วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ไขปริศนา ระเบิดแม่เหล็ก จากอินเดีย จอร์เจีย ถึงไทย? เมื่อ 16 ก.พ.55



          "ปกติแล้วระเบิดแบบซีโฟร์จะใช้เกี่ยวกับการระเบิดหิน ในเมืองไทยก็หาได้ ซึ่งไม่ได้มีการต่อวงจรอะไรเลย เป็นการเอาแก๊ประเบิดมาเสียบเข้าไปเท่านั้นเอง การจุดระเบิดก็คือการดึงสลักออกอย่างเดียว เนื่องจากซีโฟร์เป็นสารระเบิดอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับการจุดระเบิด ในตัวของชนวนนั้นคือแก๊ป อาจจะมีการตั้งเวลาให้มีระยะเวลาที่จะทำให้แก๊ประเบิด พอแก๊ประเบิดก็จะไปขยายทำให้เกิดการระเบิดขึ้น"

          เป็นคำอธิบายจาก พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เกี่ยวกับรูปแบบของวัตถุระเบิดที่ประกอบใส่ไว้ในวิทยุเครื่องเล็กซึ่งตรวจพบเพิ่มเติมในบ้านเช่าของกลุ่มผู้ต้องหาชาวอิหร่าน เลขที่ 66 ซอยปรีดี พนมยงค์ 31 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร (กทม.) หลังเกิดระเบิดขึ้น 3 ครั้งกลางกรุงเมื่อวันที่ 14 ก.พ.และเชื่อมโยงกับผู้ต้องหากลุ่มนี้

          ประเด็นที่น่าสนใจก็คือรูปแบบของวัตถุระเบิดตามที่ ผบช.น.บอก เพราะตามข่าวระบุเพิ่มเติมว่ามีการพบลูกเหล็กที่ใช้เป็นสะเก็ดระเบิด กระเดื่องระเบิด รวมทั้งแม่เหล็กก้อนเล็กๆ ด้วย ซึ่งอุปกรณ์ลักษณะดังกล่าวไม่มีใช้กันในภูมิภาคนี้ ทำให้วัตถุระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบใส่ในวิทยุมีส่วนคล้ายกับ "ระเบิดแม่เหล็ก" หรือ "ระเบิดหนึบ" (Sticky Bomb) ที่ใช้ลอบทำร้ายนักการทูตอิสราเอลในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย และกรุงทิบลิซี ประเทศจอร์เจีย เพียง 1 วันก่อนหน้า

          ผบช.น.บอกว่าจะเร่งประสานทางการอิสราเอลเพื่อให้ช่วยตรวจสอบรูปแบบของวัตถุระเบิดว่าเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร...

          จากการตรวจสอบของ "กรุงเทพธุรกิจ" ได้ข้อมูลจากเว็บไซต์เดคคานเฮรัลด์ของอินเดียที่รายงานว่า "ระเบิดแม่เหล็ก" ที่ใช้ระเบิดรถของนักการทูตอิสราเอลประจำกรุงนิวเดลี เป็นระเบิดเล็กๆ ที่รู้จักกันในหลายชื่อในหลายประเทศ โดยแถบอาหรับเรียกระเบิดชนิดนี้ว่า "ออบวาห์ลาซิกา" ขณะที่ประเทศอื่นเรียกว่า "ระเบิดหนึบ" หรือ "ระเบิดแม่เหล็ก"

         
อุปกรณ์ที่ใช้ง่ายนี้กลายเป็นอุปกรณ์ที่กลุ่มเคลื่อนไหวโดยใช้ความรุนแรงหลายกลุ่มเลือกใช้ โดยเฉพาะกลุ่มในเอเชียตะวันตก

          เมื่อเดือนที่แล้ว นายอาห์มาดี โรชัน (นายมุสฏอฟา อะห์มาดี-รอสฮาน) นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ชาวอิหร่าน เพิ่งเสียชีวิตเพราะถูกระเบิดแม่เหล็กติดที่รถในกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน โดนชาย 2 คนที่มีรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ นำระเบิดแม่เหล็กลูกเล็กๆ 1 ลูกไปติดที่รถยนต์ของนายโรชันตอนที่รถอยู่บนถนนที่มีการจราจรคับคั่ง จากนั้นรถจักรยานยนต์ก็เร่งเครื่องออกไป ก่อนที่ระเบิดจะทำงาน คร่าชีวิตนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์คาที่

          วิธีลอบสังหารลักษณะนี้คล้ายคลึงกับวิธีลอบสังหารนักการทูตอิสราเอลในอินเดียและจอร์เจียด้วย

          นายโรชันเป็นนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์อิหร่านคนที่ 4 ที่เสียชีวิตจากเหตุลอบวางระเบิดลักษณะเดียวกันในกรุงเตหะรานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากนั้่นยังมีหลายเหตุการณ์ที่สะท้อนว่ากลุ่มต่างๆ อย่างกลุ่มฮามาส และกลุ่มที่ต่อต้านทหารอเมริกันในอิรัก ใช้อุปกรณ์นี้ในปฏิบัติการของกลุ่ม

          แนวโน้มที่กลุ่มติดอาวุธหันไปใช้ระเบิดแม่เหล็กในอิรักมีมากขึ้น สร้างความวิตกแก่เจ้าหน้าที่อิรักและทหารอเมริกันในปี 2552 ถึงขั้นที่คนเหล่านี้ต้องแจกจ่ายใบปลิวให้การศึกษาแก่ประชาชนถึงอันตรายของระเบิดประเภทนี้ โดย "ระเบิดหนึบ" ส่วนใหญ่ที่พบในอิรักนั้นเป็นระเบิดที่ประกอบขึ้นเอง

          ส่วนเหตุการณ์ลอบสังหารนักการทูตในอินเดียเมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา นายบีเค คุปตะ ตำรวจระดับสูงของกรุงนิวเดลี ยืนยันว่าอุปกรณ์ที่ใช้ระเบิดรถยนต์นักการทูตอิสราเอลเป็น "ระเบิดหนึบ" เช่นกัน

          "หากมีการติดระเบิดหนึบกับยานพาหนะ ระเบิดจะทำงานภายใน 5 วินาทีและสร้างความเสียหายอย่างมาก ถือเป็นระเบิดที่มีอานุภาพสูง เพราะมีการนำสารระเบิดไปติดกับแม่เหล็กอานุภาพสูง" นายคุปตะ ระบุ พร้อมเสริมว่ากลไกในการจุดระเบิดนั้นมีหลายรูปแบบ โดยสามารถใส่กลไกเพื่อให้ระเบิดทำงานเองหรือกดรีโมทให้ระเบิดก็ได้ ซึ่งเมื่อติดระเบิดเข้ากับยานพาหนะแล้ว จุดมุ่งหมายของผู้ก่อเหตุคือลงมืออย่างรวดเร็วและหลีกเลี่ยงความสนใจ

          ข้อมูลจากข่าวต่างประเทศสอดคล้องกับข้อมูลของเจ้าหน้าที่ไทย โดย พ.อ.ดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง นายทหารนักยุทธศาสตร์ชื่อดัง ระบุว่า วัตถุระเบิดที่คนร้ายชาวอิหร่านใช้ ถือเป็นเทคนิคใหม่ที่กลุ่มเคลื่อนไหวด้วยความรุนแรงนำมาใช้ในช่วง 2-3 ปีหลัง ซึ่งนับเป็นวิวัฒนาการของเทคนิคการก่อการร้ายซึ่งแบ่งหยาบๆ ได้เป็น 3 ช่วง 3 ยุค คือ

          1.ระหว่างปี ค.ศ.1960-1980 นิยมใช้วิธีจี้จับตัวประกัน

          2.หลังสงครามอ่าวเปอร์เซีย นิยมใช้วิธีลอบวางระเบิดขนาดใหญ่ หรือระเบิดฆ่าตัวตาย เพื่อสร้างความเสียหายต่อชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทรัพย์สิน และผลประโยชน์ของคู่สงคราม

          3.ในระยะ 2-3 ปีหลังได้เปลี่ยนเป้าหมายจากการสร้างความเสียหายขนาดใหญ่เป็นการประทุษร้ายบุคคลสำคัญ สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมาตรการรักษาความปลอดภัยของประเทศต่างๆ ดีขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ 911 (โจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในมหานครนิวยอร์ค) กลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่มจึงหันมามุ่งสังหารบุคคลแทน

          แต่กรณีของการใช้ระเบิดแม่เหล็ก เป็นการเลือกใช้ "ระเบิด" เป็นอาวุธสังหารแทน "ปืน"

          กระนั้นก็ตาม พ.อ.ดร.ธีรนันท์ มองว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นกลางกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 14 ก.พ.โดยกลุ่มคนร้ายชาวอิหร่าน ไม่น่ามีความเชื่อมโยงกับขบวนการก่อการร้าย เพราะวิธีการใช้ "ระเบิดแม่เหล็ก" ยังไม่มีขบวนการก่อการร้ายขบวนการไหนเคยใช้อย่างชัดแจ้ง ฉะนั้นจึงน่าจะเป็นการยืมวิธีการที่นักวิทยาศาสตร์ชาวอิหร่านถูกสังหารมา "ย้อนเกล็ด" แก้แค้นอิสราเอลซึ่งอิหร่านมองว่าอยู่เบื้องหลังมากกว่า 

          "การประกอบระเบิดด้วยเทคนิคแบบนี้ เคยใช้สังหารนักวิทยาศาสตร์ชาวอิหร่านมาแล้ว ซึ่งอิหร่านปักใจเชื่อว่าเป็นฝีมือของหน่วยราชการลับอิสราเอลและสหรัฐ ฉะนั้นเรื่องนี้จึงน่าจะเป็นการล้างแค้นของบางกลุ่มในอิหร่าน โดยอาจเชื่อมโยงกับการลอบสังหารนักการทูตอิสราเอลในอินเดียและจอร์เจีย เพราะรูปแบบมีความคล้ายคลึงกัน"

          นายทหารนักยุทธศาสตร์ ยังบอกด้วยว่า หากข้อมูลและสมมติฐานที่ตั้งขึ้นทั้งหมดเป็นความจริงและตอบโจทย์ได้ กลุ่มคนร้ายต้องมีมากกว่า 3 คนอย่างแน่นอน เพราะปฏิบัติการลักษณะนี้ต้องมีทีมงานอย่างน้อย 3 ทีม คือ 1.ทีมล่วงหน้า ทำหน้าที่เตรียมการ จัดหาที่พักและอุปกรณ์ 2.ทีมประกอบระเบิด และ 3.ทีมสังหารซึ่งประกอบด้วยคนขับรถจักรยานยนต์กับมือระเบิด

          ส่วนที่บางฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า การประกอบระเบิดโดยใช้แก๊ปเป็นชนวนติดกับซีโฟร์ แล้วใช้การดึงกระเดื่องหรือสลักระเบิดเพื่อให้ระเบิดทำงาน น่าจะไม่สามารถปฏิบัติจริงได้ เพราะใช้เวลาเพียง 4 วินาทีก็จะเกิดระเบิดขึ้นนั้น พ.อ.ดร.ธีรนันท์ กล่าวว่า แก๊ปที่ใช้สามารถตั้งถ่วงเวลาได้ 4-5 วินาที ฉะนั้นการลอบสังหารบุคคลในลักษณะนี้จึงต้องมีทีมรถจักรยานยนต์ เพราะใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะเพื่อความคล่องตัวในการหลบหนี

          อย่างไรก็ดี ยังมีข้อสังเกตที่น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดจากค่ายสีกากี เขาบอกว่าอุปกรณ์ประกอบระเบิดที่พบ ยกเว้นซีโฟร์และวิทยุเครื่องเล็ก เป็นอุปกรณ์ที่ไม่มีใช้ในประเทศไทยและหลายประเทศในภูมิภาคนี้ จึงน่าสงสัยว่ากลุ่มคนร้ายนำวัสดุเหล่านั้นมาจากไหน

          "ปกติกลุ่มพวกนี้จะเข้ามาตัวเปล่า มาสั่งซื้อหรือจัดหาอุปกรณ์ประกอบระเบิดในประเทศไทย แต่ในเมื่อตรวจพบอุปกรณ์ที่ไม่ใช่หาได้ทั่วไปในบ้านเราแบบนี้ ก็ต้องถามว่าวัสดุพวกนี้มาจากที่ไหน นำเข้ามาได้อย่างไร หรือว่ามีขบวนการอื่นหรือกลุ่มผู้มีอิทธิพลอื่นสนับสนุนในการหิ้ววัสดุเข้ามา ถ้าอย่างนั้นก็ต้องบอกว่าอันตราย และเครือข่ายที่เชื่อมโยงก็น่าจะใหญ่มาก" ผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิด กล่าว

          ถือเป็นอีกหนึ่งข้อสังเกตที่ย้อนกลับไปยังฝ่ายความมั่นคงทุกหน่วยให้เร่งยกเครื่องงานด้านรักษาความปลอดภัยอย่างจริงๆ จังๆ เสียที! 



///////////////////////////////////////////////

เนื่อหาข่าวจากต่างประเทศโดย สุดา มั่งมีดี บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ กรุงเทพธุรกิจ

ภาพโดย ศูนย์ภาพเนชั่น 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น