วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

บทความพิเศษ: ยุทโธปกรณ์ทางทหารกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม


รถบรรทุกทางทหาร (ภาพจาก AP)
สถานการณ์น้ำท่วมที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 50 ปีของประเทศไทยนั้นได้สร้างความเสียหายถึงกว่าสองแสนล้านบาท และคร่าชีวิตคนไทยไปเกือบ 300 คน ถือได้ว่าเป็นภัยธรรมชาติที่มีความร้ายแรงมากที่สุดนับจากเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิเมื่อปี 2547 เป็นต้นมา

ในเหตุการณ์นี้ กองทัพได้มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการประยุกต์ใช้เทคนิค อุปกรณ์ และยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ในกองทัพนำมาใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย บทความนี้จึงขอนำเสนอเทคโนโลยีบางอย่างที่กองทัพจะสามารถนำมาใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมได้ และเทคโนโลยีบางประเทศก็ได้ถูกนำมาใช้แล้ว
1. ยานยนต์ทางทหารเพื่อความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่

ในการทำสงครามนั้น กองทัพอาจจำเป็นต้องเดินทัพไปตามภูมิประเทศที่ทุรกันดาร อาจจะต้องข้ามภูเขา ลำห้วย หรือแม่น้ำ เพื่อเคลื่อนกำลังไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ ยานยนต์ทางทหารบางแบบจึงได้รับการออกแบบมาให้สนับสนุนการเคลื่อนที่แบบนี้ เช่นรถวางสะพาน ซึ่งเป็นรถเกราะที่สามารถดัดแปลงตัวเองไปเป็นสะพานได้ภายในเวลาไม่นาน เช่นในระหว่างอิสราเอลและอาหรับนั้น กองทัพอิยิปต์สามารถเดินทัพข้ามคลองสุเอชได้โดยอาศัยการวางสะพานเร่งด่วนเพื่อลำเลียงรถถังเข้าสู่คาบสมุทรไซนาย

กองทัพบกมีรถวางสะพานแบบ Type 84 เข้าประจำการ ซึ่งยังคงมีจำนวนน้อยอยู่ แต่ถ้าเกิดกรณีที่สะพานขาดและต้องการสร้างสะพานอย่างเร่งด่วน กองทัพบกก็สามารถใช้รถวางสะพานแบบนี้ในการสร้างสะพานฉุกเฉินได้เช่นกัน

นอกจากนั้นยังมีรถบรรทุกทางทหารต่าง ๆ ซึ่งมีขนาดใหญ่และสามารถนำมาใช้ในการลำเลียงความช่วยเหลือและรับผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่ที่รถเล็กไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยรถที่เรารู้จักกันดีด้วยการเรียกชื่อเล่นเช่นรถ GMC ของสหรัฐอเมริกาหรือรถ UNIMOG ของ Mercedes-Benz ประเทศเยอรมัน หรือรถสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Isuzu เป็นต้น ซึ่งรถเหล่านี้เป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ มีขนาดตั้งแต่ 1.25 ตัน 2.5 ตัน ไปจนถึง 5 ตัน สามารถบรรทุกอุปกรณ์ได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นน้ำ น้ำมัน หรือบรรทุกทั่วไป ซึ่งเรามักจะเห็นรถเหล่านี้ตามภาพข่าวต่าง ๆ ในช่วงน้ำท่วมเสมอ

2. รถเกราะหรือรถสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก

กองทัพบกและกองทัพเรือมีรถเกราะและรถสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกอยู่หลายแบบ บางแบบมีคุณสมบัติในการเคลื่อนที่ในน้ำได้ เช่นรถเกราะล้อยาง BTR-3E1 ของกองทัพบกและกองทัพเรือ หรือรถสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกแบบ AAV ของกองทัพเรือ โดยรถเกราะแบบ BTR-E1 นั้นผลิตในประเทศยูเครน กองทัพบกมีโครงการจัดหาเข้าประจำการจำนวน 216 คัน และจะจัดหาเพิ่มเติมจนครบ 288 คันหรือ 1 กรมทหารราบยานเกราะ ซึ่งจะเข้าประจำการที่กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ รวมถึงกองพลนาวิกโยธินของกองทัพเรือ รถเกราะแบบนี้แท้จริงแล้วเป็นรถเกราะที่ใช้งานบนพื้นดิน โดยมีหน้าที่บรรทุกทหารราบเข้าไปใกล้เป้าหมายให้มากที่สุดก่อนที่จะปล่อยทหารราบลงยึดเป้าหมาย จากนั้นรถเกราะจึงจะทำการยิงสนับสนุนทหารราบในการยึดเป้าหมาย แต่รถเกราะ BTR-3E1 มีคุณสมบัติพิเศษคือมีเครื่องยนต์เวอเตอร์เจ็ต (Water Jet) ทำให้สามารถเคลื่อนที่ในน้ำได้ด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เช่นเดียวกับรถสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกแบบ AAV ซึ่งกองทัพเรือมีเข้าประจำการ โดยรถ AAV จะต่างจากรถ BTR-3E1 ก็คือรถ AAV ถูกออกแบบมาให้วิ่งในน้ำจากเรือยกพลขึ้นบกเพื่อนำนาวิกโยธินขึ้นสู่ฝั่ง แต่ตัวรถก็มีล้อสายพานที่ทำให้สามารถปฏิบัติการบนบทได้เหมือนกับรถเกราะทั่วไป

3. เรือขนส่ง เรือปฏิบัติการพิเศษและเรือจู่โจมลำน้ำ

ในสภาพที่น้ำท่วมสูงจนปกคลุมพื้นที่ไปทั่ว รถไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ ทางเลือกอย่างเดียวคือการใช้เรือ ซึ่งกองทัพเรือนั้นมีเรืออยู่หลายแบบ เช่นเรือยกพลขึ้นบก หรือเรือระบายพลขนาดเล็ก (LCVP) ที่เข้ามาช่วยลำเลียงหินเข้าไปซ่อมประตูระบายน้ำบางโฉมศรีในจังหวัดลพบุรี เรือ LCVP ลำนี้เป็นเรือย่อยที่จะประจำการอยู่บนเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ (LST) คือเรือหลวงสุรินทร์ โดยในการปฏิบัติการทางทหารนั้น เรือหลวงสุรินทร์จะปล่อยเรือ LCVP เพื่อนำนาวิกโยธินขึ้นสู่ชายหาดในการยกพลขึ้นบก จึงทำให้เรือ LCVP มีคุณสมบัติที่สามารถบรรทุกคนและสิ่งของได้มาก และยังสามารถเปิดหัวเรือเพื่อเข้าเกยกับฝั่งในการรับส่งสิ่งของได้ ดังจะเห็นได้จากการซ่อมประตูระบายน้ำบางโฉมศรีนั่นเอง




เรือ LCVP ที่ซ่อมประตูระบายน้ำบางโฉมศรี
นอกจากนั้นยังมีเรือจู่โจมลำน้ำซึ่งปกติจะใช้ลาดตระเวนในแม่น้ำโขง ก็สามารถนำมาใช้ในการเข้าช่วยเหลือประชาชนตามบ้านเรือนได้เช่นกัน เนื่องจากเรือมีความเร็วสูงและมีความคล่องตัวมาก รวมไปถึงเรือปฏิบัติการพิเศษที่กองทัพเรือส่งเข้าช่วยเหลือประชาชนครบทั้ง 4 ลำ (หมายเลข พ.51-54) ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว เรือปฏิบัติการพิเศษนั้นจะใช้ในการส่งหน่วยซีลหรือหน่วยลาดตระเวนของนาวิกโยธินขึ้นสู่ฝั่งหรือรับกลับจากการปฏิบัติภารกิจ โดยเรือมีคุณสมบัติคือใช้เครื่องยนต์วอเตอร์เจ็ตในการขับเคลื่อน ทำให้มีความเร็วสูง เรือสามารถเปิดส่วนหัวเป็นช่องเล็ก ๆ เพื่อให้คนเข้าออกได้ และท้ายเรือสามารถรับเรือยางได้ โดยเรือยางสามารถขับขึ้นไปบนเรือขณะที่เรือวิ่งอยู่ได้เลย ซึ่งทำให้มีความสะดวกและคล่องตัวสูงมากในการช่วยเหลือประชาชนในครั้งนี้

ซึ่งเป็นที่น่าภูมิใจว่าเรือส่วนใหญ่ที่เข้ามาช่วยประชาชนในครั้งนี้เป็นเรือที่ประเทศไทยต่อขึ้นใช้งานเอง


เรือปฏิบัติการพิเศษ
4. เครื่องบินลำเลียง

กองทัพทั้งสามเหล่ามีเครื่องบินลำเลียงหลากหลายขนาดและหลากหลายแบบ ซึ่งในเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ได้นำมาใช้ในการลำเลียงสิ่งของที่จำเป็นสำหรับผู้ประสบภัย รวมถึงมีขีดความสามารถในการลำเลียงผู้บาดเจ็บกลับมาได้ด้วย เช่นเครื่องบินลำเลียง C-130 ของกองทัพอากาศซึ่งสามารถลำเลียงสัมภาระได้ถึง 33 ตัน นอกจากนั้นยังมีเครื่องบินลำเลียงแบบ BT-67 หรือเครื่องบินโดยสารแบบ ATR-72 ของกองทัพอากาศซึ่งสามารถนำมาใช้ทั้งการลำเลียงสัมภาระและการนำส่งผู้ประสบภัยหรือทีมช่วยเหลือได้

สำหรับกองทัพเรือนั้นมีเครื่องบินลำเลียงแบบ Fokker F-27 และเครื่องบินลำเลียงแบบ Do-228 รวมถึงกองทัพบกที่มีเครื่องบินลำเลียงแบบ C-212 และทั้งสองเหล่าทัพยังมีเครื่องบินโดยสารแบบ EMB-135 ซึ่งเมื่อไม่ได้ใช้งานในภารกิจการรับส่งบุคคลสำคัญแล้ว สามารถนำมาใช้ในการลำเลียงผู้บาดเจ็บหนักได้ เนื่องจากมีอุปกรณ์ทางการแพทย์พร้อมอยู่บนเครื่องบิน

5. เฮลิคอปเตอร์

นอกจากเครื่องบินลำเลียงแล้ว กองทัพไทยยังมีเฮลิคอปเตอร์จำนวนมาก ที่มากที่สุดคือเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป UH-1H หรือที่รู้จักกันในนาม Huey (ฮิวอี้) ซึ่งกองทัพบกและกองทัพอากาศมีฮิวอี้ที่ใช้งานได้รวมกันเกือบ 50 ลำ ฮิวอี้นั้นเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่มีใช้งานมากในสงครามเวียดนาม และสหรัฐอเมริกามอบให้กับประเทศไทยในโครงการช่วยเหลือทางทหารเมื่อหลายสิบปีก่อน รวมถึงมีการจัดหาเองจำนวนหนึ่ง


UH-1H ของกองทัพอากาศ
นอกจากฮิวอี้แล้วยังมีเฮลิคอปเตอร์ตระกูล Bell เช่น Bell 212 ของกองทัพบกและกองทัพเรือ Bell 412 ของกองทัพอากาศ นอกจากนั้นกองทัพบกยังมีเฮลิคอปเตอร์แบบ UH-60L Black Hawk ที่มีประสิทธิภาพสูงและ CH-47D Chinook ที่สามารถลำเลียงสัมภาระและผู้ประสบภัยได้เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เฮลิคอปเตอร์ทั้งสองแบบสามารถหิ้วสัมภาระใต้ตัวเครื่องได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ เฮลิคอปเตอร์หลายแบบยังติดตั้งรอกกู้ภัย (Hoist) ซึ่งเป็นรอกสลิงที่สามารถหย่อนสัมภาระหรือผู้ช่วยเหลือลงไปช่วยหิ้วผู้ประสบภัยขึ้นมาบนเฮลิคอปเตอร์ได้อีกด้วย ดังที่เราเห็นในภาพข่าวอยู่เสมอ ๆ

6. เครื่องบินลาดตระเวนและอากาศยานไร้คนขับ

กองทัพอากาศและกองทัพบกมีเครื่องบินลาดตระเวนหลายแบบที่สามารถประยุกต์ใช้กับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ เช่น กองทัพอากาศได้ส่งเครื่องบินแบบ AU-23A Peacemaker และ DA-42 MPP ซึ่งติดกล้องอินฟาเรด (FLIR) เข้าลาดตระเวนค้นหาผู้ที่ยังติดอยู่ตามที่ต่าง ๆ ในพื้นที่น้ำท่วม โดยกล้อง FLIR นี้มีคุณสมบัติพิเศษคือ สามารถมองเห็นได้ในที่มืด โดยใช้การจับรังสีอินฟาเรดจากความร้อนของร่างกายของคนให้ไปปรากฏอยู่บนหน้าจอของเครื่องบิน จึงทำให้นักบินทราบได้ว่ามีผู้ประสบภัยติดอยู่ที่ได้บ้าง

นอกจากนั้นกองทัพอากาศยังมีอากาศยานไร้คนขับหรือ UAV แบบ aerostar ซึ่งเป็นเครื่องบินลาดตระเวนที่ไม่ต้องมีคนขับอยู่บนเครื่อง แต่ใช้คนบังคับอยู่บนพื้น หรือแม้กระทั่งการบินโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้การควบคุมเลย เช่นเดียวกับกองทัพบกที่มีอากาศยานไร้คนขับแบบ Searcher ซึ่งติดตั้งทั้งกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูงและกล้อง FLIR ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ในการค้นหาผู้รอดชีวิตและสำรวจพื้นที่ความเสียหายได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ยังมียุทโธปกรณ์อีกหลายแบบที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการช่วยเหลือน้ำท่วมได้ ซึ่งถือเป็นการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น