ค้อนตราดูไบหัก ลุอำนาจแก้รธน. ส่งวุฒิฯถอดถอน2 April, 2014
ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์เชือด "ขุนค้อน" ปมรับรู้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปลอมแต่ยังจัดให้สมาชิกรัฐสภาประกอบการประชุม-นับระยะเวลาแปรญัตติย้อนหลัง ชี้ไม่เป็นกลาง ขัดข้อบังคับและ รธน. ส่งวุฒิสภาถอดถอน "สุรชัย" เผย 18 เม.ย.เปิดประชุม ส.ว. รัฐบาลโยน กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง เพื่อแม้วจ่อยื่นถอดถอน "สมชัย" อ้างลำเอียง
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ วันที่ 1 เมษายน นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษก ป.ป.ช. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภาออกจากตำแหน่ง กรณีร่วมกันแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว.มิชอบ ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานจนเสร็จสิ้น และได้พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ประกอบคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556 เมื่อ วันที่ 20 พ.ย.56 จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า นายสมศักดิ์ได้นำญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับซึ่งมิใช่ฉบับเดิมของนายอุดมเดช รัตนเสถียร และคณะ เป็นผู้เสนอเมื่อวันที่ 20 มี.ค.56 ส่งสำเนาให้สมาชิกรัฐสภาเพื่อประกอบการประชุม ร่วมกันของรัฐสภา
โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค.56 นายอุดมเดชได้ประสานเจ้าหน้าที่สำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม บันทึกหลักการและเหตุผล และบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ไปเปลี่ยนกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดิม และนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดิมกลับคืนไป โดยการแก้ไขดังกล่าวไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาลงชื่อเสนอญัตติตามมาตรา 291 ซึ่งนายสมศักดิ์ทราบถึงการแก้ไขดังกล่าว
นายวิชากล่าวต่อว่า กรณีนายสมศักดิ์ได้จัดให้มีการลงมติให้กำหนดเวลาแปรญัตติ 15 วัน โดยให้เริ่มนับระยะเวลา 15 วันนับตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.56 ซึ่งเป็นวันที่รับหลักการ เห็นว่า การแปรญัตติเป็นสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาที่จะเสนอความคิดเห็น การแปรญัตติจึงต้องมีเวลาพอสมควรเพื่อให้สมาชิก ผู้ประสงค์จะขอแปรญัตติได้ทราบระยะเวลาที่แน่นอนในการยื่นขอแปรญัตติ อันเป็นสิทธิ์ในการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ การนับระยะเวลาในการแปรญัตติย่อมไม่อาจนับเวลาย้อนหลังได้ แต่ต้องนับตั้งแต่วันที่ที่ประชุมมีมติเป็นต้นไป การเริ่มนับระยะเวลาย้อนหลังไปจนทำให้เหลือระยะเวลาขอแปรญัตติเพียง 1 วัน เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมและไม่เป็นกลาง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
"การกระทำและพฤติการณ์ของนายสมศักดิ์ จึงมีมูลความผิดฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 3, มาตรา 125 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, มาตรา 291 อันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 และมาตรา 274 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 56, มาตรา 58, มาตรา 61 และมาตรา 62"
นายวิชากล่าวว่า ข้อกล่าวหาที่ประธานวุฒิสภาส่งมาที่เกี่ยวข้องกับนายสมศักดิ์ เป็นเรื่องสำคัญและได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว จึงให้แยกทำรายงานเฉพาะข้อกล่าวหาดังกล่าวส่งไปให้วุฒิสภาพิจารณาก่อน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ประกอบมาตรา 56 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. และให้ประธาน ป.ป.ช.ส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่ พร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อดำเนินการตามมาตรา 273 และมาตรา 274 ส่วนกรณี ส.ส.และ ส.ว. 308 คนที่เหลือ จะทยอยชี้มูลความผิดได้ภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกระบวนการตรา พ.ร.ฎ.เปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 ว่า ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตกลงได้วันที่เหมาะสมที่สุดคือ วันที่ 18 เม.ย. โดยในวันนี้ (1 เม.ย.) สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะส่งหนังสือไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดยจะยังไม่กำหนดวันปิดประชุม เพราะไม่แน่ใจว่าทั้งกระบวนการถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ออกจากตำแหน่ง การแต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ช.ทดแทนกรรมการที่ครบวาระ และแต่งตั้งกรรมการศาลปกครอง สายผู้ทรงคุณวุฒิที่ว่างลง จะแล้วเสร็จเมื่อไหร่
เมื่อถามว่าควรเป็น ส.ว.ชุดไหนที่จะมาถอดถอนนายนิคม นายสุรชัยตอบว่า รอให้ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ว.ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ก่อน แต่ข้อบังคับการประชุมกำหนดไว้ต้องทำภายใน 20 วัน เมื่อได้รับเรื่องจาก ป.ป.ช. ไม่เช่นนั้นจะทำผิดข้อบังคับเอง แต่ถ้าวันที่ 18 เม.ย. กกต.ยังประกาศไม่ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องให้ ส.ว.ชุดเดิมทำหน้าที่ไปก่อน ส่วนจะเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่กันเลยหรือไม่ ไม่ทราบ ต้องหารือในที่ประชุม
เมื่อถามว่า ส.ว.เลือกตั้งชุดใหม่ถูกมองว่ายึดโยงกับฝ่ายการเมือง ผลการถอดถอนจะเป็นอย่างไร นายสุรชัยตอบว่า ไม่ทราบ เชื่อใจ ส.ว.ทุกท่านจะทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ตามรัฐธรรมนูญ ที่ต้องเป็นอิสระเป็นกลาง ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำใดๆ เชื่อว่าสังคมจับตามมองและตรวจสอบได้
ที่ รร.นายร้อยตำรวจสามพราน จ.นครปฐม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เดินทางไปเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยในที่ประชุมได้มีการหารือสอบถาม ถึงข้อศึกษาเบื้องต้นต่อคำวินิจฉัยกลางศาลรัฐธรรมนูญ กรณีเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ในที่ประชุม ครม. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ได้หารือต่อกรณีคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีเลือกตั้ง ส.ส. 2 ก.พ.เป็นโมฆะ ซึ่งสัปดาห์นี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังหารือเรื่องของรายละเอียดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะในคำวินิจฉัยไม่ได้บอกว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อไป ดังนั้น จึงยังไม่ทราบว่าจะต้องมีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ เมื่อไหร่ หรือจะเริ่มนับตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ได้ระบุไว้ว่าภายใน 45 วัน ไม่เกิน 60 วัน เราจะเริ่มนับตั้งแต่วันไหน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ชัดเจน เราต้องรอบทสรุปจาก กกต.ก่อน
นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญกรณีเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 2 ก.พ.ว่า เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ได้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปทำการศึกษาและสรุปเป็นประเด็นเสนอกลับมา เนื่องจากคำวินิจฉัยกลางไม่ได้ใช้คำว่า "โมฆะ" ใช้คำว่า "ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ" จึงต้องดูว่าไม่ชอบอย่างไร และการดำเนินการต่อไปจะเป็นอย่างไร ที่จะทำให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คิดว่า กกต.จะบอกได้ดีที่สุด เมื่อกำหนดวันที่ชัดเจนก็บอกรัฐบาลมา ก็พร้อมปฏิบัติตามที่ฝ่ายกฎหมายและ กกต.ต้องการ
ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงการกำหนดวันเลือกตั้งว่า ต้องรอ กกต.แจ้งมาก่อน ซึ่ง กกต.ก็ยังไม่ได้มีการประสานขอหารือในเรื่องนี้ในวันไหน
ที่พรรคเพื่อไทย นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี แถลงเตรียมการยื่นถอดถอนนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ว่า พฤติกรรมของนายสมชัยส่อว่าไม่เป็นกลางทางการเมืองชัดเจน จึงจะดำเนินการรวบรวมรายชื่อประชาชน 2 หมื่นรายชื่อตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270-271 เพื่อยื่นถอดถอนนายสมชัย เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 229 ที่ระบุว่าต้องทำหน้าที่เป็นกลางทางการเมือง และซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และอยากเรียกร้องไปยัง กกต.อีก 4 ท่าน กรุณาย้ายนายสมชัยไปทำงานด้านอื่น มิฉะนั้นก็จะฝันอยู่เรื่อย และจะให้ฝ่ายกฎหมายยื่นตรวจสอบจริยธรรมนายสมชัยต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 244 (2) ด้วย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ ระบุว่า สหภาพยุโรป (อียู) ส่งสัญญาณว่าอยากให้ประเทศไทยเลือกตั้งโดยเร็ว ว่า กกต.ก็พูดชัดเจนในวันเลือกตั้ง ส.ว.ว่า หากไม่มีความขัดแย้ง การเลือกตั้งก็ง่ายไม่มีปัญหาอะไร แต่การเลือกตั้ง ส.ว.ก็ยังเผชิญวิกฤติศรัทธาระดับหนึ่ง ดังนั้น ถ้ามาแก้ปมการเมืองก็ไม่มีปัญหาอะไร ทั้งนี้ ตนได้พบกับพวกอียูก็มีโอกาสพูดคุยกัน ซึ่งได้บอกว่าพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนให้การเลือกตั้งเรียบร้อย เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเกิดขึ้น ซึ่งดีที่สุดคือรัฐบาลต้องมาช่วยหาคำตอบเรื่องนี้
"ส่วนการที่ผู้นำเหล่าทัพพูดคุยกันนั้น เห็นว่าใครที่เป็นห่วงเป็นใยบ้านเมืองจะพูดคุยเพื่อหาคำตอบก็ดีทั้งนั้น แต่ขอย้ำว่าวันนี้กุญแจสำคัญควรเริ่มต้นที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมจะมานั่งฟัง นั่งหารือกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.หรือไม่ ว่าที่ กปปส.หรือใครต่อใครเคลื่อนไหว เขาขัดข้องเรื่องอะไร หากมาช่วยกันคลี่คลายตรงนี้ จะได้นำบ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้" นายสุเทพกล่าว
นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. เปิดเผยผลการพิจารณาการกำหนดการเลือกตั้งใหม่ว่า กกต.ได้พิจารณาสาระสำคัญในคำวินิจฉัยกลางหน้า 20 ที่ระบุมูลเหตุความขัดแย้งและแตกแยก โดยเน้นความสงบเรียบร้อยถือเป็นสาระสำคัญอันดับหนึ่งในการจะกำหนดการเลือกตั้งใหม่ จาก พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ เดิมที่ยังไม่โมฆะ แต่ต้องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ให้ชอบด้วยกฎหมาย โดย กกต.มีมติให้เชิญฝ่ายความมั่นคงและพรรคการเมืองทั้ง 73 พรรคมาหารือ ก่อนจะพิจารณากำหนดวันเลือกตั้งต่อไป
นายภุชงค์กล่าวต่อว่า ช่วงเช้าวันที่ 8 เมษายน กกต. จะพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ว. ในรายที่ไม่มีการร้องคัดค้าน จากนั้นช่วง 14.00 น. จะเรียนเชิญฝ่ายความมั่นคงซึ่งประกอบด้วย ผบ.สส., ผบ.สามเหล่าทัพ, ผบ.ตร., เลขาธิการ สมช., ผอ.ศอ.บต., แม่ทัพภาคที่ 4, ผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค 8 และภาค 9, ปลัดกระทรวงกลาโหม, ปลัดกระทรวงมหาดไทย มาประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ความสงบที่สำนักงาน กกต. โดยขอความกรุณามาร่วมประชุมด้วยตนเอง เนื่องจาก กกต.จะขอปรึกษาหารือในเรื่องความสงบ เพราะหากความสงบไม่เกิดขึ้น จะมีโอกาสเสียหายได้อีก จากนั้นเชิญพรรคการเมือง 73 พรรคมาประชุมหารือร่วมกันในวันที่ 22 เม.ย. แล้ว กกต.จะประมวลความเห็นเพื่อเสนอวันเลือกตั้งต่อไป
เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า กกต.จะนำแนวทาง พ.ร.ฎ.การเลือกตั้งปี 2549 มาเทียบเคียง โดยกำหนดว่าเบื้องต้นขอเวลาเตรียมการ 30 วัน จากนั้นก็มีการประกาศ พ.ร.ฎ.บวกอีก 60 วัน รวมเป็น 90 วันอย่างน้อย แต่หากมีปัญหาความไม่สงบอยู่ก็อาจต้องขยับไปเป็น 120 วัน หรือ 150 วันตามสถานการณ์จริง เพราะไม่อย่างนั้นการเลือกตั้งอาจจะเสียไปเหมือนเมื่อคราว 2 ก.พ.ที่ผ่านมา รวมทั้ง กกต.ยังคงยึดนโยบายการจัดการเลือกตั้งที่จะต้องสงบเรียบร้อย บริสุทธิ์ยุติธรรม ต้องไม่เกิดการปะทะหรือเสียเลือดเนื้อ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น