"ธนกร ฮุนตระกูล" ผู้บริหารโรงแรมบ้านท้องทราย บนเกาะสมุย จ. สุราษฎร์ธานี ทายาทคนเดียวของอากร ฮุนตระกูล ผู้ก่อตั้งโรงแรมอิมพีเรียลฯ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา เมื่อถามถึงความผูกพันกับโรงแรมที่ตระกูลเป็นผู้ก่อตั้ง และกำลังมีข่าวจะปิดปรับปรุงเปลี่ยนมือให้แมริออทเข้ามาบริหารกิจการแทน
"ผมไม่ทราบมาก่อนว่าโรงแรมนี้กำลังจะปิดตัวลง แต่ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลใดๆ ก็ตาม หรืออาจจะเป็นเหตุผลทางธุรกิจ เมื่อจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงหากถึงเวลาก็ต้องทำ" ผู้บริหารหนุ่ม ผู้คลุกคลีและทำงานด้านนี้มานาน มองว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่อาจจะต้องมีคนลำบากบ้าง แต่หากมองในมุมความเป็นจริงเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงแรม บริษัท หรือโรงงานอื่นๆ หากอยู่ในภาวะขาดทุนจนต้องปิดกิจการ
คำถามคือจะให้ทำอย่างไรกับพนักงาน ?
คำถามนี้คนที่จะตอบได้แบบแฟร์ๆ เขาบอกว่า ต้องเป็นคนที่มีส่วนได้เสียกับการที่โรงแรมหรือโรงงานจะปิด ซึ่งพนักงานไม่ต้องมารับรู้หรือร่วมรับผิดชอบอะไร เนื่องจากยืนอยู่คนละจุด
ก่อนย้อนไปที่คำถาม ถ้าจะให้บอกว่าการปล่อยลอยแพพนักงานครั้งนี้ไม่แฟร์ หรือว่า ทำไม่ถูกต้อง "ผมตอบไม่ได้เลย เพราะเราไม่รู้ว่า การปิดตัวลงหรือต้องปิดปรับปรุงมีความจำเป็นต้องทำมากน้อยแค่ไหน เราไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์การบริหารของใครได้ คือ ถ้าใครมาวิจารณ์การบริหารงานของผม ผมก็รู้สึกไม่ดี”
ส่วนมุมมองทางด้านธุรกิจนั้น ธนกร เห็นว่า สาเหตุในการดำเนินธุรกิจมีปัจจัยหลายอย่าง ถ้ารู้ว่า บริหารไปแล้วขาดทุนทำต่อไปจะ "เจ๊ง" เราก็ต้องมาเลือกเอาว่า จะเอาความอยู่รอดของบริษัทหรือว่าจะทำอย่างไร
"ถ้าเอาความอยู่รอด ก็อาจจะลดจำนวนพนักงานลง คือเขาจะต้องหาวิธีการใดวิธีการหนึ่งเข้ามาจัดการ เพราะหากบริหารต่อไป ทั้งๆที่รู้ว่าขาดทุน ท้ายสุดก็ต้องโดยลอยแพและไปด้วยกันหมดอยู่ดี
ถ้าหากให้วิเคราะห์ถึงปัจจัยว่า ถ้าวันหนึ่งธุรกิจไปต่อไม่ได้แก้ปัญหาอย่างไร คงต้องใช้เวลาเป็นปีในการเวิร์คเอ้าท์ ว่า ถ้าบริษัทเจ๊งจะมีโอกาสกลับมาไหม พนักงานจะไปที่ไหน จะไปหรืออยู่ คือทุกอย่างมีความเป็นไปได้หมด
ผมมองว่า บางทีความรู้สึกของพนักงานกับความเป็นไปของบริษัทอาจจะไม่ต้องเป็นไปด้วยกันเสมอก็ได้ เพราะหากบริษัททำตามกฎหมายจ่ายล่วงหน้าให้ ก็เท่ากับเขาทำตามกฎหมายแล้ว" นอกจากนี้ ผู้บริหารโรงแรมบ้านท้องทราย ยังได้เท้าความไปถึงช่วงที่ผู้เป็นพ่อขายกิจการ ซึ่งมีการทาบทามคนเก่าๆ ให้ย้ายมาที่โรงแรมท้องทรายสมัยนั้นหลายคนก็เลือกที่จะอยู่ต่อที่อิมพีเรียลฯ เพราะรู้สึกว่า มั่นคงกับงานที่ได้รับมอบหมาย
"เมื่อถึงวันหนึ่งหลังจากที่พ่อผมขายกิจการมาประมาณ 20 ปี เขาต้องตกงานในช่วงอายุ 50 ก็เป็นสิ่งที่เขาจะต้องยอมรับให้ได้”
สำหรับความพอใจที่ว่าอะไรดีพอสำหรับพนักงานนั้น เขาบอกว่า คงตอบได้ยาก เพราะไม่รู้จะเอากรณีไหนมาเป็นตัวตั้ง คือจะเหมารวมจากเหตุการณ์นี้ว่า คุณเจริญดูแลลูกน้องไม่ดี หรือว่าจะมาเปรียบเทียบกันระหว่างคุณเจริญ กับคุณอากร เพราะท้ายที่สุดพ่อก็ขายกิจการอยู่ดี
"หากมองในแง่มุมมนุษย์เงินเดือนที่เลือกทางเดินมาทางนี้ เขาก็ต้องยอมรับในระดับหนึ่ง เพราะเรื่องแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ บางคนไม่ได้ทำงานรอจนอายุ 40 แต่เขาก็ออกไปหาทางเลือกใหม่ เสี่ยงดวงเลิกทำงานแล้วไปเปิดกิจการอะไรสักอย่างเล็กๆ ของตัวเองแล้วอยู่ได้ รู้สึกตัวเองเป็นไทยมากขึ้น ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับมุมมองของชีวิตคน
การจะออกจากงานไม่ใช่ว่า บางคนไม่กลัวกลัวเรื่องความมั่นคง เขากลัวแต่กล้าเสี่ยง แต่กับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เสี่ยง เพราะคิดว่ามั่นคงในการงาน”
ผู้บริหารหนุ่มแห่งบ้านท้องทราย ยังมองอีกว่า พนักงานทุกคนน่าจะเห็นสถานการณ์ของควีนส์ปาร์คอยู่แล้วว่า แขกมามากน้อยแค่ไหน ราคาห้องพักเป็นอย่างไร มีงานจัดเลี้ยงสัมมนาเยอะหรือไม่ พนักงานทุกคนรู้อยู่กับใจว่า ไม่ค่อยดีก็ต้องยอมรับ หากรู้ว่าผลประกอบการไม่ดี จำเป็นต้องคิดว่าควรจะลาออก เมื่อมีโอกาส หรือว่าจะอยู่จนกระทั่งโรงแรมปิดตัว เพราะไม่อย่างนั้นวันหนึ่งบริษัทก็ต้องทำอะไรเพื่อความอยู่รอดของเขา
"ถ้าทำตามกฎหมายแล้วพนักงานไม่พอใจจะทำอะไรต่อได้ นอกจากไปร้องสื่อว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ก็ไปทำให้เขาเสียเชื่อ ไปบ่นไปว่า ทำไม่ถูกต้อง การที่บริษัทฯ ทำตามกฎหมายนั่นถือว่ายุติธรรมในระดับหนึ่งแล้ว"
ส่วนคนที่ทำงานมานานนั้น เขาชี้ว่า ทุกอย่างอยู่ที่ดุลพินิจของผู้บริหารว่าเคยตกลงอะไรกันไว้หรือไม่ เพราะบางทีคนทำงานนานๆ ไม่ได้แปลว่า ทุ่มเทเสมอไป บางคนอยู่แบบนั้นก็แบบนั้นไม่มีการพัฒนาตัวเอง หรือบางทีเวลาจะเปลี่ยนแปลงอะไรคนเก่าแก่มักเปลี่ยนแปลงยากเพราะถือว่าอยู่มานานก็มักจะทำแบบเดิมๆ
"ในต่างประเทศการเลย์ออฟพนักงานถือเป็นเรื่องปกติ พนักงานจะบ่นหรือไม่พอใจถือเป็นเรื่องธรรมดา ผมเห็นใจพนักงานที่จะไม่มีรายได้ไปช่วงหนึ่ง โดยเฉพาะคนอายุมากๆ แต่หากมองในแง่นายจ้าง เช่น บริษัทท้องทรายที่มีลูกน้อง 200 คน ลูกจ้างสบายมีสิทธิ์เหนือนายจ้าง คือไม่อยากทำงานก็ไม่มา ขาด 3 วัน เท่ากับลาออก แล้วลาออกแบบไม่แจ้งล่วงหน้าโดยที่ไม่สนใจว่า นายจ้างจะเดือนร้อนอย่างไร
บางครั้งความต้องการของคนที่เป็นลูกจ้างก็ไม่มีเหตุผล แล้วในยุคทุนนิยมคุณต้องยอมรับให้ได้ว่า ประสิทธิภาพต้องมาก่อน ที่เมืองไทยใจดีจะตาย ถ้าไปทำงานกับบริษัทต่างชาติคนไทยไปไม่รอด” ธนกร กล่าวทิ้งท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น