วันพุธที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2557

5 ผู้ต้องหาชายชุดดำ กลับคำรับสารภาพ เผยถูกซ้อมจนต้องยอมสารภาพ เมื่อ 14 ต.ค.57



5 ผู้ต้องหาชายชุดดำ กลับคำรับสารภาพ เผยถูกซ้อมจนต้องยอมสารภาพ
 

5 ผู้ต้องหาชายชุดดำ กลับคำรับสารภาพ ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 10 เม.ย.53 


แฉถูกซ้อมทำร้ายร่างกาย กลัวครอบครัวไม่ปลอดภัย จึงยอมรับสารภาพ อีกทั้งเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง อยู่ในอำนาจการสอบสวนของดีเอสไอ ตามมติของคณะกรรมการคดีพิเศษ ไม่ใช่กองปราบฯ 
 
เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายวิญญัติ ชาติมนตรี พร้อมด้วยทีมทนายความกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) เข้ายื่นหนังสือถึงนายกมล ธรรมเสรีกุล อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้แก่ 5 ผู้ต้องหาชายชุดดำ ในเหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 10 เม.ย. 2553 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกฯ และผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่บริเวณแยกคอกวัว และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่งผลให้เจ้าหน้าที่และประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

นายวิญญัติกล่าวว่า จากการเข้าพบผู้ต้องหาทั้ง 5 คนที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ทั้งหมดขอกลับคำรับสารภาพโดยระบุว่าถูกซ้อมและทำร้ายร่างกายอย่างต่อเนื่อง เพื่อบังคับให้รับสารภาพ และกลัวว่าครอบครัวจะไม่ได้รับความปลอดภัย จึงยอมรับสารภาพ สำหรับคดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง จึงอยู่ในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตามมติของคณะกรรมการคดีพิเศษ 

นายวิญญัติกล่าวต่อว่า พนักงานสอบสวนกองปราบปรามไม่มีอำนาจการสอบสวนคดีนี้ จึงขอให้พนักงานอัยการมีคำสั่งให้สอบสวนคดีนี้ใหม่อีกครั้ง โดยให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนดีเอสไอ และทนายความจะทำหนังสือยื่นขอความเป็นธรรมไปยังพนักงานสอบสวนดีเอสไอให้สอบสวนคดีใหม่ด้วย หลังจากนั้นจะยื่นประกันตัวผู้ต้องหาต่อไป จึงขอให้อัยการไม่คัดค้านในการปล่อยตัวชั่วคราว และการยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการในครั้งนี้ไม่ได้ใส่ร้ายใคร แต่เป็นการนำข้อเท็จจริงมาเสนอต่ออัยการ

ด้านนายกมลกล่าวว่า พนักงานสอบสวนดีเอสไอขอสำนวนคดีไปสอบสวนเพิ่มเติมแล้ว เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากเห็นว่าอยู่ในส่วนรับผิดชอบของคดีพิเศษ และหากดีเอสไอส่งสำนวนกลับมาให้อัยการอีกครั้ง ก็จะอยู่ในอำนาจการพิจารณาของอัยการคดีพิเศษในการสั่งคดี ส่วนหนังสือร้องขอความเป็นธรรมนั้น อัยการรับไว้และจะประสานอัยการสูงสุดดำเนินการต่อไป 
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น