วันที่ 28 ก.ค. ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นในหัวข้อ“ภาษาไทยบนสังคมออนไลน์ของคนรุ่นใหม่”
เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 29 ก.ค. โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 15-35 ปี ที่พักอาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 1,218 คน พบว่า ประชาชนร้อยละ 55.7 ไม่ทราบว่าวันที่ 29 ก.ค. ที่จะถึงนี้เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ขณะที่ร้อยละ 44.3 บอกว่าทราบ
ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.7 เห็นว่าการใช้ภาษาไทยในปัจจุบันเข้าขั้นวิกฤตและควรช่วยรณรงค์อย่างจริงจัง และมีเพียงร้อยละ 15.3 เท่านั้นที่เห็นว่าปัจจุบันไม่ได้อยู่ในขั้นวิกฤติจึงไม่จำเป็นต้องมีการรณรงค์
สำหรับผู้ที่มีอิทธิพลต่อการใช้ภาษาไทยในปัจจุบันมากที่สุด คือ ดารา นักร้อง (ร้อยละ 36.0) รองลงมาร้อยละ 33.3 คือ สื่อมวลชน นักข่าว และร้อยละ 19.2 คือครู อาจารย์
ส่วนแหล่งที่มักจะพบเห็นการใช้ภาษาไทยที่สะกด ออกเสียงผิดเพี้ยนไป หรือคำแปลกๆ บ่อยที่สุดนั้น ร้อยละ 77.4 บอกว่าเห็นจากการคุยไลน์ และการเขียนคอมเมนท์ผ่านเฟสบุ๊ก รองลงมาร้อยละ 15.8 เห็นจากการพูดคุยตามๆ กันในหมู่เพื่อนๆ และ ร้อยละ 6.8 เห็นจากพิธีกร ตัวละครในทีวี ภาพยนตร์
ทั้งนี้ร้อยละ 38.8 ให้เหตุผลที่มักนิยมใช้ภาษาไทยผิดเพี้ยนไปในสังคมออนไลน์ ว่าใช้ตามๆ กันจะได้เกาะกระแส รองลงมาร้อยละ 32.4 ให้เหตุผลว่า สะกดง่าย สั้น และสื่อสารได้เร็ว และร้อยละ 26.9 ให้เหตุผลว่าเป็นคำที่ใช้แล้วรู้สึก ขำ คลายเครียดได้
เมื่อถามถึงความรู้สึกที่เห็นการพูดหยาบคายของตัวละครทีวี ภาพยนตร์ หรือการโพสต์ ข้อความหยาบคายผ่านสังคมออนไลน์
พบว่า ประชาชนร้อยละ 65.9 รู้สึกว่ารับได้แต่บางครั้งก็มากเกินไป รองลงมาร้อยละ 25.6 รู้สึกว่ารับได้ ไม่ซีเรียส และมีเพียงร้อยละ 8.5 เท่านั้นที่รู้สึกว่ารับไม่ได้เลย สุดท้ายประชาชนร้อยละ 55.0 เชื่อว่าการให้สื่อมวลชน นักร้อง นักแสดง หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง มาร่วมรณรงค์การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องจะสามารถสร้างจิตสำนึกให้เกิดความนิยมใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องได้ ขณะที่ร้อยละ 14.0 เชื่อว่าไม่ได้ และร้อยละ 31.0 ไม่แน่ใจ
|
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น