วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 19-25 พ.ค.2557 โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 พฤษภาคม 2557 08:46 น

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 19-25 พ.ค.2557

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์26 พฤษภาคม 2557 08:46 น

1. “บิ๊กตู่” รัฐประหารฟ้าแลบผ่าทางตันประเทศ หลังวงเจรจา 7 ฝ่ายล่ม เหตุ รบ. รักษาการไม่ยอมลาออก! 
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 19-25 พ.ค.2557
(บน) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.นำ ผบ.เหล่าทัพ-ผบ.ตร.ประกาศยึดอำนาจการปกครองเมื่อ 22 พ.ค. (ล่าง) การรัฐประหารกลายเป็นข่าวใหญ่ทางหน้าหนังสือพิมพ์ในวันรุ่งขึ้น
       หลังเกิดเหตุคนร้ายลอบยิงระเบิดเอ็ม 79 และกราดยิงเอ็ม 16 เข้าใส่ผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 15 พ.ค. กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกแถลงการณ์เตือนกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงว่า หากยังไม่หยุดใช้อาวุธสงครามต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทหารอาจจำเป็นต้องออกมาระงับเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างเต็มรูปแบบนั้น ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค. หลังการหารือระหว่างตัวแทนวุฒิสภากับนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ได้ข้อสรุปว่า คณะรัฐมนตรีที่เหลือจะไม่ลาออก เพื่อเปิดทางให้วุฒิสภาเสนอนายกฯ และ ครม.คนกลางเพื่อปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง ส่งผลให้วุฒิสภาอาจเดินหน้าเสนอนายกฯ คนกลางต่อไป ขณะที่พรรคเพื่อไทยไม่พอใจและได้ออกแถลงการณ์ต่อต้านนายกฯ และรัฐบาลนอกรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ก็ขู่จะยกระดับการชุมนุม หากมีการเสนอนายกฯ ตามมาตรา 7 ขณะที่กลุ่ม กปปส.สนับสนุนให้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา เสนอนายกฯ คนกลาง แต่ กปปส.จะไม่รอวุฒิสภา โดยนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 23-25 พ.ค. หากไม่ชนะ จะสลายการชุมนุมและมอบตัวในวันที่ 27 พ.ค.
      
        ปรากฏว่า เมื่อเวลา 03.00น.วันที่ 20 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีผู้ชุมนุมหลายกลุ่มและหลายพื้นที่ทั้งใน กทม. ปริมณฑล และพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีใช้อาวุธสงครามทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ จนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะเกิดเหตุการณ์จลาจลอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ อันจะกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน จึงประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร เพื่อให้การรักษาความสงบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
      
        ทั้งนี้ หลังประกาศกฎอัยการศึก พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ผอ.รส.) ได้ออกคำสั่งต่างๆ เช่น คำสั่งยุบศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ(ศอ.รส.) ,สั่งให้ผู้ชุมนุมทั้งกลุ่ม กปปส.และ นปช.ชุมนุมอยู่ในพื้นที่ ห้ามเคลื่อนย้ายมวลชนไปยังที่ต่างๆ และมีการเชิญหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเข้ารับฟังการแก้ปัญหาความไม่สงบ นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้เชิญบิ๊กเหล่าทัพ รวมทั้ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมหารือ ก่อนเปิดแถลงว่า การประกาศกฎอัยการศึก เป็นเพียงการใช้บังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดมากขึ้น และแสวงหาแนวทางออกอย่างสันติวิธีให้ได้ พร้อมชี้ว่า สิ่งที่จะดำเนินการเร่งด่วน คือ การบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ใช้อาวุธสงครามหรือผู้ที่ตั้งกองกำลังในการทำร้ายประชาชน และว่า การประกาศกฎอัยการศึกเมื่อมีเหตุจลาจลนั้น ยืนยันว่า ที่ผ่านมาได้เกิดจลาจลแล้ว เนื่องจากมีการบาดเจ็บและสูญเสียจำนวนมาก มีประชาชนเสียชีวิต 28 คน และบาดเจ็บ 700 กว่าคน เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในที่ประชุมด้วยว่า จะดำเนินการให้ทุกอย่างจบก่อนที่ตนจะเกษียณอายุราชการ พร้อมกล่าวติดตลกว่า หากไม่จบจะไม่เกษียณ
      
        วันต่อมา(21 พ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ ได้เชิญตัวแทน 7 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์บ้านเมืองมาประชุมหารือเพื่อหาทางออกประเทศที่สโมสรทหารบก ประกอบด้วย 1.ผู้แทนรัฐบาล 2.ผู้แทนวุฒิสภา 3.ผู้แทนพรรคเพื่อไทย 4.ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ 5.ผู้แทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) 6.ผู้แทน กปปส. และ 7.ผู้แทน นปช. โดยให้แต่ละฝ่ายนำผู้แทนเข้าร่วมประชุมได้ฝ่ายละ 5 คน อย่างไรก็ตาม หลังประชุม ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เนื่องจากแต่ละฝ่ายยังยืนอยู่ในจุดเดิมของตนเอง พล.อ.ประยุทธ์จึงให้การบ้าน 5 ข้อ ให้แต่ละฝ่ายกลับไปคิด ก่อนมาประชุมรอบสองในวันรุ่งขึ้น
      
        เมื่อถึงกำหนด(22 พ.ค.) ตัวแทนทั้ง 7 ฝ่ายได้มาประชุมร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์อีกครั้งในเวลาที่นัดกันไว้ 14.00น. โดยมีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ให้แต่ละฝ่ายเสนอแนวทางแก้ปัญหาตามที่ได้ให้การบ้านไป ซึ่งแต่ละฝ่ายยังคงนำเสนอแนวทางในมุมมองของตัวเอง ไม่มีจุดร่วมที่ตรงกัน พล.อ.ประยุทธ์จึงขอพักการประชุม และเชิญแกนนำฝ่าย นปช.และ กปปส.ไปหารือร่วมกันอีกห้องหนึ่งประมาณ 45 นาที เมื่อกลับมาที่ห้องประชุม ยังได้เชิญนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ไปพูดคุยกันเป็นการส่วนตัวอีกประมาณ 1 นาที ก่อนกลับมาวงหารืออีกครั้ง
      
        จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้ถามนายชัยเกษม นิติศิริ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่มาประชุมในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาลว่า ตกลงรัฐบาลยืนยันไม่ลาออก ทั้งรายบุคคลและทั้งคณะใช่หรือไม่ ซึ่งนายชัยเกษม ตอบว่า นาทีนี้ไม่ลาออก พล.อ.ประยุทธ์จึงบอกว่า “ถ้างั้นตั้งแต่นาทีนี้ ผมตัดสินใจยึดอำนาจการปกครอง” จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้เชิญตัวแทน ส.ว.และ กกต. ออกจากห้องประชุม โดยไม่มีการควบคุมตัว แต่ขอให้ยังอยู่ในพื้นที่สโมสรทหารบก เพื่อรอเคลียร์บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องให้ออกจากพื้นที่ก่อน ส่วนแกนนำ นปช.และ กปปส.ถูกควบคุมตัวไปที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์(ร.1 รอ.)
      
        หลังจากนั้น เวลา 17.00น. พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมด้วยบิ๊กเหล่าทัพ ประกอบด้วย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ(ผบ.ทอ.) ,พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ(ผบ.ทร.) ,พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด(รอง ผบ.สส.) และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ได้แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจฯ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ฉบับที่ 1 เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ โดยให้เหตุผลที่ยึดอำนาจครั้งนี้ว่า เนื่องจากได้เกิดความรุนแรงขึ้นในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างต่อเนื่อง โดยเหตุการณ์มีแนวโน้มขยายตัว จนอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และประชาชนในชาติเกิดความรัก สามัคคี เช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกฝ่าย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 เวลา 16.30น.เป็นต้นไป
      
       2. คสช. ยังแช่แข็ง 14 ทีวีดาวเทียม -ASTV โดนด้วย ด้าน “สนธิ” ถูกคุมตัวค่ายทหารราชบุรี ขณะที่ “จาตุรนต์-จารุพงศ์” ถูกห้ามทำธุรกรรมการเงิน!
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 19-25 พ.ค.2557
(บน) นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ เข้ารายงานตัวต่อ คสช.เมื่อ 24 พ.ค. (ล่าง) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีต รมว.มหาดไทย ยังไม่เข้ารายงานตัว
       หลัง คสช.นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศยึดอำนาจการปกครอง คสช.ได้ออกประกาศแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า คสช. ,พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ,พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ,พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ,พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นรองหัวหน้า คสช. และ พล.อ.อดุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นเลขาธิการ คสช.
      
        ทั้งนี้ คสช.ได้ออกประกาศต่างๆ ตามมา ได้แก่ ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และออกประกาศห้ามบุคคลใดออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 22.00 น.-05.00 น.ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.เป็นต้นไป เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และให้สถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีโทรทัศน์ และโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมทุกแห่ง งดรายการปกติของทางสถานี และถ่ายทอดรายการจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบก อย่างไรก็ตาม ภายหลังเมื่อวันที่ 24 พ.ค. คสช.ได้อนุญาตให้ทีวีและวิทยุออกอากาศได้ตามปกติแล้ว ยกเว้นทีวีดาวเทียม 14 สถานีและวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย สำหรับทีวีดาวเทียม 14 สถานีดังกล่าว ประกอบด้วย 1.สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เอ็มวีไฟว์ 2.สถานีโทรทัศน์ ดีเอ็นเอ็น 3.สถานีโทรทัศน์ ยูดีบี 4.สถานีโทรทัศน์ เอเชียอัพเดต 5.สถานีโทรทัศน์พีแอนด์พี 6.สถานีโทรทัศน์ โฟร์แชลแนล 7.สถานีโทรทัศน์ บลูสกาย 8.สถานีโทรทัศน์ เอฟเอ็มทีวี 9.สถานีโทรทัศน์ ทีนิวส์ 10. สถานีโทรทัศน์ เอเอสทีวี 11.สถานีโทรทัศน์ ฮอตทีวี 12.สถานีโทรทัศน์ วอยซ์ทีวี 13.สถานีโทรทัศน์เรดสกิลล์ 14.สถานีโทรทัศน์ คปท. โดยอ้างว่า ทีวีทั้ง 14 สถานี ยังออกอากาศข่าวที่มีลักษณะโน้มเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ส่วนสื่อออนไลน์และสื่อสิ่งพิมพ์ ห้ามปลุกระดมหรือนำเสนอข่าวสารที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติหรือวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของ คสช. ฯลฯ
      
       นอกจากนี้ คสช.ยังได้ออกประกาศให้รัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นสุดลงชั่วคราว ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังให้คณะรัฐมนตรีรักษาการสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ โดยให้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้า คสช. สำหรับวุฒิสภานั้น ตอนแรก คสช.ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ภายหลังได้ออกประกาศให้วุฒิสภาสิ้นสุดลงเช่นกัน พร้อมประกาศว่า กรณีที่มีเรื่องใดต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้า คสช.ในการให้ความเห็นชอบแทน ส่วนศาลทั้งหลาย ยังคงให้มีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีได้ตามกฎหมาย เช่นเดียวกับองค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ 2550 ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
      
       หลังจากนั้น คสช.ยังได้ออกประกาศห้ามชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไป และให้ผู้ชุมนุมทุกกลุ่มยุติการชุมนุม ก่อนมีการเคลียร์พื้นที่ทั้งที่ถนนอักษะของกลุ่ม นปช. ที่ถนนราชดำเนินของ กปปส.และ คปท. และที่ถนนแจ้งวัฒนะของหลวงปู่พุทธะอิสระ พร้อมจัดรถรับส่งมวลชนของทุกกลุ่มกลับบ้าน นอกจากนี้ คสช.ยังออกประกาศให้บุคคลต่างๆ เข้ารายงานตัว ซึ่งมีทั้งรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรี รวมทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ นักการเมืองพรรคต่างๆ นักวิชาการ แกนนำและแนวร่วมกลุ่ม นปช. –กปปส. รวมกว่า 150 คน
      
       ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ซึ่งบุคคลต่างๆ ที่เข้ารายงานตัว คสช.จะพิจารณาเป็นกรณีไปว่าใครจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อใด และใครจะถูกควบคุมตัวไว้ก่อน โดยผู้ที่ถูกควบคุมตัวไว้ อาจถูกส่งไปอยู่ในค่ายทหารทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด เช่น จ.ปราจีนบุรี ,กาญจนบุรี ,สระบุรี ,พระนครศรีอยุธยา โดยในส่วนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น ตอนแรกข่าวยังสับสนว่ามีการกักตัวไว้ก่อนหรือไม่ แต่ภายหลังมีรายงานถูกคุมตัวอยู่ในกองพลที่ 1 รักษาพระองค์(พล.1 รอ.) และได้รับการการปล่อยตัวแล้วเมื่อเย็นวันที่ 25 พ.ค. ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการปล่อยตัวแล้วเช่นกัน ส่วนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.และแกนนำ กปสส.บางคน รวมทั้งนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.และแกนนำ นปช.อีกหลายคน ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ ล่าสุด นายสุเทพพร้อมแกนนำ กปปส.ได้ถูกนำตัวส่งอัยการตามที่โดนคดีก่อนหน้านี้
      
       ขณะที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.ที่เรียกบุคคลเข้ารายงานตัวเพิ่มเติม 35 คนเมื่อวันที่ 24 พ.ค. โดยระหว่างเข้ารายงานตัว นายสนธิได้นำของใช้จำเป็นใส่กระเป๋าสะพายติดตัว เพื่อเตรียมพร้อมหากถูกกักตัว พร้อมยืนยันว่า ไม่กังวล เพราะตนไม่ได้ทำอะไรผิด “ไม่ต้องกังวลนะครับพี่น้อง ไม่มีอะไรน่าตกใจเลย ของมีอยู่ในนี้หมดแล้ว ผ้าเช็ดตัว เสื้อยืดตัวนึง พิมพ์คำว่า “แล้วยังไง” เสียดายที่ไม่มีเสื้อยืดที่พิมพ์คำว่า “กูว่าแล้ว” นะฮะ แล้วก็มีเสื้อเอเอสทีวีตัวนึง ยาสีฟัน แปรงสีฟัน หนังสือเล่มหนึ่ง แล้วก็หนังสือสวดมนต์แค่นั้นเอง ไม่ต้องกังวลอะไรทั้งสิ้นครับ เรื่องเล็ก แค่เปลี่ยนที่นอนแค่นั้นเอง ส่วนเขาจะกักผมนานแค่ไหนก็เรื่องของเขา เพราะผมไม่ได้ทำอะไรผิดเลยแม้แต่นิดเดียว ยืนอยู่บนหลักการของธรรม คนที่เอาธรรมนำหน้าจะไม่มีวันเป็นอะไร พี่น้องนอนหลับให้สบาย กลับมาแล้วค่อยคุยกัน ขอบคุณครับ”จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายสนธิพร้อมบุคคลที่เข้ารายงานตัว 14 คนจาก 35 คนไปคุมตัวไว้ที่ค่ายทหารใน จ.ราชบุรี
      
       ทั้งนี้ วันเดียวกัน(24 พ.ค.) มีข่าวแพร่สะพัดว่า เจ้าหน้าที่ทหารใน จ.เชียงใหม่ได้ควบคุมตัวนายพานทองแท้ ชินวัตร ลูกชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดาฯ โดยคุมตัวจากบ้านพักใน จ.เชียงใหม่ และนำตัวไปขึ้นเครื่องที่สนามบิน จ.เชียงใหม่ เพื่อเดินทางมายังสนามบินดอนเมือง โดยมีการแพร่ภาพในโซเชียลมีเดียขณะที่ทหารถืออาวุธควบคุมตัวนายพานทองแท้ อย่างไรก็ตาม นางพิณทองทา คุณากรวงศ์ หรือพิณทองทา ชินวัตร และน.ส.แพทองธาร ชินวัตร น้องสาวของนายพานทองแท้ ได้โพสต์ในอินสตาแกรมข้อความเดียวกันว่า “พี่โอ๊คไม่ได้โดนรวบตัวนะคะ ขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วงและให้กำลังใจ” 
      
       สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้ารายงานตัวต่อ คสช. ได้แก่ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ,นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ,นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ ,นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการสายเสื้อแดง ที่ก่อนหน้านี้ได้ถูกกองทัพบกแจ้งความเอาผิดฐานหมิ่นสถาบัน ,นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด และนายศรัณย์ ฉุยฉาย หรือ “อั้ม เนโกะ” นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกแจ้งความเอาผิดฐานหมิ่นเบื้องสูงเช่นกัน
      
       ทั้งนี้ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ได้โพสต์ภาพลงเฟซบุ๊กมีข้อความเขียนด้วยลายมือ ข้อความว่า “...ผมไม่ยอมไปรายงานตัวกับพวกกบฎ เพราะผมเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยประชาชนแต่งตั้งมา ผมตั้งใจต่อต้านกบฎทุกรูปแบบกับพลังประชาชนเสรีไทย ผมปลอดภัยดี ผมหลบอยู่ในภาคอีสานครับ... ” ด้าน คสช.ได้ออกคำสั่งในวันเดียวกัน(24 พ.ค.) ให้สถาบันการเงินระงับการทำธุรกรรมทางการเงินของนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ และนายจาตุรนต์ ฉายแสง แล้ว พร้อมให้สถาบันการเงิน และนิติบุคคล ส่งข้อมูลการทำธุรกรรมการเงินย้อนหลังของบุคคลทั้งสองระหว่างวันที่ 1 มี.ค.-24 พ.ค.2557 ให้ คสช.ด้วย
      
       3. คสช.สั่งเด้ง “นิพัทธ์-อดุลย์-ธาริต-ทวี” – 8 บิ๊กตำรวจ ด้าน ทภ.2 รวบ 23 เสื้อแดงวางแผนป่วนเมืองขอนแก่น! 

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 19-25 พ.ค.2557
บน) พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก-พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว-พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง-นายธาริต เพ็งดิษฐ์ (ล่าง) บรรยากาศรองแม่ทัพภาค 2 แถลงข่าวรวบ 23 เสื้อแดงเตรียมป่วนเมืองขอนแก่น
       ภายหลังการประกาศกฎอัยการศึกและการยึดอำนาจการปกครองโดย คสช.นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้มีปฏิบัติการกวาดล้างอาวุธสงครามเป็นการใหญ่ โดยมีการจับกุมผู้ต้องหาพร้อมอาวุธสงครามได้จำนวนมากในหลายจังหวัด ซึ่งล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงกลุ่ม นปช.และคนเสื้อแดง เช่น เมื่อวันที่ 20 พ.ค.จับกุมได้ที่ จ.ลพบุรี ผู้ต้องหาคือ นายเชาว์วัฒน์ หรือนวย ทองเผือก เป็นอดีตทหารพราน จับกุมได้ที่บ้านใน อ.หนองม่วง หลังได้รับแจ้งว่าบ้านหลังดังกล่าวเป็นแหล่งพักอาวุธสงคราม เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าตรวจค้น พบอาวุธสงครามหลายรายการ ทั้งปืน-กระสุน และระเบิด เจ้าตัวให้การว่า น.ส.จันทนา หรือซี วรากรสกุลกิจ และนายชัชชาญ หรือโต้ง บุปผาวัลย์ นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และระเบิดต่างๆ มาให้ เพื่อให้ประกอบวัตถุระเบิด ก่อนมารับของในเวลากลางคืน เพื่อนำไปใช้ก่อความไม่สงบในกรุงเทพฯ
      
       ซึ่งในเวลาต่อมา ทหารและตำรวจสามารถขยายผลไปจับกุม น.ส.จันทนา วรากรสกุลกิจ ได้ที่บ้านเช่าใน อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ซึ่งจากการตรวจค้นห้องเช่าดังกล่าว พบอาวุธสงครามจำนวนมาก เช่น ปืนเอเค 47 ชนิดพับฐานพร้อมกระสุน 777 นัด, ปืนไรเฟิล พร้อมกล้องส่อง และกระสุน 38 นัด, เครื่องยิงเอ็ม-79 พร้อมกระสุน, ปืนคาร์บิน, ปืนพกสั้น ระเบิดชนิดต่างๆ นอกจากนี้ภายในห้องยังพบบัตร STAFF นปช. รวมพลคนประชาธิปไตย และบัตรการ์ด นปช.ด้วย
      
       นอกจากนี้ยังมีการจับนายประเสริฐ ดาวสุข ชาว จ.ปทุมธานี พร้อมของกลางอาวุธปืนเอเค 47 กระสุน 30 นัด จับกุมได้ใกล้พื้นที่การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่ถนนอักษะ โดยเจ้าตัวอ้างว่า ตนแค่ขับรถมารอรับภรรยา ซึ่งเป็นแม่ครัวให้กับกลุ่ม นปช. และไม่ทราบว่าอาวุธดังกล่าวมาอยู่ในรถของตนได้อย่างไร
      
       และล่าสุด เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ทหารสามารถจับกุมแกนนำกลุ่มผู้ไม่หวังดีเตรียมก่อเหตุในพื้นที่ จ.ขอนแก่น โดยได้ผู้ต้องหา 23 คน เป็นชาย 22 คน และหญิง 1 คน พร้อมของกลางจำนวนมาก ทั้งระเบิดขว้าง ระเบิดปิงปอง ระเบิดควัน และมีบัตร “นปช.แดงทั้งแผ่นดิน” 2 ใบ ,ผ้าพันคอสีแดง 300 ผืน ,เอกสารแผนภูมิวางระเบิดในภาคใต้ ,แผนผังทำวงจรระเบิดในเขตพื้นที่ จ.ขอนแก่น ,ภาพฝึกอาสาสมัครพิทักษ์ประชาธิปไตยแห่งชาติ(อพปช.) ของคนเสื้อแดง นอกจากนี้ยังมีหนังสือระบุการทำงานของ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ประกอบด้วย คณะบริหารรัฐ บริหารจังหวัด บริหารอำเภอ บริหารตำบล พร้อมใบวุฒิบัตรผ่านการฝึกอบรมทบทวนโครงการอาสาสมัครตำรวจบ้าน(อส.ตร.) ประจำปีงบประมาณ 2554 และของกลางรถยนต์ 10 คัน
      
       พล.ต.ธวัช สุกปลั่ง รองแม่ทัพภาคที่ 2 เผยว่า กองทัพภาคที่ 2 ได้รับแจ้งว่าจะมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีออกปฏิบัติการในลักษณะกวนเมืองขอนแก่น ชื่อกลุ่ม “ขอนแก่นโมเดล” โดยจะใช้วิธีก่อกวนทั้งเมือง เพื่อให้เกิดจลาจลขึ้น หลังสืบทราบว่ากลุ่มดังกล่าวพักอยู่ใน “ชลพฤกษ์อพาร์ตเมนต์” จึงได้เข้าตรวจค้นจับกุม โดยผู้ต้องหาสารภาพว่า ได้รับคำสั่งจากแกนนำ นปช. ให้ก่อเหตุในพื้นที่ จ.ขอนแก่น เพื่อเป็น"ขอนแก่นโมเดล" 
      
       พล.ต.ธวัช ยังเผยด้วยว่า “พบข้อมูลเอกสารต่างๆ จากกลุ่มดังกล่าวที่สามารถเปิดเผยได้และเปิดเผยไม่ได้ ส่อให้เห็นว่าบ้านเมืองของเราเกิดกลุ่มผู้ไม่หวังดีคิดสร้างความปั่นป่วนตลอดเวลา จะมีการขยายผลต่อ หากเชื่อมโยงถึงกลุ่มใด ผู้ใด เจ้าหน้าที่ต้องเข้าจับกุมโดยเด็ดขาดทันที ตามรายงานจากแหล่งข่าวทราบว่า ยังมีใน จ.อุดรธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ ส่วนผู้ต้องหา 23 คน ได้ควบคุมตัวไว้ในที่ที่ปลอดภัย และดูแลให้ความสะดวกกับผู้ต้องหาทุกคน” 
      
       ทั้งนี้ นอกจากการกวาดล้างจับกุมผู้ต้องหาพร้อมอาวุธสงครามแล้ว คสช.ยังได้ออกคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งสำคัญๆ หลายตำแหน่ง เช่น ให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยยังคงเป็นรองหัวหน้า คสช. และให้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ,ให้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกฯ และให้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาปฏิบัติหน้าที่อธิบดีดีเอสไออีกหนึ่งหน้าที่ ,ให้ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกฯ และให้ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงกลาโหม ,ให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกฯ และให้นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย มาปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ ศอ.บต.อีกหน้าที่หนึ่ง
      
       ในเวลาต่อมา พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ลงนามคำสั่งย้ายนายพลตำรวจ 8 นาย ให้ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.เป็นต้นไป ประกอบด้วย พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ,พล.ต.ท.นเรศ นันทโชติ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ,พล.ต.ท.กวี สุภานันท์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ,พล.ต.ท.อนุชัย เล็กบำรุง ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ,พล.ต.ท.สุเทพ เดชรักษา ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค5 ,พล.ต.ท.หาญพล นิตย์วิบูลย์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ,พล.ต.ท.ภาณุ เกิดลาภผล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และ พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล
      
       4. ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนจำคุก 6 เดือน แต่รอลงอาญา 2 ปี “จตุพร” คดีกล่าวหา “อภิสิทธิ์” สั่งฆ่าประชาชน! 

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 19-25 พ.ค.2557
(ซ้าย) นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. (ขวา) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
       เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ศาลอาญา ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา
      
        คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2553-15 ก.พ.2553 จำเลยได้ปราศรัยหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ต่อหน้ากลุ่มคนเสื้อแดงและประชาชนผ่านโทรทัศน์ช่องพีเพิล แชนแนล ที่ถ่ายทอดสดทั่วประเทศ ทำนองว่าโจทก์เป็นนายกฯ ที่สั่งฆ่าประชาชนและหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร และข้อความอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังว่าโจทก์เป็นคนมีจิตใจโหดเหี้ยม สั่งฆ่าประชาชนและหนีทหาร ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ,326 ,332 ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ
      
        ด้านศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาในประเด็นที่จำเลยปราศรัยว่า โจทก์เป็นนายกฯ ที่สั่งปราบปรามและเข่นฆ่าประชาชน ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 50,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และให้ลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวันเป็นเวลา 7 วัน โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่าย
      
        ต่อมา โจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีที่จำเลยปราศรัยว่าโจทก์หลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารและใช้เอกสารเท็จในการเข้าสมัครรับราชการในโรงเรียนนายร้อยนั้น เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1) (3) อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
      
        ส่วนที่จำเลยปราศรัยโดยอ้างว่า มีสายข่าวระบุว่าโจทก์มีการวางแผนจัดตั้งมวลชนห้ำหั่นคนเสื้อแดงนั้น ศาลเห็นว่า จำเลยไม่มีแหล่งข่าวที่อ้างมาเบิกความต่อศาล จึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยัน จึงทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 328 ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอไม่ให้รอลงอาญาจำเลยนั้น ศาลเห็นว่า แม้โจทก์และจำเลยจะมีการฟ้องคดีกันถึง 5 สำนวน ทั้งในศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ แต่เพราะทั้งสองก็เป็นนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกัน จึงย่อมเกิดการกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ก็ไม่ถึงขนาดทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียหรือเสียหายรุนแรง อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น ดังนั้นศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษารอลงอาญานั้นชอบแล้ว พิพากษายืน
      
        ด้านนายจตุพร กล่าวหลังรู้ผลคำพิพากษาว่า จะปรึกษาทีมกฎหมายว่าต้องฎีกาอีกหรือไม่ เพราะคดีที่ถูกฟ้องมีเหตุในการฟ้อง 2 เรื่องใน 1 สำนวน ศาลได้ยกฟ้องประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์และยกฟ้องประเด็นใบ สด.41 แต่ให้ยืนรอลงอาญาการปราศรัยเรื่องการปราบปรามประชาชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น