“อ๋อย” ขึ้นศาลทหารตามนัด งัดข้อกฎหมายสู้-ชี้คดีอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม
เมื่อเวลา 09.40 น. วันที่ 15 ต.ค. ที่ศาลทหาร กรุงเทพ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยทีมทนายความ นำโดย นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความ เดินทางมายังศาลทหารตามนัดสอบคำให้การ หลังจากเมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา ศาลทหารมีคำสั่งฟ้องนายจาตุรนต์ 3 ข้อหา คือ ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ฝ่าฝืนกฎอัยการศึก ยุยง ปลุกปั่น และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 2550 มีโทษรวมทั้งสิ้น 14 ปี
ต่อมาเวลา 11.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 5 องค์คณะตุลาการศาลทหารออกนั่งบัลลังก์ โดยนายจาตุรนต์ยังไม่ยื่นคำให้การต่อศาล แต่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลทหารพิจารณาใน 2 ประเด็น คือ 1.ขอให้พิจารณาว่าฐานความผิดของตนนั้น อยู่ในขอบเขตอำนาจจองศาลทหารหรือศาลอาญาตามปกติ 2.ประกาศคสช. ฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่ 38/2557 ขัดหรือแย้งกับ มาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 หรือไม่ ด้านอัยการทหาร จึงได้ขออนุญาตศาลทหารทำสำนวนคัดค้านคำร้องขอของนายจาตุรนต์ภายใน 30 วัน
จากนั้น องค์คณะตุลาการศาลทหารจึงสรุปว่า ต้องเลื่อนการพิจารณาออกไป เพื่อรออัยการทหารทำสำนวนคัดค้านคำร้องขอของจำเลย ภายใน 30 วัน ขณะเดียวกัน ก็ขอให้ทางฝ่ายจำเลยทำสำนวนสรุปคำร้องเพิ่มเติม ภายใน 30 วันเช่นกัน ส่วนศาลทหารก็จะดำเนินการส่งคำร้องของจำเลย ไปให้ศาลอาญาและศาลรัฐธรรมนูญ ทำความเห็นกลับมาว่า คดีนี้อยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลใดตามพรบ.ว่า ด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 นอกจากนี้ ศาลยังพิจารณาอนุญาตให้นายจาตุรนต์เดินทางไปยังเมืองเฉินตูประเทศจีน ระหว่างวันที่ 19-23 ต.ค. และต้องกลับมารายตัวภายในวันที่ 28 ต.ค.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลทหารในวันนี้มี เจ้าหน้าหน้าที่ของคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล หรือไอซีเจ และเจ้าหน้าที่ของสถานทูต หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่งเศส เยอรมัน สวิสเซอร์แลนด์ สวีเดน รวมกว่า 10 คน เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย
ภายหลังการพิจารณาคดี นายนรินท์พงศ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงแนวทางการต่อสู้คดี ว่า วันนี้นายจาตุรนต์ยังไม่ยื่นคำให้การต่อศาล เพราะเห็นว่าคดีนี้ ไม่อยู่ในอำนาจการพิจาณาพิพากษาของศาลทหารกรุงเทพ แต่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลยุติธรรมตามปกติ เนื่องจากการกระกระทำของนายจาตุรนต์ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมดเกินขึ้นระหว่างวันที่ 22-27 พ.ค. ซึ่งสิ้นสุดลงก่อนมีประกาศ คสช. ที่ว่าด้วยการให้อำนาจศาลทหารให้การพิจารณาพิพากษาคดีความ ในฉบับที่ 37/2557 และฉบับที่ 38/ 2557 ลงวันที่ 25 พ.ค. แต่ประกาศทั้ง 2 ฉบับ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายในวันที่ 31 พ.ค.
นายนรินท์พงศ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ยังขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ในมาตรา 4 ที่ คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ของประชาชนตามประเพณีการปกครองและตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ซึ่งประเทศไทยได้เป็นภาคีเครือข่ายของ กติการะหว่างประเทศว่า ด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ไอซีซีพีอาร์ การดำเนินการทางการยุติธรรมต้องเป็นไปตามปฏิญาสากลของกฎบัตรสหประชาชาติ ว่า พลเมืองย่อมมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยเป็นธรรม และต้องมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาได้
“การต่อสู้คดีในวันนี้ ทีมทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งชี้ขาดว่า คดีของนายจาตุรนต์อยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลใด ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้ศาลทหารก็จะต้องดำเนินการส่งเรื่องให้ คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดขอบเขตอำนาจต่อไป และถ้าหากศาลเห็นว่า เป็นการขัดกันของข้อกฎหมายก็อาจส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ กระบวนการเหล่านี้จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงคาดว่าปีหน้าจึงจะมีการนัดหมายอีกครั้ง สาระสำคัญที่ต้องจับตามองต่อจากนี้คือ คดีความของนายจาตุรนต์จะไปสิ้นสุดที่ศาลใดระหว่างศาลทหารหรือศาลยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ทีมทนายเชื่อมั่นว่า นายจาตุรนต์ อยู่ในฐานะพลเรือนก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติสำหรับพลเรือนทั่วไปที่ไม่ใช่ศาลทหาร” นายนรินพงศ์กล่าว
เมื่อถามว่า การชี้ขาดอำนาจศาลที่จะเกิดขึ้นจะกลายเป็นบรรทัดฐานให้ผู้ถูกกล่าวหาในลักษณะเดียวกันได้หรือไม่นายนรินท์พงศ์ กล่าวว่า ไม่แน่ใจ ต้องดูว่าผู้ถูกกล่าวหารายนั้นกระทำความผิดในช่วงเวลาเดียวกันหรือไม่ เมื่อถามถึงความสนใจในคดีของนายจาตุรนต์ของชาวต่างประเทศที่เข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดี นายนรินท์พงศ์ กล่าวว่า เนื่องจากชาวต่างประเทศต้องการรับรู้ถึงกระบวนยุติธรรมของประเทศไทย เพราะมองว่าจำเลยควรได้รับความเป็นธรรมตามหลักความเสมอภาคที่เป็นสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีของนายจาตุรนต์ ซึ่งชาวต่างประเทศตั้งคำถามกันมากว่า ทำไมคดีนี้ จึงไม่ถูกพิจารณาตามปกติที่ศาลอาญาซึ่งมี 3 ศาล ทั้ง ชั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกา ตามหลักสากลที่มีความชอบธรรมมากกว่าศาลทหารที่มีเพียงศาลเดียว
ขณะที่ นายจาตุรนต์ ให้สัมภาษณ์ ว่า จากนี้ต้องรอการวินิจฉัยของคณะกรรมการชี้ขาดขอบเขตอำนาจศาล และความเห็นของศาลอาญาและศาลรัฐธรรมนูญ ต่อไปว่าสุดท้ายแล้วคดีของตน จะอยู่ในขอบเขตของอำนาจศาลยุติธรรมตามกระบวนการปกติหรือไม่ เมื่อมีการชี้ขาดแล้วจึงจะเริ่มดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ที่ตนจะต้องยื่นคำให้การต่อศาลนั้น ส่วนการชี้ขาดอำนาจศาล จะสามารถเป็นบรรทัดฐานให้ผู้ถูกกล่าวหารายอื่นได้หรือไม่นั้น ตนมองว่า ขึ้นอยู่กับเวลาและสถานที่การกระทำความผิดที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา เพราะอย่างการแจ้งข้อกล่าวหาตนว่ากระทำความผิดระหว่างวันที่ 22-27 พ.ค. หากจะพิจารณากันตามจริงก็จะพบว่า พื้นที่กรุงเทพฯ ในขณะนั้น อยู่ระหว่างการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงของรัฐบาลเพื่อไทย ก่อนที่จะถูกคสช.ประกาศยกเลิกในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บรรยากาศการขึ้นเดินทางมายังศาลทหารของนายจาตุรนต์เป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนกว่า 100 คน มารอให้กำลังใจ นำดอกไม้มามอบให้ตั้งแต่ช่วงเช้า และรอจนกระทั่งเสร็จสิ้นการพิจารณา ขณะที่นายจาตุรนต์ก็มีสีหน้ายิ้มแย้ม แววตามุ่งมั่นไม่แสดงความหวาดกลัว แต่อย่างใด
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น