ปปช.ชงเผือกร้อน“สนช.”ถอดถอน“ปู” เซ่น“โคตรโกง”จำนำข้าว |
|
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
มีมติเสียงข้างมากส่งเรื่องถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีละเว้นปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว สร้างความเสียหายแก่รัฐกว่า 5 แสนล้านบาท ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาดำเนินการต่อ
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 9 ตุลาคม นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ให้ส่งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่อง ถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมเอกสารและความเห็นคดีโครงการรับจำนำข้าวไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป โดยเป็นการชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ตามมติเดิมที่เคยชี้มูลว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11 (1) กรณีไม่ยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งเป็นมูลเหตุให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 270 ประกอบพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 58
เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าแม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีประกาศให้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ยังมีผลใช้บังคับต่อไป อีกทั้ง ต่อมาได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ซึ่งมาตรา 6 ได้บัญญัติให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและรัฐสภา โดยสนช.มีข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเสียงข้างมากส่งเรื่องให้สนช.ดำเนินการดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นการทำผิดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งไม่มีผลบังคับใช้แล้ว อาจมีปัญหาเหมือนกรณีถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภาหรือไม่ นายสรรเสริญตอบว่า กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์มีการระบุความผิดใน 2 กฎหมาย คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2550 กับ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว แต่พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ไม่ได้ถูกยกเลิกไป ซึ่งรัฐบาลใดที่มาบริหารประเทศ ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายตัวนี้ ดังนั้น กรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงไม่เหมือนคดีของนายสมศักดิ์และนายนิคม แต่ขึ้นอยู่กับที่ประชุม สนช.จะพิจารณาดำเนินการถอดถอนหรือไม่
|
|
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์แนวหน้า |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น