20มิ.ย.'เสี่ยอู๊ด'ได้รับอิสรภาพแล้ว พ้นคุกคดีพระสมเด็จฯปี50
19มิ.ย.2556 นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงกรณีการปล่อยตัวนายสิทธิกร บุญฉิม หรือเสี่ยอู๊ด กรรมการผู้จัดการ บริษัทไดมอนด์ ฮิลล์ จำกัด นักโทษคดีฉ้อโกงประชาชนกรณีโฆษณาหลอกลวงให้ประชาชนเช่า “พระสมเด็จฯ” เมื่อ ปี 2550 ที่ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 5 ปี ซึ่งในวันที่ 20 มิ.ย.นี้จะครบกำหนด 5 ปีว่า ปกติถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ท้ายหมายขังจะมีแบบพิมพ์ว่าถ้าขังจำเลยมาครบอัตราโทษที่ศาลลงโทษแล้วก็ให้ปล่อยตัวไป ซึ่งทางราชทัณฑ์จะตรวจสอบให้ถูกต้องตรงกัน
ขณะที่นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่านายสิทธิกรจะถูกปล่อยตัวเช้าวัน 20 มิ.ย.จริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค.2556 กรมราชทัณฑ์ได้มีหนังสือถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เรื่องจำเลยถูกจำคุกครบกำหนดโทษปล่อยเฉพาะคดีว่า นายสิทธิกรจำเลยถูกจำคุกมาจะครบกำหนดโทษปล่อยตัวในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ จึงสอบถามมาว่าจะให้ปล่อยหรือขังจำเลยต่อไป ต่อมาเมื่อต้นเดือน มิ.ย. ศาลอาญา จึงมีคำสั่งแจ้งว่าเมื่อจำเลยครบกำหนดโทษแล้วก็ให้ปล่อยตัวไป
สำหรับนายสิทธิกร วัย 41 ปี จำเลยที่ 1 นั้น ถูกอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2551 ว่าร่วมกับบริษัทไดมอนด์ ฮิลล์ จำกัด จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ,ร่วมกันโฆษณาโดยใช้ข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าและใช้ข้อความอ้างอิงเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ โดยไม่ได้รับพระราชทานอนุญาต ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมส่วนรวม,ร่วมกันใช้เครื่องหมายราชการโดยไม่ได้รับอนุญาต และเลียนเครื่องหมายราชการให้ปรากฏวัตถุหรือสินค้าใด ๆ และถูกคุมขังมาตั้งแต่ปี 2551 ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2553 ให้จำคุกนายสิทธิกรหรือเสี่ยอู๊ด จำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 5 ปี และปรับบริษัท จำเลยที่ 2 รวม 12,000 บาท โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินกับผู้เสียหายทั้ง 921 คนที่เช่าพระสมเด็จฯ แต่ไม่ให้เกิน 4,055,916 บาทด้วย ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ซึ่งศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2556 ที่ผ่านมา ยืนตามศาลชั้นต้น ขณะที่คดีนี้พนักงานอัยการ ก็ได้ยื่นขอขยายฎีกา ซึ่งจะครบกำหนดฎีกาในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ หากพนักงานอัยการยื่นฎีกาแล้ว ศาลอาญาจะต้องส่งสำนวนทั้งหมดให้ศาลฎีกาพิจารณาเพื่อมีคำพิพากษา และเมื่อมีคำพิพากษาศาลฎีกาส่งมายังศาลอาญาแล้ว ศาลอาญาก็จะต้องออกหมายเรียกนายสิทธิกร มาฟังคำพิพากษาต่อไป แต่หากพนักงานอัยการจะไม่ยื่นฎีกาต่อ คดีจึงถือว่าถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น