วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ข้อเสนอตัดทิ้ง “ประชามติ-รธน.” หวังปิดช่องไม่ให้กลุ่มต้านขยับ โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 มิถุนายน 2557 06:57 น.

ข้อเสนอตัดทิ้ง “ประชามติ-รธน.” หวังปิดช่องไม่ให้กลุ่มต้านขยับ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์18 มิถุนายน 2557 06:57 น.

รายงานการเมือง
       
       ยุคนี้อะไรก็ไม่ขลังและเด็ดขาดเท่ากับฟังจากปาก “ผู้นำ” อย่าง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่รอกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 - สภานิติบัญญัติแห่งชาติ - รัฐบาลของ คสช. จะคลอดออกมาช่วงไหน เริ่มทำงานได้ช่วงไหน เก็งกันไปกันมา ทำเอาเริ่มจะมึนกันไปหมด เพราะท้ายสุดแล้ว คนจะตัดสินใจเด็ดขาดขั้นสุดท้ายว่าจะเอาอย่างไร แม้แต่ตัดสินใจว่าจะให้ คสช. พ้นสภาพไปเมื่อไหร่ ก็อยู่ที่ บิ๊กตู่ คนเดียวจริงๆ
       
       ช่วงหลัง พลเอก ประยุทธ์ เริ่มโฟกัสเงื่อนเวลาชัดมากขึ้นถึงโรดแมป คสช. 3 ระยะ ก็เริ่มพอทำให้เห็นหน้าเห็นหลังอนาคตประเทศไทยในกำมือ คสช. ได้บ้างแล้ว ผ่านการถอดความครั้งสำคัญที่ พลเอก ประยุทธ์ ย้ำไว้ 2 รอบ เมื่อวันศุกร์ที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา
       
       ครั้งแรกคือกล่าวระหว่างมอบนโยบายให้หัวหน้าส่วนราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม และมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 ที่สโมสรทหารบก และรอบที่สองวันเดียวกัน แต่เป็นการพูดผ่านรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ที่จะมาทุกวันศุกร์นับจากนี้
       
       สรุปและถอดความได้ว่า พลเอก ประยุทธ์ ขยายความเรื่องโรดแมป คสช. ที่แบ่งเป็น 3 ระยะ ว่า ระยะแรกคือ นับแต่ 22 พ.ค. ที่เป็นวันยึดอำนาจไปอีก 3 เดือน ที่ก็จะครบ 22 ส.ค. นี้ ว่า เรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 การตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การตั้งนายกรัฐมนตรี และ ครม. ทั้งหมดจะเสร็จไม่เกินช่วงปลายสิงหาคม หรือต้นกันยายน ก็จะอยู่ในช่วง 3 เดือนหลังยึดอำนาจพอดี แต่ต้องเผื่อเวลาเกินไว้ด้วย ส่วนหนึ่งสำหรับการนำรายชื่อต่างๆ เช่น ชื่อนายกฯ - ครม. - รายชื่อ สนช. ขึ้นทูลเกล้าฯด้วย โดยหากฟังจากที่ พลเอก ประยุทธ์ พูดก็คือ ต้องการสื่อสารว่า หลังมีการประกาศใช้ รธน. ฉบับชั่วคราวแล้ว จะให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติไปพลางๆ คือ รอบนี้จะให้มี สนช. ก่อนมีนายกฯ และ ครม.
       
       เพราะ พลเอก ประยุทธ์ บอกว่า หลังเดือนกันยายนไปแล้ว คือเดือนตุลาคมเป็นต้นไป คงมีรัฐบาลที่มาบริหารประเทศเต็มตัว
       
       จากที่ พลเอก ประยุทธ์ ขยายความโรดแมปดังกล่าว ก็สามารถตีความระหว่างบรรทัดได้ว่า คสช. น่าจะวางเดตไลน์ ให้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 คลอดออกมาในช่วงปลายเดือน มิ.ย. หรือกลางเดือน ก.ค. แล้ว พอ รธน. ฉบับชั่วคราวมีผลบังคับใช้แล้ว ก็จะมีขั้นตอนต่างๆ ตามมา เช่น การแต่งตั้ง สนช.- การนำชื่อประธาน สนช. ขึ้นทูลเกล้าฯ จากนั้นก็ให้กระบวนการนิติบัญญัติ คือ สนช. เดินหน้าประชุมร่างกฎหมายอะไรต่างๆ ไป โดยมีวาระสำคัญเรื่องแรกที่ คสช. จะส่งไปให้พิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน คือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ที่เคาะกันออกมาแล้วทั้งจาก คสช. และสำนักงบประมาณ ว่า เม็ดเงินในงบปี 58 คือ 2.575 ล้านล้านบาท และทางสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ส่งไทม์ไลน์ไปยัง คสช. ว่าควรจะต้องส่งร่าง พ.ร.บ.งบฯ 58 เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติฯเพื่อให้ลงมติเห็นชอบวาระแรกในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม คือ ไม่เกิน 6 สิงหาคม
       
       ดังนั้น ที่ พลเอก ประยุทธ์ บอกว่า น่าจะมีรัฐบาลได้ช่วงกันยายน หรือต้นเดือนตุลาคม จึงหมายความว่า จะมีการตั้ง สนช. ให้ทำหน้าที่สำคัญคือ พิจารณาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบฯ 58 ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมไปพลางก่อน หากเป็นไปตามนี้ ก็หมายถึงว่า ในชั้นการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบฯ เข้าสภานิติบัญญัติฯ คงให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายข้าราชการประจำแต่ละกระทรวง เช่น ปลัดกระทรวง เป็นผู้ต้องไปชี้แจงกรอบการจัดทำงบประมาณต่อสภานิติบัญญัติฯ แล้วพอ สนช. เห็นชอบวาระแรก ก็เข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาในชั้น กมธ. เพื่อให้พิจารณาให้แล้วเสร็จไม่เกินช่วงกลางเดือนกันยายนแล้ว จากนั้นก็ให้ส่งกลับมายังสภานิติบัญญัติฯ เพื่อให้ที่ประชุมเห็นชอบในวาระ 2 และ 3 ต่อไป
       
       พิจารณาดูแล้ว การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ 58 ของ สนช. ทั้ง 3 วาระจะเสร็จทันก่อน 1 ต.ค. 58 ที่เป็นวันแรกของปฏิทินงบประมาณแน่นอน สบายใจได้
       
       ส่วนการตั้งนายกฯและรัฐบาลที่บิ๊กตู่บอกว่าจะได้เห็นกันในช่วงปลายเดือน ก.ย. หรือ ต.ค. พูดแบบนี้ ก็ไม่ต้องตีความกันให้มาก มีโอกาสสูง พลเอก ประยุทธ์ ที่จะเกษียณ 30 ก.ย. นี้ นั่งนายกฯค่อนข้างสูงแล้ว หลัง บิ๊กตู่ พูดชัดขนาดนี้ 
       
       อันนี้คือการถอดกรอบโรดแมป คสช. ออกมาให้พอเห็นทิศทางกันคร่าวๆ ก่อน อย่างไรก็ตาม ดูแล้วทุกอย่างยังไม่มีอะไรตายตัว อาจมีการเปลี่ยนแปลงโรดแมปดังกล่าวได้ หาก พลเอก ประยุทธ์ เห็นว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแผนให้เข้ากับสถานการณ์ที่ก็จะมารายงานให้ทราบกันต่อไป
       
       อีกหนึ่งความคืบหน้าที่น่าสนใจก็คือ เรื่อง สภาปฏิรูปประเทศ ที่ค่อนข้างชัดในเบื้องต้นแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 จะไม่มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่จะให้เป็นสภาปฏิรูป ทำหน้าที่ส่วนนี้ โดยทำทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการวางกรอบปฏิรูปประเทศทั้งระบบ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า เบื้องต้นเคาะกันออกมาแล้วว่า สภาปฏิรูปจะมีสมาชิก 150 คน โดยมีที่มาคือ จะมาจากการเลือกตั้งกันเองจากตัวแทนสาขาอาชีพต่างๆ แต่จะคัดให้เหลือ 150 คน ยังไงยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัด
       
       ส่วนที่ชัดเบื้องต้นคือ จะให้มีคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ จำนวน 35 คน แยกเป็นมาจากสภาปฏิรูปประชุมและส่งชื่อคนไป 20 คน และมาจากการส่งชื่อไปของคณะรัฐมนตรี 5 คน จากสภานิติบัญญัติฯอีก 5 คน และจาก คสช. 5 คน โดยให้ทั้ง 35 คน ทำหน้าที่เป็น กมธ. ยกร่าง รธน. ฉบับใหม่ แล้วพอยกร่างเสร็จ ก็ให้ส่งไปให้สภาปฏิรูปลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ
       
       โดยมีกระแสข่าวว่า รธน. ฉบับชั่วคราวปี 57 จะไม่มีการกำหนดว่าเมื่อสภาปฏิรูปผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ต้องจัดให้ประชาชน ลงประชามติว่าจะรับร่างหรือไม่รับร่าง รธน. ฉบับใหม่ เหมือน รธน. ชั่วคราว ปี 49 หมายความว่า หากสภาปฏิรูปเห็นชอบร่าง รธน. ฉบับใหม่แล้วก็ให้นำร่างดังกล่าว ขึ้นทูลเกล้าฯ ทันที แต่หาก สภาปฏิรูปประเทศไม่เห็นชอบ ร่าง รธน.ฉบับใหม่ ที่ร่างกันมา ก็ให้ คสช. มีอำนาจหยิบ รธน. ฉบับใดฉบับหนึ่งที่เคยบังคับใช้มาก่อนหน้านี้มาประกาศใช้ต่อไป อันเป็นหลักการที่คล้ายกับ รธน. ปี 49 ของ คสช.
       
       ส่วนเหตุผลที่ทำไม คสช. ไม่ต้องการให้มีการทำประชามติ แม้คนใน คสช. ไม่บอก แต่ก็พอเดากันได้ไม่ยากว่า เพราะรู้ดีว่า หากเปิดโอกาสให้ทำเช่นนั้น ก็คือเปิดพื้นที่ให้พวกต้าน คสช. อย่างคนเสื้อแดง พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาก่อหวอดปลุกกระแส ต้าน รธน. ฉบับ คสช. โดยการรณรงค์ให้ลงมติไม่รับร่าง รธน. ของ คสช.
       
       จนทำให้การลงจากอำนาจของ คสช. ในช่วงปลายๆ อาจมีปัญหาได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น