คสช.ผ่าตัดใหญ่กองทุนประชานิยมรัฐบาลยิ่งลักษณ์
สั่งยุบกองทุนเอสเอ็มแอล-ช่วยผู้ประกอบการชุมชน-พัฒนาเมือง รวมวงเงินเกือบ 1 หมื่นล้านบาท โยกไปให้ "กยศ." ช่วยเด็กใหม่ที่จะกู้เงิน พร้อมให้เอางบกองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไปให้สสว.ดูแลเอสเอ็มอี ขณะที่กองทุนหมู่บ้านให้เดินหน้าต่อหลังดูแล้วเป็นประโยชน์กับรากหญ้า
วันที่29ก.ค. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า ร.อ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน (ครสช.) เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้ยกเลิกการดำเนินงานของกองทุนตามนโยบายของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2557 วงเงินรวม 9,925 ล้านบาท คือโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้าน (เอสเอ็มแอล) วงเงิน 5,700 ล้านบาท กองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการในหมู่บ้านและชุมชน วงเงิน 3,000 ล้านบาท และโครงการพัฒนาเมือง วงเงิน 1,225 ล้านบาท โดยในส่วนของกองทุนเอสเอ็มแอล และกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการฯ นั้น ให้นำเงินไปใช้ในกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แทน
ทั้งนี้ ในส่วนของกองทุนส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ประชุมได้สั่งให้ชะลอการการจัดสรรงบประมาณในปี 2557 จำนวน 596 ล้านบาท ไว้ก่อน
ให้โยกย้ายเงินให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แทน ขณะที่กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ให้ย้ายสำนักงานฯ ไปอยู่ที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และให้กระทรวงมหาดไทยไปพิจารณาว่าจะดำเนินงานต่อหรือยุบไปรวมกับภารกิจของกรมพัฒนาชุมชน เช่นเดียวกับสภาเกษตรกร ซึ่งคสช.ให้ย้ายไปอยู่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และให้ไปพิจารณาว่าจะดำเนินงานต่อหรือยุบไปรวมกับภารกิจของกระทรวงเกษตรฯ โดยให้เสนอข้อสรุปมาให้คสช.เห็นชอบอีกครั้ง
"หัวหน้าคสช.ได้กำชับในที่ประชุม และได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานกองทุน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะเรื่องการใช้เงินในกองทุนต่างๆ จะต้องให้คำนึงถึงความคุ้มค่า เกิดประโยชน์ และยังต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์กับประชาชนในระดับรากหญ้าด้วย"
ส่วนการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่ประชุมได้เห็นชอบให้ดำเนินงานต่อไปเพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
ขณะเดียวกันจากผลการประเมินตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุนมา 14 ปี พบว่า กองทุนกว่า 30-40% มีศักยภาพและดำเนินการได้ในระดับดี ขณะที่กองทุนฯ อีก 50-60% อยู่ในระดับปานกลาง ส่วนกองทุนที่มีปัญหาต้องติดตามแก้ไปมีไม่เกิน 10% ซึ่งจากรายงานของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย พบว่า กองทุนมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่เกิน 10% เท่านั้น
สำหรับสถานะกองทุนหมู่บ้านฯ ณ วันที่ 23 มิ.ย.2557 ก่อนปีงบประมาณ 2547 มีงบประมาณสะสมคงเหลือรวม 26,543 ล้านบาท
แยกเป็น งบบริหารจัดการ 806 ล้านบาท โครงการเพิ่มทุนกองทุนฯ 25,737 ล้านบาท ,ปีงบประมาณ 2557 ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณบริหารจัดการกองทุนฯ 307 ล้านบาท และสุดท้ายเป็นเงินกองทุนสะสมคงเหลือ ทั้งสิ้น 34,183 ล้านบาท
ส่วนโครงการพัฒนาเมือง ข้อมูลล่าสุดในปีงบประมาณ 2555-57 มีงบประมาณคงเหลือ 966 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2557
ได้รับการจัดสรร จำนวน 1,900 ล้านบาท แยกเป็น การสนับสนุนงบประมาณให้กับผู้เสนอโครงการ 1,488 ล้านบาท งบบริหารโครงการ 412 ล้านบาท โดยมีโครงการที่เสนอขอรับการจัดสรรเงินรวม 1,067 โครงการ วงเงิน 1,628 ล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 41 โครงการ วงเงิน 67 ล้านบาท คงเหลือโครงการที่รอการพิจารณา 1,026 โครงการ วงเงิน 1,560 ล้านบาท
กองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการ ล่าสุดในปีงบประมาณ 2557 ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 3,000 ล้านบาท แบ่งเป็น งบบริหารจัดการ 80 ล้านบาท
สนับสนุนอาชีพ และการประกอบการ 320 ล้านบาท และเงินอุดหนุนกลุ่มผู้ประกอบการ 2,600 ล้านบาท ,กองทุนส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยก่อนปีงบประมาณ 2557 มีงบประมาณสะสมคงเหลือ 44 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2557 ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 596 ล้านบาท แบ่งเป็น งบบริหารจัดการ 96 ล้านบาท และเงินอุดหนุนผู้ประกอบการ 500 ล้านบาท โดยมีเงินกองทุนสะสมคงเหลือ 641 ล้านบาท
กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ก่อนปีงบประมาณ 2557 มีงบประมาณสะสมคงเหลือ 417 ล้านบาท แบ่งเป็น งบบริหารจัดการ 39 ล้านบาท
และดำเนินภารกิจยุทธศาสตร์ 378 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2557 ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 2,031 ล้านบาท แบ่งเป็น งบบริหารจัดการ 231 ล้านบาท และดำเนินภารกิจยุทธศาสตร์ 350 ล้านบาท และจัดสรรให้จังหวัดและกรุงเทพฯ 1,450 ล้านบาท และเงินกองทุนสะสมคงเหลือ 2,411 ล้านบาท สุดท้ายเป็นสภาเกษตรกร ปีงบประมาณ 2556 มีงบประมาณคงเหลือ 101 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2557 ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 488 ล้านบาท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น