วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ภาพเก่าเล่าเรื่อง'เขมรแตก 2014' เมื่อ 17 มิ.ย.57



ภาพเก่าเล่าเรื่อง'เขมรแตก 2014'

ภาพเก่าเล่าเรื่อง'เขมรแตก 2014' : มนุษย์สองหน้า โดยแคน สาริกา

                ภาพแรงงานชาวกัมพูชากว่า 2 แสนคน เดินทางกลับประเทศอย่างพร้อมเพรียงกัน ทั้งทางรถโดยสารปรับอากาศ รถตู้ รถบรรทุก รถกระบะ และรถไฟสายภาคตะวันออก (หัวลำโพง-อรัญประเทศ) เรียกว่า ถนนทุกสายมุ่งหน้าสู่ชายแดน ด่านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

                ในสื่อโซเชียลของชาวกัมพูชา ได้นำคลิปเพื่อนร่วมชาติยื้อแย่งกันขึ้นรถไฟ เพราะเป็นการเดินทางที่สะดวกและไม่ต้องผ่านด่านทหาร รถไฟสายบูรพา จึงกลายเป็น "รถไฟสายแรงงานเขมร" ไปในบัดดล และมีคนขายแรงเฝ้ารออยู่ทุกสถานี จากต้นทางกรุงเทพฯ, ลาดกระบัง, ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี

                ชาวแรงงานกัมพูชาจะตอบคำถามเป็นเสียงเดียวกันว่า สาเหตุที่ต้องกลับบ้าน เพราะเกรงกลัวว่าทหารจะจับกุม หรือถูกกวาดล้างโดยเฉพาะแรงงานเถื่อน

                แฟนเพจสม รังสี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของกัมพูชา ได้นำภาพ "เขมรอพยพ" ปี 2014 มาเปรียบเทียบกับภาพ "เขมรอพยพ" ปี 1975 โดยสม รังสี บอกว่า ไม่เคยมีการ "ย้ายถิ่น" ของประชากรจำนวนมากแบบนี้ปรากฏมาก่อน นับแต่ปีที่มีการอพยพครั้งใหญ่สมัยกองทัพเขมรแดงยึดกรุงพนมเปญ

                คนชายแดนอรัญฯ คงจดจำภาพ "เขมรอพยพ" เมื่อ 40 ปีที่แล้วได้ไม่มีวันลืม

                เวลานั้น มันเป็นสงครามกลางเมืองกัมพูชา ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (เขมรแดง) ที่มีพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ กับรัฐบาลสาธารณรัฐเขมร ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา

                หลังจากการสู้รบผ่านไป 5 ปี รัฐบาลฝ่ายสาธารณรัฐเขมรพ่ายแพ้เมื่อ 17 เมษายน 2518 และเขมรแดง ได้ประกาศตั้งประเทศ "กัมพูชาประชาธิปไตย"

                นั่นคือจุดเริ่มต้นของชาวกัมพูชาเรือนแสน ที่อพยพหลบหนีภัยคอมมิวนิสต์ "เขมรแดง" ข้ามพรมแดนเข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย

                ต่อเนื่องด้วยการอพยพหนีสภาวะอดอยาก และการถูกกองทัพเวียดนามกรีธาทัพยึดพนมเปญ จัดตั้งรัฐบาลปฏิวัติที่นำโดย เฮง สัมริน ปี 2522

                จากนั้นระหว่างปี 2527-2528 เกิดการอพยพเข้ามาอีกระลอกเมื่อทหารเวียดนามเข้าโจมตีตามแนวชายแดนไทย

                พ.ศ.โน้น ชายแดนไทยด้าน อ.อรัญประเทศ และ อ.ตาพระยา จึงเต็มไปด้วย "ค่ายผู้อพยพชั่วคราว" ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตไทย แถวบ้านโนนหมากมุ่น บ้านหนองจาน บ้านโนนสูง บ้านอ่างศิลา ฯลฯ

                ค่ายเหล่านี้ดูแลความปลอดภัยโดยทหารไทย ขณะที่การช่วยเหลือด้านอาหารเวชภัณฑ์ขึ้นกับหน่วยงานอย่าง UNBRO, UNHCR, ICRC ส่วนการบริหารจัดการภายในค่ายขึ้นกับแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติประชาชนเขมร หรือ "เขมรเสรี" นำโดยซอน ซาน

                จากข้อมูลของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และองค์กรบรรเทาทุกข์อื่น การหนีภัยสงครามของชาวกัมพูชาตั้งแต่ปี 2518-2527 มีค่ายผู้อพยพหลัก และค่ายย่อยไม่น้อยกว่า 60 แห่งตลอดแนวชายแดนที่อยู่ในดินแดนกัมพูชา และลึกเข้ามาในประเทศไทย

                ค่ายที่ถูกกล่าวถึงมากสุดคือ เขาอีด่าง ต.ตาพระยา อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นที่พักพิงชั่วคราวของชาวกัมพูชา กว่า 8 แสนคน ที่อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาในไทย และเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลสนาม ที่องค์การระหว่างประเทศรวมทั้งกาชาดสากล เข้ามาให้การรักษาพยาบาลชาวกัมพูชาที่เจ็บป่วยภายในค่าย

                อีกจุดหนึ่งคือ "ไซต์ 2" บ้านทัพไทย ต.ทัพเสด็จ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ซึ่งเรื่องราวของ "เขมรอพยพ" ถูกนำมาเล่าขานกันอีก เมื่อเกิดเหตุพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

                เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น และสงครามเขมร 4 ฝ่าย รัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ปรับเปลี่ยนนโยบาย "แปรสนามรบเป็นสนามการค้า" จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ "เขมรอพยพ" ในบริบทใหม่

                นับจากปีนั้นเป็นต้นมา แรงงานนับแสนๆ จากกัมพูชา ก็หลั่งไหลข้ามพรมแดนเข้ามาขายแรงงานในสยามประเทศ

                ไม่ทราบด้วยเหตุผลกลใด การเคลื่อนย้ายแรงงานกลับมาตุภูมิ ก็เกิดขึ้นใน พ.ศ.นี้ และภาพ "เขมรแตก" ก็ย้อนมาหลอกหลอนคนชายแดนอีกหน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น