอบอยู่ที่ “บิ๊กตู่” คนเดียว ที่ต้องโชว์ฝีมือบริหารอำนาจให้ลงตัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น