กองปราบ จับทหารยศ "พลตรี" กับพวกเก็บส่วยพัฒน์พงศ์ฝ่าฝืน คสช. |
|
วันที่ 30 กรกฎาคม ที่ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ท.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ พล.ม.2 รอ.
พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร ได้เชิญตัว พล.ต.เจนรณรงค์ เดชวรรณ หรือ “เสธ.เจมส์” ผู้ทรงคุณวุฒิประจำสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม อายุ 55 ปี กับพวก ประกอบด้วย น.ส.นงนุช สิทธิรัตน์ อายุ 44 ปี นายปานทอง ศิริวรรณ์ อายุ 40 ปี นางจันทิมา โชติกิตติเกษม อายุ 44 ปี และ น.ส.สุรัตน์ พุ่มพวง อายุ 46 ปี รวม 5 คน เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.สุวัฒน์ แสงนุ่ม พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ บก.ป.เพื่อให้ปากคำ หลังจากถูกร้องเรียนว่า มีส่วนพัวพันกับการเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการย่านซอยพัฒน์พงษ์ ถนนสีลม เขตบางรัก
ทั้งนี้ ภายหลังได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่ทหาร ม.พัน 3 รอ.ได้ร่วมกับทางตำรวจ สน.บางรัก วางแผนสืบสวน โดยทางผู้ค้าได้มีการนำเงินสด 2,000 บาท มาส่งมอบให้กลุ่มผู้ถูกกล่าวหา ที่บริเวณล็อบบี้โรงแรมตะวันนา ถนนสุรวงศ์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กทม.ต่อมาเจ้าหน้าที่จึงพบ พล.ต.เจนรณรงค์ เมื่อช่วงเช้ามืดวันเดียวกัน จึงมีการสอบสวนในเบื้องต้นและลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สน.บางรัก ก่อนจะเชิญตัวมาสอบสวนต่อ ที่ บก.ป.โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก
|
|
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าทันทีที่พล.ต.เจนรณรงค์ เดินทางมาพร้อมรถตู้สีขาว และลงจากรถ ทางเจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร ได้พยายามขอความร่วมมือสื่อมวลชนงดถ่ายภาพ หรือสัมภาษณ์ใดๆ โดยทาง พล.ต.เจนณรงค์ ก็พยายามหลบเลี่ยงก่อนเข้าห้องพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ป.พร้อมกับพวก 4 คน
ต่อมาทางญาติของ พล.ต.เจนรณรงค์ ได้ติดตามมาถึง บก.ป.ก่อนจะระบุว่า เรื่องนี้เป็นการกลั่นแกล้งกัน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ กับสื่อมวลชน นอกจากนี้ยังได้หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเพื่อบันทึกภาพ และถ่ายเป็นคลิปวีดีโอบรรดาสื่อมวลชนที่มาเฝ้ารอทำข่าวด้วย
ด้านพ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูลรองผู้บังคับการกองปราบปราม กล่าวว่า ทาง พ.ท.บุรินทร์ ได้เชิญตัว พล.ต.เจนรณรงค์ กับพวก ซึ่งถูกร้องเรียนว่าเรียกเก็บเงินค่าคุ้มครองจากผุ้ประกอบการย่านพัฒน์พงษ์ เขตบางรัก โดยกรณีนี้เป็นนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการจัดการกับปัญหาดังกล่าว โดยผู้ที่ถูกล่าวหามีทั้งหมด 5 คน เป็นพลเรือน 4 คน โดยในส่วนของพลเรือนจะกักตัวไว้ที่ ห้องขัง บก.ป.ตามอำนาจ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก เป็นเวลา 7 วัน ส่วนทาง พล.ต.เจนรณรงค์ ฝ่ายทหารจะรับไปดำเนินการเอง โดยจะรับตัวไปควบคุมในพื้นที่ทหาร
รองผบก.ป.กล่าวต่อว่าสำหรับพลเรือนทั้งหมดเมื่อมีการกักตัวไว้จนครบกำหนดแล้ว
ทางทหารจะใช้ดุลพินิจ ว่าข้อมูลประกอบกับพฤติการณ์ต่างๆ ของผู้ถูกกล่าวหา นั้น เข้าข่ายกระทำผิดตามกฎหมายหรือไม่ หากพบว่าเป็นความผิด ก็จะเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีตามขั้นตอนต่อไป เมื่อพิจารณาว่าเป็นความผิดและมีการร้องทุกข์จึงจะเริ่มกระบวนการสอบสวน จากนั้นก็จะพิจารณาเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าให้ปากคำ ว่าใครมีพฤติการณ์เป็นอย่างไร โดยยืนยันว่าทางพนักงานสอบสวนจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
|
|
ผู้สื่อข่าวถามถึงความเกี่ยวข้องของพล.ต.เจนรณรงค์กับกลุ่มผู้ต้องหา ซึ่งเรียกเก็บค่าคุ้มครองดังกล่าว
และทำกันมานานแค่ไหน พ.ต.อ.ประสพโชค กล่าวว่า สำหรับข้อเท็จจริงต่างๆ อยู่ระหว่างตรวจสอบพร้อมกับเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฎพบ ต่อข้อถามว่า นายทหารรายนี้เป็นหัวหน้าขบวนการหรือไม่ พ.ต.อ.ประสพโชค กล่าวว่าตรงนี้คงต้องรอให้การสอบสวนเริ่มต้นดำเนินการก่อน ขณะนี้ยังไม่พบข้อมูลจึงเป็นเพียงการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนนโยบายของ คสช.และ พล.ต.เจนรณรงค์ เอง ก็ยังไม่ได้ให้การ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังมีการสอบปากคำ พล.ต.เจนรณรงค์ เสร็จสิ้นโดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ทาง พล.ต.เจนรณรงค์
เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า กรณีนี้สืบเนื่องจากตนได้รับร้องเรียนจากผู้ค้าย่านพัฒน์พงษ์ ว่าถูกกลุ่มมาเฟียชุดเก่า เข้ามากดขี่ข่มเหง ตนจึงเข้ามาจัดการกับปัญหาโดยจัดระเบียบให้กับผู้ค้าในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้กลุ่มมาเฟียดังกล่าวเสียผลประโยชน์ จึงกลั่นแกล้งทำเรื่องร้องเรียนไปยัง คสช.เพื่อดำเนินการกับตน ซึ่งกรณีนี้ตนสามารถชี้แจงได้ และเชื่อมั่นว่าผู้บังคับบัญชาจะรับฟังข้อเท็จจริงของปัญหา
พล.ต.เจนรณรงค์ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ตนคงจะต้องนำเรียนต่อ ผบ.ทบ.ต่อไปด้วย ก็อยากจะฝากกับสื่อมวลชนเพื่อเป็นช่องทาง ที่จะได้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้บังคับบัญชา ว่ากรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของมาเฟียในพื้นที่เดิม เช่นเดียวกับปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
|
|
|
|
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์มติชน
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น