วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ปฏิรูป ตำรวจ-อัยการ-ดีเอสไอ ต้องฟังคนนอกไม่ใช่คนใน !! โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 มิถุนายน 2557 06:57 น.

ปฏิรูป ตำรวจ-อัยการ-ดีเอสไอ ต้องฟังคนนอกไม่ใช่คนใน !!

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์18 มิถุนายน 2557 06:57 น.

ผ่าประเด็นร้อน 
       
       เวลานี้กำลังอยู่ในช่วงระหว่างรอโรดแมปขั้นที่สองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการปฏิรูปทุกภาคส่วน นอกเหนือจากเรื่องโครงสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การมีรัฐบาลใหม่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามทุจริตคิดมิชอบแล้ว วาระสำคัญที่เป็นความหวังของคนไทย ก็คือ การปฏิรูปหน่วยงานราชการสำคัญบางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้าน โดยเฉพาะหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมต้นทาง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นต้น
       
       เมื่อให้รอก็ต้องรอยังปากมากช่วงนี้ไม่ได้ เพราะอีกอึดใจเดียวก็พอเป็นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว อย่างไรก็ดี มันก็อดคันปากไม่ได้ เมื่อได้เห็นความเคลื่อนไหวบางอย่างจากบางหน่วยงานที่อยู่ในเป้าหมายหลักที่ชาวบ้านเรียกร้องให้มีการปฏิรูปอย่างขนานใหญ่เป็นอันแรก ก็คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)
       
       หลังการรัฐประหารยึดอำนาจใหม่ๆ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการปฏิรูปในวงการตำรวจออกมาให้เห็นก่อนใคร ซึ่งมองเผินๆ เหมือนกับการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนกันเลยทีเดียว แต่เดี๋ยวก่อนเมื่อตั้งสติได้ คนที่ออกมาพูดเรื่องนี้เป็นคนแรกกลับเป็นคนในวงการตำรวจ ซึ่งก็คือ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ เป็นผู้ออกมาเปิดเผยว่ากำลังดำเนินการปฏิรูปกันอย่างเข้มข้น ตามข่าวตอนนั้นถึงกับระบุว่าจะเปลี่ยนสถานะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยกระดับขึ้นเป็นระดับ “กระทรวง” กันเลยทีเดียว แม่เจ้าโว้ย !!
       
       ชาวบ้านพอได้ยินแบบนี้ถึงกับตบอกผาง ต้องอุทานว่า เฮ้ยนี่มันอะไรกันเนี่ย มันมั่วหรือเปล่า เพราะแทนที่จะลดขนาดให้เล็กลง กระจายอำนาจลงไปสู่ระดับภาค ให้ประชาชนมีส่วนตรวจสอบควบคุม ปลอดจากการครอบงำของนักการเมือง การวิ่งเต้นเข้าหานักการเมือง และเน้นความกระชับ กระฉับกระเฉง กลับกลายเป็นว่ากำลังจะเพิ่มอำนาจให้มากขึ้นกว่าเดิม อุ้ยอ้ายเทอะทะกว่าเดิม และยึดโยงกับการเมืองเต็มรูปแบบ ยังดีที่ถูกเบรกหัวทิ่มเสียก่อน จึงต้องออกมาพูดกลบเกลื่อนว่ายังไม่มีข้อสรุป ต้องรอฟังความเห็นจากทุกฝ่ายก่อน 
       
       อย่างไรก็ดี แม้ว่ายังไม่ได้ข้อสรุป ว่าจะเป็นแบบไหนจะยกระดับเป็นกระทรวงหรือไม่ก็ตาม แต่ประเด็นก็คือ หากมีการปฏิรูปตำรวจก็ต้องไม่ให้ตำรวจเป็นคนดำเนินการ หรือถ้าเกี่ยวข้องก็ต้องมีให้น้อยที่สุด อาจเพียงรับฟังความเห็นในฐานะผู้ปฏิบัติ แต่ไม่ใช่หน่วยงานหลัก เพราะถ้าจะแก้ปัญหาตำรวจ ลดอำนาจตำรวจ ให้ตำรวจถูกตรวจสอบ โดยตำรวจเป็นคนทำ ถ้าเป็นแบบนั้นก็ต้องรอชาติหน้า ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะต้องมีการหวงอำนาจ รักษาผลประโยชน์ของตัวเองเอาไว้ ไม่มีทางเป็นไปตามเจตนารมณ์และความต้องการของชาวบ้านอย่างเด็ดขาด เพราะถ้าคิดแบบดังกล่าวตั้งแต่ต้นมันก็ป่วนแน่ รวมไปถึงความเสียหายก็จะเกิดขึ้นกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาแน่นอน
       
       อีกหน่วยหนึ่งที่เป็นหน่วยงานในฝันที่ต้องปฏิรูปเร่งด่วนไม่แพ้กัน ก็คือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ล่าสุด อดีตอธิบดีคือ ธาริต เพ็งดิษฐ์ ได้สร้างผลงานเอาไว้สุด (แสบ) ประทับใจ สิ่งที่ชาวบ้านปรารถนาก็คือให้ปลอดจากการเมือง ให้ทำหน้าที่สอบสวนคดีพิเศษจริงๆ เหมือนกับเอฟบีไอของสหรัฐอเมริกา แต่นี่กลายเป็นว่าไปทำคดีมั่วไปหมด บางครั้งไปแย่งคดีกระจอกๆ ที่ระดับตำรวจในท้องที่เป็นคนทำอยู่แล้ว หรือมีเป้าหมายรับงานผู้มีอำนาจในรัฐบาลตั้งคดีพิเศษเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามอย่างที่เป็นอยู่ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือต้องมีการแก้ไขคณะกรรมการคดีพิเศษต้องปลอดจากฝ่ายการเมืองอย่างสิ้นเชิง
       
       นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานอัยการสูงสุดที่ระยะหลังถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าไม่ได้ทำหน้าที่เป็นทนายแผ่นดินเหมือนเช่นในอดีต แต่ทำงานรับใช้หรือสนองฝ่ายการเมือง พูดกันตรงๆ ก็คือ รับใช้ระบอบทักษิณ รับใช้ ทักษิณ ชินวัตร เพราะต่อมาอัยการสูงสุดเมื่อเกษียณอายุราชการไปแล้วก็มาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของเครือข่ายทักษิณ ตัวอย่างที่เห็นก็คือ ชัยเกษม นิติสิริ ที่เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หรือก่อนหน้านั้นก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นบอร์ดในรัฐวิสาหกิจสำคัญ จนทำให้วัตถุประสงค์ในการทำหน้าที่ผิดเพี้ยนไป ทำให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีทุจริต เมื่อมีส่วนได้เสียก็ไม่ดำเนินการสั่งฟ้อง บางครั้งถึงขนาดสั่งถอนฟ้องกันกลางศาลก็มีดังที่เกิดขึ้นในคดีของ “ธัมมชโย” แห่งวัดพระธรรมกาย บทบาทดังกล่าวทำให้อัยการไม่มีความเป็นอิสระ ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง หลายคดีทำให้บ้านเมืองเสียประโยชน์ ซึ่งวัตถุประสงค์หลักก็คือ ต้องให้อัยการมีอิสระแท้จริง ทำหน้าที่ทนายแผ่นดิน ป้องกันความเสียหายกับรัฐ
       
       ดังนั้น สามหน่วยงานหลักดังกล่าว คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่เป็นความต้องการในอันดับต้นๆ ที่ต้องมีการปฏิรูปกันอย่างขนานใหญ่ โดยให้มีความเป็นอิสระและเป็นกลางอย่างแท้จริง เพื่อดำรงความยุติธรรมและสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายให้เกิดความสงบสุข เป็นธรรม ซึ่งก็ต้องติดตามดูว่าจะเป็นไปได้แค่ไหน จะมีการบิดเบือนเจตนารมณ์หรือไม่ !!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น