|
|
ผ่าประเด็นร้อน
อย่าได้แปลกใจที่เวลานี้ทั้งรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีต ส.ว.ทาส ที่นำโดย นิคม ไวยรัชพานิช จะพยายามทำทุกทางเพื่อขัดขวางไม่ให้มีการเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่ในช่วงเปิดสมัยประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ ซึ่งคราวนี้เป็นความพยายามเล่นเกมทางกฎหมาย และอ้างกรอบของพระราชกฤษฎีกามาตีกรอบข้อจำกัด
สาเหตุที่ต้องขัดขวางกันทุกวิถีทางก็ไม่มีอะไรซับซ้อน มันก็ต้องเกี่ยวกับการเสียประโยชน์ของระบอบทักษิณ ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเครือข่าย มีผลต่อการตกเก้าอี้ และเสี่ยงต่อคุกตะราง มันเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องขัดขวางกันอย่างเต็มที่
ถามว่าทำไมต้องขวาง เพราะยัง ส.ว.เลือกตั้งที่มาจากฝ่ายการเมืองสั่งซ้ายหันขวาหันอยู่ในมือจำนวนมาก คำตอบก็คือ อาจจะใช่ แต่ยังไม่ชัวร์ เพราะยังมี ส.ว.ที่ยังไม่ได้รับการรับรองจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้ครบ แต่ในเวลานี้เมื่อรวมกับพวก ส.ว.สรรหาที่มีอยู่เดิมทำให้มีจำนวน ส.ว.เกินร้อยละ 95 สามารถเปิดประชุมได้แล้ว แต่ปัญหาก็คือครอบครัวของ ทักษิณ ชินวัตร ยังควบคุม ยังซื้อไม่ได้แบบเบ็ดเสร็จ ยังไม่ใช่สภาทาสแบบยุคที่นำโดย นิคม ไวยรัชพานิช ทุกอย่างยังไม่มั่นใจ นี่จึงเป็นที่มาของการยื้อไม่ให้เปิดประชุม เมื่อไม่สำเร็จก็ต้องใช้วิธีขัดขวางโดยอ้างกฎหมายและประเพณีไม่ให้เลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่ในช่วงประชุมสมัยวิสามัญ รวมทั้งอ้างกรอบจำกัดวาระการประชุมที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุม
สำหรับพระราชกฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมที่เสนอไปมีสองเรื่องให้พิจารณาก็คือวาระการคัดเลือกคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง และวาระการแต่งตั้งสุภา ปิยะจิตติ ที่ได้รับการสรรหาเป็นกรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คนใหม่ เฉพาะแค่หนึ่งในสองวาระดังกล่าวคือวาระการตั้ง สุภา ก็ถือว่าไม่เป็นคุณกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรแล้ว นี่ถ้ามีเรื่องอื่นเข้ามาเพิ่มอีกมันจะขนาดไหน
ก่อนอื่นต้องไม่ลืมว่าแบ็กกราวนด์ของ สุภา ปิยะจิตติ เดิมเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง เคยเป็นประธานอนุกรรมการปิดบัญชี มีหน้าที่ดูแลด้านบัญชีโครงการรับจำนำข้าว และเธอคนนี้แหละที่ออกมาเปิดโปงว่าในฤดูกาลปี 54/55 มีการขาดทุนกันแบบมโหฬารไม่น้อยกว่า 1-2 แสนล้านบาท ทำเอารัฐบาลยิ่งลักษณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง แทบคลั่ง มีการสั่งสอบสวนและจำกัดบทบาทห้ามยุ่งเกี่ยวกับตัวเลขเรื่องข้าว รวมไปถึงให้นั่งตบยุงอย่างเดียว แต่ สุภา ก็ไม่ยอมแพ้เมื่อมีโอกาสในการตรวจสอบทุจริตจากการที่มีกรรมการ ป.ป.ช.บางคนต้องพ้นจากตำแหน่งคราวแรก กล้านรงค์ จันทิก ครบวาระต้องพ้นไป เธอก็เสนอตัว แต่ก็ถูกขวางจนแพ้ไป จนกระทั่งครั้งล่าสุดเมื่อ กรรมการป.ป.ช.ใจเด็ด พรไชยา เกษียณอายุ สุภาก็เสนอตัวเข้ามาอีกรอบ คราวนี่ไม่พลาด แม้ว่าต้องขับเคี่ยวกันแบบมาราธอน แต่สุดท้ายก็ได้รับการสรรหา รอแต่การอนุมัติแต่งตั้งจากวุฒิสภาเท่านั้น ซึ่งดูตามรูปการณ์แล้วก็น่าจะผ่านไปได้
แต่ความหมายก็คือ หาก สุภา ปิยะจิตติ ได้เข้าไปเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่กำลังจะมีการชี้มูลความผิดเรื่องการทุจริตจำนำข้าว ที่มีจำเลยคือยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ล่ะ มันยิ่งน่าหวาดเสียวเพียงใด
ก่อนหน้านี้ฝ่ายรัฐบาล ระบอบทักษิณ พยายามใช้กลไกเครือข่ายที่ยังหลงเหลืออยู่พยายามขัดขวางการเปิดประชุมวุฒิสภาจนล่าช้าไปพักใหญ่นั่นคือให้เลขาสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแน่นอนว่าตกค้างมาจากยุค สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนฯ ซึ่งเลขาสภาผู้แทนฯ ก็ทำหน้าที่เป็นเลขาฯ รัฐสภาด้วย แค่นี้ก็หลับตานึกภาพเห็นความยุ่งยากเกิดขึ้นแล้วใช่หรือเปล่า แต่เมื่อยื้อไม่ไหวก็ใช้วิธีร่วมมือกับฝ่ายรัฐบาลกำหนดกรอบพระราชกฤษฎีกาให้มีการประชุมแค่สองวาระดังกล่าว โดยไม่มีการกล่าวถึงเรื่องการพิจารณาถอดถอนอดีตวุฒิสภาที่แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมิชอบ ซึ่งในจำนวนนั้นมี “หัวโจก” อย่าง นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภารวมอยู่ด้วย ไม่มีการพูดถึงวาระการโหวตเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่ เป็นต้น
อย่างไรก็ดีเมื่อไม่มีการพูดถึง แต่ไม่ได้หมายความว่ามีคำสั่งห้ามไม่ให้ทำ ตราบใดที่ปฏิบัติตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญอ้างอิง ก็คงไม่มีปัญหา สามารถเดินหน้าได้ เหมือนอย่างที่สมาชิกวุฒิสภาได้ลงมติกำหนดวันเลือกตั้งประธานวุฒิสภาคนใหม่ในวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งหลายคนกำลังลุ้นกันว่ารักษาการประธานวุฒิสภา สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ที่เสนอตัวลงชิงชัยจะเข้าวินหรือไม่ เพราะฝ่ายเครือข่าย ทักษิณ ก็เตรียมผลักดันคนของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ศรีเมือง เจริญศิริ หรือ จองชัย เที่ยงธรรม เข้ามาแข่ง แต่นาทีนี้ยังเป็นไปได้สูงที่ สุรชัย จะชนะ
หาก สุรชัย ได้เป็นประธานวุฒิสภา มันก็มีแนวโน้มสูงที่จะกลับมาเป็นสภาที่มีวุฒิภาวะสมดังเจตนารมณ์ มีการถ่วงดุลตรวจสอบคัดกรองกฎหมายจากฝ่ายบริหารได้มากขึ้น ไม่ใช่สภาทาสเหใือนในอดีต แต่ที่น่าจับตาก็คือ ประธานวุฒิสภา อาจได้ทำหน้าที่เสนอนายกฯคนใหม่ หากเกิดสภาพสุญญากาศ จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพวกตายยกแก๊ง ซึ่งหนทางแบบนี้มันก็เกิดขึ้นได้เหมือนกัน และนี่แหละคือคำตอบว่าทำไมต้องยื้อไม่ให้เปิดประชุมวุฒิสภา รวมทั้งขัดขวางไม่ให้โหวตเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่ไงล่ะ!!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น