คลังเอาจริง !!! บี้สรรพกร ขูดภาษีเพิ่ม 3 แสนราย หลังวืดเป้า
ปลัดคลัง เผย ได้สั่งให้กรมสรรพากรเร่งขยายฐานภาษีปี 58 เพิ่มขึ้นอีก3 แสนราย -หลังปี 57 ทำได้ต่ำกว่าเป้า -ฉงน โครงการรถคันแรกบูม คนถอยป้ายแดงเพียบ แต่ภาษีน้ำมันกลับลดลง
วันนี้ (6 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมสรรพากรเร่งขยายฐานภาษีบุคคลธรรมดา และภาษีนิติบุคคลในปีงบประมาณ 2558 ให้เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 3 แสนราย เพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น หลังจากที่ปีงบประมาณ 2557 คาดว่าการเก็บภาษีของ 3 กรมภาษี ซึ่งประกอบด้วย กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร จะต่ำกว่าเป้าถึง 1.5 แสนล้านบาท ทั้งที่มีการลดภาษีนิติบุคคลและภาษีบุคคลธรรมดา แต่ไม่สามารถทำให้คนที่อยู่นอกระบบภาษีเข้ามาเสียภาษีได้มากขึ้น จึงต้องมีการตั้งเป้าขยายฐานภาษีใหม่ให้ชัดเจน และจะกำหนดเป็นตัวชี้วัดผลงานของผู้อธิบดีกรมสรรรพากรในปีงบประมาณ 2558 ด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ยื่นแบบภาษีบุคคลธรรมดา 10.2 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ยื่นแบบและเสียภาษีประมาณ 6 ล้านราย อย่างไรก็ตาม การลดอัตราภาษีจาก 37% เหลือ 35 และมีการลดหย่อนอัตราภาษีจาก 5 อัตรา เป็น 7 อัตรา ทำให้การเสียภาษีของบุคคลธรรมดาลดลง 25% ในส่วนของภาษีนิติบุคคลปัจจุบันมีผู้เสียภาษีประมาณ 4 แสนราย โดยผู้เสียภาษีใหม่เพิ่มขึ้นน้อย และยังมีแนวโน้มลดลง เพราะผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งปิดกิจการจากเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้การขยายฐานภาษีของกรมสรรพากรในส่วนของนิติบุคคลทำได้ลำบาก ดังนั้น ต้องขยายฐานการเก็บภาษีให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ซึ่งอยู่นอกระบบจะต้องเสียภาษี
นอกจากนี้ ยังเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษีของกรมสรรพสามิต โดยให้ไปตรวจสอบการเก็บภาษีน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมาเก็บได้น้อย ทั้งๆ ที่มีรถยนต์ใหม่จากโครงการรถคันแรกถึง 1 ล้านคัน แต่การใช้น้ำมันกลับไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติ จนทำให้การเก็บภาษีน้ำมันของกรมสรรพสามิตลดต่ำไปด้วย ส่วนกรมศุลกากร ได้ให้เน้นการปราบปรามทุจริตให้มากขึ้น เพราะการเก็บภาษีของกรมศุลกากรที่ผ่านมาไม่ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราภาษีที่ลดลง แต่หากมีการเข้มงวดการทุจริตจะทำให้การเก็บภาษีมากขึ้น นอกจากนี้ ยังให้เร่งกรณีพิพาทภาษีกับภาคเอกชนให้ได้ข้อยุติ ซึ่งน่าจะทำให้กรมศุลกากรได้ภาษีส่วนที่ยังไม่ครบเข้ามาเพิ่ม
สำหรับการทำงบประมาณปี 2558 คาดว่าจะขาดดุลไม่มาก เพราะระยะเวลาการใช้งบประมาณเหลือน้อย เนื่องจากการทำงบประมาณล่าช้าจากการเลือกตั้งช้าไม่มีรัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็มเข้ามาบริหารประเทศ ส่วนจะสามารถจัดทำงบประมาณสมดุลได้ในปี 2560 หรือไม่ เป็นนโยบายที่รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาตัดสินใจ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น