ชาวบ้านช็อก!ปลากระชังน็อกน้ำตายนับแสนตัว |
|
ชาวบ้านช็อก!ปลากระชังน็อกน้ำตายนับแสนตัว วันที่ 16 มิ.ย. ผู้สื่อข่าว ข่าวสด จ.นครพนม รับแจ้งจากผู้เลี้ยงปลากระชังในลำน้ำสงคราม ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน ว่า มีปลากระชังที่เลี้ยงไว้กว่า 200 กระชัง น็อกน้ำตายจำนวนมาก ขอให้เดินทางมาตรวจสอบด้วย
หลังรับแจ้งรุดไปตรวจสอบริมตลิ่งแม่น้ำสงคราม หมู่ 2, หมู่ 11
พบชาวบ้านผู้เลี้ยงปลากำลังพายเรือ เร่งนำเข่งและกระสอบไปเก็บปลาที่ตายในกระชัง เพื่อแบกขึ้นฝั่งนำมาชำแหละทำปลาร้า บางส่วนก็เน่าทิ้งเสีย ส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งไปทั่วลำน้ำ เดือดร้อนและได้รับความเสียหายจำนวนมาก เร่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบโดยด่วน |
|
|
|
นางทองใบ บุตรบุรี วัย 53 ปี หนึ่งในเกษตรกร 20 กว่าราย กล่าวว่า เลี้ยงปลาในกระชัง 20 กระชัง มานานร่วม 20 ปี
มีปลาคัง ปลากรด ปลายางและปลานิลซีพี จำนวนกว่า 2 ตัน ตายยกกระชัง เสียหายเป็นเงินกว่า 300,000 บาท เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา โดยไม่ทราบสาเหตุ จึงนำมาชำแหละทำปลาร้าใส่โอ่งใส่ไหไว้ ทุกปีไม่เคยตายเยอะขนาดนี้คาดอาจมีคนปล่อยสารพิษหรือยาฆ่าหญ้าจากต้นน้ำลงน้ำสงคราม เร่งให้ประมงอำเภอ และประมงจังหวัดมาตรวจสอบด้วย เพราะเสียหายหนักแทบสิ้นเนื้อประดาตัว นายสุรพล บุญญะศรี อายุ 62 ปี กล่าวว่า เลี้ยงปลาพะเพียนแดงไว้ 1 กระชัง ตายทั้งหมดกว่า 200 กิโลกรัม
เป็นเงินกว่า 10,000 บาท หลังเลี้ยงมาได้ 2 ปี คาดว่าสาเหตุที่ตายน้ำสีคล้ำติดในอวนชาวประมงที่ปล่อยมาจากปลายน้ำทางด้าน บ.หาดกวน บ.วังโพธิ์ ก่อนที่น้ำจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงด้านแม่น้ำสองสี บ.ตาลปากน้ำ หมู่ 2 และหมู่ 11
ขณะที่นางทรัพย์สิน แซ่เอีย วัย 54 ปี ระบุว่า เลี้ยงปลา 12 กระชัง มีปลายาง 2 กระชัง และปลานิลซีพี 10 กระชัง
ลงทุนไป 300,000 บาท ตายทั้งหมดรวม 3 ตัน เมื่อ 2 ปีที่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ปลาตายเช่นปีนี้ แต่วันนี้เสียหายหนักที่สุด หลังกู้เงินจากญาติพี่น้องมาลงทุน ต้องเป็นหนี้อีกต่อไป ปลาที่ตายต้องนำไปทิ้งและทำปุ๋ยบางส่วน เพราะเน่าเสียและเข้าเก็บไม่ทัน ด้านนายศุกรี บุญกอง หน.กลุ่มพัฒนาและส่งเสริมการประมง สำนักงานประมง จ.นครพนม กล่าวว่า
เมื่อวานนี้มีปลากระชังต้นน้ำที่ บ.หาดกวน ตายเสียหาย 120 ตัน ล่าสุดวันนี้มีผู้เลี้ยงกระชังที่ บ.ตาลปากน้ำ ต.ไชยบุรี ซึ่งอยู่ปลายน้ำตายจำนวนมาก แต่อยู่ระหว่างการตรวจสอบหาสาเหตุ เบื้องต้นคาดว่าเกษตรกรได้รับความเสียหายกว่า 7 ล้านบาท
นายศุกรี ระบุถึงสาเหตุว่า คาดว่าระดับน้ำในน้ำสงครามและระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีระดับเท่ากันในช่วงฤดูฝน มวลน้ำไม่หมุนเวียนขณะที่สาหร่ายในน้ำยังขาดออกซิเจน เมื่อฝนตกลงมาติดต่อกันนานร่วมสัปดาห์ค่าออกซิเจนในน้ำต่ำ จึงเป็นสาเหตุการตาย อาจไม่เกี่ยวกับสารพิษที่ชาวบ้านและผู้เลี้ยงระบุ
“วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นผู้เลี้ยงต้องนำเครื่องเพิ่มออกซิเจนใส่ในทุกกระชัง หลังสำรวจพบแพลนตอนพืชมีสีเขียวในน้ำก่อนดูดเอาออกซิเจนแย่งอากาศเอาไปหมดในช่วงกลางคืนตั้งแต่ 18.00 น. ถ้าแดดไม่ส่องในช่วงกลางวันปลาก็ขาดอากาศโดยอัตโนมัติ อีกทั้งของเสียและกากอาหารขี้ปลาจำนวนมาก ไหลระบายไหลลงแม่น้ำโขงไม่ทัน จึงได้รับผลกระทบดังกล่าว”
หน.กลุ่มพัฒนาและส่งเสริมฯ กล่าวด้วยว่า การจ่ายเงินชดเชยจากภาครัฐไม่สามารถทำได้
เนื่องจากพื้นที่เลี้ยงต้องห่างจากวัดและที่สูบน้ำทำระบบประปา 200 เมตร จะต้องเป็นพื้นที่เลี้ยงที่ทางจังหวัดประกาศให้เลี้ยงเท่านั้น เงื่อนไขที่จะจ่ายเงินชดเชยได้ต้องทำประชาคมหมู่บ้านประกาศให้เป็นพื้นที่เลี้ยง และทางจังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติเท่านั้น จึงจะได้รับเงินชดเชย |
|
|
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น