วันอังคารที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

อย่าให้เลือดนองแผ่นดิน เมื่อ 7 พ.ค.57

อย่าให้เลือดนองแผ่นดิน


สถานการณ์การเมืองขณะนี้ หากเปรียบเป็นม้าแข่งในสนามราชตฤณมัยฯ หรือสนามม้านางเลิ้ง ก็ต้องบอกว่าพ้นโค้งวัดเบญจมบพิตรฯ เข้าสู่ทางตรงอีกไม่กี่เมตรก็จะถึงเส้นชัย หลายๆ คดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองกำลังใกล้รู้บทสรุปจะออกหัวหรือออกก้อยกันแล้ว  ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมารูปแบบไหน ใครผิด ใครถูก ตายเดี่ยวหรือยกเข่ง ยกฟ้องหรือจะลงโทษอย่างไร แต่สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามและน่าจะมีมาตรการระวังป้องกัน คือ "อาฟเตอร์ช็อก" ที่จะเกิดขึ้นอันเป็นผลพวงแห่งคดีความทางการเมือง
    ตามปฏิทินทางการเมืองในวันพุธที่ 7 พฤษภาคม 2557  เวลา 12.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังการวินิจฉัยคำร้อง ที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นสมาชิกวุฒิสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบมาตรา 268  หรือไม่ จากกรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากเมื่อวันอังคารที่ 6  พฤษภาคม 2557 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์ไต่ส่วนพยาน 4 ปาก ประกอบด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม, พล.ต.อ.วิเชียร  พจน์โพธิ์ศรี อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมและอดีตเลขาธิการ  สมช., นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. และเห็นว่าพยานหลักฐานต่างๆ ในการไต่สวนคดีถือว่าเพียงพอแล้ว และการไต่สวนได้เสร็จสิ้น 
    จากนั้นในวันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม 2557 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ  ป.ป.ช.จะนัดประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อพิจารณาผลสรุปจากองค์คณะไต่สวนคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว  ก่อนการลงมติจะชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมหรือไม่ ซึ่ง
หากไม่ได้ข้อยุติ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีสิทธิ์ให้ผู้ถูกกล่าวหามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วนที่ไม่ชัดเจนได้ แต่หากได้ข้อยุติแล้ว องค์คณะไต่สวนก็สามารถทำความเห็นเบื้องต้นได้ เพื่อจะชี้มูลในวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 
    ต้องยอมรับว่าทั้งสองคดีไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร เชื่อว่าสถานการณ์การเมืองคงจะตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในภาวะที่บ้านเมืองมีการแบ่งขั้ว แบ่งฝ่าย มีกลุ่มของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. แสดงเจตนารมณ์ต่อต้านระบอบทักษิณ  ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับอีกกลุ่มคือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. คนเสื้อแดง ซึ่งประกาศสนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และปกป้องพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างชัดเจน
    ยิ่งดูแนวโน้มแล้ว ทั้งสองคดีก็มีโอกาสที่ผลการพิจารณาจะตัดสินออกมาเป็นลบกับรักษาการนายกฯ คนปัจจุบัน ไม่ว่าจะถูกพิจารณาโทษเพียงคนเดียวหรือเหมาเข่งยกพวง อาจเพิ่มดีกรีความร้อนแรงให้กับกลุ่มคนเสื้อแดงประกาศสนับสนุนนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และมีกำหนดนัดระดมมวลชนกันในวันเสาร์ที่ 10 พฤษภาคม 2557 บริเวณถนนอุทยานหรือถนนอักษะ เพราะกลุ่มคนเสื้อแดงต่างๆ คิดกันมาตลอดว่า กระบวนการพิจารณาคดีความต่างๆ ขององค์กรอิสระต่างๆ เหล่านี้อยู่ในขบวนการทฤษฎี "มะม่วงหล่น" ที่สมคบคิดในการโค่นล้มรัฐบาล ร่วมมือกับ กปปส.ที่ขับเคลื่อนมวลชนอยู่ภายในสวนลุมพินี 
    และเมื่อสิ่งที่กลุ่มคนเสื้อแดงมโนไว้ได้มาผนวกกับผลการพิจารณาคดีออกมาเช่นนั้น กับแรงบวกแห่งความโกรธแค้น ที่แกนนำพยายามปลุกระดมให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจเรื่องการกลั่นแกล้งเข้าไปอีก ก็สุ่มเสี่ยงที่บ้านเมืองอาจต้องเผชิญกับความรุนแรง รวมทั้งการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มที่มีแนวคิดตรงกันข้ามกันขึ้นได้ อันจะนำไปสู่การปะทะกันอย่างที่ไม่มีใครอยากให้เกิด 
    แม้ในปัจจุบันการดูแลความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง  รัฐบาลรักษาการของนางสาวยิ่งลักษณ์ จะจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ขึ้นมา มีร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการฯ แต่การปฏิบัติงานของ ศอ.รส.แห่งนี้ตลอดเวลาที่ผ่านมา ดูจะไม่ช่วยให้เกิดความสงบแต่อย่างใด ตรงข้ามกลับเป็นตัวเร่งเร้าให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ โดยเฉพาะกับการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญและการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.
    เห็นได้จากแถลงการณ์ ศอ.รส.ฉบับที่ 1 เนื้อหาหลายส่วนหลายตอนถูกวิพากวิจารณ์จากสังคมในมุมที่ต่างมองว่า  ศอ.รส.ข่มขู่ ชี้นำการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์จนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้ ป.ป.ช.พิจารณาดำเนินคดี และมีคำวินิจฉัยต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ในกรณีโครงการรับจำนำข้าว อย่างตรงไปตรงมา ตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยไม่เลือกปฏิบัติเป็น 2 มาตรฐานที่แตกต่างกัน ระหว่างคนของพรรคฝ่ายค้านและกับพรรคฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งพาดพิงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่าอาจไม่เป็นกลางในการวินิจฉัยคดีนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่สำคัญมีการระบุว่า คณะรัฐมนตรีได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง การจะพ้นไปก็สมควรที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พ้นไป มิใช่ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ชี้ขาดเสียเอง
    เราเห็นว่า การทำงานด้านการรักษาความสงบของ ศอ.รส. ล้มเหลว และไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ความรุนแรงดีขึ้น ตรงกันข้ามกลับทำให้อุณหภูมิความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ด้วยการราดน้ำมันเติมเชื้อไฟอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ข้าราชการที่มีหน้าที่ดูแลด้านความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องเข้ามาดำเนินการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ตกเป็นเครื่องมือรับใช้การเมือง  เพราะเราไม่ต้องการเห็นเลือดคนไทยด้วยกันต้องนองแผ่นดินเพียงเพราะความเห็นที่แตกต่างอีกต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น