เหล่าทัพขยับแผน 3 เตรียมอพยพคน หลังพนังกั้นน้ำรอบทิศรั่วถี่ขึ้น ทร.เตรียมแผนฉุกเฉิน หนีไม่ทันเส้นทางรถถูกตัดขาด ใช้เรือรับคนไปรวมที่ รร.นายเรือฯ ก่อนใช้เรือยกพลขึ้นบกส่งออกทะเลไปชลบุรี พร้อมจัดชุดเฝ้าระวังศิริราช 24 ชม. ฝั่งตะวันตกหนัก ทบ.ส่งทหารช่วย ทร.ซ่อมคันกั้นน้ำทวีวัฒนา
เมื่อวันที่ 29 ต.ค. มีสัญญาณที่น่าสนใจต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเฉพาะการเปิดเผยของเหล่าทัพในการเตรียมพร้อมแผนอพยพคนออกจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร สัญญาณบ่งชี้อีกประการคือการพังทลาย หรือการเกิดรอยรั่วพนังกั้นน้ำ และแนวคันกั้นน้ำในหลายจุดทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก แม้กองทัพจะส่งกำลังพลเข้าไปลาดตระเวนเฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ก็ยังเกิดปัญหาขึ้นตลอดแนว ส่วนสถานการณ์น้ำด้านตะวันตกซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือ ปรากฏว่าได้มีการเสริมกำลังจากกองทัพบกเข้าไปช่วยสนับสนุนเพิ่มเติมแล้ว โดยกองทัพเรือได้จัดแผนอพยพฉุกเฉินในกรณีที่ประชาชนไม่สามารถอพยพออกมาจากพื้นที่ได้ทัน
พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพได้ดำเนินการตามแผนช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยและดูแลป้องกันอาคารสถานที่สำคัญในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่จัดทำไว้ 4 ขั้นตอน โดยขั้นตอนที่ 3 การอพยพประชาชนนั้น กองบัญชาการกองทัพไทยได้วางแผนเคลื่อนย้ายผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่จุดเสี่ยง ได้แก่ บริเวณแนวคันกั้นน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก รวมทั้งพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ จ.ปทุมธานี, จ.สมุทรปราการ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ
กห.ร่วมเหล่าทัพใช้แผนอพยพ
พ.อ.ธนาธิปกล่าวว่า เพื่อไม่ให้เกิดความโกลาหลและความสับสนเมื่อเกิดเหตุ ได้แบ่งเป็น 3 ขั้น คือขั้นที่ 1 เตรียมการ (ดำเนินการตั้งแต่ปัจจุบัน) ในพื้นที่ กทม. กำหนดให้ผู้อำนวยการเขต/หัวหน้าแขวงเป็นผู้รับผิดชอบ และในพื้นที่ปริมณฑลกำหนดให้หัวหน้าเขตหรือนายอำเภอเป็นผู้รับผิดชอบ โดยดูแลในการวางระบบ การแจ้งเตือน การเคลื่อนย้ายผู้ประสบอุทกภัย รวมทั้งกำหนดจุดนัดพบขั้นต้น กองทัพประสานกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเพื่อสนับสนุนกำลังพล ยานพาหนะ ยุทโธปกรณ์ พร้อมเครื่องมือจำเป็น นำผู้ประสบอุทกภัยเคลื่อนย้ายออกมาจากพื้นที่ประสบภัยไปยังตำบลรวบรวม จากนั้นกระทรวงคมนาคมจะรับผิดชอบนำผู้อพยพไปยังศูนย์พักพิงใน 9 จังหวัด ประกอบด้วย จ.กาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี, สมุทรสาคร, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, นครราชสีมา, นครนายก และสมุทรปราการ ที่รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมเอาไว้แล้ว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดูแลในเรื่องการจราจร รวมทั้งดูแลบ้านเรือนทรัพย์สินของผู้อพยพ
โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า ขั้นที่ 2 คือ ปฏิบัติการ (ดำเนินการเมื่อได้รับการแจ้งเตือนให้เคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่) โดยเคลื่อนย้ายประชาชนจากพื้นที่ประสบภัย ไปยังพื้นที่รวบรวมผู้ประสบอุทกภัย คัดกรองผู้ประสบภัยที่ต้องการเดินทางไปพักอาศัยในที่แห่งอื่นๆ รวมทั้งเคลื่อนย้ายผู้ประสบอุทกภัยที่สมัครใจไปยังศูนย์พักพิงที่กำหนดไว้ ดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดในคู่มือการบริหารจัดการศูนย์พักพิง ซึ่งจัดทำโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ที่กำหนดให้มีสิ่งอุปโภค-บริโภค และของใช้จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันให้ทั่วถึงและพอเพียง รวมทั้งจัดชุดปฏิบัติการจิตวิทยาดูแลสุขภาพจิตผู้ประสบอุทกภัยเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด ขั้นที่ 3 การส่งกลับ (ดำเนินการเมื่อสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลคลี่คลาย) โดยจะดำเนินการเคลื่อนย้ายผู้ประสบอุทกภัยกลับเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อดำเนินชีวิตตามปกติต่อไป ขั้นตอนที่ 4 การฟื้นฟู ได้มอบหมายให้กองบัญชาการกองทัพไทยเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการร่วมกับ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ต้องใช้กำลังทหารเข้าแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในหลายเขต กทม.ที่มีการชำรุดของพนังกั้นน้ำ รวมทั้งการเอ่อล้นของแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงริมฝั่งน้ำ และการเอ่อล้นของน้ำในลำคลอง โดยได้เสริมกำลังทหาร "กองร้อยบรรเทาสาธารณภัย" เข้าประจำในพื้นที่ กทม.ฝั่งตะวันตก เพื่อให้สามารถเข้าแก้ไขสถานการณ์น้ำได้ทันที ขณะนี้กำลังเสริมดังกล่าวได้เข้าประจำพื้นที่แล้ว ได้แก่ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีกรุงธน พร้อมดูแลเขตภาษีเจริญและเขตบางแค, ประจำที่ โรงเรียนศาลเจ้า พร้อมดูแลเขตบางขุนเทียน,ประจำที่
สนง.ขนส่งพื้นที่ 2 พร้อมดูแลเขตตลิ่งชัน และ ประจำที่วิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี พร้อมดูแลเขตทวีวัฒนา
ส่วนงานด้านการเสริมและซ่อมคันกั้นน้ำ กองทัพบกยังคงส่ง หน่วยทหารช่างพร้อมยุทโธปกรณ์ เข้าดำเนินงานในพื้นที่สำคัญได้แก่ เขตทวีวัฒนา ได้ส่งทหารช่าง พร้อมรถโกยตัก/เรือทุ่น เข้าช่วยวางแผ่นเหล็กปิดช่องว่างและทำคันกันน้ำบริเวณคลองมหาสวัสดิ์ ตั้งแต่กลางดึกเมือคืนวันที่ 28 ตุลาคม 54 เพื่อชะลอและกั้นไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนใกล้เคียง ขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการซึ่งอาจต้องใช้เวลา 1-2 วันจึงจะเสร็จ และยังคงหน่วยทหารช่างและยุทโธปกรณ์ เสริมความแข็งแรงและเฝ้าระวังคันดินกั้นน้ำบริเวณคลองแปด
"ตลอดวัน ทหารเข้าแก้ไขสถานการณ์น้ำในหลายพื้นที่ ได้แก่ เขตบางซื่อ ได้เข้าเสริมแนวกระสอบทรายบริเวณประตูน้ำคลองซุง เนื่องจากน้ำทะเลหนุนระดับน้ำสูง 2.79 ม. ล้นท่วมถนนพิบูลย์, เขตดุสิต บริเวณแยกบางกระบือ น้ำล้นคันกั้นน้ำไหลเข้าท่วมถนนสามเสน ซอยสามเสน 21-23 ระดับน้ำ 20-80 ซม.จึงต้องส่งทหาร 100 นายนำกระสอบทรายเสริมคันกั้นน้ำ บังคับน้ำไหลลงท่อระบายน้ำจนสถานการณ์ปกติ, จัดกำลังพลซ่อมและเสริมพนังกั้นน้ำบริเวณ ชุมชนท่าวัง หน้าวัดมหาธาตุ ชุมชนท่าเตียน, ส่วนพื้นที่คลองหกวา ส่งทหาร 5 กองร้อยบรรเทาสาธารณภัย เฝ้าระวังและเสริมความแข็งแรงของพนังกั้นน้ำอย่างเต็มที่ โดยปรับปรุงแนวกระสอบทรายให้สูงและรองรับสถานการณ์น้ำได้ และในช่วงบ่ายมีการชำรุดของคันกั้นน้ำยาว 10 เมตร หน้าโรงเรียนฤทธิยะวรรณลัย 2 ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เข้าซ่อมแซมทันทีแล้ว ส่วนพื้นที่หลักหก ที่เป็นปราการสำคัญในการรับน้ำ ยังคงกำลังทหารดูแลคันกั้นน้ำและติดตามระดับน้ำตลอดเวลา โดยระดับน้ำ ณ คันกั้นน้ำที่ประตูระบายน้ำหลักหกวันนี้ สูงประมาณ 4.02 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ต่ำกว่าระดับแนวกระสอบทราย 21 เซนติเมตร"
ให้ สัสดี 4จ.รับน้ำเฝ้าระวังเข้ม
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวว่า การช่วยอพยพประชาชนออกจากพื้นที่น้ำท่วมและ พื้นที่เสี่ยงของ กทม.ยังคงดำเนินการตลอดทั้งวัน โดยได้ส่งรถบรรทุก 9 คัน ร่วมกับเขตสายไหม อพยพประชาชน 840 คน จากศูนย์พักพิงของเขตฯ ไปที่รวมพล รร.วัดหนองใหญ่ เพื่อไปพักพิงต่อที่วิทยาลัยพลศึกษา จ.ชลบุรี, จัดยานพาหนะ รับผู้ประสบอุทกภัยจากศูนย์พักพิง รร.ฤทธิยะวรรณลัยประถม จำนวน 500 คน ไปยังศูนย์พักพิง รร.วัดหนองใหญ่ รวมทั้งได้ส่งชุดประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนให้ประชาชนอพยพออกจากพื้นที่น้ำท่วมสูงในเขตดอนเมือง ไปยังจุดอพยพ เพื่อเคลื่อนย้ายไปจุดพักพิงนอกพื้นที่ต่อไป พร้อมกับได้นำเครื่องใช้และเครื่องนอนแจกจ่ายให้กับผู้อพยพตามจุดพักพิงใน อ.พุทธมณฑล จ. นครปฐม และขนย้ายประชาชนมายังจุดพักพิงชั่วคราวที่ มหามกุฎราชวิทยาลัย อย่างต่อเนื่อง
"ปริมาณน้ำได้แผ่กระจายกว้างยิ่งขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยประชาชนรับสถานการณ์ได้ทัน กองทัพบกได้กำชับให้หน่วยทหารที่รับผิดชอบพื้นที่ เขตลาดพร้าว, วังทองหลาง, จตุจักร เร่งช่วยประชาชนเพิ่มความแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำในชุมชน เพราะขณะนี้ได้เริ่มมีน้ำท่วมขังเป็นบางจุดแล้ว นอกจากนี้ยังให้หน่วยสัสดีทุกอำเภอในพื้นที่ จ.นครนายก, ฉะเชิงเทรา, ปราจีนบุรี และ สมุทรสาคร ที่เป็นพื้นที่รับน้ำ ได้ประสานและร่วมติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้พร้อมเข้าช่วยเหลือประชาชนทันที และในวันนี้ กองทัพบกสิงคโปร์ได้มอบเรือ จำนวน 45 ลำ ให้กองทัพบกเพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนต่อไปด้วย" รองโฆษก ทบ.กล่าว
ที่หอประชุมกองทัพเรือ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า กรมอู่ทหารเรือได้จัดทำแพลอยน้ำวางตามจุดต่างๆ เพื่อเป็นศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ส่วนสถานการณน้ำพื้นที่ฝั่งตะวันตกที่มีปัญหาน้ำมากในขณะนี้ว่า กองทัพเรือก็เร่งไปดูแล ส่วนการอพยพประชาชนในพื้นที่เราทำแผนไว้แล้วตามเขตต่างในกรุงเทพมหานคร ได้ทำบัญชีไว้หมดว่ามีที่ใด เมื่อรัฐบาลสั่งการกองทัพเรือพร้อมดำเนินการ ตอนนี้กองทัพเรือเตรียมไว้ทั้งรถยนต์ และ เรือพร้อมแล้ว แต่การอพยพต้องขึ้นอยู่กับตัวผู้อพยพด้วยว่าเขาต้องการจะไปหรือไม่ นอกจากนี้ กองทัพเรือยังมีแผนอพยพคนทางทะเลในกรณีที่เส้นทางคมนาคมถูกตัดขาดหมด โดยจะใช้รถยนต์ที่ลุยน้ำได้ไปช่วยเหลือประชาชนออกมาจากพื้นที่ก่อน แล้วนำมาพักที่โรงเรียนนายเรือ จ.สมุทรปราการ เพื่อนำไปขึ้นเรือยกพลขึ้นบกแล้วไปส่งที่ จ.ชลบุรี หรือจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
ในส่วนของการช่วยเหลือประชาชนนั้น กองทัพเรือ ได้จัดกำลังพลให้ความช่วยเหลือประชาชนในหลายพื้นที่ ทั้งในพื้นที่ อำเภอบางกรวย อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี อำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม 16 เขตของกรุงเทพมหานคร รวมถึง จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมทั้งเฝ้าดูพื้นที่เสี่ยงในหลายจุด เช่น คลองทวีวัฒนา คลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ ประตูระบายน้ำที่สำคัญ โดยเฉพาะพนังกั้นน้ำที่เสียหายบริเวณวัดปุรณาวาสจนมีน้ำทะลักเข้ามาในเขตทวีวัฒนา และอำเภอศาลายา ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างในกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก รวมถึงพนังกั้นน้ำในเขตบางพลัดที่พังลง กองทัพเรือได้จัดกำลังพลเร่งดำเนินการซ่อมทำอย่างเร่งด่วน
สำหรับพื้นที่สำคัญ คือ โรงพยาบาลศิริราชนั้น กองทัพเรือได้จัดชุดเฝ้าระวัง และติดตามระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณพื้นที่ โรงพยาบาลศิริราช จัดชุดตรวจแนวผนังกั้นน้ำ บริเวณโดยรอบ ตลอด 24 ชั่วโมง จัดชุดเคลื่อนที่เร็วพร้อมปฏิบัติที่โรงพยาบาลศิริราช 180 นาย นอกจากนั้นยังได้จัดกำลังพลดำเนินการวางแนวกระสอบทรายคันกั้นน้ำชั้นในสูง 3.5 เมตร และเสริมคันกั้นน้ำชั้นนอกสูง 3 เมตร
เตรียมเรือ"ยกพลขึ้นบก"ขนคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแผนอพยพคนทางทะเลของกองทัพเรือนั้น ได้จัดเตรียมรถบรรทุกขนาดใหญ่ไปรับประชาชนตามจุดต่างๆ ที่ได้จัดไว้ จากนั้นจะนำประชาชนไปที่โรงเรียนนายเรือ สมุทรปราการ เพื่อลำเลียงประชาชนไปยังจังหวัดต่างๆ โดยจะมีเรือหลวงและเรือยกพลขึ้นบกเป็นหน่วยลำเลียงประชาชนออกไป โดยมีจุดที่นำส่งคือท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือสัตหีบ เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางต่อไปได้
ทั้งนี้ หากน้ำท่วมร้ายแรงจนไม่สามารถใช้รถยนต์มารับประชาชนได้ตามปกติ ก็จะเตรียมแผน 2 คือการนำประชาชนออกจากพื้นที่โดยใช้เรือ ทั้งของราชการและเอกชน โดยจะให้ประชาชนไปรอยังท่าเรือต่างๆ ในกทม. เช่น ท่าเรือเทเวศร์, ท่าเรือกรุงธนฯ, ท่าเรือท่าช้าง, ท่าเรือสะพานพุทธ, ท่าเรือวัดระฆัง และ ท่าเรือสาทร เป็นต้น เพื่อนำไปที่โรงเรียนนายเรือและจะได้นำประชาชนไปส่งยังจุดนำส่งเช่นกัน โดยมีหน่วยรับผิดชอบหลักคือ หน่วยยกพลขึ้นบกของกองทัพเรือ ที่มีความเชี่ยวชาญในการเคลื่อนย้ายกำลังพลและประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติ แต่แผนนี้จะใช้เป็นแผนสุดท้ายเมื่อสถานการณ์ถึงขั้นวิกฤติจริงๆ ทั้งนี้ จากการประมาณสถานการณ์ของกองทัพเรือในขณะนี้อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องใช้แผนอพยพคนทางทะเล แต่ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมไว้ เพราะเมื่อเกิดเหตุขึ้นมาจริงๆ จะได้สามารถจัดการแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดความวุ่นวาย
พล.อ.ต.มณฑล สัชฌุกร โฆษกกองทัพอากาศ กล่าวว่า พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์? ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้เรียกประชุมหน่วยขึ้นตรงของกองทัพอากาศ?เพื่อติดตามภารกิจการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยล่าสุด ทางท่าอากาศยานได้ยินดีที่จะให้กองทัพอากาศนำอากาศยานขึ้นลงในพื้นที่ท่าอากาศยานได้ตามปกติ หลังจากที่มีคำสั่งยกเลิกให้นำอากาศยานขึ้น-ลงเพราะเกิดน้ำท่วมขังในบริเวณ ดังกล่าว ทั้งนี้ กองทัพอากาศพร้อมสนับสนุนภารกิจของ ศปภ. ในการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ส่วนอากาศยานที่ได้ลำเลียงไปไว้ในพื้นที่ต่างๆ ของกองทัพอากาศ ก็มีความพร้อมในการสนับสนุนทุกภารกิจ รวมถึงยานพาหนะต่างๆ ก็พร้อมในการช่วยเหลือประชาชนด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ อากาศยานที่บันทึกภาพสถานการณ์น้ำท่วมก็ยังคงปฏิบัติภารกิจอยู่เช่นกัน เพื่อนำข้อมูลส่งให้กับทาง ศปภ.
พล.อ.ต.มณฑล กล่าวอีกว่า ส่วนโรงพยาบาลภูมิพลขณะนี้ยังเปิดรักษาให้กับประชาชนทั่วไปตามปกติ แต่จะไม่รับผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือ ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มสูงขึ้น เกรงว่าน้ำจะทะลักเข้าไปยังห้องใต้ดินที่เป็นศูนย์รวมเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีสวิชต์ไฟฟ้าอีกจำนวนมาก จึงต้องเร่งป้องกันอย่างเต็มที่ พร้อมกับยืนยันว่าทางโรงพยาบาลไม่ได้ขาดแคลนออกซิเจนตามที่มีข่าว นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยจำนวน 20 ราย ที่จะต้องลำเลียงออกจากโรงพยาบาล โดยได้มีการติดต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นเพื่อรับช่วงในการรักษาต่อไป โดยเบื้องต้นได้ติดต่อประสานงานกับแพทย์ฉุกเฉินของ ศปภ.แล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น