วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

บทความพิเศษ: สรุปเหตุการณ์ทางทหารและความมั่นคงของประเทศไทย ปี 2554

Thai Military 2011
ปี พ.ศ. 2554 ที่กำลังจะผ่านไปนั้น ถือเป็นปีที่ค่อนข้างหนักหนาสาหัสสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านทางทหารและความมั่นคงนั้น ถือเป็นอีกปีที่รัฐบาลและทหารไทยต้องทำงานกันอย่างหนัก ซึ่งจากภารกิจทั้งปีที่ทหารไทยได้ปฏิบัติมานั้น มีทั้งได้รับคำชื่นชมอย่างมาก และต้องเผชิญกับคำวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่น้อย อีกทั้งยังมีเหตุการณ์ที่ทหารไทยต้องเผชิญกับความสูญเสียทั้งยุทโธปกรณ์และนายทหาร นอกจากสถานการณ์อันไม่ปกติที่ทหารไทยต้องลงไปเกี่ยวข้องแล้ว ในรอบปีที่ผ่านมาทางกระทรวงกลาโหมก็มีการเคลื่อนไหวจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ใหม่ๆ รวมถึงมีการเจรจาซื้ออาวุธอีกจำนวนมากในอนาคต เพื่อพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติภารกิจป้องกันประเทศของไทย และเสริมสมรรถนะของทหารไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศในภูมิภาค เพื่อรักษาอธิปไตยของไทย แต่ก็ยังคงความสัมพันธ์ฉันท์มิตรประเทศอื่นๆ ด้วย ซึ่งทางสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศจะขอสรุปเหตุการณ์ทางทหารและความมั่นคงของประเทศไทย ในปี 2554 ว่าที่ผ่านมากระทรวงกลาโหมและทหารไทยมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง
เริ่มด้วยเหตุการณ์ใหญ่ที่สุดในปีนี้ที่ต้องกล่าวถึงนั่นก็คือเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ประชาชนอย่างมาก ซึ่งทางทหารเองก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายนี้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับฐานทัพอากาศดอนเมือง รวมถึงค่ายทหารหลายๆ แห่งที่อยู่ในบริเวณน้ำผ่าน แต่ถึงจะเกิดความสูญเสียอย่างไร ภาพที่เห็นและไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้คือภาพทหารเดินสายออกให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างสุดความสามารถแม้ในบริเวณที่มีน้ำท่วมสูงและอันตราย เนื่องด้วยการที่หน่วยงานทางทหารนั้นมีอุปกรณ์พร้อมกว่าหน่วยงานทางพลเรือนอื่นๆ หน้าที่ของการช่วยเหลือประชาชนจึงกลายเป็นของทหารโดยปริยาย แต่อันที่จริงแล้ว ในฐานะเป็นหน่วยงานตัวแทนของกระทรวงกลาโหม ต้องชี้แจงว่ายานพาหนะของทหารจำนวนมากที่นำไปใช้ช่วยผู้ประสบภัยนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้ในบริเวณน้ำท่วมสูงเช่นนี้ จึงทำให้รถทหารหลายคันเกิดความเสียหาย และต้องจอดซ่อมแซม ส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องอนุมัติงบประมาณในการซ่อมแซม และบำรุงยานยนต์ รวมถึงอุปกรณ์ทางทหารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องพอสมควร ส่วนยุทโธปกรณ์ที่ถูกนำไปใช้ (และน่าจะนำไปใช้)ในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ สามารถหารายละเอียดได้ที่ “บทความพิเศษ: ยุทโธปกรณ์ทางทหารกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม”
เหตุการณ์ทางทหารใหญ่อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดเมื่อต้นปีที่ผ่านมาคือการปะทะกันตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีการยิงตอบโต้กันอย่างรุนแรงที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยในวันที่ 4 กุมภาพันธ์มีการเริ่มปะทะกันที่บริเวณภูมะเขือ ใกล้เขาพระวิหาร และมีกระสุนปืนใหญ่มาตกที่โรงเรียนบ้านภูมิซรอลและหมู่บ้านภูมิซรอล หลังจากนั้นมีการปะทะและการเจรจาหยุดยิงสลับกันไปจนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ การปะทะกันในครั้งนี้ทำให้ชื่อของจรวดหลายลำกล้อง BM-21 หรือ Type-81 นั้นเป็นที่รู้จักของคนไทย โดยกัมพูชาได้ซื้อระบบจรวดดังกล่าวมาจากประเทศจีน ซึ่งจากที่เจ้าหน้าที่ของทางสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศได้ไปลงพื้นที่สำรวจมา พบว่าไม่มีความแม่นยำเท่าใดนัก จึงทำให้จรวดหลายลูกตกลงในพื้นที่พลเรือนแทนที่จะเป็นพื้นที่ทางทหาร นอกจากนี้ การปะทะดังกล่าวทำให้ไทยถูกกล่าวว่าไทยได้ใช้ระเบิด Cluster Bomb โจมตีกัมพูชา แม้ในเบื้องต้นทางรัฐบาลไทยจะปฏิเสธข้อโจมตีดังกล่าว แต่ต่อมาไทยก็ยอมรับว่าใช้ระเบิด Cluster Bomb จริง แต่ใช้สำหรับป้องกันตนเอง และใช้ในปริมาณที่เหมาะสมกับสถานการณ์
เหตุการณ์ใหญ่ต่อมาซึ่งเป็นถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของกองทัพบกคือเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ประสบอุบัติเหตุตกสามลำภายในเวลา 1 สัปดาห์ โดยวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา เฮลิคอปเตอร์รุ่น Bell 212 ของกองทัพบกได้ประสบอุบัติเหตุตกลงในบริเวณอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี หลังจากที่ถูกเรียกออกไปปฏิบัติภารกิจลำเลียงศพผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ UH-60 Black Hawk ของกองทัพบกก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ในวันที่ 16 กรกฎาคม เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์แบบ Bell UH-1 Huey ประสบอุบัติเหตุตกลงในบริเวณ อำเภอแก่งกระจาน ซึ่งทำให้กองทัพบกได้ส่งเฮลิคอปเตอร์แบบ Black Hawk เข้าไปกู้ภัย และลำเลียงศพ ในวันที่ 19 กรกฎาคม แต่ก็ได้ประสบอุบัติเหตุตกลงในบริเวณใกล้เคียงเช่นกัน โดยจากอุบัติเหตุทั้งสามครั้งนั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิต 17 ราย และบาดเจ็บอีก 1 ราย ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้กองทัพบกมีแผนการที่จะทำการปลดประจำการฝูงเฮลิคอปเตอร์ที่มีสภาพเก่าจำนวนมาก
ส่วนความเคลื่อนไหวด้านการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ที่ได้รับการจับตามากที่สุดทั้งในไทยและต่างประเทศคือการรับมอบเครื่องบินรบเอนกประสงค์ Saab JAS 39 C/D Gripen จากสวีเดนฝูงแรกจำนวน 6 ลำ จาก 12 ลำ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยประกอบด้วย JAS 39D 2 ที่นั่ง 4 ลำ JAS 39C ที่นั่งเดี่ยว 2 ลำ โดยเครื่องบินดังกล่าวกองทัพอากาศไทยตั้งใจจะนำมาแทนเครื่องบินรบ Northrop F-5E ซึ่งมีสภาพเก่ามาก ซึ่งเครื่องบิน Gripen ฝูงดังกล่าวเข้าประจำการที่ กองบิน 7 กองทัพภาคที่ 4 จังหวัดสุราษฎ์ธานี นอกจากนี้ไทยยังได้เครื่องบินแถมจาก Saab เป็นเครื่องควบคุมและเตือนภัยล่วงหน้า Saab 340 ติดเรดาร์ Erieye และเครื่องบินลำเลียงติดตั้งระบบ command-and-control system Saab 340 อย่างละ 1 ลำ
ส่วนทางด้านกองทัพบกนั้น ความเคลื่อนไหวด้านการจัดซื้อขนาดใหญ่คงหนีไม่พ้นการจัดซื้อ รถเกราะล้อยาง BTR-3E1 จากยูเครนจำนวน 26 คัน โดยได้รับมอบมาแล้วจำนวน 12 คัน ซึ่งมีการจัดสาธิตทางปฏิบัติการของรถเกราะล้อยาง BTR-3E1 ดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ พล.ร. 2 รอ. จังหวัดสระแก้วโดยมีรองผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธาน BTR-3E1 เป็นยานเกราะล้อยางประเภทสะเทินน้ำสะเทินบก ผลิตจากประเทศยูเครน โดยมีต้นแบบมาจากรถตระกูล BTR ที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศรัสเซีย ตัวถังรถ ผลิตด้วยเหล็กกล้าชนิดแข็งมากผสมใยสังเคราะห์ KEVLAR จากด้านในของตัวรถ ป้องกันกระสุน ขนาด 7.62 มม. โดยสามารถปรับปรุงให้ป้องกันกระสุน ขนาด 12.7 มม. (.50 นิ้ว) ได้ด้วยการเสริมแผ่นเซรามิค บรรทุกกำลังพลรวม 9 นาย ประกอบด้วย ผบ.รถ, พลขับ, พลยิง และพลประจำรถ สามารถชมภาพและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บทความ “การสาธิตรถเกราะล้อยาง BTR-3E1 ของกองทัพบก” นอกจากนี้ ทางกองทัพบกยังได้ทำการตกลงซื้อรถถังหลัก (Main battle tanks - MBTs) Oplot จากยูเครนราว 100 คัน เพื่อมาแทนรถถังเบา M41 ซึ่งอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างเก่าอีกด้วย
ส่วนความเคลื่อนไหวด้านกองทัพเรือนั้น ดูจะเป็นข่าวร้ายเสียมากกว่า หลังจากที่แผนการจัดซื้อเรือดำน้ำของของกองทัพเรือนั้นถูกเลื่อนออกไปถึง 2 ครั้งภายใน 1 ปี โดยล่าสุดในวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา การในการประชุมการจัดซื้อของกระทรวงกลาโหมโดยพลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา ได้มีการนำประเด็นการจัดซื้อเรือดำน้ำสำหรับกองทัพเรือกลับมาหารือหลังจากที่ถูกล้มแผนไปเมื่อรัฐบาลยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งได้มีการประเมินความเป็นไปได้ในการจัดซื้อเรือดำน้ำมือสองเครื่องยนต์ดีเซลไฟฟ้าแบบ Type 206A จากเยอรมันจำนวน 6 ลำ โดยคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณราว 7.7 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าข้อเสนอการจัดซื้อครั้งนี้ก็ถูกเลื่อนไปอีกครั้ง เนื่องจากรัฐบาลไทยจำเป็นต้องใช้เวลาพิจารณา แต่ทางเยอรมันต้องการคำตอบสิ้นเดือนกันยายนนี้ ทั้งนี้ ในสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีการเสนอการจัดซื้อเรือดำน้ำมือสองจากเยอรมัน แต่ก็ข้อเสนอนี้ได้ตกไปเนื่องจากรัฐบาลในขณะนั้นต้องการเรือดำน้ำใหม่มากกว่า
ส่วนความเคลื่อนไหวในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์อื่นๆ ได้แก่ ในวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้อนุมัติให้กองทัพบกจัดซื้อเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์จู่โจมขนาดเบา/เอนกประสงค์ แบบ AS550 C3 Fennec ของ Eurocopter โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณราว 1,500 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงระบบสนับสนุนทางวิศวกรรม การฝึกนักบินและช่าง และอะไหล่ต่างๆ แต่พร้อมกันนี้รัฐบาลได้ปฏิเสธข้อเสนอซื้อเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ Sikorsky UH-60 Black Hawk เพิ่มเติม อย่างไรก็ตามกองทัพบกยังคงพยายามที่จะยื่นขอเสนอขอจัดซื้อเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์รุ่นดังกล่าวอีกครั้งในราวเดือนตุลาคม ทั้งนี้ เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์แบบ AS550 C3 Fennec นี้ เป็นเฮลิคอปเตอร์ลาดตระเวนที่สามารถติดอาวุธได้ ซึ่งจะมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพบกในการลาดตระเวนหาข่าว
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ตกลงอนุมัติให้กองทัพบกจัดซื้อเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์แบบ Sikorsky UH-60M Black Hawk เพิ่มเติมจำนวน 2 ลำ ภายใต้งบประมาณราว 2,800 ล้านบาท ซึ่งกองทัพบกไทยมีความจำเป็นต้องซื้อเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าว เพื่อรักษาจำนวนเฮลิคอปเตอร์ให้เพียงพอต่อภารกิจ หลังจากที่กองทัพบกต้องสูญเสียเฮลิคอปเตอร์ Bell UH-1H Bell 212 และ UH-60M Black Hawk แบบละ 1 ลำ ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้มีทหารจากกองทัพบกเสียชีวิต 16 นาย และช่างภาพอีก 1 คน ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กองทัพบกต้องการจัดซื้อ UH-60M Black Hawk จำนวน 36 ลำ เพื่อนำมาแทนเฮลิคอปเตอร์รุ่นเก่า โดยกองทัพบกเตรียมผลักดันให้มีการจัดซื้อเพิ่มอีกราว 12 ลำในช่วงปีหน้า
กระทรวงกลาโหมของไทยได้ทำการลงนามสั่งซื้อเรดาร์เอนกประสงค์ Kronos จาก Selex Sistemi Integrati บริษัทภายใต้บริษัท Finmeccanica ของอิตาลี เพื่อนำไปใช้ในงานของกองทัพเรือและกองทัพอากาศไทย ซึ่งไม่มีการเปิดเผยมูลค่าของสัญญาแต่อย่างใด โดยจะนำไปใช้งานร่วมกับระบบที่มีอยู่เพื่อขยายเครือข่ายการป้องกันชายฝั่งและทางอากาศ โดยทางกองทัพเรือจะนำไปติดตั้งที่หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ฐานทัพเรือสงขลา เพื่อนำไปใช้ร่วมกับระบบการหาข่าวทางอากาศเพื่อเฝ้าระวังทะเลทางตะวันออกและใต้ ส่วนกองทัพอากาศอาจจะนำไปติดตั้งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กองพลบินที่ 2 กองบิน 21 จังหวัดอุบลราชธานี โดยนักวิเคราะห์กล่าวว่าปัจจุบันประเทศไทยกำลังพยายามลงพัฒนาระบบป้องกันทางอากาศและทางทะเลให้ทันสมัย เพื่อการหาข่าวและการเฝ้าระวัง อนึ่ง ทางกองทัพบกเองก็กำลังพิจารณาจัดซื้อเรดาร์ SLC-2 จากจีนอีกด้วย
สุดท้ายนี้ ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามข่าว บทความและงานต่างๆ ของฝ่ายวิเคราะห์เทคโนโลยีป้องกันประเทศในปี 2554 ผ่านเว็บไซต์แห่งนี้ ซึ่งทางเรายอมรับว่าอาจจะมีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง แต่เราสัญญาว่าในปี 2555 ฝ่ายวิเคราะห์เทคโนโลยีป้องกันประเทศจะยังคงผลิต พร้อมทั้งแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาผลงานต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่เผยแพร่ความรู้ด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ การทหาร และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของกระทรวงกลาโหม แก่ประชาชนทั่วไป
ทางฝ่ายวิเคราะห์เทคโนโลยีป้องกันประเทศ ในนามของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ(องค์การมหาชน) กระทรวงกลาโหม ขอให้ทุกท่านโชคดีมีสุข สุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และทุกข์ร้อนใดๆ ในปี 2555 ที่มาถึงนี้ ด้วยเทอญฯ

ทีมงานฝ่ายวิเคราะห์เทคโนโลยีป้องกันประเทศ (STA)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น