วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 12 - 18 ก.พ. 2555

เตือนภัยนายหน้าเถื่อนหลอกขายแรงงานในสหรัฐ
นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานได้รับการร้องเรียนจากคนหางานว่า มีกลุ่มบุคคลหรือสายนายหน้าจัดหางานเถื่อน ชักชวนให้สมัครงานไปทำงานต่างประเทศกับบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาต โดยอ้างว่า มีนายจ้างต้องการแรงงานไทยประมาณ 2,500 อัตรา ไปทำงานก่อสร้างสนามบิน โรงแรม และถนนกับนายจ้างที่เกาะกวม ประเทศสหรัฐอเมริกา ในหลายตำแหน่ง อาทิเช่น วิศวกร ช่างไม้ ช่างปูน และกรรมกร
โดยจะได้รับเงินเดือนในอัตราสูง จากนั้นจึงเรียกรับค่าบริการและค่าใช้จ่ายจากคนหางาน โดยอ้างว่าเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ล่วงหน้า เช่น ค่าแปลเอกสาร ค่าตรวจสุขภาพ และค่ามัดจำวีซ่า หากคนหางานรายใดหลงเชื่อยอมจ่ายเงินให้ สายนายหน้าจัดหางานดังกล่าวก็จะไม่สามารถส่งไปทำงานที่เกาะกวมได้ตามที่ สัญญาไว้
เนื่องจากสหรัฐฯ อนุญาตให้คนต่างชาติเข้าไปทำงานเฉพาะสาขาอาชีพที่ขาดแคลนและวิชาชีพเฉพาะ เท่านั้น เช่น วิศวกรคอมพิวเตอร์ วิศวกรบางสาขา แพทย์ และนาฏศิลป์ เป็นต้น
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบพบว่า ยังไม่มีบริษัทจัดหางานใด ประกาศรับสมัครคนหางาน เพื่อส่งไปทำงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด ดังนั้น เพื่อมิให้ถูกหลอกลวงจนเสียทรัพย์สินหรือต้องไปตกระกำลำบากในต่างแดน จึงขอเตือน มิให้หลงเชื่อกลุ่มบุคคลดังกล่าว และหากต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศขอให้ติดต่อสำนักงานจัดหางานทั่ว ประเทศ เพื่อตรวจสอบตำแหน่งงาน
(กรุงเทพธุรกิจ, 12-2-2555)
ก.แรงงาน สั่ง กสร.จัดทำหลักเกณฑ์การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง กล่าวถึงกรณีสมาคมโรงแรมไทย เสนอให้นำเรื่องค่าบริการ (เซอร์วิซชาร์จ) มารวมอยู่ในค่าจ้างขั้นต่ำที่กำลังจะปรับฐานร้อยละ 40 ทั่วประเทศ ว่า ปัจจุบันค่าเซอร์วิซชาร์จของแต่ละโรมแรมมีหลายรูปแบบที่ต่างกัน โดยมีทั้งค่าเซอร์วิซชาร์จที่รวมอยู่ในใบเสร็จ ซึ่งโรงแรมนำไปรวมเป็นรายได้จ่ายให้กับพนักงานเป็นเงินเดือนในอัตราที่เท่า กันในแต่ละเดือน ขณะที่บางแห่งก็จะแยกค่าเซอร์วิซชาร์จออกมาจากเงินเดือน แต่จ่ายในรูปแบบของสวัสดิการ หรือบางโรงแรมผู้ใช้บริการเป็นผู้ให้โดยตรงกับพนักงานด้วยความเสน่หา ซึ่งทั้งหมดนี้จะใช้หลักการพิจารณาที่ต่างกัน โดยจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไปว่าสามารถคิดรวมเป็นค่าจ้างด้วยหรือไม่ ทั้งนี้การพิจารณาตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ระบุว่าค่าเซอร์วิซชาร์จที่รวมอยู่ในเงินเดือนเท่ากันทุกเดือน ให้ถือเป็นค่าจ้างของพนักงาน แต่หากค่าเซอร์วิซชาร์จที่จ่ายให้กับพนักงานไม่เท่ากันทุกเดือน ก็ไม่ถือเป็นค่าจ้าง แต่จัดให้อยู่ในหมวดสวัสดิการแทน
อย่างไรก็ตาม ได้มอบให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ไปดำเนินการจัดทำแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้มีความ ชัดเจน และจะแจ้งไปยังสมาคมโรงแรมไทยให้เข้าใจตรงกัน ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้
(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 13-2-2555)
เผดิมชัย เผยเร่งสาน" ธ.แรงงาน" ฐานข้อมูลแรงงานแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน
14 ก.พ. 55 - นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า การขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมทุกวันนี้เกิดจากการไม่เข้าคู่ของทักษะ ฝีมือ เนื่องจากตลาดขาดแคลนแรงงานฝีมือและประสบการณ์ โดยเฉพาะแรงงานช่างระดับอาชีวะ ในขณะที่แรงงานจบใหม่ส่วนใหญ่จะศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี เพราะเห็นว่าค่าตอบแทนสูงถึงเดือนละ 15,000 บาท ซึ่งต้องมองทิศทางการบูรณาการหรือประสานความร่วมมือระหว่างความต้องการตลาด แรงงานกับภาคการศึกษาที่ผลิตแรงงานออกสู่ตลาดแรงงานด้วย ขณะที่แรงงานไทยไม่นิยมทำงานในกลุ่ม 3D คือ Dangerous พวกงานอันตราย  Dirty งานสกปรก และ Difficult งานลำบาก จึงเกิดเป็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานของตลาดแรงงานขึ้นอย่างชัดเจน
“ในช่วงนี้สถานการณ์เริ่มที่จะสะท้อนให้เห็นว่าเริ่มมีการขาดแคลนแรงงาน บ้างแล้ว และในอนาคตที่ประชากรเกิดน้อยลงก็จะยิ่งประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานมาป้อนตลาด แรงงานสูงขึ้น ก็ต้องมาดูว่าแต่ละฝ่ายต้องการอะไร เราก็ต้องเติมเต็ม แม้จะมีผู้ตกงานอยู่บ้าง แต่จากการจัดนัดพบแรงงาน จัดคาราวานออกพบปะระหว่างผู้ประกอบการ นายจ้าง กับแรงงานโดยตรง รวมถึงมาตรการของกระทรวงแรงงาน เช่นโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนเพื่อชะลอการเลิกจ้าง  การให้วงเงินสินเชื่อต่างๆ ล้วนมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการและแรงงานได้มีโอกาสพบกันมากขึ้น ผู้สมัครงานหลายหมื่นคน นอกจากนี้จะได้ทำการได้สำรวจด้วยว่านายจ้างมีความต้องการแรงงานเน้นไปที่ ทักษะฝีมือด้านใด ซึ่งกระทรวงแรงงานได้พยายามทำ
“ธนาคารแรงงาน” ขึ้นมาเพื่อเป็นข้อมูลจัดเก็บว่ามีแรงงานจำนวนเท่าไร นายจ้างต้องการแรงงานในกลุ่มลักษณะใด ปริมาณเท่าใด เพื่อให้สามารถจับคู่ความต้องการได้ตรงความต้องการของสองฝ่าย และต้องดูว่าแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศจำนวนนับแสนและกลับมาไทยแล้ว ขณะนี้อยู่ที่ใด เราต้องมีในข้อมูลธนาคารแรงงาน เพราะเป็นกลุ่มแรงงานที่แม้จะมีอายุบ้างแต่ก็มีทักษะฝีมือ ประสบการณ์ที่จะมาเติมเต็มให้กับภาวะขาดแคลนแรงงานได้อีกส่วนหนึ่ง”  นายเผดิมชัยกล่าว และเสริมว่า การนำแรงงานที่ยังมีศักยภาพมาเติมเต็มให้กับภาวะขาดแคลนแรงงานก็เป็นสิ่งที่ ควรต้องรีบทำ เช่นการนำผู้ต้องโทษที่จะได้รับอภัยโทษมาให้โอกาสเขาได้ทำงาน แรงงานผู้สูงอายุ แรงงานคนพิการที่มีศักยภาพ โดยกระทรวงแรงงานจะเข้าไปเสริมด้านการเพิ่มศักยภาพให้สูงขึ้น สามารถเพิ่มผลิตผลแก่ผู้ประกอบการ เหมาะสมตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการต่อไป และทุกฝ่ายต้องมีความเห็นอกเห็นใจกันในสถานการณ์เช่นนี้
ในด้านของนายสมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เมื่อปัญหาในขณะนี้ คือ การขาดแคลนแรงงาน อำนาจการต่อรองจึงอยู่ที่ฝ่ายผู้ใช้แรงงาน การขึ้นค่าจ้างวันละ 300 บาทก็จะเป็นสิ่งดึงดูดใจให้ลูกจ้างเข้ามาทำงานมากขึ้น ผลผลิตก็จะสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะการที่คนเราได้รับค่าตอบแทนสูงก็ต้องการเพิ่มศักยภาพฝีมือให้ผลผลิตของ ตนสูงตามค่าจ้าง
ด้านตัวแทนลูกจ้าง นายชัยพร จันทนา ประธานสภาองค์การลูกจ้างสถานแรงงานอิสระฯ ได้กล่าวว่า แม้จะเห็นด้วยกับข้อคิดเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในเรื่องมาตรการ ต่างๆ ที่จะรักษาสภาพการจ้างไว้ได้ แต่ก็ต้องคำนึงด้วยว่าจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา มีลูกจ้างบางส่วนออกไปจากระบบการผลิตภาคอุตสาหกรรมไปพึ่งพาภาคเกษตรกรรมที่ กำลังมีค่าตอบแทนสูง เช่นการรับจ้างเกี่ยวข้าวจะได้ค่าจ้างวันละ 300 บาทพร้อมอาหารวันละหนึ่งมื้อ ซึ่งหากภาคอุตสาหกรรมต้องการให้ลูกจ้างแรงงานกลับเข้ามาก็ต้องพิจารณาด้าน ค่าจ้าง สวัสดิการให้เหมาะสม คุ้มค่ากับที่แรงงานจะหวนกลับคืน เพราะในขณะนี้พวกเขาได้รับค่าตอบแทนในภาคเกษตรกรรมที่เหมาะสมและยังไม่ต้อง ย้ายถิ่นฐานอีกด้วย จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในขณะนี้
(ฐานเศรษฐกิจ, 14-2-2555)
'ทีดีอาร์ไอ' ห่วงแรงงานจบมหาวิทยาลัยคุณภาพต่ำ
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ได้จัดสัมมนาประจำปีขึ้นเมื่อเช้าวันนี้ ในหัวข้อ"ยกเครื่องการศึกษาไทย: สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง"โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวน ชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
ดร.อัมมาร สยามวาลา และดร. ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นำเสนอให้หัวข้อ การปฏิรูปการศึกษารอบใหม่: สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ปัญหาความล้มเหลวของการศึกษาไทยไม่ได้มีสาเหตุมาจากการขาดแคลนทรัพยากรที่จำ เป็น แต่เกิดจากการขาด “ประสิทธิภาพ” ในการใช้ทรัพยากร อันเนื่องมาจากการขาด “ความ
รับผิดชอบ” ของระบบการศึกษาต่อนักเรียนและผู้ปกครอง ดังนั้นการปฏิรูปคุณภาพการศึกษาจึงควร
เริ่มต้นด้วยการสร้างความรับผิดชอบของผู้จัดการศึกษาทั้ง ภาครัฐ โรงเรียนและครู
ทั้งนี้ข้อสรุปดังกล่าวได้รับการยืนยันทั้ง ในทางทฤษฎี และการศึกษาในเชิงประจักษ์ นอกจากนี้ การศึกษายังชี้ว่า การสร้างความรับผิดชอบในระบบการศึกษาไทย จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่จับต้องได้โดยจะเพิ่มคะแนนเฉลี่ย PISA ในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของนักเรียนไทยจาก 421 คะแนน เป็น 444 คะแนน ซึ่งจะทำให้อันดับคะแนน PISA ของประเทศไทยเลื่อนขึ้นจากอันดับที่ 46 เป็นอันดับที่ 40
ดังนั้นจำเป็นต้อง สร้างกลไก"ความรับผิดชอบ" ซึ่งหมายถึง พันธะผูกพันในหน้าที่การงานของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือ
องค์กรใดองค์กรหนึ่งต่อเป้าหมายที่ได้รับมอบหมายจากบุคคลหรือองค์กร อื่นๆ โดยมีระบบตรวจสอบที่ฝ่ายผู้มอบหมายสามารถประเมินผลงานเพื่อให้รางวัลและลง โทษฝ่ายปฏิบัติหน้าที่ได้
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร เสนอในหัวข้อ "การสร้างความเชื่อมโยงของการศึกษากับตลาดแรงงาน"โดยเห็นว่าการขยายโอกาสการ ศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สอดคล้องกับการเติบโตทาง เศรษฐกิจ แม้ว่าการเพิ่มอุปทานแรงงานที่มีการศึกษาจะทำให้อัตราผลตอบแทนจาก การศึกษาลดลง แต่การวิจัยพบปรากฏการณ์ 2 อย่าง ปรากฏการณ์แรก คือ ส่วนต่างค่าจ้าง (wage premium) ระหว่างคนจบมหาวิทยาลัยกับมัธยมปลายมีแนวโน้มสูงขึ้นมาก เพราะผลจากการ ขยายตัวของอุปสงค์ต่อแรงงานที่จบมหาวิทยาลัยในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตเร็ว เมื่อการเรียน
มหาวิทยาลัยให้ผลตอบแทนสูงกว่าการทำงานหลังจบมัธยมปลาย หรือการเรียนอาชีวศึกษา คนหนุ่มคนสาวส่วนใหญ่จึงมุ่งสู่รั้วมหาวิทยาลัย
ข้อค้นพบประการที่สอง คือ การเพิ่มจำนวนนักศึกษามหาวิทยาลัยอย่างรวดเร็วขณะที่ สถาบันการศึกษาหลายแห่งยังขาดความพร้อม ทำให้แรงงานที่จบมหาวิทยาลัยมีคุณภาพแตกต่าง กันมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะเหตุดังกล่าวผู้จบอุดมศึกษาหลายสาขาจึงมีอัตราว่างงานสูง ทั้งๆ ตลาดแรงงานยังมีความต้องการแรงงานให้สาขาดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจธุรกิจขนาดใหญ่และอุตสาหกรรมบางประเภทที่ประสบปัญหาไม่ สามารถคัดเลือกแรงงานที่มีคุณภาพและทักษะ ต้อง
เข้ามาจัดการศึกษาด้วยตนเอง สาขาที่นิยมเปิดได้แก่ วิศวกรรมและการบริหารธุรกิจ ทั้งๆที่เป็นสาขาวิชาที่มีการผลิตบัณฑิตเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้การวิเคราะห์ระบบการจัดการศึกษาแบบอิงกับการทำงาน (work-based learning) ของสถาบันการศึกษาที่จัดตั้งหรือได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน 5 แห่ง พบว่าเบื้องหลังความสำเร็จของสถาบันทุกแห่ง มีปัจจัยร่วมที่สำคัญ ได้แก่ นวตกรรมการสร้างหลักสูตรและ วิธีการเรียนการสอนที่สามารถตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ นักศึกษาที่จบการศึกษาได้งานทำ 100% เงินเดือนดี มีอนาคต ระบบบริหารเอกชนมีความคล่องตัว อาจารย์มีแรงจูงใจ
ผู้บริหารมีความรับผิดชอบ และเบื้องหลังความสำเร็จทุกโครงการมีบุคคลสำคัญที่วงการธุรกิจให้ความเชื่อ ถือ เป็นผู้ให้แนวคิด ผลักดัน และประสานงานกับทุกฝ่ายในช่วงจังหวะที่รัฐมีนโยบายและกฎหมายเอื้ออำนายให้ ภาคเอกชนเข้ามาจัดการศึกษา
ดร.นิพนธ์ ได้เสนอแนะว่า เรื่องการขยายแนวคิดการจัดการศึกษาแบบอิงกับการทำงาน 2 แนวทาง รวมทั้งให้ข้อคิดเกี่ยวกับการขยายสัดส่วนนักเรียนอาชีวศึกษา และการศึกษาแบบอิงกับ การทำงาน
(กรุงเพทธุรกิจ, 15-2-2555)
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ ค้านขายหุ้น ปตท.-การบินไทย
15 ก.พ.-นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวระหว่างการจัดเสวนา "นโยบายขายหุ้นรัฐวิสาหกิจ ปตท. และการบินไทย" ว่า  สรส. ยังคัดค้านแนวทางลดสัดส่วนการถือหุ้นให้ต่ำกว่าร้อยละ 50 จากเดิมกระทรวงการคลังถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ทำให้เกิดการวิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะมองว่าเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจอีกด้านหนึ่ง เพราะหากแปรรูปบริษัท ปตท. ด้วยการขายหุ้นออกไปร้อยละ 2 สะส่งผลให้ ปตท.กลายเป็นเอกชนเต็มตัว ทำให้กลไกการตรวจสอบโดยรัฐ การส่งรายได้เข้ารัฐ การแทรกแซงราคา ไม่สามารถทำได้ ทำให้การกำหนดราคาพลังงานทั้งก๊าซและน้ำมัน จะส่งผลต่อประชาชนในอนาคต เนื่องจาก ปตท.เป็นผู้ขายก๊าซเพียงรายเดียวในการผลิตกระแสไฟฟ้ากับ กฟผ. และโรงผลิตไฟฟ้าเอกชน เมื่อราคาก๊าซสูงขึ้นจะทำให้ค่าไฟสูงขึ้นตามไปด้วย สำหรับราคาน้ำมันและก๊าซที่ใช้ในการขนส่งสินค้า บริการสาธารณะ จะส่งผลต่อราคาสินค้าและค่าครองชีพ
สำหรับการบินไทย เมื่อต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง รัฐบาลควรสนับสนุนให้สามารถแข่งขันกับสายการบินต่างชาติด้วยการผ่อนปรนกฎ ระเบียบ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน เพราะสามารถส่งเงินเข้ารัฐได้ถึง 30,000 ล้านบาท และภาระหนี้ที่มีอยู่ไม่ใช่หนี้ที่มีปัญหาแต่เป็นหนี้เพื่อการลงทุนสำหรับ ขยายกิจการ โดยมีศักยภาพในการชำระหนี้คืน ดังนั้น หากรัฐบาลยังเดินหน้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่ง สรส.จะเคลื่อนไหวคัดค้านในทุกรูปแบบ จึงไม่อยากให้รัฐบาลเพิ่มปัญหาเข้ามาในสังคม เพราะปัจจุบันมีท้ั้งปัญหาการเมือง การฟื้นฟูความเสียหายและป้องกันน้ำท่วม
ปัจจุบันรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ มีทรัพย์สินรวมกัน 9.4 ล้านล้านบาท ภาระหนี้สิน 7.3 ล้านล้านบาท นำส่งรายได้เข้ารัฐ 9.8 หมื่นล้านบาท หากรัฐนำทรัพย์สมบัติของชาติออกไปขายอาจมีความเสี่ยงต่อการบริหารงานของรัฐ วิสาหกิจและกระทบประชาชนผู้บริโภคและผู้ใช้บริการในที่สุด แต่ยินดีที่รัฐบาลยังไม่ตัดสินใจเดินหน้าแนวทางดังกล่าวช่วงนี้ เพราะเห็นว่าไม่ใช่นโยบายเร่งด่วน
นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่ปรึกษา สรส. กล่าวว่า หากแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปแล้ว เงินปันผลและกำไรที่เคยนำส่งรัฐหลายหมื่นล้านบาท จะไหลไปสู่กระเป๋าของเอกชนและต่างชาติ เพราะเห็นว่าการทำธุรกิจด้านพลังงานหากขาดทุนให้ไปผูกคอตายได้แล้ว เนื่องจากราคาน้ำมัน ก๊าซปรับเพิ่มทุกวันมีแต่ได้กำไรเท่านั้น โดยมองว่าแผนดังกล่าวมีการเตรียมการไว้นานแล้ว เพราะการดำเนินนโยบายประชานิยมต้องใช้เงินจำนวนมากในการดำเนินโครงการ 
นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในหลายประเทศดึงธุรกิจสำคัญด้านสาธารณูปโภคในการให้บริการสาธารณะมาให้ภาค รัฐบริหารดูแล เพราะความมั่นคงเป็นหน้าที่หลักของรัฐบาลต้องบริหารดูแล ไม่ให้เป็นภาระเพิ่มกับประชาชนผู้ใช้บริการ เพื่อลดต้นทุนทางสังคมจะทำให้ค่าครองชีพไม่สูงเกินไป หากไปอยู่ในมือเอกชนต้องมีคณะกรรมการที่เข้มแข็งมากในการควบคุมดูแล และในต่างประเทศหากเป็นกิจการด้านพลังงานจะไม่ยอมให้ต่างชาติเข้ามาเป็นผู้ ถือหุ้นใหญ่ และมองว่ารัฐวิสาหกิจใดมีปัญหาจึงขายออกไป แต่รัฐบาลกลับเตรียมขายกิจการที่ทำกำไรดีออกไป จึงมองว่าแปลกมาก
นายสมประสงค์ โกศลบุญ นักวิชาการคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในต่างประเทศขนาดใหญ่มักถือหุ้น บริษัทน้ำมันทั้งหมดเพราะถือว่าเป็นความมั่นคงของประเทศ เช่น บริษัทปิโตรนาส ของมาเลเซีย รัฐบาลถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังมีความคล่องตัวบริหารงานทำกำไรสูงสูงสุดอันดับหนึ่งในเอเชียและยังติด อันดับ 95 บริษัทขนาดใหญ่ของโลก ไม่เห็นจำเป็นต้องแปรรูป จึงมองว่าหากเป็นรัฐวิสาหกิจแล้วทำไมจะแข่งขันไม่ได้  สิงคโปรแอร์ไลน์  สายการบินอันดับหนึ่งของโลก ยังสามารถบริหารจัดการ ทำกำไรได้สูง การ์ต้าแอร์ไลน์ ภาครัฐถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ ยังอยู่ในระดับท็อป จึงมองว่ารัฐวิสาหกิจสำคัญภาครัฐยังแข่งขันได้ไม่จำเป็นต้องแปรรูป ขณะที่การบินไทยถูกจัดอันดับในทุกโพลล์ การให้บริการติดอันดับในระดับสูง แม้จะมีปัญหาอยู่บ้าง ก็ยังพลิกมามีกำไรและยังมีศักยภาพสูง
(สำนักข่าวไทย, 15-2-2555)
ก.ทรวงแรงงานร่วมกับหอการค้าญี่ปุ่นช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างในอยุธยา
งานนัดพบแรงงาน ช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างเนื่องจากมหาอุทกภัย ไทย-ญี่ปุ่นก้าวไปด้วยกัน ที่ศูนย์การค้าอยุธยาปาร์ค ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงาน และหอการค้าญี่ปุ่น ในประเทศไทย จัดขึ้น ขณะที่บรรยากาศภายในงานเป็นไปด้วยความคึกคัก คนหางานในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ออกมาหางานอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ถูกเลิกจ้างจากปัญหาอุทกภัย
น.ส.ศิริลักษณ์ ตรีบุพผา อดีตพนักงานบริษัท ฟูจิคูระ อิเล็คทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มาหางานในสายการผลิต เพราะถูกเลิกจ้าง ส่วนใหญ่จะมองตำแหน่งงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากมองเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้น หากย้ายไปทำงานในพื้นที่อื่น ส่วนเรื่องการปรับค่าจ้าง 300 บาท มองว่าเป็นเรื่องที่ดีหากจะได้รับ เพราะจะช่วยแบ่งเบาภาระหลังอุทกภัย และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นในปัจจุบัน
สำหรับภายในงานมีบริษัทของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นกว่า 100 บริษัท ในตำแหน่งงานว่าง 11,536 อัตรา ที่มาเปิดรับ ส่วนใหญ่จะเป็นสายการผลิต ในบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก และโลจิตติกส์ เป็นต้น สำหรับผู้ที่สนใจหางานใพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและใกล้เคียง สามารถมาสมัครงานได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงเวลา 16.00 น. ณ ลานจอดรถ ศูนย์การค้าอยุธยาพาร์ค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 16-2-2555)
พนง. ไออาร์พีซี ชุมนุมหน้า ก.พาณิชย์ ทวงคำตอบเปลี่ยน กก.ไม่เป็นไปตามมติผู้ถือหุ้น
มีรายงานข่าวว่า กลุ่มสหภาพแรงงาน 7 บริษัทในเครือบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และพนักงานกว่า 1,000 คน ได้นัดรวมตัวกันหน้า กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และฟังคำตอบจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตามที่ได้ยื่นหนังสือไว้ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา กรณีที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ และอำนาจกรรมการของบริษัทในเครือ IRPC จำนวน 5 บริษัท ทำให้รายชื่อกรรมการ และอำนาจกรรมการไม่เป็นไปตามมติผู้ถือหุ้น
      
ทั้งนี้ 5 บริษัทดังกล่าว ประกอบด้วย บริษัท ไทย เอ บี เอส บริษัท น้ำมัน ไออาร์พีซี บริษัท ไออาร์พีซี โพลีออล บริษัท ไออาร์พีซี พลังงาน และบริษัท อุตสาหกรรมโพลียูรีเทนไทย โดยก่อนหน้านี้ ผู้บริหารไออาร์พีซีออกมายืนยันว่า บริษัทยังถือหุ้น 99.99 % และเป็นเจ้าของเต็ม 100% ใน 5 บริษัทดังกล่าว
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 16-2-2555)
แรงงานน้ำท่วมถูกเลิกจ้างพุ่งกว่า 4.5 หมื่น บริษัทใน “เครือโซนี่” 2 แห่ง ย้ายฐานการผลิต
17 ก.พ. 55 - นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากข้อมูลของ กสร.วันนี้ (17 ก.พ.) มีแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมในกิจการประเภทต่างๆ กว่า 120 แห่ง ที่ถูกเลิกจ้าง รวมทั้งหมด 45,873 คน แยกเป็นประเภทกิจการได้แก่ ผลิต/จำหน่ายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 28,824 คน, วัสดุและอุปกรณ์ไฟฟ้า 3,689 คน,ยานยนต์ 584 คน, อาหาร 394 คน, เสื้อผ้าสำเร็จรูป 134 คน และกิจการอื่นๆ 12,248 คน
อย่างไรก็ตาม สถานประกอบที่เลิกจ้างได้จ่ายเงินชดเชยและเงินสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ได้แก่ ค่าจ้างกว่า 49 ล้านบาท ค่าบอกกล่าวล่วงหน้ากว่า 173 ล้านบาท ค่าชดเชยกว่า 1,524 ล้านบาทและอื่นๆ เช่น ค่าโอที ค่าเบี้ยเลี้ยงกว่า 508 ล้านบาท รวมทั้งหมดเป็นเงินกว่า 2,255 ล้านบาท ทั้งนี้ ตัวเลขของแรงงานที่ถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว 5,124 คน โดยจังหวัดที่มีแรงงานถูกเลิกจ้างมากที่สุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และ ฉะเชิงเทรา
นายอาทิตย์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน ก็มีบริษัทในเครือโซนี่ 2 ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมได้ส่งสัญญาณว่าจะมีการเลิกจ้างแรงงานและย้ายฐานการ ผลิตไปยังต่างจังหวัด คือ บริษัท โซนี่ ดีไวซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางกระดี จ.ปทุมธานี ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีลูกจ้าง 2,749 คน ได้แจ้งมายัง กสร.ว่า ไม่สามารถซ่อมโรงงานได้ เพราะเสียหายจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ได้ไปเช่าพื้นที่ย่านบางนา ในการดำเนินธุรกิจชั่วคราว ระหว่างหาทำเลในการเปิดโรงงานใหม่ โดยคาดว่า จะอยู่ทางภาคตะวันออก เบื้องต้นได้เปิดให้แรงงานสมัครใจลาออกก่อน นอกจากนี้ บริษัท โซนี่ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า จ.พระนครศรีอยุธยา ผลิตกล้องโซนี่ มีพนักงาน 3,823 คน จะย้ายฐานการผลิตไปจังหวัดชลบุรี และได้เปิดให้คนงานได้ตัดสินใจ ซึ่งสมัครใจลาออก 1,267 คน และสมัครใจย้ายไปทำงานในจังหวัดชลบุรี 2,123 คน ส่วนอีก 433 คน อยู่ระหว่างการติดต่อ โดยทั้ง 2 บริษัทยืนยันจะจ่ายสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างเต็มที่ และเกินกว่ากฎหมายกำหนด
“ขณะนี้ได้มีเสียงเรียกร้องจากแรงงานในการสมัครใจลาออก เพราะขาดรายได้เป็นเวลานาน หากลาออกจะได้เงินชดเชยเป็นก้อนและไปหางานใหม่ทำ ซึ่งก็สอดรับกับท่าทีของผู้ประกอบการที่เริ่มตัดสินใจมากขึ้นว่าจะปิดกิจการ เลิกจ้าง หรือย้ายฐานการผลิตไปในต่างจังหวัด หรือต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีแรงงานถูกเลิกจ้างไม่ถึง 1 แสนคน เนื่องจากสถานประกอบการส่วนใหญ่จะย้ายฐานการผลิตไปยังจังหวัดอื่นๆ ส่วนย้ายไปต่างประเทศนั้น มีจำนวนไม่มาก ทั้งนี้ คาดว่า ภายในช่วงสิ้นเดือน มี.ค.จะรู้ถึงตัวเลขแรงงานถูกเลิกจ้างชัดเจนมากขึ้น เพราะสถานประกอบการจะต้องจัดทำงบประมาณจ่ายเงินเดือนเพื่อรองรับการปรับขึ้น ค่าจ้างขั้นต่ำ 40% ทุกจังหวัดทั่วประเทศในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ซึ่งทำให้ใน 7 จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ สมุทรสาคร ปทุมธานีค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเป็นวันละ 300 บาท” อธิบดี กสร.กล่าว
      
นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงาน ได้มีมาตรการต่างๆ เช่น จัดมหกรรมนัดพบแรงงาน โครงการเพื่อนช่วยเพื่อนเพื่อให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าสู่สถานประกอบ การโดยเร็วที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแรงงานว่างงาน อย่างไรก็ตาม แรงงานส่วนใหญ่ต้องการที่จะทำงานในพื้นที่ใกล้บ้าน ดังนั้น นอกจากการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว ทางสถานประกอบการที่เปิดรับสมัครแรงงานก็ควรมีสวัสดิการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ค่ารถ ค่าที่พัก เพื่อจูงใจให้แรงงานอยากไปทำงานด้วย
      
ทั้งนี้ สถานประกอบการที่ถูกน้ำท่วมและยังไม่สามารถเปิดกิจการได้มี 284 แห่ง ลูกจ้างยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน 164,552 คน ส่วนสถานประกอบการที่สามารถเปิดกิจการแล้ว 28,381 แห่ง ลูกจ้างได้กลับเข้าทำงานแล้ว 823,912 คน ส่วนสถานประกอบการใน 14 จังหวัด ที่ร่วมโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้างมี 1,787 แห่ง ลูกจ้าง 326,511 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีสถานประกอบการได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารโครงการแล้ว 1,537 แห่ง ลูกจ้าง 288,782 คน และในจำนวนนี้ธนาคารออมสินได้อนุมัติเงินให้แก่สถานประกอบการไปแล้ว 218 แห่ง ลูกจ้าง 89,512 คน รวมเป็นเงินกว่า 237 ล้านบาท
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 17-2-2555)
ส.อ.ท.จับมือศรีปทุมสำรวจค่าจ้าง ตะลึง!วิศวะ-นักกฎหมายรายได้สูง
นายวิชิต อู่อ้น  คณบดีวิทยาลัยบัณฑิตศึกษา ด้านการจัดการ  มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยผลสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการของแรงงานไทยประจำปี 54-55 ว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยศรีปทุมได้สำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ โดยค่าจ้างขั้นต้นสำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์เฉลี่ยคุณวุฒิ ปวช.มีค่าจ้างเฉลี่ยเดือนละ 6,953 บาท ปวส.เดือนละ 8,004 บาท ปริญญาตรี เดือนละ 12,303 บาท ปริญญาโทเดือนละ 17,539 บาท ปริญญาเอกเดือนละ 26,360 บาท แต่เมื่อพิจารณาของผู้ไม่มีประสบการณ์พบว่าสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ได้ค่าจ้างสูงสุด 15,158 บาทต่อเดือน  นอกจากนี้  ค่าจ้างสำหรับผู้มีประสบการณ์เฉลี่ยระดับผู้บริหารที่ 105,287 บาทต่อเดือน โดยผู้บริหารคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศได้ค่าจ้างสูงสุด 163,061 บาท ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ได้น้อยสุด 43,078 บาท
นางวีณา ตันตยานนท์กุล ที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคล ส.อ.ท.กล่าวว่า ที่ผ่านมาค่าจ้างสาขาวิศวกรรมสูง แต่ปัจจุบันมีบางสาขาที่จ่ายค่าจ้างสูงขึ้นใกล้เคียงโดยเฉพาะสาขานิติศาสตร์ เนื่องจากปัจจุบันทุกบริษัทต้องมีนักกฎหมายเพื่อมาดูแลสัญญาเพื่อไม่ให้ บริษัทเสี่ยง สำหรับการปรับค่าเงินเดือนข้าราชการ ระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท จะไม่มีผลต่อการปรับเงินเดือนของเอกชนเพราะไม่ได้บังคับใช้ แต่จะมีผลต่อการปรับค่าจ้างแรงงานรายวันเห็นว่าผู้ประกอบการควรปรับแบบขั้น บันได.
(ไทยรัฐ, 18-2-2555)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น