วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เมื่อไทยเปลี่ยนจาก "ทางผ่าน" เป็น "เป้าหมาย" ก่อการร้าย!

วันศุกร์ ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555
 
"เราต้องยอมรับความจริงและเปลี่ยนยุทธศาสตร์ เพราะที่เคยเข้าใจว่าเราเป็นพื้นที่ทางผ่านของกลุ่มก่อการร้ายนั้น วันนี้เรากำลังกลายเป็นเป้าหมายแล้ว แม้จะยังไม่ใช่เป้าหมายสำคัญระดับสูง แต่ก็ต้องเตรียมรับมือ และยังมีโอกาสที่จะแก้ไขป้องกันได้" 
         
           คือทัศนะตรงไปตรงมาของ ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ที่กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" หลังเกิดระเบิด 3 จุดกลางกรุงเทพฯเมื่อวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมาจากฝีมือของกลุ่มผู้ต้องหาชาว อิหร่าน

           แม้เสียงระเบิดที่ดังขึ้นอาจมองได้ว่าเกิดจากความผิดพลาดบางประการ กับการบันดาลโทสะปาระเบิดใส่แท็กซี่และตำรวจ ทำให้รัฐบาลไทยยืนกรานว่านี่ไม่ใช่ "การก่อการร้าย" แต่ในมุมมองของ ดร.ปณิธาน แล้ว เขาเห็นว่างานนี้ปฏิเสธยาก 

           "ภาพของแท็กซี่ที่โดนปาระเบิดกลางถนนจนพังยับ มีคนถูกระเบิดนอนเลือดท่วม ทำให้ทุกคนเป็นกังวล รู้สึกถึงภัยคุกคาม จึงเข้าข่ายก่อการร้ายแล้ว เพราะการก่อการร้ายพุ่งเป้าทำให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนและสังคม รัฐบาลจะปฏิเสธอ้างว่าเป็นเรื่องตัวบุคคลแล้วเลี่ยงไปใช้คำอื่นก็ได้ มีคำให้ใช้เป็นร้อยๆ คำ เพราะทุกประเทศที่เจอแบบนี้ก็ไม่มีใครยอมรับ แต่มันไม่มีผลในแง่ความเชื่อมั่น"

           เมื่อประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะ "ก่อการร้าย" (แม้รัฐบาลจะไม่ยอมรับ) โจทย์ข้อต่อไปที่ต้องขบคิดก็คือ การยกเครื่องงานด้านความมั่นคง ซึ่งประเด็นนี้ ดร.ปณิธาน เห็นว่าต้องเร่งดำเนินการทันที

           "ข้อแรกต้องมีการสั่งการในเรื่องของการให้ข่าว และยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยเฉพาะหน้าให้รอบคอบ รัดกุม เป็นเอกภาพมากขึ้น สิ่งสำคัญคือการให้ข่าวต้องเป็นระบบ จะเห็นว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น ชั่วโมงแรกๆ การให้ข่าวสับสนมาก แต่มีข้อมูลในสังคมออนไลน์เต็มไปหมด ส่วนเจ้าหน้าที่ของเราผ่านไป 3-4 ชั่วโมงยังไม่สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอได้ ทำให้คนยิ่งตื่นตระหนก" 

           "เหตุระเบิดเมื่อวันที่ 14 ก.พ. โซเชียลมีเดียรู้เรื่องหมดเลย แต่ผู้ใหญ่ของเราไม่สามารถให้ทิศทางอะไรได้ และค่อนข้างสับสน พอมาพูดตอนหลังคนก็ไม่เชื่อแล้ว แต่สื่อสังคมออนไลน์ไปทั่วโลก ถ้าเป็นเหตุการณ์ในต่างประเทศเขาคุมภาพ คุมข่าว แต่ของเราจัดระบบไม่ได้เลย" ดร.ปณิธาน กล่าว และย้ำว่านี่คือแผนระยะสั้นที่ต้องยกเครื่องโดยด่วน

            ส่วนแผนระยะปานกลางและระยะยาว เขาอธิบายว่า ต้องกำหนดแนวทางการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจเอกชนและการท่องเที่ยว แต่ปัญหานี้ขึ้นกับทัศนคติเป็นสำคัญ ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำก่อน คือ ปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐ 

           "ปัญหาอยู่ที่ทัศนคติเป็นหลัก คนของเรามีพอสมควร งบประมาณก็ไม่มีปัญหา หากยกระดับบางหน่วย แล้วสนธิกำลังกันใหม่ก็น่าจะทำงานได้ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ทัศนคติ ต้องปรับให้ตรงกันว่าเราไม่ใช่แค่ทางผ่านแล้ว และระดับนโยบายต้องควบคุม ดูแล กำกับ ต้องยอมรับว่าในเชิงนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายของเราค่อนข้างหลวม รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงต้องมีบทบาท หากทำเหมือนนโยบายปราบปรามยาเสพติดก็จะเป็นระบบและได้ผล คิดว่าไม่ต้องลงทุนมากนัก เพราะเป็นเรื่องของทัศนคติและการบริหารจัดการมากกว่า" ดร.ปณิธาน กล่าว 

            ดร.ปณิธาน บอกอีกว่า ประเทศไทยมีกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มหัวรุนแรงเกือบ 20 กลุ่มเคลื่อนไหวอยู่ ที่ผ่านมาอาจจะแค่สำรวจเป้าหมาย แต่ครั้งนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าสั่งลงมือแล้ว ฉะนั้นหน่วยงานความมั่นคงต้องเปิดปฏิบัติการกวาดล้างใหญ่ ซึ่งแก๊งเหล่านี้มักพัวพันกับกลุ่มปลอมพาสปอร์ต เครือข่ายยาเสพติด และผู้หญิงหากิน จึงต้องกวาดในคราวเดียว จากนั้นก็จัดระบบรองรับภัยคุกคามใหม่

           ขณะที่มุมมองของฝ่ายตำรวจ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาต้องยกเครื่องงานตำรวจ แล้วหันมาใช้ยุทธศาสตร์ใหม่ คือ Community Policing หรือ "ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน" โดยตำรวจต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน ต้องเดินเข้าหาประชาชนในชุมชน เข้าไปบริการ รับใช้ เพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื้อใจ แล้วประชาชนก็จะให้ข้อมูลกับตำรวจ

           "ตอนนี้ตำรวจไทยมีปัญหามาก คือทำงานเฉพาะเมื่อมีคนมาแจ้ง ถือเป็นงานเชิงรับ ใครแจ้งมาก็ไปจับ เป็นปัญหาตั้งแต่ระดับโรงพักถึงระดับประเทศ อย่างกรณีการจับกุมชาวเลบานอนเมื่อเดือน ม.ค.และมีการระบุว่าเป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้าย ตำรวจเองก็ตอบไม่ได้ว่าใช่หรือไม่ ก็ต้องจับตามที่อิสราเอลหรือสหรัฐชี้ให้จับ เพราะเราไม่มีข้อมูลเพียงพอ ฉะนั้นบางเรื่องทำไปก็อาจส่งผลกระทบกับประเทศ แต่ถ้าเรามีข้อมูล เราทำงานจริง เราก็จะโต้ข้อมูลพวกนี้ได้หากไม่ใช่ของจริง"

            เขาอธิบายว่า หากตำรวจเข้าไปทำงานในชุมชน ก็จะรับรู้รับทราบความเป็นไปต่างๆ ในชุมชน รู้หมดว่าใครเป็นคนแปลกหน้าเข้ามา มีบ่อนอยู่ตรงไหน ใครอยู่ในเครือข่ายค้ายาเสพติดบ้าง วิธีการทำงานแบบนี้ลึกซึ้งกว่าการส่งสายตรวจออกตรวจเป็นวงรอบซึ่งไม่ได้ผล และจะต้องเชื่อมประสานกับโรงพัก มีระบบการจัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลที่ดี หากทำได้ตำรวจจะมีข้อมูลมหาศาล และเวลาดำเนินการจับกุมก็จะสาวถึงผู้บงการและผู้อยู่เบื้องหลังตัวจริง

            ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจาก ตร.ซึ่งเชี่ยวชาญงานด้านปราบปราม ให้ทัศนะเพิ่มเติมว่า งานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) มีส่วนสำคัญมากกับการป้องกันการก่อการร้าย โดยเฉพาะระบบคัดกรองชาวต่างชาติที่เข้าประเทศมา ต้องระบุถิ่นที่อยู่ที่ชัดเจนในประเทศไทยและตามตรวจสอบอย่างจริงจัง อาจทำให้เสียบรรยากาศการท่องเที่ยวไปบ้าง แต่ก็จำเป็น

            "กลุ่มก่อการร้ายหรือกลุ่มที่มีเป้าหมายกระทำการบางอย่าง มีจุดสังเกตคือจะไม่อยู่รวมกลุ่มกับคนชาติเดียวกันมากนัก ส่วนใหญ่จะปลีกตัวออกไป ฉะนั้นหากเราเกาะติดกลุ่มต้องสงสัยจริงๆ ก็จะทราบความเคลื่อนไหวตลอด แต่ถ้าไม่ได้เกาะติด เมื่อมีการแยกตัวก็ยากที่จะติดตาม" แหล่งข่าว ระบุ และว่าทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน หรือ Community Policing ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน

             ส่วนในมุมของทหาร พ.อ.ดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง นายทหารนักยุทธศาสตร์ กล่าวว่า เหตุระเบิดกลางกรุงเทพฯไม่ควรโทษหน่วยงานด้านการข่าว เพราะกลุ่มที่ปฏิบัติไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย และที่ผ่านมามาตรฐานงานรักษาความปลอดภัยของไทยก็ทำได้ดี ถึงจะยกระดับหรือยกเครื่องกันมากกว่านี้ก็ป้องกันไม่ได้ สิ่งสำคัญคือต้องให้องค์ความรู้แก่สังคม ให้เข้าใจว่าประเทศกำลังเผชิญกับความเสี่ยงอย่างไร จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น เมื่อประชาชนตระหนักก็จะส่งผลย้อนกลับมายังภาครัฐที่จะได้ทราบข้อมูลมากขึ้นไปเอง 
 
....................

เอ็กซเรย์ 3 กลุ่มก่อการร้าย
ใช้ไทยเคลื่อนไหว-กบดาน-พักผ่อน

           จากข้อมูลของ ดร.ปณิธาน เขาชี้ว่าประเทศไทยมีกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ เคลื่อนไหวในลักษณะใช้เป็นทางผ่าน กบดาน ซ่อนตัว และพักผ่อนมากถึงราว 20 กลุ่ม แต่สามารถแบ่งหยาบๆ เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ

           1.กลุ่มตะวันออกกลาง ได้แก่ ฮิซบอลเลาะห์ ฮามาส และพวกอาหรับเอ็กซ์ตรีมมิสต์ (อาหรับหัวรุนแรง) เช่น อียิปต์ ตูนีเซีย อัลจีเรียนคอนเนคชั่น รวมถึงอัลไกด้าแต่มีไม่มากนัก

           2.กลุ่มเอเชียใต้ ได้แก่ พยัคฆ์ทมิฬอีแลม (จากศรีสังกา) กลุ่มหัวรุนแรงในปากีสถาน บังคลาเทศ

           3.กลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อาบูไซยาฟ (ในฟิลิปปินส์) เจมาห์อิสลามิยาห์ หรือเจไอ (ในอินโดนีเซีย)

           นอกจากนั้นก็ยังมีกลุ่มอื่นๆ กระจัดกระจายอยู่บ้าง เช่น จากเอธิโอเปีย ตุรกี แต่ไม่ใช่กลุ่มก่อการร้ายโดยตรง แต่ทั้งหมดนี้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ถือเป็นลำดับต้นๆ ที่มีสมาชิกอยู่ในประเทศไทยจำนวนมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น