วันอังคารที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

‘เลือกตั้ง’เอวัง กกต.เบรกพรฎ.เมื่อ 7 พ.ค.57

‘เลือกตั้ง’เอวัง กกต.เบรกพรฎ.


 กกต.มีมติเอกฉันท์ยังไม่ออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ แจงเห็นแย้งกฤษฎีกาในอำนาจการเลื่อนเลือกตั้งกรณีมีเหตุร้ายแรงหรือสุดวิสัย ร่อนหนังสือถึงนายกฯ ขอหารืออีกรอบ ปัดโยงศาล รธน.วินิจฉัยสถานภาพนายกฯ นายกฯ สั่ง รมต.รอประชุมนัดพิเศษ แต่สุดท้ายล่ม! นัดใหม่ 7 พ.ค.นี้ "เพื่อแม้ว" จวก "โรดแม็พมาร์ค" ไม่จริงใจ รับไม่ได้ขอ "ยิ่งลักษณ์" เว้นวรรค ขัด รธน. โวยทฤษฎีสมคบคิด ย้ำเดินหน้าเลือกตั้ง 20 ก.ค. ด้าน ปชป.ท้า "ปู" ดีเบต "มาร์ค"
    ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันที่ 6 พฤษภาคม นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.แถลงผลการประชุม กกต.เพื่อพิจารณาเนื้อหาถ้อยคำในร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งเป็นการทั่วไป ว่า กกต.ได้ประชุมพิจารณาความเห็นส่งไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นหนังสือด่วนที่สุด   ลงนามโดย กกต.ทั้ง 5 คน เรื่องความเห็นของ กกต.เกี่ยวกับ พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.... ส่งถึงนายกรัฐมนตรี พร้อมกับแนบเอกสารอีก 2 ฉบับ ประกอบด้วย หนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงวันที่ 1 พ.ค.2557 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2557 ลงวันที่ 24 ม.ค.2557
     สำหรับหนังสือของ กกต.ระบุว่า ตามที่ กกต.ได้ส่งร่าง พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้งฯ โดยเสนอว่าในกรณีมีเหตุจำเป็นหรือจะเกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติ ให้นายกฯ ปรึกษา กกต.เพื่อให้ประธานกกต.ประกาศเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปได้ และกฤษฎีกาได้ตรวจให้ความเห็นว่าร่าง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวมีประเด็นปัญหาข้อกฎหมายว่าการกำหนดวันเลือกตั้งจะมอบอำนาจต่อไปได้หรือไม่ และจะเป็นการกระทำโดยไม่ใช่รูปแบบ พ.ร.ฎ. รวมทั้งมีความเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยว่าเหตุของการให้เลื่อนการเลือกตั้งคือเหตุใด และการเลื่อนจะกระทำได้โดย พ.ร.ฎ. ดังนั้น กกต.จึงมีมติเอกฉันท์ให้เสนอความเห็นต่อนายกฯ ดังนี้ 
    1.พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปตามแบบแผนหรือแบบธรรมเนียม แม้ไม่เคยมีเนื้อความในลักษณะของการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นแต่ กกต.มีความเห็นว่าไม่เคยมีรูปแบบมาตรฐานการตรา พ.ร.ฎ.ว่าจะต้องมีเนื้อความอย่างไร ต้องบัญญัติถึงเรื่องอะไรบ้าง เป็นเกณฑ์บังคับมาก่อน แต่การตราพ.ร.ฎ.ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ ยกตัวอย่าง พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2549 ที่ได้มีการกำหนดวันบังคับใช้ไว้หลังวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาประมาณ 1 เดือน ซึ่งก็ไม่เคยมีมาก่อน แต่มีความจำเป็นต้องดำเนินการ 
    2.จากเหตุการณ์ความไม่สงบ จากการชุมนุมคัดค้านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ทำให้ กกต.เสนอให้นายกรัฐมนตรีเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปก่อน แต่นายกฯและรัฐมนตรีหลายคนเห็นว่าไม่สามารถเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปได้ เพราะไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญรองรับการดำเนินการดังกล่าว แต่เมื่อ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าหากมีเหตุที่จะนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงแก่ประเทศชาติหรือประชาชนอันเนื่องมาจากการจัดการเลือกตั้งทั่วไป กกต.ก็ชอบที่จะต้องแจ้งให้นายกรัฐมนตรีหรือ ครม.ทราบ เพื่อพิจารณาตรา พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งขึ้นใหม่
เชิญนายกฯ หารืออีกรอบ
    3.จากเหตุผลข้างต้น กกต.จึงมีความเห็นว่าการกำหนดให้มีบทบัญญัติดังกล่าว เป็นความพยายามแก้ไขปัญหาทางกฎหมายเดิมที่เคยเกิดขึ้นแล้วเป็นหลัก มิได้คำนึงถึงเพียงแต่แบบแผนและแนวทางการตรากฎหมายตามปกติ เพราะ กกต.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดการเลือกตั้งทั้งหมดภายหลัง พ.ร.ฎ.ประกาศใช้ จึงจำเป็นต้องมีบทบัญญัติเป็นเครื่องมือในการจัดการเลือกตั้งไม่ให้เสียเปล่าอีกครั้งหนึ่ง และบทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสร้างความมั่นใจให้แก่ ครม.และ กกต.ได้ว่าการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และอีกทั้งยังเป็นหลักประกันต่อสังคมว่าการเลือกตั้งจะต้องดำเนินการต่อไปได้แน่นอน
    นายภุชงค์กล่าวต่อว่า กกต.เสนอให้มีบทบัญญัติในการร่าง พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.... ดังนี้ "มาตรา.. ในกรณีที่มีเหตุที่จะนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงแก่ประเทศชาติหรือประชาชนหรือมีเหตุจลาจล หรือเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอย่างอื่นอันเนื่องมาจากการจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ.นี้ ให้ กกต.แจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบ เพื่อให้พิจารณาดำเนินการตรา พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่" ด้วยระยะเวลาที่เหลืออยู่จนถึงวันที่ 22 พ.ค.นี้ อันเป็นเวลาที่จะกำหนดให้ พ.ร.ฎ.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ยังมีเวลาเพียงพอที่จะพิจารณาประเด็นดังกล่าวให้ละเอียดรอบคอบอีกครั้ง   กกต.จึงขอเชิญนายกรัฐมนตรีและคณะมาประชุมร่วมกับ กกต. ตามวันเวลาสถานที่ที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นสมควรร่วมกัน
    "หากทั้ง 2 ฝ่ายกำหนดวันที่จะพูดคุยกันโดยเร็ว ภายใน 3-5 วัน ก็จะไม่กระทบจนต้องขยับวันเลือกตั้งจากที่กำหนดไว้คือวันที่ 20 ก.ค.นี้ ยืนยันว่าการทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อเชิญมาหารืออีกครั้งไม่เกี่ยวกับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีของนายกรัฐมนตรีในวันที่ 7 พ.ค. รวมถึงไม่เกี่ยวกับข้อเสนอที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่งมาให้ กกต." นายภุชงค์กล่าว  
    ก่อนหน้านั้น นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงกรณีที่ กกต.ยังไม่สามารถส่งร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง ให้ ครม.พิจารณาได้ว่า ถึงอย่างไรก็ต้องมีการเรียกประชุม ครม.เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง ก่อนที่จะมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้ทันวันที่ 20 ก.ค. ซึ่งยังมีเวลาเหลืออีก 14 วัน ซึ่งเชื่อว่าขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายคงใช้เวลาไม่นาน เมื่อ กกต.ส่งเรื่องมายังรัฐบาล จะเรียกประชุม ครม.นัดพิเศษทันที ความจริงแล้วการประชุมของ กกต.เมื่อเช้าวันเดียวกัน น่าจะเรียบร้อย ไม่อยากจะมองว่า กกต.พยายามที่จะดึงเวลา เรื่องนี้ต้องดูกันอีกยาว 
    เมื่อถามว่า เป็นไปได้ว่า กกต.ดึงเวลาเพื่อรอการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญก่อน นายชัยเกษมกล่าวว่า เป็นเรื่องของ กกต. ไปคิดแทนไม่ได้
ครม.รอประชุมนัดพิเศษ
     วันเดียวกัน น.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เดินทางออกจากสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (สป.กห.) ในเวลา 14.00 น. โดยนายกฯ ได้สั่งให้รัฐมนตรีทุกคนเตรียมความพร้อมในการประชุม ครม.นัดพิเศษ หาก กกต.ส่งร่างพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไปมายังรัฐบาล จะเรียกประชุม ครม.ทันที เพื่อพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย 
    แต่เมื่อเวลา 16.30 น. รัฐมนตรีต่างทยอยเดินทางเข้ามายังสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม แต่ไม่พบว่านายกฯ เดินทางเข้ามา ขณะที่ กกต.ได้แถลงข่าวในเวลา 17.00 น. ว่าไม่ส่งร่างพระราชกฤษฎีกา แต่จะส่งหนังสือถึงนายกฯ เพื่อขอหารือร่วมกับ กกต.อีกรอบ ทำให้นายกฯ สั่งยกเลิกประชุม ครม.นัดพิเศษ และสั่งให้รัฐมนตรีรอคำสั่งเรียกประชุม ครม.นัดพิเศษ ในวันที่ 7 พ.ค.ที่ สป.กห.
    นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กกต.มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเรื่องการจัดการเลือกตั้งอีกครั้ง โดยอ้างว่าขอให้เติมบทบัญญัติมาตราในพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งเกี่ยวกับการให้อำนาจ กกต. เพราะหากมีปัญหา ก็สามารถเสนอวันเลือกตั้งใหม่ได้ แต่ทางกฤษฎีกาได้บอกกับ กกต. และให้ความเห็นไปแล้วว่า อำนาจที่ออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง สามารถกำหนดได้เฉพาะวันเลือกตั้งเท่านั้น จะให้อำนาจนอกเหนือจากนี้ไม่ได้ ซึ่ง พ.ร.ฎ.เลือกตั้งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถให้อำนาจ กกต.ได้ 
        รองนายกฯ บอกว่า นายกฯ ยังไม่ได้ตอบกลับ และยังไม่ได้นำเข้าที่ประชุม ครม. แต่ กกต.ยืนยันว่ายังมีเวลาในการหารือ และทันกรอบเวลาเดิมคือวันที่ 20 ก.ค. ทั้งนี้ อย่าพูดว่า กกต.เตะถ่วง เพราะ กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรก็ตามรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ถือว่าเป็นรัฐบาลที่ประชาชนเห็นชอบ ส่วนจะหารือถึงหนังสือของ กกต.เมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับนายกฯ ว่าสะดวกเมื่อไร 
     ที่พรรคเพื่อไทย นายโภคิน พลกุล คณะกรรมการกิจการพรรค ในฐานะฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย อ่านแถลงการณ์การเลือกตั้งและความยุติธรรมเท่านั้นคือทางออกของประเทศ ระบุว่า ข้อเสนอของอภิสิทธิ์สับสนและไม่จริงใจ ขัดหลักประชาธิปไตย ไม่อยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ความพยายามให้มีนายกฯมาตรา 7 หรือนายกฯ คนกลาง ก็มาจากพรรคประชาธิปัตย์ กปปส. และแนวร่วม โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญ การให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ลาออกจากตำแหน่ง ก็ไม่แตกต่างจากที่เคยเสนอในปี 2549 เป็นการสืบทอดแนวคิด ทั้งที่รู้อยู่ว่าขัดรัฐธรรมนูญ เพราะปัจจุบันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ไปแล้ว แต่รัฐธรรมนูญบังคับให้ต้องทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ซึ่งต้องผ่านการเลือกตั้ง
    นายโภคินกล่าวว่า การเสนอให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้สรรหานายกฯ และคณะรัฐมนตรี เป็นข้อเสนอนอกรัฐธรรมนูญ เพราะสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่มีสิทธิเสนอและเลือกนายกฯ และเฉพาะประธานสภาผู้แทนฯ เท่านั้นที่เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ  วุฒิสภาไม่มีอำนาจหน้าที่ หากกระทำไปก็จะเข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ การทำแผนและทำประชามติร่วมกับกกต. ก็ไม่อาจทำได้ตามรัฐธรรมนูญ การที่รอคำตอบจากนายกฯ ยิ่งลักษณ์เพียงคนเดียว เท่ากับเป็นการสร้างเงื่อนไขเพื่อเอื้อข้อเสนอของตนและ กปปส. 
    เขาบอกว่า มีกระบวนการสมคบคิดกันระหว่างพรรคการเมืองบางพรรค กปปส.และองค์กรตามรัฐธรรมนูญบางองค์กร เพื่อทำรัฐประหารรูปแบบใหม่  ต้องจับตาดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีนายถวิล เปลี่ยนศรี รวดเร็วหรือไม่ เพื่อให้ประเทศไม่มีรัฐบาล เพื่อปูทางให้วุฒิสภาไปละเมิดรัฐธรรมนูญตั้งนายกฯ คนกลางต่อไปหรือไม่ กองทัพจะออกมาสนับสนุนกระบวนการที่ขัดรัฐธรรมนูญเช่นนี้หรือไม่ กกต.จะทำตามนายอภิสิทธิ์และ กปปส. ด้วยการเลื่อนการเลือกตั้งที่ตนเสนอเองออกไป จนไม่มีการเลือกตั้งหรือไม่ ขอย้ำว่าจะต้องเดินหน้าเลือกตั้ง 20 ก.ค. โดยทุกพรรคนำเสนอแนวทางปฏิรูปประเทศไทยของตนต่อประชาชน 
พท.ยันเมินโรดแม็พมาร์ค
     นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังการประชุมอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ว่าที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นตามหลักการประชาธิปไตย ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ดังนั้นการแก้ปัญหาจากวิกฤติที่ดีที่สุด คือการฟังเสียงประชาชนผ่านการเลือกตั้ง เป็นการหาทางออกจากความขัดแย้งของประเทศโดยประชาชนได้มีส่วนร่วม และเห็นด้วยที่ควรจะผลักดันให้มีองค์กร ปฏิรูปภายหลังการเลือกตั้ง จากนั้นยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ 
    นายพร้อมพงศ์กล่าวถึงกรณีที่ กกต.ยังไม่ส่งร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งเพิ่มเติมฯ ให้ ครม.พิจารณาว่า อยากให้ กกต.เร่งส่งร่าง พ.ร.ฎ.เลือกตั้งให้ ครม.พิจารณาในวันที่ 7 พ.ค.นี้ เพื่อเป็นหลักประกันให้กับประชาชนด้วย
    ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) กล่าวถึงข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ว่า ตนแทบไม่เชื่อว่าเป็นข้อเสนอของหัวหน้าพรรคที่เก่าแก่ที่สุด เป็นการแสดงธาตุแท้ออกมาว่าพรรคประชาธิปัตย์ฝักใฝ่เผด็จการ อ้างประวัติศาสตร์ปี พ.ศ.2516 โดยที่ไม่รู้เรื่อง กฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่นายอภิสิทธิ์เสนอแสดงความเป็นเผด็จการเต็มรูปเบบ เสนอให้มีนายกฯ สรรหาให้ประธานวุฒิสภาสรรหา อยากถามเอาส่วนไหนมาคิด นายกฯ ก็สรรหา คนมาสรรหาก็ประธานวุฒิสภาซึ่งมาจากการสรรหา แสดงว่าไม่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน แล้วจะเรียกว่าประชาธิปไตยได้อย่างไร ข้อเสนอนายอภิสิทธิ์ จะทำได้มีอย่างเดียวคือฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ถ้าไม่ฉีกทำไม่ได้ 
    เมื่อถามถึงเรื่องที่มีการส่งหนังสือถึง กกต.ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันเพื่อดูแลการเลือกตั้ง เป็นอย่างไรบ้าง ร.ต.อ เฉลิมกล่าวว่า ไม่ได้มีการส่งหนังสือไป เพียงแต่แจ้งกับ กกต.ว่ามีอะไรให้มาหารือกันได้ ทาง ศอ.รส.อยากจะช่วย ส่วนการที่ ศอ.รส.เชิญ กกต.หรือผู้แทนเข้าร่วมประชุมในวันที่ 8 พ.ค.นี้ เวลา 14.00 น. ขณะนี้ตนยังไม่ทราบว่ามีการตอบรับมาหรือไม่ หากทางกกต.บอกไม่ต้องการใช้บริการ ศอ.รส.ก็ไม่มีปัญหาอะไร
    "ทาง ศอ.รส.พร้อมช่วยเหลือ เรามองทางเดียวคือปัญหาจะหมดไป คือต้องจัดการเลือกตั้ง โดยแต่ละพรรคเสนอแนวทางปฏิรูปให้ประชาชนตัดสินใจ จากนั้นมีการเลือกตั้งใหม่ ไม่ขัดบทบัญญัติ ไม่นองเลือด หากไม่ต้องการก็เลือกทางอื่น ไม่ได้ขู่ศาล หากใช้อำนาจเกินบทบัญญัติ ท่านและครอบครัวจะรู้ว่านรกมีจริงในเมืองไทย" ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
    นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เมื่อ กกต.ไม่สามารถส่งร่างพระราชกฤษฎีกาให้ ครม.พิจารณาได้ทัน ก็ขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้เวลาอีก 7 วันก่อนที่จะมีการพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวในการประชุม ครม.ครั้งต่อไป อ่านแผนเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ส่งให้อย่างเป็นทางการด้วยความรอบคอบ หากไม่เข้าใจ ขอให้นัดพบนายอภิสิทธิ์  ซึ่งจะยืนยันได้ว่าเป็นแผนที่ลดการเผชิญหน้า ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ หลีกเลี่ยงการกระทำระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท
ท้า "ปู" ดีเบต "มาร์ค"
    ส่วนที่มติพรรคเพื่อไทย 10 ข้อที่จงใจล้อตามแผนเดินหน้าประเทศไทย 10 ขั้นตอนของนายอภิสิทธิ์ โดยมีการอ้างไปถึงเหตุการณ์ปี 2549 ว่า มีขบวนการโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายชวนนท์กล่าวว่า ถือว่าเป็นการมโนไปเอง เพราะสาเหตุที่เกิดรัฐประหารมาจากพฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณเอง หากพรรคเพื่อไทยจะโต้เถียงเรื่องนี้กล้าจัดดีเบตหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยพูดถึงปฏิรูปนอกจากการเลือกตั้ง และที่ยืนยันว่าจะต้องเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค.57 ต้องถามว่าจะเดินทางไปเลือกตั้งที่อาจจะโมฆะ หรือให้เวลาประเทศ 180 วันเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสีย 
    นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ที่ระบุว่าข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ขัดรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการบิดเบือน ความจริงคือการรักษารัฐธรรมนูญไม่ให้ถูกฉีกจากการปฏิวัติ ซึ่งน่าแปลกใจคือคนที่บอกว่าขัดรัฐธรรมนูญเองตอนมีอำนาจกลับทำขัดรัฐธรรมนูญ เช่น ออกกฎหมายนิรโทษกรรม แก้รัฐธรรมนูญ วันนี้ออกมารักรัฐธรรมนูญหรือหวังเข้าสู่อำนาจเป็นรัฐมนตรีในอนาคต ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์หากฟังคนพวกนี้จะเป็นคนเดียวที่ติดคุก ส่วนคนอื่นจะผลัดกันมานั่งเก้าอี้ดนตรีมาเป็นรัฐมนตรี 
    ที่เวที กปปส. สวนลุมพินี นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษ กปปส. แถลงถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยปฏิเสธข้อเสนอแผนเดินหน้าประเทศไทยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าเรื่องดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทยยังไม่สำนึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา การปฏิเสธเป็นข้อเสนอดังกล่าวทำให้เห็นชัดเจนว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ยอมถอย แต่จะทำทุกวิถีทางในการรักษาอำนาจไว้ ดังนั้นการเคลื่อนไหวของมวลมหาประชาชนนั้นจึงถือว่าตัดสินใจถูกแล้วที่ยืนยันกำหนดการในการเคลื่อนไหวเช่นเดิม เพราะเรื่องนี้ชัดเจนแล้วว่าถ้ารัฐบาลยังอยู่ประชาชนจะไม่มีที่ยืน เราจึงต้องยืนยันที่จะเดินหน้าต่อไป
    โฆษก กปปส.กล่าวว่า รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยยังมีท่าทีข่มขู่ศาลโดยใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น ศอ.รส., นปช. และ ครม. โดยเฉพาะ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผอ.ศอ.รส.ที่มีการออกมาให้ข้อมูลและตัวเลขในทางที่ผิด และที่กระทบต่อความรู้สึกของประชาชน คือการให้สัมภาษณ์ข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและครอบครัว โดยระบุว่า ถ้าตัดสินให้นายกฯ พ้นตำแหน่ง จะรู้ว่านรกมีจริง ซึ่งตนเห็นว่านรกนั้นควรที่จะเป็น ร.ต.อ.เฉลิมและรัฐบาล  ส่วนการเคลื่อนไหวของ นปช.นั้น ตนเห็นว่าไม่ประสบความสำเร็จ เพราะประชาชนตาสว่างแล้ว อีกทั้ง นปช.ยังมีการเคลื่อนไหวที่ไร้ทิศทาง เชื่อว่าพี่น้องคนเสื้อแดงจะไม่หลงกลในการรักษาอำนาจเถื่อนให้รัฐบาลอีกต่อไป
    เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์จากอังกฤษลงบทบรรณาธิการเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ให้หัวเรื่องว่า "Thailand must escape its limbo" (ประเทศไทยต้องหนีจากทางตัน) และเสนอแนะว่า ถึงเวลาแล้วที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ควรลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 
    บทบรรณาธิการกล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ชาติในโลกที่ประชาชนออกมาชุมนุมเรียกร้องไม่ให้มีการเลือกตั้ง ดูเหมือนว่าไทยติดอยู่ในภาวะติดตายทางเมืองไม่หยุดหย่อน การเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์กลายเป็นโมฆะ และถึงแม้จะกำหนดเลือกตั้งใหม่วันที่ 20 กรกฎาคม ก็ยังไม่ชัดเจนว่าพรรคประชาธิปัตย์จะลงสมัครหรือไม่ ส่วนผู้ประท้วงกลุ่ม กปปส.ที่ต้องการตั้งคณะบริหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ลั่นวาจาจะขัดขวางอีกครั้ง ขณะที่กองทัพยังอยู่ในกรมกองทัดทานการเย้ายวนให้ออกมาก่อรัฐประหารโค่นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ฝ่ายค้านก็กำลังเดินเกม "การก่อรัฐประหารโดยตุลาการ" เพื่อโค่นรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ 
    ไฟแนนเชียลไทมส์กล่าวถึงคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากคำตัดสินทำให้เธอหรือรัฐบาลทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ก็มีอันตรายที่ผู้สนับสนุนกลุ่มเสื้อแดงจะลุกฮือด้วยความโกรธแค้น นายจตุพร พรหมพันธุ์ เคยเตือนไว้ว่าจะเกิดสงครามกลางเมืองหากรัฐบาลจากการเลือกตั้งถูกโค่นอำนาจ พวกเสื้อแดงยังไม่ลืมรัฐประหารปี 2549 ที่โค่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และไม่ลืมบทบาทของศาลที่ถูกวิจารณ์ว่าเลือกข้าง อย่างไรก็ดีหากไม่ต้องการให้ภาวะติดตายนี้เลวร้าย หรือเกิดเป็นความรุนแรง บทความเสนอว่าการเมืองไทยต้องมีการประนีประนอม
    "หนทางที่เป็นไปได้ในการออกจากทางตันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ควรลงจากตำแหน่ง เธอในฐานะผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง อาจมองว่านี่ไม่ยุติธรรม แต่จากมุมมองประชาธิปไตยของไทย สิ่งนี้จะส่งสัญญาณว่ายังมีพลังที่ไม่ใช่กลุ่มผู้ทรงอำนาจอยู่นอกเหนือจากกลุ่มที่บูชาทักษิณ การกำจัดอิทธิพลของทักษิณพ้นจากการเมืองอาจเป็นหนทางที่ทำให้ประเทศที่ไม่สามารถขับไล่ผีรัฐประหารปี 2549 สามารถเดินหน้าได้" 
    ขณะเดียวกัน บทบรรณาธิการเสนอว่า ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็ต้องยอมสละไม่น้อยด้วยเช่นกัน โดยต้องสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยด้วยการให้คำมั่นจะไม่ขัดขวางการเลือกตั้งและยอมรับผลเลือกตั้งที่ออกมา ในส่วนรากฐานที่เพิ่มเติมกว่านั้น พวกเขาต้องสนับสนุนการระงับข้อพิพาททางการเมือง โดยเฉพาะการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำหนดขอบเขตชัดเจนถึงบทบาทของตุลาการ, กองทัพ และสถาบันกษัตริย์ หากปราศจากข้อตกลงครอบคลุมที่ยอมรับความชอบธรรมจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเสียงข้างมากไทย ประเทศไทยที่มีสภาพเหมือนเคลือบด้วยเทฟลอนก็จะหลุดจากภาวะติดตายได้ในท้ายที่สุด.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น