ระทึก‘9ตุลาการ’ ‘รับ-ไม่รับ’คำร้อง ปูสิ้นสภาพนายกฯ2 April, 2014
ระทึก! ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณารับหรือไม่รับคำร้อง ส.ว.ไพบูลย์ ให้วินิจฉัย "ยิ่งลักษณ์" ตกเก้าอี้เพราะย้าย "ถวิล" หรือไม่ "พงศ์เทพ" ขาสั่น อ้างเรื่องจบไปแล้ว เป็นอำนาจ ครม. แต่ ปชป.เชื่อหากศาลรับพิจารณาม้วนเดียวจบ
นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมประจำสัปดาห์ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 2 เมษายน ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 268 จากกรณีการโยกย้ายตำแหน่งนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
เขากล่าวว่า ที่ประชุมจะยังพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับร้องคำร้องของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ (ผอ.ศรส.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 สั่งให้กลุ่ม กปปส.ยุติการชุมนุม เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้เป็นการใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 แต่เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองและกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ต้องดูด้วยว่าการแต่งตั้งโยกย้ายเป็นอำนาจของใคร ยกตัวอย่างการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับปลัดกระทรวงการคลัง เป็นอำนาจของรมว.คลัง จะไปบอกว่าแทรกแซงไม่ได้ ทั้งนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง เรื่องต้องเข้ามาที่คณะรัฐมนตรี จึงไม่ได้แทรกแซงอะไร ถือเป็นเรื่องปกติ เป็นหน้าที่ตามกฎหมายในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย ส่วนการโยกย้ายจะชอบหรือไม่ชอบ เป็นเหตุผลอีกเรื่องหนึ่ง หากแต่งตั้งโยกย้ายโดยไม่มีเหตุผลก็เป็นเรื่องของศาลปกครองที่จะเพิกถอนคำสั่ง แต่จะบอกว่าไปแทรกแซงนั้นไม่เกี่ยวกัน
"เรื่องของคุณถวิลถือว่าจบแล้ว เมื่อศาลปกครองมีคำสั่งมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เสนอวิธีการดำเนินการต่อไปมายัง ครม. และ ครม.ก็มีมติตามนั้น" นายพงศ์เทพกล่าว
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คำร้องของ ส.ว.ที่ยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ในหลายประการ ดังนี้ คือ 1.ไม่ได้ดำเนินการตามนโยบายที่แถลงต่อสภา 2.ไม่เป็นไปตามกฎหมาย 3.ย้ายเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง จึงถือว่ากระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว จึงคิดว่าผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในเวลาอันใกล้ เพราะไม่ต้องใช้เวลาพิจารณานาน เนื่องจากมีคำตัดสินศาลปกครองสูงสุดเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว
"แต่วิตกว่าหากพรุ่งนี้ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาต่อไป ก็กังวลว่าจะมีกลุ่มคนเสื้อแดงไปกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างโปร่งใส อิสระ ตนจึงเรียกร้องให้คุณยิ่งลักษณ์ ยอมรับการตรวจสอบและเคารพการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ หาทางป้องกันไม่ให้ผู้สนับสนุนตัวเองกดดันข่มขู่คุกคามการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ" นายองอาจระบุ
วันเดียวกันนี้ กลุ่มคนเสื้อแดงหลายจังหวัดพากันไปแจ้งความดำเนินคดีกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.เป็นโมฆะ
เวลา 11.00 น. วันที่ 1 เมษายน นายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือ “เล็ก บ้านดอน” ผู้อำนวยการสถานีวิทยุคนไทยหัวใจเดียวกัน พร้อมด้วยมวลชนกว่า 100 คน เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน บก.ป. เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย นายจรูญ อินทจาร, นายจรัญ ภักดีธนากุล, นายนุรักษ์ มาประณีต, นายบุญส่ง กุลบุปผา, นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ รวมทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน ประกอบด้วย นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ, ศาสตราจารย์ศรีราชา เจริญพานิช และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยทำหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องมาเป็นหลักฐาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงานสอบสวน บก.ป.ได้แนะนำให้ผู้ร้องเข้ายื่นเรื่องต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (บก.ปปป.) เพราะเป็นหน้าที่รับผิดชอบของ บก.ปปป. สำหรับกรณีการกล่าวโทษต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
ต่อมาแกนนำมวลชนซึ่งนำรถกระบะติดป้ายที่มีข้อความว่า “1 เมษายน 2557 วันแจ้งความแห่งชาติ” และติดเครื่องขยายเสียง ได้ออกประกาศให้มวลชนทยอยเดินทางไปยัง บก.ปปป. โดยระหว่างนั้นยังคงมีการปราศรัยโจมตีการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตลอดเวลา
ในระหว่างการเข้าร้องทุกข์ ได้มีการตั้งโต๊ะเพื่อลงชื่อผู้ที่ร่วมแจ้งความดังกล่าว โดยบางส่วนได้มีการจุดไต้หรือคบไฟ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงการให้แสงสว่าง พร้อมกับระบุด้วยว่าจะเข้าร้องทุกข์กับหน่วยงานต่างๆ ทุกแห่ง เพื่อเอาผิดกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี ในส่วนของ ร.ต.ท.วิโชติ มีภพ พนักงานสอบสวน บก.ปปป. ได้รับเรื่องพร้อมกับลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น เนื่องจากกรณีการกล่าวโทษองค์กรอิสระไม่อยู่ในอำนาจการสอบสวนของตำรวจ โดยต้องเข้ายื่นเรื่องต่อวุฒิสภา เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ทั้งหมด
แต่หลายสถานีตำรวจ เช่น สภ.อุบลราชธานี, สภ.เมืองเชียงราย, สภ.เมืองอ่างทอง เป็นต้น รับแจ้งความตามประสงค์ของกลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อดำเนินการต่อไป.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น