ทีมกฎหมายประชาธิปัตย์ ชี้ช่องโหว่รธน.ชั่วคราว 57 หวั่นปล่อย “ยิ่งลักษณ์” พร้อมพวกหลุดคดีถอดถอน
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า นายราเมศ รัตนะเชวง คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า จากการติดตามคดีที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
เพื่อถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมถึง นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมกันเสนอและลงมติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.นั้น ปรากฎว่าบุคคลเหล่านี้อาจจะหลุดพ้นจากคดีถอดถอนที่มีโทษตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ยกเลิก และในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ไม่มีบทบัญญัติใดมารองรับเกี่ยวกับเรื่องการถอดถอนออกจากตำแหน่ง
ส่งผลให้ 4 คดีที่ผ่านการชี้มูลความผิดจากป.ป.ช.แล้วและอยู่ในระหว่างรอการพิจารณาถอดถอนของสมาชิกวุฒิสภาไม่สามารถดำเนินการต่อได้ และอีก 11 คดีที่อยู่ในชั้นการไต่สวนของ ป.ป.ช.อาจทำให้นักการเมืองที่ถูกดำเนินคดีจะหลุดพ้นจากการถูกถอดถอนโดยวุฒิสภาเดิม จึงอยากให้คสช.แก้ปัญหาในเรื่องนี้ อย่าปล่อยให้คนที่สร้างปัญหาให้กับบ้านเมืองลอยนวล เพราะคนอาจสงสัยว่าเข้าข่ายการนิรโทษกรรมหรือไม่
นายราเมศ ได้แบ่งประเภทคดีที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นร้องต่อป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญ 2550ว่า สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ป.ป.ช.ชี้มูลแล้วอยู่ในกระบวนการถอดถอนของวุฒิสภา ซึ่งจะมีโทษตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของป.ป.ช. ซึ่งจะมีทั้งเรื่องการถอดถอนและคดีอาญาควบคู่กันไป โดยคดีที่ป.ป.ช.ชี้มูลแล้ว อยู่ในกระบวนการถอดถอนของ วุฒิสภา มีดังนี้ 1.คดีนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2. คดีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กระทำการรัฐธรรมนูญในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3. คดีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กระทำการขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายในเรื่องการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว 4.คดีสมาชิกวุฒิสภา 36 คน จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมาย หรือ ฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.
คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของป.ป.ช. ประกอบด้วย
1.คดีทุจริตของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กนอ.) นายปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้ถูกร้อง
2.คดีถอดถอน นายปลอดประสพ สุรัสวดี ออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เนื่องจากกระทำการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 30ในเรื่องการเลือกปฏิบัติ
3.คดีทำผิดพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เกี่ยวกับการประกาศราคากลางโดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกร้อง
4. คดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อนุญาตให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยแพร่ภาพและเสียงการกล่าวเปิดงานรายการมวยไทยของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจัดที่เขตปกครองพิเศษมาเก๊า
5. คดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการตราพ.ร.ก.และลงมติเห็นชอบพ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศไทย พ.ศ.2555จำนวน3.5 แสนล้านบาท
6.คดีไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีนายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกร้อง
7. คดีทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542มาตรา 66 และ มาตรา 88 ในการกักเก็บ ควบคุม ระบาย หรือบริหารจัดการน้ำ เป็นเหตุให้เกิดอุทกภัย นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกร้อง ในปี พ.ศ.2554
8. คดีกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กระทำการโดยทุจริต และใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย กรณีไม่ได้กระทำการเปิดเผยราคากลางและรายละเอียดการคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกร้อง
9. คดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล ประจำปี พ.ศ.2555นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถูกร้อง
10.คดีร้องถอดถอนนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ กรณีการกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายในเรื่องของการรับทรัพย์สินที่มิควรได้ จากกรณีบริษัทอิสวอเตอร์ ดำเนินการเรื่องการจัดตั๋วเครื่องบิน และค่าใช้จ่ายอื่นๆไปต่างประเทศ
11.คดีร้องถอดถอน ส.ส. จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมาย หรือ ฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น