|
|
รายงานการเมือง
พอเกิดประเด็นคลุมเครือเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 คนที่ชี้ขาดก็ต้องเป็นผู้ทำให้กำเนิด และผู้ทำคลอดนั่นคือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเบอร์หนึ่ง กับ “ 2 ช่างตัดแต่งรธน.” อย่างนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคสช. ฝ่ายกฎหมาย ในฐานะหัวหน้าทีมยกร่าง กับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าคสช. จะต้องมาอธิบายกันให้ชัดเจน
สำหรับปมเรื่องการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ว่า ตกลงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีอำนาจถอดถอนบุคคลที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดมาหรือไม่
นาทีนี้ยังเถียงกันเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งยืนยันหนักแน่นว่า ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ถูกคสช. ฉีกทิ้งไปแล้ว หลังจากเข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ทำให้บทบัญญัติเรื่องการถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปหายวับไปด้วย
ซึ่ง “มิสเตอร์ไวรัช” นายนิคม ไวรัชยพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ผู้ถูก ป.ป.ช.ฟันฉับที่คอ กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาส.ว.มิชอบ เป็นหนึ่งในคนที่ให้ทรรศนะสนับสนุนความคิดนี้ทันทีว่า ถือเป็นการยกประโยชน์ให้จำเลย หรือ เปรียบง่ายๆ เหมือนกับการนิรโทษกรรมไปโดยอัตโนมัตินั่นเอง
แน่นอนว่า หากใช้บรรทัดฐาน “มิสเตอร์ไวรัช” จะทำให้บุคคลที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในคดีถอดถอนจำนวนไม่น้อย หลุดจากร่างแหบ่วงกรรมที่กระทำเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น อดีตประธานวุฒิสภาชาวฉะเชิงเทราผู้นี้เอง “ค้อนปลอม” นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และ 36 ส.ว. ที่ร่วมกันกระทำชำเรารัฐธรรมนูญโดยมิชอบก่อนหน้านี้ ไม่เว้นแม้แต่เบี้ยตัวใหญ่อย่าง “ปูกรรเชียง” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกเชือดคอกรณีละเลยเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวจนก่อให้เกิดความเสียหาย
เหล่านี้จะออกไปเอ่อระเหยลอยชายกันหมด สิ่งที่ป.ป.ช.ไปแสวงหาข้อเท็จจริง ไต่สวนพยานบุคคล หาหลักฐาน กันมาร่วมแรมปีจะหายวับเข้ากลีบเมฆ ที่ลงเรี่ยวลงแรงเท่ากับเหนื่อยฟรี
ทว่า การตีความแบบ “มิสเตอร์ไวรัช” ก็ดูจะหัวหมอ และออกไปในแนวศรีธนญชัยมากเกินไป เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ได้ระบุไว้ชัดแจ้งแดงแจ๋ว่า ให้สนช. ทำหน้าที่ส.ส. และส.ว. ฉะนั้น อำนาจที่ส.ว.เคยมี ย่อมอยู่ในเงื้อมือของสนช. ทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่การถอดถอน
ขณะเดียวกัน ในมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ยังระบุให้ยึดประเพณีการปกครองในอดีต เหมือนกับที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตส.ว.สรรหา ออกมายืนยันนอนยันว่า ทำได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเมื่อปี 2549 สนช.ยุคที่มี “ปรมาจารย์กฎหมาย” นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ก็เคยลงมติถอดถอนนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ออกจากตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มาแล้ว หลังจากมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายอย่าง เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงสามารถยึดเอาหลักดังกล่าวได้เลย
ขณะที่ ป.ป.ช. ผู้เป็นต้นธารเรื่องนี้ เอากันจริงๆ ตามเนื้อผ้าก็ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจถึงขนาดจะชี้นิ้วบอกสนช.ว่า ต้องถอดถอนหรือไม่ จึงโยนให้ 220 อรหันต์แห่งรัฐสภา ตัดสินใจกันเอาเองว่า จะเอาอย่างไร?
ว่ากันตามสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ แม้ สนช.จะมีอำนาจหน้าที่โดยตรง แต่เป็นที่รู้กันว่า สนช.กำเนิดจาก คสช.ที่มี “บิ๊กตู่” เป็นกัปตันทีม ดังนั้น เรื่องนี้คนที่มีอำนาจตัดสินใจก็คือ คสช.ว่า ตกลงจะไฟเขียวลุยถอดถอน หรือ เบรกเอาไว้ก่อนเพื่อผลักภาระให้ส.ว.ชุดใหม่ที่เข้ามาทำหน้าที่หลังจากมีการเลือกตั้งกันใหม่แล้ว
หลังจากนี้เลยต้องรอดูสัญญาณจาก คสช.ว่า จะเอาอย่างไรกับเรื่องดังกล่าว เพราะการเลือกแนวทางใด แนวทางหนึ่ง ย่อมมีผลกระทบตามมามากมายแบบสุดๆ ไปทางใดทางหนึ่งเหมือนกัน เพราะหากเรื่องกดไฟเขียวให้สนช. เดินเครื่องถอดถอนได้เลย นั่นเท่ากับว่า “ปูกรรเชียง” และองคาพยพ ที่มีคดีถอดถอนค้ำคออยู่ในป.ป.ช. มีโอกาสตายหมู่ และตายสนิทจากการเมืองไปอีกหลายปีแน่ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญมาตรา 35 กำหนดไว้ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2558 ไปยกร่างเพื่อป้องกันนักการเมืองที่ต้องมลทินคดีทุจริตคอรัปชั่นไม่ให้กลับมาวนเวียนในสังเวียนการเมืองอีกเด็ดขาด
งานนี้ “ปูกรรเชียง” และองคาพยพ หมดโอกาสลอยนวลแน่ หรือจะเรียกว่า เป็นโศกนาฏกรรมหมู่ทางการเมืองก็ได้ เพราะสนช.ล้วนเป็นผลไม้ที่เกิดจากต้นไม้คสช. คะแนนเสียงถอดถอนที่ต่อให้ใช้เยอะเพียงใดก็พอที่จะส่งบุคคลเหล่านี้กลับไปเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานได้อยู่แล้ว ไม่ได้ยากเย็นแสนเข็ญเหมือนกับระบบปกติ ยกเว้น จะมีสัญญาณคุณขอมาเท่านั้น จึงจะรอดคมมีด
แต่หากละไว้ แล้วค่อยชำระกันใหม่เมื่อมี ส.ว. โอกาสที่บุคคลเหล่านี้จะลอยนวลต่อในแวดวงการเมืองก็ยังมีสูง เพราะบรรดานักการเมืองมักจะไม่เข่นฆ่ากันด้วยวิธีการแบบนี้ ซึ่งหากกดปุ่มเลือกแนวทางนี้ ก็ไม่ต่างจากการปล่อยเสือเข้าป่า ปล่อยปลาลงน้ำ หรือหากจะมองในฝั่งแนวต้านระบอบทักษิณ คงส่ายหน้า เพราะสิ่งที่ทำกันมา เสียของ สูญเปล่า สุดท้ายเชื่อร้ายของระบอบทุนสามานย์ก็ยังฝังแน่นในรากเหง้าการเมืองไทย เข้าอีหรอบ ปฏิรูปได้ แต่กำจัดระบอบทักษิณซึ่งเป็นต้นเหตุไม่ได้
คราวนี้จึงถึงคราววัดใจ “คสช.” ว่า จะเคาะโต๊ะเลือกอย่างไหน
อย่างไรก็ดี นอกจาก คสช.ต้องเด็ดเดี่ยวในการล้างบางเหล่านักการเมืองขี้ฉ้อที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูลคดีถอดถอนแล้ว ยังต้องกล้าตัดสินใจไฟเขียวให้ ป.ป.ช. เดินหน้าพิจารณาคดีถอดถอนที่ยังไม่ได้ชี้มูลที่มีอยู่จำนวนมากอีกด้วย
หลัง “ทีมงานสนามบินน้ำ” ชักออกลูกใจเสาะไม่กล้าวู่วามผลีผลามฟันฉับ กลับจำต้องชะลอไว้ก่อน เพราะกลัวจะโดนติฉินนินทาว่า น่าเกลียด ไม่ชอบธรรม หรือเล่นทีเผลอ แต่หากมีสัญญาณทางโล่งมาให้ รับรองเครื่องฉลุย
ซึ่งการตัดสินใจเลือกทางนี้ แม้จะดูโหดร้าย และฮาร์ดคอร์เกินไป แต่ก็สอดคล้องกับปรัชญาการปฏิรูปประเทศของคสช. ที่กำลังเดินหน้าปฏิรูปยกเครื่องประเทศไทยแบบขนานใหญ่ โดยเฉพาะการขจัดปัญหาคอรัปชั่นให้หมดไปจากประเทศไทย และนักการเมืองกังฉินที่เกาะกินบ้านเมืองมาช้านาน จึงถือเป็นจังหวะดีมิใช่น้อย
หมดเวลายำเกรงคนชั่ว เกรงใจคนเลว คิดจะปฏิรูปประเทศต้องทำแบบสุดซอย ทะลุซอย ไม่ให้การเข้าควบคุมอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม สูญเปล่า เสียของ บทเรียนในอดีตมีให้เห็นสารพัดหากเดินแบบกั๊กๆ ไม่เต็มเท้า สุดท้ายจากหวังดีกลายเป็นประสงค์ร้ายต่อประเทศ
ถึงคราวพิสูจน์ขนาดหัวใจของผู้มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์กันแล้ว!!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น