|
|
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. สั่งการหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ให้พิจารณาปรับปรุงประสิทธิภาพของกรรมการรัฐวิสาหกิจ และบริษัทมหาชนที่รัฐบาลถือหุ้นอยู่ โดยให้ลดค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ
น.ส.ปถมาภรณ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ทีมโฆษก คสช. แถลงว่า เช้าวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นประธานประชุมติดตามงานประจำวัน มีหัวหน้าฝ่ายทั้ง 6 ฝ่าย และหน่วยขึ้นตรงทั้งหมด โดยหัวหน้า คสช. ได้สั่งการหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจให้พิจารณาปรับปรุงประสิทธิภาพของกรรมการรัฐวิสาหกิจ และบริษัทมหาชนที่รัฐบาลถือหุ้นอยู่ โดยหัวหน้า คสช. มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ไปประเมินสถานะ และวิเคราะห์ประสิทธิภาพของกรรมการรัฐวิสาหกิจที่ปัจจุบันมีอยู่ 56 บอร์ด โดยให้พิจารณาเรื่องผลตอบแทนและสิทธิประโยชน์ส่วนเกิน ค่าตอบแทนของกรรมการบอร์ด เบี้ยประชุม โบนัส ค่าใช้จ่ายอื่นๆ หรือสิทธิประโยชน์ส่วนเกินต่างๆ ที่กรรมการได้รับ รวมทั้งต้องมีข้อเสนอที่เหมาะสมตามหลักเกณฑ์การใช้เงิน อาทิ กรรมการในบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดด้วย
น.ส.ปถมาภรณ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาการทำงานที่ให้ไปปรับปรุง และไม่ได้พูดถึงตัวบุคคล แต่ให้ไปพิจารณาในเรื่องประสิทธิภาพการทำงานของบอร์ดเท่านั้น แต่ พล.อ.ประยุทธ์ มอบเป็นแนวทางปฏิบัติให้ทั้ง สคร. และฝ่ายเศรษฐกิจไปดำเนินการ
ด้าน ว่าที่ ร.ท.จตุรงคพล สดมณี ผอ.ท่าอากาศยานดอนเมือง ทอท. กล่าวว่า
การพิจารณาเงินโบนัสประจำปีเป็นของระดับนโยบายจะพิจารณาว่าจะให้เท่าไหร่ ซึ่งแล้วแต่ผลการประเมิน โดยท่าอากาศยานต่างๆ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายปฏิบัติงานเท่านั้น หากพิจารณาให้เท่าไหร่ก็ยินดีปฏิบัติตาม
ขณะที่ นายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพ แรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย (สร.กบท.) กล่าวว่า
การตัดสิทธิประโยชน์ของพนักงานจะต้องพิจารณาในรายละเอียด เพราะเป็นเรื่องสิทธิการจ้างตามกฎหมาย เช่น เรื่องตั๋วฟรีสำหรับพนักงานที่ทำงานครบตามเกณฑ์ หรือตั๋วเดินทางจ่าย 10% รวมทั้งเงินโบนัสประจำปี โดยที่ผ่านมาการบินไทยเคยได้รับโบนัสสูงสุด 4.2 เดือน แต่ส่วนใหญ่เฉลี่ยที่ 1-2 เดือน/ปี หากขาดทุนก็จ่ายโบนัสไม่ได้ แต่จะจ่ายเงินรางวัลให้กับพนักงานแทน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 60% ของเงินเดือนเท่านั้น ดังนั้นเรื่องนี้ต้องรอดูความชัดเจนจาก คสช.ก่อน
นายดำรง กล่าวต่อว่า กรณีที่ คสช. จะเข้ามาจัดระเบียบ เพราะบางรัฐวิสาหกิจมีจ่ายโบนัส 11 เดือน หรือ 7-8 เดือนนั้น เห็นว่าควรกำหนดกรอบเพดาน เช่น อัตราเฉลี่ยไม่ควรเกิน 4 เดือน เพราะเงินรายได้ทั้งหมดสามารถที่จะคืนเป็นผลตอบแทนให้กับประชาชน หรือเข้ารัฐบาลได้ อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ข้อมูลที่คลังเตรียมชี้แจงให้ คสช. จะชี้ให้เห็นว่าการจ่ายผลตอบแทนและโบนัสของรัฐวิสาหกิจมี 2 ส่วน
ในส่วนแรกรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ สามารถจ่ายผลตอบแทนและโบนัสได้ไม่มีเพดาน ประกอบด้วย บริษัทท่าอากาศยานไทย บริษัท การบินไทย บริษัท ปตท. และบริษัท อสมท ส่วนรัฐวิสาหกิจที่ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ การจ่ายผลตอบแทนจะมีขั้นบันไดเงินเดือนชัดเจน และการจ่ายโบนัสต้องเป็นตามการประเมินผลงาน หากได้คะแนนมากได้โบนัสมากและได้คะแนนน้อยก็ได้โบนัสน้อย ต้องแก้ไขการจ่ายโบนัส ให้รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ใช้เกณฑ์การจ่ายโบนัสเดียวกันกับรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
รายงานข่าว ระบุด้วยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างดำเนินการปลดคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจหลายแห่งออกจากตำแหน่ง
เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการหารือกับ คสช. ว่าจะใช้อำนาจของกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ เปลี่ยนแปลงกรรมการของรัฐวิสาหกิจ หรือจะใช้อำนาจของ คสช. ปลดกรรมการรัฐวิสาหกิจเพื่อให้การดำเนินการรวดเร็ว ทั้งนี้ คสช. ได้ส่งสัญญาณให้กรรมการรัฐวิสาหกิจให้ลาออกจากตำแหน่ง ผ่านมาหลายสัปดาห์กรรมการของรัฐวิสาหกิจไม่ยังไม่ยอมลาออก มีเพียงกรรมการบริษัทท่าอากาศยานไทย บริษัท ปตท. และธนาคารกรุงไทย ลาออกจากตำแหน่งเท่านั้น จึงต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาดต่อไป |
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น