วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557

กสทช.กระอักเลือด คสช.เบรก4โปรเจ็กต์ยักษ์จับตาสั่งริบรายได้เข้าคลังล้างบางบอร์ดรัฐวิสาหกิจ เมื่อ 18 มิ.ย.57

กสทช.กระอักเลือด คสช.เบรก4โปรเจ็กต์ยักษ์จับตาสั่งริบรายได้เข้าคลังล้างบางบอร์ดรัฐวิสาหกิจ เมื่อ 18 มิ.ย.57


“คสช.” ลุยล้างบางบอร์ดรัฐวิสาหกิจ “ประจิน” นำร่องไขก๊อกพ้นประธานบอร์ดเจ้าจำปีเป็นตัวอย่าง สคร.ร่อนหนังสือบี้ รสก.ส่งโครงการลงทุนเกิน 100 ล้านให้เช็กหวังร่วมบีบ “ประยุทธ์” เบรก 4 เมกะโปรเจ็กต์ของ กสทช. ขอส่องรายละเอียดเพื่อความโปร่งใส แย้มทบทวนข้อบังคับ-กฎหมายให้เกิดความไว้วางใจของประชาชนและผลประโยชน์ตกกับรัฐเต็มที่! สั่ง "บิ๊กจิน" ไล่เช็กผลประโยชน์หวยตกกับใคร หวังรู้ดำรู้แดงก่อนออกงวด 1 ก.ค.
นโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการจัดระเบียบรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง โดยเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (บอร์ด) นั้น ทำให้ในช่วงหลายวันที่ผ่านมามีประธานและกรรมการจากรัฐวิสาหกิจหลายแห่งได้ลาออกเพื่อเปิดทางให้ คสช.ปฏิรูปและปรับโครงสร้าง 
ล่าสุด มีรายงานข่าวแจ้งว่า พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช. และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ จะยื่นใบลาออกจากประธานบอร์ดบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ ก่อนการประชุมบอร์ดในวันที่ 20 มิ.ย. เพื่อลดข้อครหาต่างๆ ก่อนเข้าไปจัดระบบและเปลี่ยนแปลงกรรมการบอร์ดรัฐวิสาหกิจแห่งอื่นๆ
          แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมตั้งข้อสังเกตถึงการลาออกของ พล.อ.อ.ประจิน ว่าเป็นการส่งสัญญาณไปยังกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่ได้รับจัดสรรเก้าอี้ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็มีบอร์ดบางส่วนที่ยังไม่กล้าลาออก เพราะเกรงว่าเป็นการจงใจและแสดงตัวเป็นคนของรัฐบาลเก่าอย่างชัดเจน ขณะที่บางส่วนยังรอความชัดเจนว่านโยบายของ คสช.และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจต้องการให้ลาออกหรือไม่ ซึ่งกรรมการบอร์ดบางแห่งก็ต้องการเจรจากับ คสช. ว่าหากให้ทำงานต่อ ก็พร้อมเดินตามนโยบาย  หรือหากให้ลาออกก็ไม่ขัดข้อง ในขณะที่กรรมการบางคนอ้างว่ารอสัญญาณว่าจะให้อยู่หรือไป เพราะหากจู่ๆ ยื่นใบลาออกก็อาจถูกมองว่าแข็งข้อได้
         “กรรมการและผู้บริหารที่มีภาพลักษณ์มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั้น ได้มีการแสดงความประสงค์ผ่านตัวแทน คสช.ว่าพร้อมลาออก  แต่ขอให้มีการแต่งตั้งคนใหม่เพื่อให้เข้ามาทำงานได้ทันที ไม่ต้องการให้การดำเนินโครงการต่างๆ ต้องหยุดชะงักหรือมีผลกระทบ รวมทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะถูกตรวจสอบหรือเช็กบิลในภายหลัง” รายงานระบุ
     ด้านแหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. น.ต.ศิธา ทิวารี อดีต รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ลาออกจากประธานบอร์ด ทอท. พร้อมกรรมการอีก 3 คน คือ พล.ต.อ.กฤษณะ ผลอนันต์, พล.ต.ท.ภาณุ เกิดลาภผล และนายวัฒนา เตียงกูล ทำให้บอร์ดเหลือ 11 คน และเดิมมีกำหนดนัดประชุมแต่งตั้งบอร์ดวันที่ 19 มิ.ย.นี้ แต่ได้เลื่อนเป็นวันที่ 17 มิ.ย. โดยได้แต่งตั้ง พล.อ.อ.อารยะ งามประมวญ รองประธาน ขึ้นเป็นประธานแทน  
          แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ยังมีกระแสข่าว นายถิรชัย วุฒิธรรม อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย, นายธานินทร์ อังสุวรังษี และนายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. จะยื่นหนังสือลาออกในสัปดาห์นี้ เนื่องจากถูกมองว่ามีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยก่อนหน้านี้นายธานินทร์ได้ยื่นหนังสือลาออกจากกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) แล้ว
         ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลล่าสุด รัฐวิสาหกิจในกระทรวงคมนาคมที่ยังไม่มีบอร์ดลาออก ได้แก่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บ.ข.ส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มีนายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานทั้ง 2 แห่ง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มี พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศ (บวท.) มีนายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) เป็นประธาน  
เพ็งเล็งบอร์ดใกล้ชิดชินวัตร
สำหรับบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่ถูกจับตามอง เนื่องจากผู้บริหารและกรรมการใกล้ชิดรัฐบาลที่ผ่านมา การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ที่มี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. ช่วยราชการ ศปก.ตร.,การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่มีนายบุญสม เลิศหิรัญวงศ์ คนใกล้ชิดนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม เป็นประธานบอร์ด และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่มี น.ส.รัชนี ตรีพิพัฒน์ ประธานบอร์ด 
ส่วนผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่ถูกจับตามองคือ นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. ซึ่งเคยเป็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคเพื่อไทย, นายยงสิทธิ์  โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าฯ รฟม. ซึ่งเป็นอดีตรองกรรมการผู้อำนวยการด้านการตลาดและการขาย บริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) และนายเมฆินทร์ ที่เป็นอดีตรองกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานการตลาดและงานขาย สำหรับประเทศไทยและกลุ่มอินโดจีน และรองกรรมการผู้อำนวยการส่วนงานมีเดีย แพลตฟอร์ม บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)   
    ด้าน พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าวว่า โดยสปิริตแล้วเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ประธานบอร์ดจะต้องลาออก ซึ่งก็คิดเรื่องนี้อยู่แล้ว เนื่องจาก กทท.มีงานที่อยู่ในความรับผิดชอบจำนวนมากและอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่บอร์ด ดังนั้นในบอร์ดมีการหารือเบื้องต้นว่าไม่ต้องการให้งานสะดุดหรือได้รับผลกระทบ แต่หาก คสช. ต้องการให้ลาออกก็พร้อม แต่ต้องแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่เข้ามาบริหารงานได้ทันที เพื่อให้งานด้านการส่งออกและนำเข้าไม่ได้รับผลกระทบ หรือหากมีการแต่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ก็พร้อมลาออกทันที
    “หลังจากที่บอร์ด กทท.ได้พูดคุยในเบื้องต้นแล้ว ได้นำผลไปแจ้ง คสช.เป็นที่เรียบร้อย และยืนยันว่าทุกคนพร้อมลาออก แต่ขอให้ตั้งบอร์ดใหม่เข้ามาสานงานต่อได้ทันที“ พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าว
    นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ได้เคยเสนอแนวทางการปฏิรูปคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจให้ คสช.พิจารณาแล้ว โดยการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจเป็นเพียงการแก้ปัญหาคอร์รัปชันระยะสั้นเท่านั้น การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต้องวางกรอบกติกา และชี้ให้เห็นว่ารัฐวิสาหกิจเป็นทรัพย์สมบัติของประชาชน ไม่ใช่ของนักการเมือง จึงไม่ควรเปลี่ยนบอร์ดตามใจชอบ หรือเพื่อเป็นการตอบแทนทางการเมือง ที่สำคัญการคัดเลือกบอร์ดนั้นต้องเลือกจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในภาคธุรกิจของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง รวมถึงแนวทางการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องเอาจริงเอาจังในระยะยาวด้วย
ไล่เบี้ยงบลงทุนเกิน 100 ล้าน
         แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเผยว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. สำนักงานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ทำหนังสือ “ลับมาก” ถึงประธาน และกรรมการผู้จัดการรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง โดยระบุว่า คสช.มีคำสั่งให้กระทรวงการคลังตรวจสอบโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจทุกแห่งทุกโครงการที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ให้เกิดประสิทธิภาพและป้องกันการรั่วไหลของการใช้เงินลงทุน ดังนั้น สคร.จึงขอให้รัฐวิสาหกิจที่ได้รับหนังสือ ส่งข้อมูลรายละเอียดโครงการลงทุนมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างดำเนินการและยังไม่ผูกพันบุคคลภายนอกมาให้ สคร.พิจารณาเห็นชอบก่อนลงทุนหรือจัดซื้อจัดจ้างต่อไป
         แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สคร.ไม่ได้ส่งหนังสือดังกล่าวไปยังรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เช่น ธนาคารกรุงไทย, ปตท., การบินไทย ,ทอท. และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เนื่องจากมีมูลค่าลงทุนแต่ละโครงการสูง หากระงับไปจะกระทบกับราคาหุ้นของบริษัทอย่างรุนแรง และทำให้ตลาดหุ้นผันผวนอย่างมาก โดยจะใช้วิธีปรับเปลี่ยนให้คณะกรรมการชุดใหม่เข้าไปดูแลโครงการทั้งหมดแทน
         "มาตรการควบคุมการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เป็นการป้องกันไม่ให้คณะกรรมการเก่าทิ้งทวนอนุมัติโครงการจนเกิดความเสียหาย รวมทั้งยังเป็นมาตรการหนึ่งที่จะกดดันให้บอร์ดชุดเก่าลาออก" แหล่งข่าวกล่าว
         สำหรับโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 2557 มีจำนวน 3.46 แสนล้านบาท มีการเบิกจ่ายจริง ณ 14 พ.ค.2557 จำนวน 7.17 หมื่นล้านบาท หรือ 20% โดยรัฐวิสาหกิจที่มีงบลงทุนมากที่สุดได้แก่ ปตท. วงเงิน 8.69 หมื่นล้านบาท, ร.ฟ.ท. 5.04 หมื่นล้านบาท, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  (กฟผ.) 3.8 หมื่นล้านบาท, การบินไทย 2.71 หมื่นล้านบาท, รฟม. 2.51 หมื่นล้านบาท, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 1.86 หมื่นล้านบาท, ทอท. 1.76 หมื่นล้านบาท, การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 1.38 หมื่นล้านบาท และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) วงเงิน 1.05 หมื่นล้านบาท เป็นต้น
เบรก กสทช.หัวทิ่ม
    ขณะเดียวกัน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. คสช.ได้ส่งหนังสือคำสั่งมาที่สำนักงาน กสทช.ให้ชะลอการดำเนินงานใน 4 โครงการ คือ 1.โครงการจัดประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2.โครงการจัดประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ 3.โครงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (ยูโซ) และ 4.โครงการสนับสนุนช่วยเหลือการเปลี่ยนผ่านทีวีจากระบบอะนาล็อกเป็นดิจิตอลด้วยการแจกคูปองส่วนลดเพื่อสนับสนุนอุปกรณ์รับสัญญาณแก่ประชาชน
    สำหรับการที่ คสช.สั่งให้ชะลอ 4 โครงการนั้น เนื่องจาก กสทช.ได้เข้าชี้แจงมูลค่าของโครงการสำคัญที่รับผิดชอบ ซึ่งแต่ละโครงการมีวงเงินสูง โดยมูลค่าของการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่าวงเงิน 40,000 ล้านบาท และหากประเมินมูลค่าลงทุนหลังประมูลแล้วจะมีมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท ส่วนแผนยูโซ ซึ่งมีระยะ 4 ปี มีกรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท และโครงการทีวีดิจิตอล วงเงิน 25,000 ล้านบาท 
    นายฐากรกล่าวต่อว่า ในหนังสือคำสั่งของ คสช.ได้ระบุว่า การชะลอโครงการทั้ง 4 นั้น เป็นการชะลอไว้เพียงชั่วคราวก่อนเพื่อความโปร่งใส จนกว่าจะตรวจสอบรายละเอียดของโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งปรับปรุงโครงสร้างและจัดทำเป็นข้อบังคับ ข้อกฎหมาย ในการใช้จ่ายงบประมาณให้ชัดเจน ให้ได้รับความไว้วางใจและเกิดประโยชน์กับรัฐอย่างเต็มที่ คลายความวิตกกังวลสงสัยจากประชาชนให้ได้ จึงจะดำเนินการต่อไป พร้อมกันนี้ คสช.และคณะทำงานกฎหมายจะนำระเบียบในปัจจุบันของ กสทช.มาพิจารณาอย่างเร่งด่วน
    “จะนำหนังสือคำสั่งของ คสช.เข้าที่ประชุม กสทช. เพื่อเสนอให้ที่ประชุมรับทราบและปฏิบัติต่อไป พร้อมกับจะให้กรรมการของทั้ง 2 คณะทำงาน ทั้งกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ไปหาแนวทางรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการชะลอทั้ง 4 โครงการข้างต้น เพื่อนำไปเสนอเป็นเงื่อนไขให้ คสช. คาดว่าอาจต้องใช้เวลาในการหารือเรื่องแนวทางประมาณ 15 วัน” นายฐากรระบุ
    เลขาธิการ กสทช.กล่าวอีกว่า แนวทางที่ต้องหารือเพื่อรองรับการชะลอโครงการอย่างเร่งด่วนเรื่องแรกคือ การประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่ต้องเลื่อนออกไป โดย กทค.ต้องหามาตรการมารองรับช่วงเยียวยาคลื่นดังกล่าวหมดลง เพราะแผนเยียวยานั้นจะจบลงภายในวันที่ 15 ก.ย.นี้ หากไม่มีการรับมือจะทำให้เกิดซิมดับได้ เนื่องจากยังคงมีผู้ใช้บริการที่ค้างอยู่ในระบบอยู่ถึง 6 ล้านเลขหมาย เช่นเดียวกับกรณีของการแจกคูปองส่วนลดเพื่อสนับสนุนดิจิตอลทีวีนั้น กสท.ก็ต้องหาแนวทางเพื่อรองรับการชะลอที่เกิดขึ้นเช่นกัน
    นายฐากรกล่าวต่อว่า กรณีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เสนอให้ตรวจสอบองค์ประกอบในการสรรหา กสทช.ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 นั้น คสช.เห็นว่าไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ จึงให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับเรื่องไปพิจารณาและแก้ไขต่อไป เช่นเดียวกับเรื่องการได้มาของตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ที่ควรมาจากการสรรหาเช่นเดียวกับองค์กรอื่นก็ให้เป็นหน้าที่ของ สนช.เช่นกัน
“นที” โนคอมเมนต์
    ด้าน พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท. และรองประธาน กสทช. กล่าวถึงกรณีสำนักงาน กสทช.จะนำเงินรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ เข้ากระทรวงการคลังเพื่อเป็นเงินแผ่นดิน ว่า ไม่ขอแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ แต่มองว่าวัตถุประสงค์การนำเงินไปใช้ต่างกันคือ กสทช.ประมูลเพื่อการเปลี่ยนผ่านจากระบบอะนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอลทีวี โดยจะนำเงินรายได้หลังการประมูลนั้นกลับมาใช้สู่การประกอบกิจการในอุตสาหกรรม ซึ่งมีวัตถุประสงค์ต่างจากเงินแผ่นดิน
    กรณีดังกล่าวเกิดจาก คสช.ได้ เรียก กสทช.เข้าไปชี้แจงรายได้จากการประมูลทีวีดิจิตอลที่นำส่งเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) จำนวน 50,862 ล้านบาท แต่ สตง.ได้เสนอให้นำเงินรายได้ดังกล่าวส่งเข้ากระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งสำนักงาน กสทช.ก็ระบุว่ายินดี แต่มีเงื่อนไขว่าต้องการนำเงินบางส่วนมาใช้สนับสนุนคูปองส่วนลดเพื่อแลกซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณทีวีดิจิตอล ซึ่งมีวงเงิน 25,000 ล้านบาท โดยทาง คสช.ได้รับคำชี้แจงดังกล่าวไป และจะนำเรื่องไปประชุมหาข้อสรุปอีกครั้ง
    วันเดียวกัน พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบก ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะทำงานตามนโยบาย คสช.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้า คสช.เป็นประธาน พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา และขอให้เร่งตรวจสอบรายงานกลับมาให้เร็วที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและร้องเรียนมา
    “ต้องรื้อกันใหม่ทั้งระบบ ทั้งในเรื่องของโควตาและสิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์ให้ไปดูว่าตกอยู่ที่ใคร หากไม่ได้ตกอยู่กับส่วนรวม ก็ให้ยกเลิกไป แต่หากดี ให้นำผลประโยชน์ที่ได้มาเข้าระบบพัฒนาประเทศ ซึ่งการตรวจสอบนั้นหากเป็นไปได้ก็ควรรายงานกลับมายังหัวหน้า คสช.ได้ทันการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดหน้า วันที่ 1 ก.ค.นี้” พล.ท.อนันตพรกล่าว
    ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษก คสช. กล่าวย้ำเรื่องนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ให้ พล.อ.อ.ประจินไปรวบรวมข้อมูลองค์ประกอบของราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลว่าเป็นอย่างไร และให้รายงานกลับมาเพื่อพิจารณาราคาที่แท้จริงตามโครงสร้างราคาสลากกินแบ่งรัฐบาลต่อไป ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในที่ประชุมว่า อยากให้เรื่องของราคาเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น